สื่อมวลชนรัสเซียและจีนกำลังทำงานอย่างเป็นระบบ หาทางบั่นทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ของตะวันตก ในแผนการแพร่ข่าวเท็จล่าสุดของพวกเขาที่มีเป้าหมายสร้างความแตกแยกแก่ตะวันตก ตามรายงานของอียูที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (28 เม.ย.)
ในรายงานผลการศึกษาของอียูพบว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน บรรดาสื่อมวลชนแห่งรัฐของทั้งสองประเทศผลักดันข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ในภาษาต่างๆ ก่อความวิตกเป็นวงกว้างในประเด็นด้านความปลอดภัยของวัคซีน เชื่อมโยงโดยปราศจากมูลความจริงระหว่างวัคซีนกับเหตุเสียชีวิตในยุโรป พร้อมกับประชาสัมพันธ์อย่างครึกโครมว่าวัคซีนของรัสเซียและจีนมีประสิทธิภาพเหนือกว่า
อียูจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นประจำและกำลังหาทางทำงานร่วมกับกูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์ เพื่อสกัดการเผยแพร่ข่าวปลอม ส่วนทางเครมลินและปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
ผลการศึกษาของอียูที่เผยแพร่โดยหน่วยงานจัดการสารสนเทศที่บืดเบือนของทางกลุ่ม สังกัดกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป (EEAS) ระบุว่า การทูตวัคซีนของรัสเซียและจีนจะตามมาด้วยตรรกะเกมที่ต้องมีแพ้ชนะ ร่วมกับความพยายามเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และบิดเบือนเพื่อบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือต่อวัคซีนที่ผลิตโดยตะวันตก
"ทั้งรัสเซียและจีนกำลังใช้สื่อมวลชนที่ควบคุมโดยภาครัฐ เครือข่ายสื่อมวลชนตัวแทนและสื่อสังคมออนไลน์ ในนั้นรวมถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้" รายงานระบุ บ่อยครั้งที่อียูและนาโต้เผยแพร่รายงานกล่าวหาพฤติกรรมแอบแฝงของรัสเซีย ในนั้นรวมถึงบิดเบือนข้อมูลในความพยายามบ่อนทำลายตะวันตกด้วยการใช้ประโยชน์จากความแตกแยกในสังคม
อย่างไรก็ตาม ทางผู้แทนทูตจีนประจำอียูเผยแพร่รายงานลงวันที่ 29 เมษายน ตอบโต้รายงานล่าสุดของอียู โดยระบุว่า "รายงานเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลที่ไม่มีอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ตัวรายงานเองนั่นแหละที่เป็นตัวอย่างของการบิดเบือน"
รัสเซียก็เช่นกันที่ปฏิเสธว่าไม่เคยใช้กลยุทธ์ดังกล่าว และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวหาคู่อริต่างชาติเล็งเป้าเล่นงานรัสเซีย ด้วยการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
รายงานระบุว่าปัญหาด้านอุปทานวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เช่นเดียวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยมากกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ถูกสื่อมวลชนรัสเซียและจีนหยิบฉวยมาเป็นประเด็นที่บั่นทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ของตะวันตก
"สำนักข่าวอย่างเป็นทางการของจีนและสื่อมวลชนฝักใฝ่รัสเซียต่างมีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างผลกระทบข้างเคียงของวัคซีนตะวันตก บิดเบือนรายงานข่าวของสื่อมวลชนระว่างประเทศและประโคมข่าวใหญ่โตเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคในนอร์เวย์ สเปน และที่อื่นๆ" รายงานระบุ
แม้โครงการฉีดวัคซีนของอียูแก่ประชากรราว 450 ล้านคนของทางกลุ่มมีความล่าช้าหากเทียบกับสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มอีกแล้ว แต่เวลานี้ปฏิบัติการดังกล่าวมีความรวดเร็วขึ้นแล้ว นำโดยวัคซีนของไฟเซอร์ ผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกัน กับไบโอเอ็นเทค พันธมิตรจากเยอรมนี
สื่อมวลชนรัสเซียอ้าง "เบร็กซิตกลายเป็นการช่วยปกป้องสหราชอาณาจักรจากภาวะยุ่งเหยิงทางวัคซีนที่เกิดขึ้นกับอียู" ซึ่งอียูตอบโต้ในรายงานกลับว่า "การรายงานข่าวลักษณะดังกล่าวเป็นความพยายามสร้างความแตกแยกภายในอียู"
(ที่มา : รอยเตอร์ส)