หลายประเทศในเอเชียส่อแววเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงระลอกใหม่ ไม่เพียงเฉพาะอินเดีย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อหลักแสนต่อเนื่องนานถึง 2 สัปดาห์ แต่รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่าง ภูฏาน, เนปาล เรื่อยมาจนถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ญี่ปุ่นต้องขยายภาวะฉุกเฉินในเขตโตเกียวและเมืองใหญ่ๆ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าแผนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ในช่วงกลางปีนี้จะยังคงเดินหน้าต่อไปได้อีกหรือไม่
แม้การกำเนิดขึ้นของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายกว่าเดิมจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตระลอกนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้คนส่วนหนึ่งละเลยมาตรการควบคุมโรค และรัฐบาลหลายประเทศยังมีทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะหยุดการแพร่กระจายของไวรัส
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขลาว ได้ร้องขอความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การแพทย์และยารักษาผู้ป่วยโควิด หลังพบเคสใหม่พุ่งขึ้นกว่า 200 เท่าในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ส่วนโรงพยาบาลที่เนปาลก็เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนเตียงผู้ป่วยและออกซิเจน ขณะที่ไทยเองก็มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นวันละเป็นพัน ซึ่ง 98% เกิดจากเชื้อสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ได้ง่ายและรวดเร็ว
แม้สถานการณ์ในประเทศเหล่านี้จะยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดีย แต่ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบางประเทศที่เคยรับมือโควิด-19 ได้ดีในปีที่แล้ว ก็เป็นสัญญาณเตือนอันตรายหากรัฐคุมการระบาดไว้ไม่อยู่ และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างทั่วถึง
“เราจำเป็นต้องตระหนักว่า สถานการณ์แบบในอินเดียอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้” ฮานส์ คลุก ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวขณะแถลงอัปเดตสถานการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “นี่ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญมาก”
หากเทียบสถิติในช่วงเดือน เม.ย. กับเดือนก่อนหน้า ลาวมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 22,000 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยเนปาล และ ไทย ซึ่งพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1,000%
“ทุกประเทศล้วนมีความเสี่ยงหมด” เดวิด เฮย์มานน์ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ระบุ “โรคนี้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และยังคงเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อทุกๆ ประเทศในอนาคตอันใกล้”
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. อินเดียมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ทุบสถิติ 401,993 คนในรอบ 1 วัน และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 3,689 คนในวันต่อมา โรงพยาบาลทั่วประเทศมีผู้ป่วยรอเข้ารับการรักษาจนแพทย์รับมือไม่ไหว และยังเกิดวิกฤตขาดแคลนออกซิเจนเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ขณะที่ลานจอดรถหลายแห่งในกรุงนิวเดลีถูกเปลี่ยนเป็นฌาปนสถานชั่วคราวสำหรับเผาศพผู้เสียชีวิตมีมาเพิ่มเฉลี่ย 1 คน ทุกๆ 4 นาที
ลาวซึ่งเคยมีผู้ติดเชื้อโควิดสะสมเพียง 60 ราย มาจนถึงวันที่ 20 เม.ย. และยังไม่พบผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว กลับมาพบผู้ป่วยพุ่งพรวดทะลุหลักพันคนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายสำหรับประเทศที่แม้จะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่พรมแดนธรรมชาติที่ติดต่อกับเพื่อนบ้านก็ทำให้การสกัดกั้นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทำได้ยากยิ่ง
รัฐบาลลาวได้ประกาศล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทน์ และห้ามการเดินทางระหว่างเมืองหลวงกับแขวงต่างๆ ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขลาวยังได้ร้องขอไปยังเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม เพื่อขอรับเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก
เมื่อวันอังคาร (4) ทีมแพทย์จำนวน 35 คน จากเวียดนามได้เดินทางไปถึงสนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลาวในการรับมือโควิด-19 นอกจากนี้ ยังได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ลาวอีก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมส่งอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจ 200 เครื่อง น้ำยาฆ่าเชื้อ Chloramine 10,000 กิโลกรัม หน้ากากอนามัย 2 ล้านแผ่น มาพร้อมกันด้วย
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศขยายระยะเวลากักตัวสำหรับผู้เดินทางทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเพิ่มเป็น 14 วัน ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า รายได้จากภาคการท่องเที่ยวในปี 2021 จะหายไปถึง 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 170,000 ล้านบาท จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวถึง 260,000 ล้านบาท
ระบบสาธารณสุขของไทยเริ่มเผชิญภาวะกดดันจากการพบคลัสเตอร์ใหม่หลายจุดในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศเพิ่มเป็นหลักพันคน และรัฐต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการตรวจสายพันธุ์โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ กว่า 500 ตัวอย่างที่มีการระบาดในไทยอยู่ขณะนี้ พบว่า มากกว่าร้อยละ 98 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7
ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ. หลังพบการระบาดครั้งแรกในชุมชนชาวจีน และเมื่อวันอังคารที่ 4 พ.ค. เจ้าหน้าที่ได้ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 938 คนภายในวันเดียว ทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสมเพิ่มมาอยู่ที่ 16,299 คน และมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 107 คน ขณะที่กรุงพนมเปญตอนนี้ถูกประกาศให้เป็น “พื้นที่สีแดง”
รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งล็อกดาวน์กรุงพนมเปญและเมืองตาเขมาที่อยู่ติดกันมาแล้วเป็นเวลา 20 วัน และเตรียมที่จะยกเลิกคำสั่งในวันพฤหัสบดีที่ 6 พ.ค. ยกเว้นเฉพาะบางพื้นที่ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อสูง ขณะที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารมีคำสั่งให้สื่อมวลชนหยุดการรายงานข่าวจาก “พื้นที่สีแดง” หลังมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้ร้องเรียนปัญหาขาดแคลนอาหาร และมีการขอความช่วยเหลือผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ต้องหวนกลับมาใช้มาตรการจำกัดการรวมตัวในที่สาธารณะอีกครั้ง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นถึง 131% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศเวลานี้พุ่งทะลุหลัก 3,000 คน
มาเลเซียประกาศมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในพื้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 7 พ.ค. เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในเมืองหลวง โดยอนุญาตให้เฉพาะธุรกิจที่มีความจำเป็นเปิดทำการเท่านั้น ส่วนการทำกิจกรรมทางสังคม, การนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน และการเดินทางข้ามระหว่างรัฐจะถูกห้ามชั่วคราว
บางเขตของรัฐสลังงอร์ซึ่งเป็นรัฐที่ร่ำรวยที่สุดของมาเลเซียก็จะถูกบังคับใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากร (MCO) เป็นเวลา 12 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในมาเลเซียกลับมาพุ่งสูงขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันพุธ (5) พบผู้ติดเชื้อใหม่รวม 3,744 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมขยับขึ้นไปอยู่ที่ 424,376 คน
ทางด้านสิงคโปร์ได้สั่งห้ามจัดกิจกรรมรวมคน และมีมาตรการควบคุมพรมแดนเข้มงวดยิ่งขึ้นในวันอังคาร (4) หลังพบเคสผู้ป่วยโควิดกลายพันธุ์หลายราย รวมถึงสายพันธุ์ B.1.617 ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงระลอกสองในอินเดีย
หลังพบผู้ติดเชื้อชุมชนน้อยมากตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในสิงคโปร์กลับมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เกิดจากคลัสเตอร์ที่พบในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และเมื่อวันอังคาร (4) มีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น 5 คน
หลังพบผู้ติดเชื้อชุมชนน้อยมากตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในสิงคโปร์กลับมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เกิดจากคลัสเตอร์ที่พบในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และเมื่อวันอังคาร (4) มีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น 5 คน
มาตรการซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์นี้ (8) ได้แก่ จำกัดการรวมตัวในที่สาธารณะไม่เกิน 5 คน, ปิดสถานออกกำลังกายในร่มและฟิตเนส และเพิ่มระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูง จากเดิม 14 วัน เพิ่มเป็น 21 วัน
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียได้งดออกวีซ่าให้แก่ชาวต่างชาติซึ่งเคยอยู่ในอินเดียในช่วง 14 วันก่อนเดินทางมายังแดนอิเหนา และเมื่อวันจันทร์ (3) รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซียได้ประกาศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์จากอินเดีย 2 รายแรกที่กรุงจาการ์ตา
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์อินเดียนั้นจัดเป็น “ไวรัสกลายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ” เนื่องจากเป็นไปได้ที่ไวรัสจะพัฒนาตัวเองจนสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น หรืออาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน
ทางด้านของญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุนรายงานเมื่อวันพุธ (5 พ.ค.) ว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะประกาศขยายมาตรการภาวะฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงโตเกียว, โอซากา, เกียวโต และ เฮียวโงะ ออกไปหลังวันที่ 11 พ.ค. เพื่อลดจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยิ่งทำให้แผนการเป็นเจ้าภาพโตเกียวโอลิมปิกของญี่ปุ่นในช่วงเดือน ก.ค. ตกอยู่ในความไม่แน่นอนมากขึ้น
ผลสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ไมนิจิชิมบุนที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (5) พบว่า มีผู้ว่าราชการจังหวัดญี่ปุ่นถึง 9 คน จากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ต้องการให้โตเกียวโอลิมปิก 2020 ถูกยกเลิก ขณะที่โพลของสื่อต่างๆ ในญี่ปุ่นเมื่อเดือน เม.ย. ก็พบว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นราว 60-70% สนับสนุนให้ยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน