ทางการจีนเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) โจมตีเล่นงานประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯอย่างแรง และบอกให้วอชิงตัน “ส่องกระจกดูเงาตัวเอง” หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกาบอกว่า เขาขอยกย่องสรรเสริญผู้ที่เสียชีวิตไปในการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989
ปักกิ่งขอเรียกร้องสหรัฐฯให้ “กล้าเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ อันร้ายแรงของพวกเขาเอง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน แถลง ภายหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวที่วอชิงตันในวันพฤหัสบดี (3) ว่า จะ “ยกย่องสรรเสริญการพลีชีพของผู้คนที่ถูกเข่นฆ่าไปเมื่อ 32 ปีก่อน” และจะยังคงสนับสนุนชาวจีนที่เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ
กองทหารจีนจำนวนมากเคลื่อนขบวนเข้าไปในปักกิ่ง และเปิดฉากยิงใส่ชาวเมืองและนักศึกษาผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 บดขยี้ปราบปรามกระแสการชุมนุมประท้วงซึ่งดำเนินอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อเรีกยร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และยุติการทุจริตคอร์รัปชั่นของพวกเจ้าหน้าที่
มีผู้คนจำนวนหลายร้อยถูกสังหารไปในการปราบปรามคราวนั้น โดยที่มีบางรายบางสำนักประมาณการจำนวนว่ามีเกินกว่า 1,000 คนด้วยซ้ำ
จากการที่คนจีนรุ่นเยาว์วัยเวลานี้ไม่ได้มีความทรงจำโดยตรงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่จัตุรัสเทียนอันเหมินคราวนั้น ปักกิ่งได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการป้องกันไม่ให้มีการรำลึกถึง ทั้งด้วยการจับกุมคุมขังพวกนักเคลื่อนไหว และทำให้บริการไลฟ์สตรีมต่างๆ ใช้งานไม่ได้ ด้วยเหตุผลความขัดข้อง “ทางเทคนิค”
พวกผู้ใช้สื่อสังคมทางแพลตฟอร์ม “วีแชท” และ “เว่ยปั๋ว” ถูกกีดกั้นไม่ให้โพสต์อีโมจิรูปเทียนไขในวันศุกร์ (4) เวลาเดียวกันการสืบค้นโดยพิมพ์ตัวเลข “64” (วันและเดือนที่เกิดการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน) ก็ถูกบล็อกตามปกติบนเว่ยปั๋ว ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อความสั้นคล้ายๆ ทวิตเตอร์
ในฮ่องกง ซึ่งเป็นดินแดนกึ่งปกครองตนเองของจีนนั้น เมื่อช่วงสามสิบปีที่ผ่านมามีการจัดงานจุดเทียนรำลึกผู้เสียชีวิตกันอยู่เป็นประจำทุกวันที่ 4 มิถุนายน โดยที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมหึมา แต่เมื่อปีที่แล้ว ตำรวจได้สั่งห้ามด้วยเหตุผลโรคระบาดโควิด-19 ส่วนในปีนี้ตำรวจได้ยกกำลังออกมาจำนวนมากเพื่อขัดขวางความพยายามทั้งหลายที่จะจัดการระลึกแบบมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยที่มีผู้จัดการงานเช่นนี้รายหนึ่งถูกรวบตัวไปตั้งแต่ตอนเช้าวันศุกร์
ทางด้านโฆษก หวัง ของกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันศุกร์ว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องกล้านำตัวเองเข้าแสดงความรับผิดสำหรับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ จำนวนมากมาย ตั้งแต่การประพฤติปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงการปฏิบัติต่อผู้อพยพ
“เมื่อพิจารณาถึงการกระทำอันเลวร้ายต่างๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน สหรัฐฯมีคุณสมบัติอะไรที่จะมาเที่ยวสั่งสอนคนอื่นๆ” เขากล่าว
พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นผู้ปกครองประเทศ ได้ออกมาแถลงยอมรับเกี่ยวกับการปราบปรามที่เทียนอันเหมินอย่างน้อยครั้งนักที่จะเกิดขึ้น ในวาระครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์นี้เมื่อปี 2019 ด้วยการที่ โกลบอลไทมส์ สื่อแทบลอยด์ในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกมาเรียกการจดการกับกรณีเทียนอันเหมินและเหตุการณ์หลังจากนั้นว่า เป็น “ความสำเร็จทางการเมือง”
แต่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์บอกว่า ปักกิ่งในปีนี้ได้ไปไกลขึ้นอีกระดับในการพยายามฟอกขาวอดีตอันย่ำแย่ของตน ด้วยการสั่งห้ามจัดงานระลึกในฮ่องกง
“คนหนุ่มสาวในจีนจะได้รับการศึกษาและความตื่นรู้จากประวัติศาสตร์ ... และยังคงเดินไปอย่างต่อเนื่องไม่ลังเลบนเส้นทางแห่งสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” หวัง กล่าว
สื่อทางการจีนปีนี้ยืนกรานว่าเหตุการณ์เทียนอันเหมินคือ “การปฏิวัติสี” เดินตามตะวันตกอย่างมืดบอด
ทางด้าน โกลบอลไทมส์ เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ปีนี้ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการในวันศุกร์ (4) เกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ในลักษณะการกล่าวย้ำคำอธิบายของทางการจีน
“ถ้าเหตุการณ์เมื่อ 32 ปีก่อนจะมีผลด้านบวกอะไรแล้ว มันก็คือการทำให้ประชาชนจีนได้รับการฉีดวัคซีนทางการเมือง ช่วยให้พวกเขาได้รับภูมิคุ้มกันไม่ให้ถูกชี้นำไปในทางที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง จีนได้เกิด “การปฏิวัติสี” แต่ไม่ได้ถูกมันโค่นล้มลง คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รักษาชะตากรรมของชาติให้ปลอดภัย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญอย่างยิ่ง” บทบรรณาธิการนี้กล่าว
“จีนอยู่ในหมู่ประเทศสังคมนิยมที่ริเริ่มดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ก่อนเพื่อน สังคมจีนในเวลานั้นขาดไร้ประสบการณ์ และปัญญาชนบางคนเริ่มต้นเดินตามค่านิยมต่างๆ ของตะวันตกอย่างมืดบอด โดยมีกลุ่มหนึ่งถึงขนาดป่าวร้องสนับสนุนว่า การเปลี่ยนแปลงไปเป็นตะวันตกอย่างรอบด้าน คือเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปเหล่านี้ ความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคมเกิดขึ้นภายในบริบทเช่นนี้เอง และเดินไปสู่จุดสุดโต่งภายใต้การโน้มน้าวชักจูง และการชักใยของกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่ม” โกลบอลไทมส์แจกแจงคำอธิบายที่ดูจะเป็นทัศนะแบบทางการของจีน
“การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 ได้นำไปสู่ผลพวงต่อเนื่องต่างๆ ชุดหนึ่ง ค่ายสังคมนิยมของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันตกได้เกิดการแตกสลายไปในปี 1991 ทว่าจีนยังคงยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง “การปฏิวัติสี” ได้ล้มเหลวลงไปในจีน และผลก็คือกลายเป็นเครื่องแบ่งแยกที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่า จีนกับพวกอดีตประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกเข้าสู่เส้นทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน”
“เวลากว่า 3 ทศวรรษได้ผ่านพ้นไปแล้ว ข้อเท็จจริงนั้นเสียงดังยิ่งกว่าแค่คำพูด จีนได้เริ่มต้นเดินไปบนเส้นทางแห่งสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน และได้สร้างความก้าวหน้าอันโดดเด่นที่ยังความพิศวงให้แก่โลก จีนได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยมูลค่าจีดีพีต่อหัวประชากรซึ่งสูงเกิน 10,000 ดอลลาร์ จากการที่เคยอยู่เพียงอันดับ 8 ในเรื่องจีดีพีของโลก และมีตัวเลขจีดีพีต่อหัวประชากรแค่มากกว่า 400 ดอลลาร์ ชนชั้นกลางในเขตชุมชนเมืองกำลังเพิ่มขึ้นในจีน ทุกๆ เมืองใหญ่, ทุกๆ หมู่บ้าน, และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ต่างมีสภาพใหม่อย่างสมบูรณ์ และความยากจนอย่างสุดๆ ก็ได้ถูกขจัดไป ในเวลาเดียวกับนั้น โลกกำลังเต็มไปด้วยความอลหม่านวุ่นวาย ด้วยการที่ “การปฏิวัติสี” กำลังทำลายประเทศจำนวนมาก ทั้งหมดเหล่านี้กำลังทำให้ประชาชนมองเห็นอย่างชัดเจนว่า เส้นทางที่จีนได้เลือกเดินนั้นถูกต้อง” บทบรรณาธิการโกลบอลไทมส์ บอก
(ที่มา: เอเอฟพี, โกลบอลไทมส์, เอพี)