วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า มอบภูมิคุ้มกันระดับสูงเกินกว่า 90% ต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จากผลการวิเคราะห์ใหม่ของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England : PHE) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (14 มิ.ย.)
ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้าที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แถลงเลื่อนยกเลิกข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ที่เหลืออยู่ในอังกฤษ สืบเนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดียและแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิม ในขณะที่ตัวกลายพันธุ์นี้ทำให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค มีประสิทธิภาพถึง 96% ในการป้องกันอาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตาหลังจากรับวัคซีนครบ 2 โดส ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า/มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีประสิทธิภาพ 92% ในการป้องกันการติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา อาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ทางสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษชี้ว่า ระดับการป้องกันของวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อต่อตัวกลายพันธุ์เดลตานั้นมีประสิทธิภาพพอๆ กับที่สามารถป้องกันตัวกลายพันธุ์อัลฟา ซึ่งพบครั้งแรกในเมืองเคนท์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ
ผลการวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า แม้ตัวกลายพันธุ์เดลตาจะลดประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ แต่การรับวัคซีนครบ 2 โดส ยังคงสามารถป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรง
"การค้นพบที่สำคัญมากครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า วัคซีนมอบการป้องกันระดับสูงต่อการติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา อาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล" แมรี แคมเซย์ หัวหน้าฝ่ายภูมิคุ้มกันของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษระบุ
ผลการค้นพบของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ มีขึ้นหลังจากผลการศึกษาหนึ่งในสกอตแลนด์ พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดสของคนที่มีผลตรวจไวรัสโคโรนาสายพันธฺุ์ใหม่ออกมาเป็นบวก ช่วยลดความเสี่ยงป่วยอาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 70% แม้มีจำนวนคนไข้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่มากพอที่จะเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละตัว
สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษระบุว่า แม้ยังอยู่ระหว่างวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อสรุประดับการป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา แต่คาดหมายว่าวัคซีนของไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตในระดับสูงเช่นกัน
(ที่มา : รอยเตอร์)