ราคาน้ำมันขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ในวันพุธ (12 พ.ค.) หลังการส่งออกสหรัฐฯ ลดลงและมุมมองแง่บวกเกี่ยวกับอุปสงค์พลังงาน ส่วนวอลล์สตรีทร่วงหนักและทองคำปิดลบ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 80 เซ็นต์ ปิดที่ 66.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 77 เซ็นต์ ปิดที่ 69.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันเบรนต์ปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต ปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ เผยแพร่ข้อมูลรายสัปดาห์ พบตัวเลขการส่งออกน้ำมันของอเมริกาในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลงสู่ระดับราวๆ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 ส่วนคลังน้ำมันดิบสำรองลดลง 4 แสนบาร์เรล สวนทางกับที่คาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงหนักในวันพุธ (12 พ.ค.) ดาวโจนส์ร่วง 681 จุด และ เอสแอนด์พี 500 ปิดลบ 357 จุด ท่ามกลางความกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อ อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางอเมริกา (เฟด) ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลัน
ดาวโจนส์ ลดลง 681.50 จุด (1.99 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,587.66 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 89.06 จุด (2.14 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,063.04 จุด แนสแดค ลดลง 357.75 จุด (2.67 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,037.68 จุด
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพุธ (12 พ.ค.) พบเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2020 สูงกว่าที่คาดหมายไว้อย่างมาก
ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก่อความกังวลแก่นักลงทุนมาตลอดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และในวันพุธ (12 พ.ค.) ตลาดวิตกว่าการดัดตัวขึ้นของราคาผู้บริโภคอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ กระชับนโยบายอย่างกะทันหัน
ข้อวิตกเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อนี้ แผ่ลามมาถึงโลหะมีค่าเช่นกันและฉุดให้ราคาทองคำในวันพุธ (12 พ.ค.) ปิดลบ ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 13.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,822.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)