xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าสั่งพักงานครูกว่า 1.2 แสน โทษฐานร่วมอารยะขัดขืนต้านรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทหารสั่งพักงานครูมากกว่า 125,000 คน ในพม่า ฐานเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนต่อต้านรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งในสหพันธ์ครูแห่งพม่าในวันอาทิตย์ (23 พ.ค.)

คำสั่งพักราชการมีขึ้นไม่กี่วันก่อนโรงเรียนต่างๆ จะกลับมาเปิดเทอมในปีการศึกษาใหม่ ซึ่งเดิมทีคณะครูและผู้ปกครองบางส่วนประกาศบอยคอตอยู่ก่อนแล้ว ส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวรณรงค์อัมพาตทั้งประเทศตอบโต้รัฐประหาร หลังการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้ความพยายามปฏิรูปประชาธิปไตยนานกว่า 1 ทศวรรษมีอันต้องสะดุดลง

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งในสหพันธ์ครูแห่งพม่า ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเนื่องจากหวั่นเกรงถูกแก้แค้น เปิดเผยว่า จนถึงวันเสาร์ (22 พ.ค.) มีครูทั้งหมด 125,900 คน ถูกพักงาน ขณะที่ตัวเขาเองก็อยู่ในรายชื่อบุคคลเป็นที่ต้องการตัวของคณะรัฐประหาร ตามข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นความไม่พอใจของประชาชน

จากข้อมูลเร็วๆ นี้ ราว 2 ปีก่อน พบว่า ในพม่ามีครูตามโรงเรียนต่างๆทั้งหมดราวๆ 430,000 คน

“มันเป็นแค่คำแถลงขู่ให้คนกลับมาทำงาน ถ้าพวกเขาไล่ออกครูมากมายขนาดนี้จริง ระบบทั้งหมดจะหยุดชะงัก” ครูรายหนึ่งกล่าว พร้อมเผยได้รับแจ้งว่าจะมีการถอนข้อกล่าวหาต่างๆ หากว่าเขายอมกลับไปสอนหนังสือ

รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อไปยังโฆษกคณะรัฐประหาร หรือกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความเห็น ส่วนหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ สื่อมวลชนแห่งรัฐ เรียกร้องคณะครูและนักเรียนกลับสู่ชั้นเรียน เพื่อระบบการศึกษาจะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง

ความยุ่งเหยิงตามสถาบันการศึกษาทั้งหลายสะท้อนภาพแห่งความโกลาหลแบบเดียวกันในภาคสาธารณสุข กิจการภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ดำดิ่งสู่ความวุ่นวาย สืบเนื่องจากรัฐประหาร และการจับกุมนางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากคณะครูตามโรงเรียนแล้ว ทางสหพันธ์ครูแห่งพม่า เปิดเผยว่า บุคลากรในระดับมหาวิทยาลัยราวๆ 19,500 คนก็ถูกพักงานเช่นกัน

กำหนดการลงทะเบียนเรียนสำหรับปีการศึกษาใหม่จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ก่อนเริ่มเปิดการเรียนการสอนในเดือนมิถุนายน แต่ผู้ปกครองบางส่วนบอกว่าพวกเขายังไม่มีแผนพาลูกหลานกลับสู่ชั้นเรียน

นอกจากนี้แล้ว นักเรียนบางส่วน ซึ่งอยู่ในแถวหน้าของการประท้วงรายวัน ที่ถูกกองกำลังด้านความมั่นคงสังหารไปแล้วหลายร้อยศพ ระบุเช่นกันว่าพวกเขามีแผนคว่ำบาตรการเรียนการสอน “ผมจะกลับสู่ชั้นเรียนก็ต่อเมื่อเรากลับสู่ประชาธิปไตย” นักเรียนวัย 18 ปีคนหนึ่งกล่าว

ระบบการศึกษาของพม่าจัดว่าย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคอยู่ก่อนแล้ว และอยู่ในอันดับ 92 จากทั้งหมด 93 ประเทศ ในผลการสำรวจทั่วโลกหนึ่งเมื่อปีก่อน

แม้กระทั่งภายใต้การนำของซูจี ผู้สนับสนุนด้านการศึกษา ก็ยังเจียดงบประมาณด้านการศึกษาไม่ถึง 2% ของจีดีพี ถือว่าเป็นอัตราต่ำที่สุดชาติหนึ่งของโลก จากข้อมูลของเวิลด์แบงก์

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) รัฐบาลใต้ดินที่จัดตั้งโดยฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร ระบุว่า จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อสนับสนุนคณะครูและตัวนักเรียนเอง พร้อมเรียกร้องพวกผู้บริจาคต่างชาติหยุดให้การสนับสนุนเงินทุนแก่กระทรวงศึกษาธิการที่ควบคุมโดยคณะรัฐประหาร

(ที่มา: รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น