xs
xsm
sm
md
lg

เหนื่อยหน่าย! สธ.อินเดียรุดโต้ ส.ส.แพร่ข่าวปลอมอ้างวัคซีนโควิด “โควาซิน” ทำจากเซรัมวัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย แชร์เอกสารตอบโต้คำกล่าวอ้างของสมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง ที่กล่าวหาว่า “โควาซิน” วัคซีนโควิด-19 ที่อินดียพัฒนาเองมีส่วนประกอบของเซรัมลูกวัว สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

ในทวิตเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียตอบโต้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและตีความผิดๆ ที่ก่อความกังวลในวงกว้างต่อการใช้วัคซีนโควาซิน โดยโพสต์ดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ยืนยันว่า เซรัมลูกวัวถูกใช้ในขั้นตอนเตรียมการและเพาะเลี้ยงเซลล์สำหรับวัคซีน แต่ไม่ได้ถูกใช้ผลิตวัคซีนแต่อย่างใด

“เซรัมลูกวัวแรกคลอดถูกใช้แค่สำหรับเตรียมการเพาะเลี้ยงวีโร​เซลล์ (Vero Cells) ซึ่งเป็นเชื้อสายหนึ่งของเซลล์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ เซรัมวัวสายพันธุ์ต่างๆ และสัตว์อื่นๆ คือ ส่วนประกอบเสริมตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก สำหรับเพราะเลี้ยงวิโรเซลล์” ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ พร้อมบอกต่อว่า เทคนิคเดียวกันนี้ถูกใช้สำหรับผลิตวัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้า และไข้หวัดใหญ่เช่นกัน

ถ้อยแถลงว่าวีโร​เซลล์สามารถชำระล้างด้วยน้ำและสารเคมี ดังนั้น จึงไม่มีร่องรอยของเซรัมลูกวัว เพราะฉะนั้นวัคซีนขั้นสุดท้าย (โควาซิน) ซึ่งไม่ได้บรรจุเซรัมลูกวัวเกิดใหม่แต่อย่างใด และเซรัมลูกวัวไม่ได้เป็นส่วนผสมของวัคซีนขั้นท้ายสุด”

คำแถลงตอบโต้นี้มีขึ้นหลังจากนายกัวราฟ ปานดี สมาชิกรัฐสภารายหนึ่งอ้างบนทวิตเตอร์ ว่า รัฐบาลยอมรับในเอกสารว่าวัคซีนบรรจุเซรัมลูุกวัว “มันชั่วร้ายมาก” อ้างถึงความเชื่อตามศาสนาฮินดูที่ว่าวัวเป็นพาหนะของเทพเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตและโลก แต่เวลานี้เขาได้ลบข้อความดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทวิตเตอร์ของปานดี และเอกสารชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุขถูกแชร์อย่างกว้างขวางทั่วอินเดีย ในนั้นรวมถึงนักการเมืองคนดังหลายราย

ในเวลาต่อมา ปานดี ยังคงยืนกรานในความคิดของตนเอง โพสต์ทวิตเตอร์อีกรอบ คราวนี้มาพร้อมกับคลิปวิดีโอที่เขาเรียกร้องรัฐบาลอย่าได้ทรยศความไว้วางใจของประชาชน “หากโควาซินและวัคซีนตัวอื่นๆ มีส่วนผสมของเซรัมลูกวัว ประชาชนก็ควรมีสิทธิรับรู้ในตอนนี้”

อินเดียกำลังต่อสู้กับการปั้้นเรื่องและเรื่องราวโกหกอันเกี่ยวข้องกับโควิด-19 และวัคซีน โดยกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องโกหกแรกที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในประเทศแห่งนี้ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ปรักยา ซิงห์ ทากุระ ส.ส.จากเมืองโภปาล ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากณะแพทย์ หลังจากเธอออกมาสนับสนุนให้คนดื่มฉี่วัว เช่นเดียวกับตัวเธอเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และภาวะติดเชื้อในปอด

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น คณะแพทย์ต้องวิงวอนประชาชนอย่าได้เชื่อในวิธีใช้ขี้วัวมาพอกตัวเพื่อรักษาโควิด-19 พร้อมย้ำไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน และอาจจะทำให้เชื้อโรคอื่นๆ แพร่จากสัตว์มาสู่คน

(ที่มา : รัสเซียทูเดย์)


กำลังโหลดความคิดเห็น