xs
xsm
sm
md
lg

จีนแต่งตั้งคนสนิทสีจิ้นผิง เป็น‘ซาร์’คุมงานพัฒนา‘ชิป’ เดินหน้าเต็มตัวเพื่อแหวกวงล้อมของอเมริกา สู่การพึ่งตนเองทาง‘เซมิคอนดักเตอร์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดฟ มาคิชุค


รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ของจีน (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 25 มิ.ย. 2018)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Is the US chip wall starting to crumble?
By DAVE MAKICHUK
20/06/2021

หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเป็นคนวงในใกล้ชิดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วย ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ซาร์” ผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านเซมิคอนดักเตอร์

“ความล้มเหลวไม่เคยอยู่ในสารบบเป็นทางเลือกหนึ่งของเรา” (Failure is not an option) เป็นวลีในตำนานที่ถูกโยงใยเข้ากับ ยีน แครนซ์ (Gene Kranz) และภารกิจการส่งยาน “อะปอลโล 13” ลงสู่ดวงจันทร์ ซึ่งเกิดความผิดพลาดอย่างร้ายแรง แต่ยังคงสามารถจบลงอย่างแฮปปี้ นี่ต้องขอบคุณวีรกรรมหลายๆ อย่างของทางศูนย์ควบคุมที่อยู่ภาคพื้นดิน

ในทำนองเดียวกัน การที่จีนเพิ่งประกาศแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีผู้มีประสบการณ์สูงผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้เรับผิดชอบควบคุมงานด้านไมโครชิป ก็ดูเหมือนจะเป็นการแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจว่า จะต้องไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ให้หยิบยกเป็นข้ออ้างกันอีกแล้ว หากประสบความล้มเหลว

การที่ประเทศจีนตัดสินใจแต่งตั้ง “ซาร์ทางด้านชิป” ขึ้นมาเช่นนี้ ถือเป็นก้าวเดินล่าสุดของการผลักดันให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนฝ่าฟันขึ้นสู่แถวหน้าให้ได้ แม้จะต้องเผชิญกับการที่สหรัฐฯคอยสร้างอุปสรรคขัดขวางด้วยการประกาศแซงก์ชั่นอย่างโหดๆ

ขณะที่จีนยังคงต้องเดินกันไปอีกไกลทีเดียว ในการวิ่งไล่ให้ทันสหรัฐฯ, ไต้หวัน, และเกาหลีใต้ แต่รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่มีคุณสมบัติเต็มพิกัด สำหรับการเป็นหัวหอกนำพาการพัฒนาของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์แห่งอนาคต บิสซิเนสสแตนดาร์ด (Business Standard) สื่อหนังสือพิมพ์รายวันด้านธุรกิจที่เผยแพร่อยู่ในอินเดีย ประเมินเอาไว้เช่นนี้

หลิว เป็นผู้มีบทบาทนำการปฏิรูปเทคโนโลยีของจีน มาอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ในปี 2018 จากการปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจาของฝ่ายจีน ในการหารือทางการค้าสหรัฐฯ-จีนรอบแล้วรอบเล่า ขณะเดียวกันตำแหน่งแห่งที่ของเขาภายในแวดวงชั้นในที่รายรอบตัว สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีน ก็เป็นเครื่องรับประกันว่าข้อเสนอแนะคำรับรองของเขาจะเป็นที่รับฟังให้ความสำคัญ

ข้ารัฐการอาชีพซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านการบริหารรัฐกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯผู้นี้ ไม่ได้เป็นวิศวกร แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายอุตสาหกรรมมากกว่า

นี่หมายความว่า หลิวซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 69 ปี จะต้องพึ่งพาพวกผู้เชี่ยวชาญ เมื่อมาถึงการตัดสินใจในส่วนที่เขาดูแลอยู่ อันได้แก่ พวกวัสดุด้านเซมิคอนดักเตอร์, อุปกรณ์เครื่องมือและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์

ทว่าแทนที่จะทำเพียงแค่พยายามวิ่งไล่ตามคู่ต่อสู้ให้ทัน ยุทธศาสตร์ด้านชิปของหลิวนั้น น่าที่จะเป็นการสำรวจมองหาพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพวกคู่แข่งยังไม่ทันมีความชำนิชำนาญ ด้วยความหวังว่าจีนจะสามารถเข้าไปครองฐานะนำในเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก่อน

มันเป็นแบบแผนวิธีการในทำนองเดียวกับที่ภารกิจสำรวจอวกาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนเพิ่งเผยแพร่ภาพๆ แรกซึ่งถ่ายบนดาวอังคาร โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการเดินทางสำรวจดาวเคราะห์ ซึ่งมีชื่อว่า “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1 interplanetary mission)

(เทียนเวิ่น-1 เป็นภารกิจส่งยานอวกาศไร้นักบินเดินทางไปยังดาวอังคาร โดยที่ยานสามารถแยกออกได้เป็น 5 ส่วน ได้แก่ ยานโคจรรอบดาวอังคาร, กล้องที่สามารถเคลื่อนที่โยกย้ายได้, ยานร่อนลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร, กล้องที่ทิ้งลงมาจากอวกาศสู่ดาวอังคาร, และยานสำรวจดาวอังคาร “จู้หรง” และแต่ละส่วนต่างทำงานได้อย่างราบรื่นตามแผนการที่วางไว้ ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Tianwen-1 -ผู้แปล)

ตามการอธิบายของ ทริเวียม (Trivium) บริษัทที่ปรึกษาซึ่งตั้งฐานอยู่ในปักกิ่ง ความสำเร็จครั้งนี้ เป็น “สิ่งที่ยืนยันให้เห็นความถูกต้องของการมุ่งโฟกัสไปยังการหาทางให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด” เป็นการโฟกัสไปที่พวกเทคโนโลยียุคต่อไป ซึ่งยังไม่มีประเทศใดที่มีความได้เปรียบอย่างชัดเจน

ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post หรือ SCMP) รายงานว่า ผลผลิตด้านแผงวงจรรวม (integrated circuits หรือ IC) ของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม อยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยทำกันได้เมื่อวัดกันเฉพาะภายในเดือนๆ เดียว ทั้งนี้ตามข้อมูลของรัฐบาลส่วนกลางของจีน เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้สืบเนื่องจากปักกิ่งสั่งเดินหน้าเต็มที่ในการผลิตชิป อย่างชนิดไม่มีการเหนี่ยวรั้งใดๆ

ผลผลิตชิปของจีนในเดือนพฤษาคมนี้ พุ่งสูงขึ้นถึง 37.6% จากระยะเดียวกันของ 1 ปีก่อน โดยมีจำนวนอยู่ที่ 29,900 ล้านหน่วย ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) ระบุเอาไว้เช่นนี้

ขณะที่พวกผู้ผลิตชิปของจีน ยังคงไม่สามารถผลิตชิปค่อนข้างก้าวหน้าขนาด 14 นาโนเมตรเป็นปริมาณมากๆ ได้ (ชิปประเภทนี้เองเป็นตัวให้พลังในเครื่องไอโฟนรุ่นใหม่ๆ) แต่บริษัทออกแบบชิปและโรงงานผลิตชิปของแดนมังกร ก็สามารถที่จะผลิตแผงไอซีระดับเทคโนโลยีค่อนข้างเก่า ซึ่งใช้สำหรับพวกอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ตลอดจนในรถยนต์ รายงานของ SCMP ระบุ

เมื่อรวมตลอดระยะ 5 เดือนแรกของปีนี้ จีนผลิตแผงไอซีได้ 139,900 ล้านหน่วย พุ่งสูงขึ้น 48.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขข้อมูลของทางการชี้

ตัวเลขข้อมูลล่าสุดนี้เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า จีนกำลังเดินหน้าเต็มตัวอย่างไม่มีการรั้งรอใดๆ ในการมุ่งไปสู่การพึ่งตนองให้ได้ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ รายงานของ SCMP บอก

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปักกิ่งยังได้ตัดสินใจยกเลิกชั่วคราวการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากพวกชิ้นส่วนและวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ โดยให้ระงับไปจนกระทั่งถึงปี 2030 SCMP รายงาน ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนการอันทะเยอทะยานของตน ที่จะบ่มเพาะตลาดชิ้นส่วนชิปภายในประเทศที่มีมูลค่าถึง 237,000 ล้านดอลลาร์ ขึ้นมาให้สำเร็จภายในปี 2023

เวลาเดียวกัน หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ บริษัทอุปกรณ์การสื่อสารรายใหญ่ที่สุดของจีน ก็แสดงความแน่วแน่เอาจริงในเรื่องการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ชนิดที่สามารถขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของโลกได้ ถึงแม้ถูกบีบคั้นจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯอย่างสุดโหด ทั้งนี้ตามคำพูดของ แคเธอรีน เฉิน (Catherine Chen) กรรมการบริษัทและรองประธานอาวุโสคนหนึ่งของ หัวเว่ย นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเอาไว้เช่นนี้

เฉินบอกว่า บริษัทไม่ได้มีความตั้งใจใดๆ ที่จะปรับโครงสร้าง ไฮซิลิคอน (HiSilicon) กิจการในเครือซึ่งทำหน้าที่ดีไซน์ชิป ถึงแม้มีข้อเท็จจริงว่าบริษัทแห่งนี้ว่าจ้างพนักงานเอาไว้มากกว่า 7,000 คน และได้รับการคาดหมายว่าจะไม่สามารถร่วมสร้างรายรับใดๆ ได้อาจจะยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

เธออธิบายว่า เนื่องจาก หัวเว่ย เป็นบริษัทในภาคเอกชนที่ไม่ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากพลังภายนอก รวมทั้งคณะบริหารของหัวเว่ยก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความตั้งใจที่จะรักษา ไฮซิลิคอน เอาไว้

ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 รัฐบาลสหรัฐฯได้ประกาศข้อบังคับ ซี่งโดยหลักการแล้วคือการสั่งห้ามบริษัทต่างๆ ที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการทั้งหลายแหล่ที่ทำโดยอเมริกัน ไปทำธุรกิจกับหัวเว่ย

ผลที่เกิดขึ้นประการหนึ่งก็คือ บริษัทไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์แมนูแฟคเจอริ่งคอมปานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนบริษัทอื่นๆ ต่างยุติไม่รับใบสั่งซื้อใหม่ๆ จากหัวเว่ยอีกต่อไป

การกระทำเช่นนี้ของฝ่ายอเมริกัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจาก ปีเตอร์ เวนนิงค์ (Peter Wennink) ซีอีโอของ เอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง (ASML Holding) ผู้ซึ่งบอกกับสื่อบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่า การใช้มาตรการควบคุมการส่งออกมาเล่นงานจีน ไม่เพียงจะต้องประสบความล้มเหลวไม่สามารถหยุดชะงักความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของแดนมังกรเท่านั้น แต่ยังส่งผลในทางย้อนแย้ง นั่นคือกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯอีกด้วย

ทั้งนี้ คำสั่งห้ามของสหรัฐฯนี้ทำให้จีนถูกสกัดกั้นไม่สามารถซื้อหาพวกอุปกรณ์เครื่องพิมพ์แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับก้าวหน้าไฮเทคจาก เอเอสเอ็มแอล ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมในเรื่องอุปกรณ์ประเภทนี้

“ผมเชื่อว่าการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกไม่ใช่เป็นวิธีการที่ถูกต้องในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของคุณหรอก ทั้งนี้ถ้าหากคุณวินิจฉัยแล้วว่ามีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมา” เวนนิงค์ พูดเช่นนี้ระหว่างเข้าร่วมงานทางอุตสาหกรรมออนไลน์งานหนึ่ง เขายังกล่าวโต้แย้งต่อไปว่า ถ้า “คุณปิดกั้นไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี นั่นก็ยังจะพลอยทำให้พวกระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน ต้องสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมากและรายได้จำนวนมากไปด้วย”

ขณะที่มาตรการเช่นนี้ถึงแม้จะส่งผลทำให้จีนต้องใช้เวลายาวนานขึ้น ในการสร้างอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองขึ้นมา สืบเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างประเทศได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วพวกบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทจีน ก็จะถูกปิดกั้นไม่สามารถเข้าสู่ตลาดชิปใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งได้เช่นกัน เวนนิงค์โวย

ถ้าพวกธุรกิจอเมริกันซึ่งมีการติดต่อต่างๆ กับจีนในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ ถูกตัดทิ้งกันทั้งยวงอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว บางทีอาจจะทำให้ในสหรัฐฯสูญเสียยอดขายในระหว่าง 80,000 ล้าน ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งตำแหน่ง 125,000 ตำแหน่งทีเดียว เวนนิงค์ กล่าวต่อ โดยอ้างอิงการประเมินของกระทรวงพาณิชย์อเมริกัน บลูมเบิร์กรายงาน

เอเอสเอ็มแอล ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ผูกขาดในทางพฤตินัยในเรื่องอุปกรณ์เครื่องพิมพ์แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับเหนือชั้น ที่เรียกกันว่าadvanced extreme ultraviolet (EUV) lithography equipmentอันเป็นอุปกรณ์ซึ่งขาดไม่ได้ในการผลิตชิประดับล้ำยุคนั้น เวลานี้เป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญยิ่งของ ซัมซุง อิเล็กรอนิกส์ และ ทีเอสเอ็มซี อยู่แล้ว ทว่าก็วางแผนเอาไว้ที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดจีนอย่างลงลึกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ปักกิ่งนั้นต้องการที่จะสร้างอุตสาหกรรมชิปขึ้นมาภายในประเทศซึ่งเหนือล้ำอยู่ในระดับเวิล์ลคลาส เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพิงเซมิคอนดักเตอร์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ความพยายามในเรื่องนี้จะมีโอกาสทำสำเร็จในเวลานี้ก็จำเป็นต้องมีอุปกรณ์EUV ชนิดหาจากเจ้าอื่นไม่ได้ของ เอสเอสเอ็มแอล รายงานของบลูมเบิร์กระบุ

ทว่าในตอนนี้บริษัทประสบความยากลำบากมากในการโน้มน้าวให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ยินยอมออกใบอนุญาตเพื่อส่งออกระบบนี้ไปให้จีนอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลง

บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp.หรือ SMIC) ซึ่งมีฐานะเหมือนเป็นผู้เชิญธงของจีนในเรื่องการผลิตชิป เวลานี้ยังถูกทิ้งอยู่เบื้องหลังห่างเป็นปีๆ จากพวกผู้นำของโลกอย่าง ทีเอสเอ็มซี และ ซัมซุง

มิหนำซ้ำคู่แข่งเหล่านี้ต่างไม่ได้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ หากแต่ยังคงวิ่งตะบึงต่อไปอย่างรวดเร็ว ทีเอสเอ็มซีนั้นกำลังเตรียมที่จะลงทุนเป็นมูลค่าถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อยืดอายุฐานะเหนือกว่าคนอื่นๆ อย่างขาดลอยของตนเอาไว้ต่อไป เวลาเดียวกัน ซัมซุง และ อินเทลคอร์ป ของสหรัฐฯ ต่างก็เพิ่งประกาศแผนการในการใช้จ่ายอย่างมโหฬารเช่นเดียวกัน

กระนั้นก็ตาม เอสเอ็มไอซีก็เป็นผู้นำหน้าในการทำให้เป้าหมายของปักกิ่งกลายเป็นความจริงขึ้นมา และกำลังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทางการท้องถิ่นเพื่อก่อตั้งโรงงานมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์ขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น

อันที่จริงไม่ใช่เพียงแค่จีนเท่านั้น ยุโรปก็เช่นกัน กำลังวาดหวังที่จะสร้างหลักประกันขึ้นมา เพื่อที่ตนเองจะได้ต้องคอยพึ่งพาอาศัยคนอื่นลดน้อยลงในเรื่องไมโครชิป

สัปดาห์นี้เอง ในยุโรปเพิ่งมีการประกาศโครงการลงทุนตั้งโรงงานมูลค่ามากกว่า 1,600 ล้านยูโร เพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ทั้งนี้ตามรายงานของ อินโนเวชั่นออริจินส์ (InnovationOrigins)

โรงงานแห่งนี้จะผลิตแผ่นซิลิคอนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร มันจะเป็นโรงงานแห่งแรกในรุ่นนี้ซึ่งตั้งขึ้นมาในอิตาลี และนับรวมทั่วทั้งยุโรปก็ยังคงถือว่าเป็น 1 ในเพียงไม่กี่แห่ง เจ้าของโรงงานแห่งนี้คือ เอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (STMicroelectronicsเรียกย่อๆ ว่า STM) บริษัทร่วมของฝรั่งเศส-อิตาลี โดยที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศนี้ต่างถือหุ้นส่วนน้อยส่วนหนึ่งอยู่ในบริษัทแห่งนี้ด้วย

ในเวลาไล่เรี่ยกัน การรับมอบงานก่อสร้างโรงงานชิปแห่งหนึ่งในเมืองชตุทท์การ์ท, เยอรมนี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ถูกมองว่าอยู่ในบริบทเดียวกันนี้ โดยที่บริษัทบ็อช (Bosch) กำลังเริ่มต้นใช้โรงงานแห่งนี้ผลิตพวกเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความประณีตซับซ้อนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์

นอกจากนั้น วุฒิสภาสหรัฐฯเวลานี้กำลังพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นเงินทุนให้แก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อเมริกัน

รัฐสภาสหรัฐฯได้อนุมัติผ่านร่างกฎหมายคล้ายๆ กันนี้เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ทว่าไม่ได้มีการจัดสรรเงินทุนสำหรับสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พวกสมาชิกนิติบัญญัติอเมริกันกำลังเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติการ ขณะที่ภาวะขาดแคลนชิปกำลังทำให้ส่งผลกระทบกระเทือนการผลิตรถยนต์อเมริกัน

(ที่มา: Business Standard, Nikkei Asia, South China Morning Post, Caixin Global, Innovation Origins, Yahoo Finance, Bloomberg, TheBurnIn.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น