xs
xsm
sm
md
lg

ระบบรถไฟฟ้ามหัศจรรย์ในจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



โลกต้องยอมรับว่าประเทศจีนประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง และไม่มีใครทำได้ ในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ยุคใหม่ นั่นคือระบบเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงทั่วประเทศ และยังจะขยายการก่อสร้างอีกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ช่วงการเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 จีนยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการแม้แต่เส้นทางเดียว มีแต่ระบบรางธรรมดา เดินทางด้วยความเร็วปกติ ผ่านแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล การเดินทางระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เชื่องช้า เป็นความทรมานยิ่งนัก

ทุกวันนี้ ภาพเก่าๆ แบบนั้นเหลืออยู่แต่ในความทรงจำ เพราะประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในโลก ประสบความสำเร็จในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาเมืองขนาดใหญ่ให้ทันสมัย ได้มีเครือข่ายระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงมากที่สุดในโลก

หลังจากการพัฒนาระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าอยู่หลายปี ปัจจุบันจีนมีเส้นทางระบบรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงยาวถึง 37,900 กม. เชื่อมโยงเมืองใหญ่และขนาดต่างๆ เป็นโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในปี 2008

การก่อสร้างครึ่งหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางดังกล่าวถูกสร้างให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี่เอง และยังมีอีก 3,700 กม. ที่จะก่อสร้างให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

จีนยังวางแผนว่าจะสร้างเครือข่ายขยายเป็น 2 เท่าตัว หรือ 70,000 กม. ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2035 นับเป็นเป้าหมายสะท้อนให้เห็นความพร้อมอย่างยิ่ง

ด้วยความเร็วรถไฟสูงสุด 350 กม.ต่อชั่วโมงในหลายเส้นทาง การเชื่อมโยงแต่ละเมืองใหญ่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย รวดเร็ว สามารถแข่งขันกับการเดินทางโดยเครื่องบินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่เป็นเส้นทางธุรกิจหนาแน่น

ความสำเร็จดังว่าสะท้อนให้เห็นชัดในปี 2020 เมื่อ 75 เปอร์เซ็นต์ของเมืองขนาดใหญ่ มีพลเมืองเกิน 5 แสนคนขึ้นไป ต่างเข้าถึงบริการเชื่อมโยงกับเครือข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูงกันถ้วนหน้า

เมื่อเทียบกับสเปนซึ่งเป็นประเทศที่มีเครือข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูงกว้างที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลก ก็ยังเป็นเพียงกระจิ๋วหลิว เพราะมีเครือข่ายเส้นทางยาวรวมกันเพียง 2,000 ไมล์ ด้วยรถไฟความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง

เมื่อเทียบกับอังกฤษยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงยาวเพียง 107 กม.เท่านั้น และสหรัฐอเมริกา ก็มีแค่สายเดียวที่มีอยู่ ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นรถไฟความเร็วสูง เป็นสายของแอมแทรกเชื่อมระเบียงเหนือกับตะวันออก

เส้นทางในสหรัฐฯ ที่ว่านี้คือรถไฟฟ้าอาเซล่า มีความเร็วสูงสุด 240 กม./ชั่วโมง สร้างเป็นระบบรางใหม่วิ่งพร้อมกับรถขบวนโดยสารทั่วไปและสายขนส่งสินค้า

ความสำเร็จอย่างโดดเด่นด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะจีนมองว่าเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการเดินทางระยะไกลภายในประเทศด้วยความสะดวกรวดเร็ว และได้รับความนิยมสูงในกลุ่มนักเดินทาง

เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการสร้างฐานสำหรับเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ มีทั้งการลงทุนก่อสร้าง การสร้างเมืองใหม่ และการขยายตัวของประชากรออกสู่เมืองใหม่ ลดความแออัดของเมืองเก่า

เป็นการแสดงให้เห็นพลังด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาระบบรถไฟฟ้าชินคันเซ็นในช่วงยุคปี 1960 เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาระบบแผนใหม่ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และความเจริญรุ่งเรือง

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำ สี จิ้นผิง ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเชื่อมกระชับแน่นของระบบสังคม อิทธิพลทางการเมือง และการบูรณาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่างและระดับภูมิภาค

นั่นหมายถึงการเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่หลากหลายให้เข้าสู่เส้นทางเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการย้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ได้ใช้เครือข่ายบริการรถไฟเพื่อเบิกทางสู่พื้นที่ ภูมิภาคใหม่ๆ ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นในยุโรป ยุคล่าอาณานิคม และการพัฒนาด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การพัฒนาระบบรางในยุโรป ทำให้เกิดอาณาจักรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่ายในรัสเซียที่มีเครือข่ายรางสายทรานส์ไซบีเรีย ปรัสเซีย และฝรั่งเศส รวมถึงจักรภพอังกฤษ ซึ่งได้นำไปสู่การปกครองและพัฒนาระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่

แต่การพัฒนาระบบรถไฟในศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่ต้องใช้เวลาอย่างยาวนานนั้น กลับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปีในประเทศจีน

ทั้งโลกต้องยอมรับว่าการพัฒนาก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงในประเทศจีนนั้นใช้เวลาอันสั้น เป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจการบิน เพราะมีความแน่นอน น่าเชื่อถือว่าด้านความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย

มีทั้งความชื่นชมในขนาดของโครงการ เครือข่าย แม้แต่ขนาดของสถานีรถไฟฟ้าก็มีขนาดใหญ่ เป็นระบบที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารจำนวนมาก โดยทุกคนมีที่นั่งผ่านการจอง ไม่มีระบบตั๋วกระดาษ

การเดินทางในจีนปัจจุบันเพียงแค่ใช้สแกนบัตรประจำตัว หนังสือเดินทางที่ประตูทางเข้าเท่านั้น นับเป็นความสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลาเข้าคิวซื้อตั๋ว

แต่เดิมนั้น จีนต้องพึ่งพาแนวทางพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีจากยุโรปและญี่ปุ่นเพื่อวางเครือข่าย โดยเฉพาะจากบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น บอมบาร์เดียร์ อัลสตอม และมิตซูบิชิ ปัจจุบันการพัฒนาล้วนเป็นบริษัทภายในจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น