องค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency – ESA) รายงานการสำรวจพบภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่กว่าเกาะแมนฮัตตันของสหรัฐฯ ประมาณ 80 เท่า หลุดออกมาจากขอบทวีปแอนตาร์กติกาฝั่งทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) เมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และกลายเป็นภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาที่สุดในโลกที่ล่องลอยอยู่ในทะเล
ก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์นี้หลุดออกมาจากฝั่งตะวันตกของหิ้งน้ำแข็งรอนนี (Ronne Ice Shelf) ในทะเลเวดเดลล์ของแอนตาร์กติกา มีรูปร่างคล้ายกับโต๊ะรีดผ้า ยาว 170 กิโลเมตร และกว้าง 25 กิโลเมตร หรือใหญ่กว่าเกาะมายอร์กาของสเปนเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการแยกตัวของก้อนน้ำแข็งในครั้งนี้เป็นเพียง “วงจรธรรมชาติ” ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อน และไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการละลายของน้ำแข็งในแก้วที่ไม่ได้ทำให้ระดับน้ำในแก้วเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภูเขาน้ำแข็งแตกต่างจากธารน้ำแข็ง (glaciers) หรือพืดน้ำแข็ง (ice sheets) ที่พบบนบก ซึ่งหากแยกตัวลงไปในมหาสมุทรจนเกิดการละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่นหากพืดน้ำแข็งทั้งหมดในแอนตาร์กติกาละลาย จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเกือบ 190 ฟุตทีเดียว
คีธ เมคินสัน นักสมุทรศาสตร์ขั้วโลกจาก British Antarctic Survey เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นการแยกตัวของภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และได้รับการยืนยันจากศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Ice Center) ซึ่งอาศัยภาพถ่ายดาวเทียม Copernicus Sentinel-1 ของ ESA
ขณะนี้เจ้าก้อนน้ำแข็งที่ว่ามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า A-76 ซึ่งแม้จะฟังดูง่ายไปหน่อย แต่ก็เป็นการตั้งชื่อตามหลักวิทยาศาสตร์ โดย ESA อธิบายว่า ภูเขาน้ำแข็งโดยมากแล้วจะถูกตั้งชื่อตามจตุภาค (quadrant) ในแอนตาร์กติกซึ่งเป็นจุดที่พบมัน จากนั้นจึงใส่ตัวเลขลำดับลงไป
ที่มา: CNN