จากบริการเรียกรถ (ไรด์เฮลลิ่ง) และส่งอาหาร Grab กำลังไต่เต้าขึ้นเป็นหนึ่งในซูเปอร์แอปที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย ล่าสุดยังขยายเข้าสู่บริการทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อ ประกันภัย การชำระเงิน และการลงทุน ภายใต้เป้าหมายในการแปลงร่างเป็นธนาคารเสมือนจริงสำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 600 ล้านคน กระนั้น การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นประกอบกับการที่ภาครัฐตื่นตัวมากขึ้นในการเข้าควบคุมอิทธิพลของซูเปอร์แอป อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนการของแกร็บ
แกร็บเปิดตัวเมื่อปี 2012 ในฐานะแอปไรด์เฮลลิ่งแบบเดียวกับอูเบอร์ และเติบโตต่อเนื่องกระทั่งปี 2018 ก็สามารถกำจัดอูเบอร์ออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำเร็จ
จุดเริ่มต้นแกร็บ
แกร็บถือกำเนิดขึ้นในมาเลเซียเมื่อปี 2012 ในรูปบริการจองแท็กซี่ออนไลน์ชื่อว่า MyTeksi
แอนโทนี ตัน ผู้ร่วมก่อตั้ง เป็นเจ้าของไอเดียนี้ตอนที่ยังเรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด บิสิเนส สกูล จุดขายคือ การทำให้การนั่งแท็กซี่ปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับชาวมาเลเซีย
แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การหานักลงทุน
คี ล็อก ฉั่ว หุ้นส่วนผู้จัดการเวอร์เท็กซ์ เวนเจอร์ส เซาท์อีสต์ เอเชีย แอนด์ อินเดีย คือหนึ่งในนักลงทุนประเภทสถาบันกลุ่มแรกๆ ของแกร็บ
อีกหนึ่งนักลงทุนสำคัญคือ แม่ของตันเอง
“เราได้เห็นถึงการที่เขาใช้เวลาอยู่กับคุณแม่ของเขายังไง เขาพูดกับเธอยังไง และเขาให้ความเคารพเธอขนาดไหน” ฉั่ว อธิบาย
“นั่นบอกให้เรารู้ว่าเขาเป็นคนมีคุณธรรมและมีความมุ่งมั่นสูง”
“นอกเหนือจากไอเดียที่มั่นคงหนักแน่นแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราตัดสินใจที่จะลงทุนในธุรกิจนี้”
เวอร์เท็กซ์ เวนเจอร์ส ลงทุน 11.2 ล้านดอลลาร์ และถือหุ้น 22% ในแกร็บ ซึ่งปรากฏว่าสามารถทำกำไรกว่า 10 เท่าใน 7 ปีต่อมาเมื่อฉัวถอนการลงทุน
นายแบงก์มวลชน?
เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น แกร็บตระหนักว่า คนขับมากมายไม่มีบัญชีธนาคาร ดังนั้น รูเบน ไหล ประธานแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จึงช่วยให้คนขับลงทะเบียนเปิดบัญชีเพื่อรับค่าตอบแทน และยังจัดหาสินเชื่อสำหรับการซื้อรถให้ด้วย
ตอนนั้นเองที่แกร็บตระหนักว่า ประชาชน 60% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้รับบริการอย่างเพียงพอจากแบงก์ ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดแคลนข้อมูลหรือมีต้นทุนสูง ดังนั้น บริษัทจึงต้องการอาสาเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการผู้บริโภคเหล่านี้
เศรษฐกิจทางเลือก
หนึ่งในผู้บริโภคเหล่านั้นรวมถึงเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เปิดร้านในช่วงที่โควิดระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว เขาเล่าว่า ได้ออเดอร์หลั่งไหลจากแอปแกร็บ และธุรกิจไปได้ดีมากกระทั่งเขาอยากกู้เงินมาขยายร้าน แต่เมื่อคิดดู การไปกู้แบงก์ปกติแล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อเดือนสูงมาก ร้านคงไปไม่รอด
สุดท้ายเขาหันไปพึ่งแกร็บที่ให้สินเชื่อเกือบ 4,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 125,000 บาท และชำระหนี้ด้วยการหักจากรายได้รายวัน ซึ่งเขาสามารถเข้าไปเช็กในแอปได้ว่าแต่ละวันจ่ายหนี้ไปเท่าไหร่
ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของบริการทางการเงินของแกร็บคือคนขับ เช่น คนขับคนหนึ่งที่เล่าว่า ขับแกร็บมา 3 ปี และตอนนี้ก็ซื้อประกันสุขภาพผ่านแอปแกร็บ ซึ่งจะหักเบี้ยจากบริการทุกเที่ยวๆ ละ 10 เซ็นต์ และขณะนี้เขามีความคุ้มครองถึง 113,000 ดอลลาร์
สำหรับขณะนี้ แกร็บกำลังเล็งเป้าหมายคนรุ่นมิลเลนเนียลที่รู้จักเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างดี
จื้อซุน ฟู หุ้นส่วนจัดการคนหนึ่งของจีจีวี แคปิตอล และเป็นนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในแกร็บตั้งแต่แรกๆ อีกคนหนึ่ง บอกว่า เขาแนะนำให้ทางคณะผู้นำของบริษัทนี้ บุกเข้าสู่ธุรกิจด้านบริการทางการเงินกันตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว
“ทันทีที่คุณมีกระเป๋าเงิน (ดิจิตอล) คุณก็จะเริ่มใช้มัน” เขาบอก
“จากนั้นมันก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ที่คุณจะใช้มันซื้อข้าวซื้อของต่างๆ คุณยังต้องการอาศัยมันในการเข้าถึงสินเชื่อที่มีเงื่อนไขดีขึ้น และเมื่อคุณกำลังเดินทาง คุณก็อาจจะต้องการใช้มันซื้อประกันภัยการเดินทาง”
“มันก็แค่เป็นก้าวต่อไปตามธรรมชาติ ที่จะต้องเดินไปนั่นเอง”
บทเรียนจากจีน
แกร็บเดินตามโมเดลจีนที่ใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าและนำเสนอบริการทางการเงินแก่ลูกค้าเหล่านั้น
นักลงทุนจีนในแกร็บ รวมถึงตีตี ชูสิง แอปไรด์เฮลลิ่งเบอร์หนึ่ง และเทนเซ็นต์ หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งอัดฉีดให้ทั้งเงินทุนและความเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม ระยะหลังมานี้พวกหน่วยงานผู้คุมกฎจีนเดินหน้าสยบอิทธิพลเหล่าบิ๊กเทคในประเทศครั้งใหญ่ โดยมุ่งเน้นไม่ให้ยักษ์เหล่านี้อาศัยฐานะของตนก้าวขึ้นเป็นผู้ผูกขาดกิจการ
ศาสตราจารย์นิทิน ปังการ์คาร์ จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนแทบไม่ตระหนักว่า การกระจุกตัวของอำนาจ เป็นเรื่องซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่รัฐบาลของประเทศอื่นๆ สามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในจีนได้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าหากพวกเขาไม่ต้องการให้สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาเองด้วย พวกเขาก็ต้องก้าวเข้าไปจัดระเบียบ
ความท้าทายข้างหน้า
ดูเหมือนความเสี่ยงสำหรับแกร็บจะมีมากขึ้น
บริษัทได้ใบอนุญาตดำเนินการธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์และคาดหวังเริ่มกิจการในปีหน้า แต่นักวิเคราะห์มองว่า กฎระเบียบควบคุมจะเป็นประเด็นที่น่ากังวลในอนาคต
ร็อบสัน ลี หุ้นส่วนในกิ๊บสัน ดันน์ เชื่อว่า ธนาคารดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะเผชิญอุปสรรคใหญ่ เนื่องจากถึงที่สุดแล้วพวกหน่วยงานผู้คุมกฎจะลุกขึ้นมาปกป้องธุรกิจที่พวกเขากำกับดูแลอยู่
นอกจากนั้น แกร็บยังมีแผนจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ปลายปีนี้ โดยเล็งมูลค่าการระดมทุนไว้ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้เป็นแผนการที่สวยหรู แต่ลีเตือนนักลงทุนว่ายังควรต้องจับตาความเคลื่อนไหวของแกร็บอย่างระมัดระวังต่อไป
(ที่มา : บีบีซี, เอเจนซีส์)