นับเป็นข่าวที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจต่อประชาชนชาวอังกฤษและผู้คนทั่วโลก เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ด่วนเมื่อวันที่ 9 เม.ย. แจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะที่ทรงมีพระพระชนมายุได้ 99 พรรษา
การสิ้นพระชนม์ของดยุคแห่งเอดินบะระนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งเคยตรัสถึงพระสวามีผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งว่า “ทรงเป็นพลังอันแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้”
แถลงการณ์จากสำนักพระราชวังอังกฤษระบุว่า เจ้าชายฟิลิปทรงจากไปด้วยพระอาการสงบในเวลาเช้าของวันศุกร์ที่ 9 เม.ย. ณ พระราชวังวินด์เซอร์ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน และสมเด็จพระราชินีนาถทรงแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีผู้เป็นที่รัก “ด้วยความเศร้าโศกยิ่ง”
ทั้งนี้ เจ้าชายฟิลิปทรงพระประชวรมาระยะหนึ่งแล้ว และทรงพักรักษาพระวรกายในโรงพยาบาลนานกว่า 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ-สังเกตโรคพระหทัย และแม้จะยังดูเปราะบาง แต่พระองค์ก็เสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้คนมีความหวังว่าพระองค์น่าจะทรงหายจากพระอาการประชวรกลับมาเป็นปกติได้
ภายหลังมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศให้หน่วยงานราชการทุกแห่งลดธงครึ่งเสาจนถึงเวลา 8.00 ตามเวลาท้องถิ่นของวันถัดจากพระราชพิธีพระศพ และมีการยิงสลุต 41 นัดตามสถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วสหราชอาณาจักรและยิบรอลตาร์ในช่วงเที่ยงของวันเสาร์ที่ 10 เม.ย. รวมระยะเวลา 40 นาที
เรือรบแห่งราชนาวีอังกฤษ ซึ่งรวมถึงเรือ HMS Diamond และเรือ HMS Montrose ได้มีการยิงสลุตเพื่อถวายพระเกียรติแก่ดยุคแห่งเอดินบะระ ซึ่งทรงเคยรับราชการในกองทัพเรืออังกฤษเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทรงดำรงพระยศต่างๆ มากมาย รวมถึงตำแหน่งจอมพลเรือ (Lord High Admiral)
พรรคการเมืองใหญ่ทั้งในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และเวลส์ ได้ประกาศงดกิจกรรมหาเสียงสำหรับศึกเลือกตั้งในเดือนหน้าเป็นการชั่วคราว ขณะที่สภาสามัญชนของอังกฤษได้เปิดประชุมในวันจันทร์ ที่ 12 เม.ย. เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถวายความอาลัยต่อดยุคผู้วายชนม์
พระราชพิธีพระศพจะถูกจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 17 เม.ย. โดยหมายกำหนดการต่างๆ เป็นไปอย่างเรียบง่าย และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำนักพระราชวังอังกฤษได้ขอความร่วมมือประชาชนงดวางช่อดอกไม้ และจุดเทียนที่บริเวณรั้วของพระราชวังบักกิงแฮมและตามพระตำหนักทุกแห่งทั่วประเทศ โดยผู้ที่ต้องการร่วมถวายความอาลัยสามารถลงชื่อได้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังบักกิงแฮม และอาจบริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการแสดงความอาลัยและได้นำดอกไม้ไปวางที่ด้านนอกเขตพระราชฐานต่างๆ
เจ้าชายผู้ไร้บัลลังก์
เจ้าชายฟิลิปทรงประสูติในราชวงศ์กรีซและเดนมาร์ก โดยเสด็จพระราชสมภพที่ประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ปี 1921
แม้จะทรงมีเชื้อสายถึง 2 ราชวงศ์ ทว่าพระชนม์ชีพในวัยเด็กของพระองค์กลับเต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากครอบครัวของพระองค์ถูกบังคับให้สละราชสมบัติ และทรงต้องลี้ภัยการเมืองออกจากกรีซไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป
เจ้าชายฟิลิปทรงเคยศึกษาเล่าเรียนทั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนทุนทรัพย์จากเครือญาติ ก่อนจะทรงเข้าเรียนที่ Royal Naval College และเข้ารับราชการในกองทัพเรือของอังกฤษ ซึ่งที่นั่นเองที่ทำให้ทรงพบรักกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ในขณะที่เจ้าหญิงยังทรงมีวัยเพียง 13 ชันษา และเจ้าชายฟิลิปมีพระชนมายุ 18 ชันษา
ทั้งสองพระองค์ทรงเขียนจดหมายติดต่อกันยาวนานหลายปี ก่อนจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้เป็นพระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธเพื่อเข้าพิธอภิเษกสมรส ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นก็มีเสียงคัดค้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าชายฟิลิปนั้นแม้จะมีเชื้อสายกษัตริย์ แต่ก็เป็นเจ้าชายที่ไร้บัลลังก์ แลดูจะไม่สมเกียรติกับว่าที่ราชินีแห่งอังกฤษในอนาคต แต่ท้ายที่สุดพระราชพิธีอภิเษกสมรสก็เกิดขึ้นในวันที่ 20 พ.ย. ปี 1947
อย่างไรก็ตาม เจ้าชายฟิลิปจำต้องสละฐานันดรเดิมของตนเองเพื่อมาใช้สัญชาติอังกฤษ และได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “เมานต์แบ็ตเทน” ซึ่งแปลงมาจากนามสกุลเยอรมัน “บัทเทินแบร์ค” ของฝั่งมารดา และเนื่องจากกฎของราชวงศ์อังกฤษทำให้พระราชโอรส-ธิดาทั้ง 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, เจ้าฟ้าหญิงแอนน์, เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ไม่สามารถที่จะใช้นามสกุลของพระองค์ได้ ทว่าต้องใช้นามสกุล “วินด์เซอร์” ของควีนเอลิซาเบธแทน
การเป็นพระราชสวามีของควีนอังกฤษยังทำให้เจ้าชายฟิลิปต้องเลิกรับราชการทหาร ทั้งที่ทรงรักในอาชีพนี้มาก และทรงหันมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางด้านสังคมต่างๆ เพื่อสนับสนุนสมเด็จพระราชินี ซึ่งก็ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างแข็งขันมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี กระทั่งเมื่อปี 2017 จึงได้ประกาศยุติการปฏิบัติพระกรณียกิจอย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยพระชันษาที่มากขึ้นและปัญหาด้านสุขภาพ
ทั่วโลกร่วมอาลัย
ประชาชนชาวอังกฤษและผู้นำรัฐบาลทั่วโลกต่างส่งถ้อยคำอาลัยต่อการจากไปของเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีซึ่งทรงเป็นเสมือนเสาหลักอันเข้มแข็งให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งเวลานี้ทรงมีพระชนมายุล่วงเข้า 94 พรรษา และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดและครองราชย์ยาวนานที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ในปัจจุบัน
เจ้าฟ้าชายชาร์ลสซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนพระราชวงศ์อังกฤษ ได้ตรัสยกย่องพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เจ้าชายฟิลิปได้ทรงปฏิบัติมาตลอด 70 ปีเพื่อสมเด็จพระราชินีนาถ, ราชวงศ์อังกฤษ, ประเทศชาติ ตลอดจนเครือจักรภพ
“พระบิดาผู้เป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าทรงเป็นบุคคลที่พิเศษมาก และข้าพเจ้าเชื่อว่าเหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ท่านคงจะรู้สึกปลื้มปีติหากได้ทราบว่ามีผู้คนจำนวนมากร่วมถวายความอาลัยและสดุดีพระเกียรติคุณอย่างน่าซาบซึ้งใจ และเมื่อมองในมุมนี้ ครอบครัวของข้าพเจ้าจึงรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งเช่นกัน และมันจะช่วยให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความสูญเสียและความเศร้าโศกนี้ไปได้”
เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสพระองค์รอง ทรงเผยว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีความอดทนอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ทรงยอมรับว่าการสูญเสียพระสวามีไปอย่างไม่มีวันกลับได้ทิ้ง “ความว่างเปล่า” ครั้งใหญ่ไว้ในชีวิตของพระองค์
โซฟี เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์ พระชายาในเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสพระองค์เล็กสุดในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ออกมาเปิดเผยช่วงเวลาสุดท้ายของเจ้าชายฟิลิปว่า “มันเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับพระองค์ และเกิดขึ้นอย่างนุ่มนวลที่สุด ราวกับว่ามีใครสักคนเดินมาจับพระหัตถ์แล้วก็พาพระองค์ไป ทรงจากพวกเราไปด้วยพระอาการสงบอย่างยิ่ง และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะคาดหวังสำหรับคนๆ หนึ่งไม่ใช่หรือ”
เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงยกย่องเจ้าชายฟิลิปว่าเป็น “บุรุษที่ไม่ธรรมดา” ซึ่งได้อุทิศตนเพื่อผู้อื่นตลอดพระชนม์ชีพ และทรงเชื่อว่าพระอัยกาคงมีพระประสงค์ให้สมาชิกราชวงศ์ทุกคนทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด
ด้านเจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ ก็ได้ออกคำแถลงขอบพระทัย “เสด็จปู่” ที่อุทิศพระองค์เพื่อ “สมเด็จย่า” และ “ทรงเป็นตัวของตัวเองเสมอ” ขณะเดียวกันก็ตรัสชมเจ้าชายฟิลิปว่า “ทรงเป็นบุรุษที่มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้เสมอ และไม่มีใครเดาทางออกว่าพระองค์จะตรัสสิ่งใดต่อไป”
นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษได้กล่าวสดุดี “การใช้ชีวิตและพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่มีความโดดเด่นเหนือผู้คนทั่วไป” และการที่พระองค์ “ทรงได้รับความเคารพรักจากประชาชนทุกช่วงวัย” ทั้งในอังกฤษ, เครือจักรภพ รวมถึงในระดับนานาชาติ
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยกย่องเจ้าชายฟิลิปว่าทรงเป็นผู้ที่ทำงานรับใช้ชาติและประชาชนชาวอังกฤษ “โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว”
“จากการที่พระองค์ได้ปฏิบัติภารกิจรับใช้ชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, ทรงยืนหยัดเคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถมาเป็นเวลาถึง 73 ปี และทรงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสายตาประชาชนมาโดยตลอด เจ้าชายฟิลิปได้ทรงอุทิศพระองค์เองเพื่อประชาชนชาวสหราชอาณาจักร, เครือจักรภพ และเพื่อพระราชวงศ์อังกฤษด้วยความเต็มพระทัย” ไบเดน ระบุ
อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กถึงเจ้าชายฟิลิปว่า ทรงทำหน้าที่พระราชสวามีแห่งควีนอังกฤษโดยปราศจากความเห็นแก่ตัวใดๆ นับเป็นตัวอย่างให้โลกได้เห็นถึงการเป็นสามีที่คอยสนับสนุนภรรยาซึ่งเป็นสตรีผู้ทรงอำนาจ ขณะที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีระบุว่ารู้สึก “เสียใจอย่างยิ่ง” เมื่อได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิปและชาวเยอรมันจะไม่มีวันลืมเลือนมิตรภาพ ตลอดจนพระอุปนิสัยที่เป็นคนตรงไปตรงมาและรักษาหน้าที่ของพระองค์
ด้านสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรคาทอลิก ได้ตรัสยกย่องเจ้าชายฟิลิปว่าเป็นบุรุษที่ “อุทิศตนเพื่อการแต่งงานและครอบครัวตลอดพระชนม์ชีพ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อสังคมอย่างโดดเด่น และมีพระทัยตั้งมั่นที่จะสนับสนุนการศึกษาและความเจริญก้าวหน้าของอนุชนรุ่นหลัง”
สำนักพระราชวังอังกฤษยอมรับว่า แผนต่างๆ ที่ตระเตรียมไว้สำหรับพระราชพิธีพระศพจำเป็นต้องถูกรื้อใหม่หมด และลดขนาดลงมากเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ถึงกระนั้นก็จะดำเนินการให้เป็นไปตามพระประสงค์ของเจ้าชายฟิลิปที่ต้องการให้พิธีศพของพระองค์เองเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด โดยจะไม่มีการตั้งพระศพ (lie-in-state) ให้สาธารณชนเข้าร่วมถวายความอาลัย และประกอบพิธีฝังภายในปราสาทวินด์เซอร์ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานที่ตั้งอยู่ในมณฑลบาร์คเชอร์
เจ้าหน้าที่พระราชวังเปิดเผยว่า พระราชพิธีพระศพตามโบราณราชประเพณีจะจัดขึ้นในเวลา 15.00 GMT ของวันเสาร์ที่ 17 เม.ย. (ตรงกับเวลา 22.00 น. ตามเวลาในไทย) ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ภายในปราสาทวินด์เซอร์ โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 30 คน และด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษจึงจะไม่อยู่ร่วมในพิธีด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกราชวงศ์ได้มีโอกาสร่วมถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
สำหรับเจ้าชายแฮร์รีซึ่งสละฐานันดรและย้ายไปประทับที่สหรัฐอเมริกาก็ได้เสด็จฯ กลับมาร่วมพระราชพิธีพระศพของเจ้าชายฟิลิปด้วย ทว่าไร้เงาของพระชายา “เมแกน” ซึ่งอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ทายาทคนที่สอง และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าไม่เหมาะที่จะเดินทาง