จีนกำลังวางแผนสร้างเขื่อนอภิมหายักษ์ขึ้นในทิเบต ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเป็น 3 เท่าตัวของ “เขื่อนสามผา” (Three Gorges Dam) ที่เวลานี้มีฐานะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เรื่องนี้กำลังสร้างความหวาดผวาขึ้นมาในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย
สิ่งก่อสร้างใหญ่โตมโหฬารชิ้นนี้จะครอบอยู่เหนือแม่น้ำพรหมบุตร ก่อนที่ทางน้ำสายสำคัญนี้จะพ้นออกจากเทือกเขาหิมาลัย และไหลต่อมายังอินเดีย โดยตั้งคร่อมหุบเขาซึ่งยาวที่สุดและลึกที่สุดในโลก ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,500 เมตร
โครงการซึ่งจะสร้างขึ้นในอำเภอเมด็อก (Medog County) ของเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนแห่งนี้ คาดหมายกันว่าจะข่มจนมิด “เขื่อนสามผา” ที่สร้างกั้นแม่น้ำแยงซีในบริเวณภาคกลางของแดนมังกร และมีความสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 300,000 ล้านกิโลวัตต์ในแต่ละปี
ในแผนระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ซึ่งนำเสนอและผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการระบุถึงโครงการนี้เอาไว้ด้วย ทว่าไม่ค่อยมีรายละเอียด รวมทั้งไม่มีการระบุชัดเจนในเรื่องกรอบเวลาหรืองบประมาณใช้จ่าย
แม่น้ำสายนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อภาษาทิเบตว่า ยาร์ลุง จางโป (Yarlung Zangpo) ยังเป็นที่ตั้งของโครงการอีก 2 โครงการที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไปอีกไกล ขณะเดียวกันก็มีอีก 6 โครงการซึ่งถูกกำหนดเอาไว้ในแผนหรือไม่ก็กำลังก่อสร้างกันอยู่
อย่างไรก็ตาม “เขื่อนอภิมหายักษ์” คือสิ่งที่โดดเด่นยิ่งใหญ่ในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องพิจารณาปะปนรวมไปกับโครงการอื่นๆ
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของทิเบตได้ลงนามใน “ความตกลงร่วมมือทางยุทธศาสตร์” กับ เพาเวอร์ไชน่า (PowerChina) บริษัทรัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างซึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ
อีกหนึ่งเดือนถัดมา เหยียน จือหยง (Yan Zhiyong) ประธานของเพาเวอร์ไชน่า ได้เปิดเผยโครงการนี้เป็นบางส่วนแก่สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth League) ที่เป็นองค์การเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นพรรคที่บริหารปกครองจีนเวลานี้
เหยียนพูดอย่างกระตือรือร้นว่า พื้นที่ซึ่งจะใช้สร้างเขื่อนเป็น “ภูมิภาคร่ำรวยที่สุดของโลกในเรื่องของทรัพยากรไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมอธิบายว่าเขื่อนมหายักษ์แห่งนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากหยาดหยดน้ำมหึมาบริเวณช่วงตอนพิเศษตรงนี้ของแม่น้ำสายนี้
‘ความคิดที่ย่ำแย่เลวร้ายจริงๆ’
ปักกิ่งอาจอ้างเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการจัดทำโครงการขนาดมโหฬารนี้ขึ้นมาว่า เพื่อเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนที่จะต้องผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนนี้ขึ้นมาด้วยการใช้เชื้อเพลิงซากฟอสซิล ทว่ามีความเสี่ยงอย่างสูงลิ่วที่จีนกำลังกระตุ้นให้เกิดแรงคัดค้านอย่างแข็งกล้าจากพวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในระดับเดียวกับที่พวกเขาเคยต่อต้านเขื่อนสามผา ซึ่งแดนมังกรสร้างขึ้นมาในช่วงระหว่างปี 1994 ถึงปี 2012
เขื่อนสามผานั้นทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โตมาก และต้องมีการโยกย้ายประชากรที่อยู่เหนือเขื่อนออกไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนถึง 1.4 ล้านคน
“การสร้างเขื่อนขนาดอภิมหายักษ์เช่นนี้ น่าจะเป็นความคิดที่ย่ำแย่เลวร้ายจริงๆ ด้วยเหตุผลจำนวนมากมาย” เป็นความเห็นของ ไบรอัน อายเลอร์ (Brian Eyler) ผู้อำนวยโครงการพลังงาน, น้ำ,และความยั่งยืน ของศูนย์สติมสัน (Stimson Center) องค์กรคลังสมองของสหรัฐฯที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน
อายเลอร์ชี้ว่า พื้นที่ตรงนั้นนอกจากเป็นที่ทราบกันดีในเรื่องโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวแล้ว ยังเป็นบริเวณที่มีคตวามหลากหลายทางชีวภาพอย่างโดดเด่นไม่เหมือนที่อื่น เขื่อนยักษ์ที่สร้างขึ้นมาจะสกัดกั้นการเดินทางอพยพของปลา ตลอดจนการไหลลงมาของตะกอนแร่ธาตุใต้น้ำซึ่งเป็นตัวสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผิวดิน ในเวลาที่อาณาบริเวณซึ่งอยู่ทางปลายน้ำเกิดน้ำท่วมตามฤดูกาล
ด้าน เทมปา กยัลเจน ซัมลฮา (Tempa Gyaltsen Zamlha) ผู้ชำนาญการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของ สถาบันนโยบายทิเบต (Tibet Policy Institute) องค์กรคลังสมองที่เกี่ยวข้องโยงใยกับรัฐบาลทิเบตลี้ภัย ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ก็บอกว่า มันมีความเสี่ยงทั้งทางนิเวศวิทยาและทางการเมือง
“เรามีมรดกทางวัฒนธรรมทิเบตที่มั่งคั่งร่ำรวยมากๆ ในพื้นที่ตรงนั้น และการก่อสร้างเขื่อนใดๆ ก็ตามย่อมเป็นเหตุให้เกิดการทำลายในทางนิเวศวิทยาขึ้นมา มีน้ำท่วมพื้นที่ส่วนต่างๆ ของเขตตรงนั้น” เขาบอกกับเอเอฟพี
“ชาวบ้านท้องถิ่นจำนวนมากจะถูกบังคับให้ออกจากบ้านเรือนที่พำนักอาศัยกันตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของพวกเขา” เขากล่าว พร้อมบอกอีกว่า โครงการนี้จะส่งเสริมให้พวกคนงานชนชาติฮั่นชาวจีนอพยพไปยังพื้นที่ตรงนั้น และบริเวณดังกล่าวก็จะ “ค่อยๆ กลายเป็นถิ่นฐานถาวรขึ้นมา”
“สงครามแย่งน้ำ”
นิวเดลีก็รู้สึกวิตกกับโครงการนี้เช่นเดียวกัน
พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า เขื่อนยักษ์นี้จะทำให้จีนอยู่ในฐานะที่สามารถควบคุมแหล่งที่มาของน้ำกินน้ำใช้จำนวนมากซึ่งบริโภคใช้สอยกันอยู่ในเอเชียใต้
“สงครามแย่งน้ำคือส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการสงครามดังกล่าว เนื่องจากมันเปิดทางให้จีนสามารถใช้ความได้เปรียบจากอำนาจในการอยู่ต้นน้ำโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ทิเบต มาครอบงำเหนือทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงความสำคัญอย่างที่สุดนี้” นักรัฐศาสตร์ บราห์มา เชลลานีย์ (Brahma Chellaney) เขียนเอาไว้เช่นนี้ในหนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอินเดีย (Times of India) เมื่อเดือนที่แล้ว
ความเสี่ยงอันเนื่องจากกิจกรรมแผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าว ยังจะทำให้เขื่อนยักษ์แห่งนี้กลายเป็น “ระเบิดเวลาที่เวลากำลังนับถอยหลังกระชั้นเข้ามาทุกที” สำหรับผู้คนซึ่งพำนักอาศัยกันทางปลายน้ำ เขากล่าวเตือน
ในการแสดงปฏิกิริยาต่อไอเดียสร้างเขื่อนนี้ของฝ่ายจีน รัฐบาลอินเดียได้เผยแพร่เสนอแนะลู่ทางโอกาสที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำพรหมบุตรอีกแห่งหนึ่งขึ้น เพื่อการเก็บกักสำรองน้ำของตนเอง
“ยังคงมีเวลาอีกแยะที่จะเจรจากับจีน เกี่ยวกันอนาคตของเขื่อนอภิมหายักษ์นี้ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ของมัน” อายเลอร์ บอก
“แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมาย่ำแย่ ก็อาจจะได้เห็นอินเดียสร้างเขื่อนของตนเองขึ้นมาทางปลายน้ำ”
(เก็บความจากเรื่อง China s plans for Himalayan super dam stoke fears in India ของสำนักข่าวเอเอฟพี)