เจ้าชายไมเคิลแห่งเคนต์ พระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าเสนอจะช่วยเหลือนักลงทุนให้สามารถเข้าถึงวังเครมลินได้ โดยแลกเปลี่ยนกับการได้ผลตอบแทนเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ตามรายงานข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ และสถานีโทรทัศน์แชนเนล 4
ข่าวฉาวน่าอับอายเรื่องนี้ปรากฏออกมาในเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างลอนดอนกับมอสโกกำลังเสื่อมทรามหนักถึงขั้นหายนะ โดยเฉพาะหลังจากกรณีอังกฤษกล่าวหาแดนหมีขาวพยายามวางยาพิษร้ายแรงเพื่อสังหารอดีตสายลับรัสเซียซึ่งไปพำนักลี้ภัยอยู่ในอังกฤษเมื่อปี 2018
เจ้าชายไมเคิลได้ตรัสกับทีมนักข่าวที่ปลอมตัวเป็นคณะนักลงทุนจากเกาหลีใต้ ในการเจรจาหารือผ่านทางออนไลน์ว่า หากได้รับค่าตอบแทนวันละ 10,000 ปอนด์ (ราว 433,000 บาท) พระองค์ก็สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทน “ลับๆ” ในการติดต่อเจรจากับคณะผู้ติดตามของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
ทั้งนี้ รายการ “ดิสแพตช์ส” (Dispatches) ของแชนเนล 4 และซันเดย์ไทมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ของไทส์แห่งลอนดอน ได้จัดตั้งบริษัททองเกาหลีใต้หลอกๆ แห่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ดูสมจริง โดยใช้ชื่อว่า เฮาส์ออฟเฮดอง (House of Haedong) บริษัทเก๊แห่งนี้พยายามติดต่อทาบทามสมาชิกของพระราชวงศ์อังกฤษรวม 5 พระองค์ เพื่อขอให้รับรองบริษัท
ปรากฏว่า เจ้าชายไมเคิลแห่งเคนต์ทรงสนพระทัย และตรัสในการเจรจากันว่า พระองค์สามารถให้การรับรองได้ หากได้รับเงิน 200,000 ดอลลาร์ (ราว 6,200,000 บาท) แลกเปลี่ยนกับการกล่าวปราศรัยแบบบันทึกกันเป็นหลักฐาน รวมทั้งใช้ที่ประทับของพระองค์ซึ่งอยู่ในพระราชวังเคนซิงตัน เป็นฉากหลังด้วย
ในการพบปะเจรจากันกับพวกนักข่าวที่ปลอมตัวเป็นนักธุรกิจคราวนี้ ลอร์ด เรดดิ้ง หุ้นส่วนทางธุรกิจของเจ้าชายไมเคิล ได้เรียกเจ้าชายว่าเป็น “เอกอัครราชทูตประจำรัสเซียอย่างไม่เป็นทางการของสมเด็จพระราชินี”
“ผมคิดว่า ... นี่เป็นเรื่องชนิดที่ต้องรอบคอบระมัดระวังกันหน่อย เรากำลังพูดกันถึงสิ่งที่ค่อนข้างจะต้องรอบคอบระมัดระวังกันนะ” สื่อรายงานคำพูดของเขา
“เพราะเราไม่ต้องการให้โลกรู้นะว่า พระองค์กำลังพบหารือกับ ปูติน ด้วยเหตุผลทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว นี่คุณเข้าใจที่ผมพูดนะ”
ทางทีมนักข่าวสืบสวนทีมนี้ระบุด้วยว่า เมื่อปี 2013 ลอร์ดเรดดิ้งได้เคยพยายามเสนอขายช่องทางในการเข้าถึงปูตินแก่ผู้สนใจมาแล้ว ด้วยการจัดงานขึ้นที่พระราชวังเคนซิงตัน โดยที่ในงานดังกล่าว เจ้าชายไมเคิลได้ไปเป็นแขกรับเชิญผู้หนึ่ง
ในงานดังกล่าว มีการเสนอขายโอกาสที่จะได้เข้าพบปูตินด้วยตนเอง ในวันเวลาต่อไปในอนาคต
หลังจากข่าวล่าสุดนี้แพร่กระจายออกไป สำนักงานของเจ้าชายไมเคิลได้แถลงกับทางสมาคมหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า เจ้าชายไม่ได้ทรงมีความสัมพันธ์พิเศษใดๆ กับปูติน และ “ไม่ได้ทรงรับเงินงบประมาณสาธารณะใดๆ ทั้งสิ้น และทรงทำงานเลี้ยงพระองค์เองโดยอาศัยบริษัทที่ปรึกษาแห่งหน่งซึ่งพระองค์ทรงบริหารมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว
สำนักงานของเจ้าชายไมเคิลบอกด้วยว่า เจ้าชายกับปูตินเคยพบปะกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2003 แล้วหลังจากนั้นเจ้าชายก็ไม่ได้เคยมีการติดต่อกับผู้นำรัสเซียหรือสำนักงานของผู้นำผู้นี้อีกเลย
เจ้าชายไมเคิลยังระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า “เฉกเช่นเดียวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กระทำกัน เลขานุการส่วนตัวของเจ้าชายไมเคิลได้ทำให้เป็นที่กระจ่างชัดเจนแก่พวกตัวแทนของบริษัทในระหว่างการสนทนากันของพวกเขาว่า ไม่สามารถดำเนินการอะไรให้คืบหน้าไปได้ ถ้าหากปราศจากการยินยอมเห็นพ้องของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และได้รับความช่วยเหลือจากหอการค้ารัสเซีย-อังกฤษ ซึ่งเจ้าชายไมเคิลทรงเป็นองค์อุปถัมภ์
สำนักงานของเจ้าชายไมเคิลพูดถึงลอร์ดเรดดิ้งด้วยว่า “ลอร์ดเรดดิ้งเป็นเพื่อนมิตรที่ดี ผู้ซึ่งกำลังพยายามช่วยเหลือ คอยชี้แนะเรื่องต่างๆ ซึ่งเจ้าชายไมเคิลอาจจะไม่ได้ทรงต้องการ, หรือไม่ได้มีความสามารถที่จะกระทำได้”
ด้านลอรด์เรดดิ้งก็ออกมายอมรับว่าทำผิดพลาด “ผมทำผิด และให้สัญญาแบบเกินเลยไป ซึ่งสำหรับเรื่องนั้น ผมรู้สึกเสียใจจริงๆ” เขากล่าว
เจ้าชายไมเคิลซึ่งปัจจุบันมีพระชนมายุ 78 พรรษา มีความสนพระทัยในรัสเซียมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเนื่องจากทรงมีพระญาติชั้นพระอัยกาและพระอัยกีถึง 3 พระองค์ (คือ ปู่, ตา, และยาย) เป็นพระภาดาและพระภคินีของพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของรัสเซีย เจ้าชายไมเคิลทรงเรียนภาษารัสเซียถึงขั้นสามารถทำหน้าที่เป็นล่ามได้ พระองค์ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มิตรภาพของรัสเซีย (Russia's Order of Friendship) เมื่อปี 2009 ตอนที่ปูตินดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ
สำหรับรายงานข่าวสืบสวนเรื่องนี้ของทีวีแชนเนล 4 กำหนดออกอากาศในวันจันทร์ (10) นี้ โดยใช้ชื่อตอนว่า "Royals for Hire" (ราชวงศ์ให้เช่า)
(ที่มา : เอเอฟพี, มิรเรอร์, เดอะวีค, วิกิพีเดีย)