xs
xsm
sm
md
lg

SACICT ชวนคนไทยภูมิใจหัตถศิลป์ถิ่นใต้ จากใจย่ายาย...สู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เดินหน้ายกระดับภูมิปัญญาหัตถศิลป์ถิ่นภาคใต้ จากใจย่ายาย...สู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ส่งผ่านงานจักสานเตยปาหนัน ผลักดันผ้าทอนาหมื่นศรี ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับตลาดยุคดิจิทัล

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน SACICT จึงได้พัฒนาวงการหัตถกรรมไทยในภูมิภาคต่างๆ มีการเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ผู้มีภูมิปัญญาและทักษะความสามารถเชิงชั้นช่างชั้นสูง ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งการส่งเสริมให้คนในชุมชนทำงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์รายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดผ่านการเป็นสมาชิกของ SACICT พร้อมเพิ่มพูนทักษะในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการและทักษะการตลาดดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน สำหรับงานศิลปหัตถกรรม จ.ตรัง นั้น มีความโดดเด่นทั้งงานประเภทงานทอ ผ้าทอนาหมื่นศรี และงานจักสานผลิตภัณฑ์เตยปาหนันซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดยกระดับคุณภาพของชิ้นงานหัตถกรรมให้สามารถตอบโจทย์ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ


“SACICT เตรียมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น จ.ตรัง เช่น สถาบันการศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และชุมชน โดยมีครูฯและทายาทฯ เป็นศูนย์กลาง การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้โดนใจผู้บริโภคโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงบางอย่างมาใช้โดยยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาไว้ แต่ทำให้ได้ชิ้นงานที่มากขึ้น ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งนำนวัตกรรมมาช่วยเรื่องการใช้งาน เช่น การเคลือบนาโนในงานผ้าเพื่อเพิ่มอายุการใช้งาน ช่วยแก้ปัญหาผ้าไม่ยับและซักรีดดูแลได้ง่ายขึ้น ส่วนงานจักสานเคลือบวัสดุบางชนิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องราและเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นจุดอ่อนของงานสาน อีกทั้ง SACICT ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการย้อมสีธรรมชาติเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้มีแผนจะเข้ามาสนับสนุนด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ แอพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่างๆ การจัดแสดงนิทรรศการและจำหน่ายสินค้า เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมปรับเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก”

งานศิลปหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ล้วนแสดงออกถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ โดยสั่งสมทักษะ เชิงช่างและภูมิปัญญามายาวนานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะผ้าทอนาหมื่นศรี อยู่คู่ชาวตรังมากว่า 200 ปี โดยชาวบ้านในชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ โดยมี นางลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 ของ SACICT ผู้ซึ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผ้าทอนาหมื่นศรีของ ครูกุศล นิลลออ ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2554 ของ SACICT (เสียชีวิตแล้ว) อันมีเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการทอที่ขึ้นชื่อว่ายากมาก โดยเฉพาะลายแก้วชิงดวง ที่เน้นการใช้สีแดง-เหลือง ซึ่งเป็นคู่สีที่ตัดกันและสร้างความสดใสและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ปัจจุบันผ้านาหมื่นศรีมีลวดลายมากถึง 32 ลาย เป็นลายเกี่ยวกับสัตว์ เช่น ลายปลา ลายครุฑ ลายหงส์ ลายนกการะเวก ลายของพืชและดอกไม้ เช่น ลายท้ายมังคุด ลายช่อมะละกอ แก้วกุหลาบ ดอกจัน รวมทั้งลายจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น พานรัฐธรรมนูญ ตุ๊กตาถือดอกบัว และเตรียมจะพัฒนาลวดลายใหม่ๆ เช่น ลายมักรีผล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการสืบสานต่องานผ้าทอนาหมื่นศรีไปยังเยาวชนในสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น มีการเรียนการสอนการทอผ้า เชื่อมโยงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เยาวชนรุ่นจิ๋วมาเป็นมัคคุเทศก์ตัวจิ๋วให้แก่ผู้มาท่องเที่ยว ก่อเกิดความรักความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์พื้นถิ่นและส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ไปยังคนรุ่นต่อไปไม่รู้จบ


ครูอ๊ะ หลงกลาง ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2556 ของ SACICT ผู้ซึ่งทรงภูมิปัญญางานจักสานเตยปาหนัน รวมกลุ่มในชุมชนบ้านนาชุมเห็ด โดยใช้เตยทุ่งซึ่งเป็นพืชธรรมชาติพื้นถิ่น มีความยืดหยุ่นและทนทานนำมาสร้างสรรค์เสื่อวงกลมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสานหมวกขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวโดยไม่มีรอยต่อ และที่โดดเด่นเป็นจุดขายสำคัญคือการสานเป็นตัวอักษร ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องใช้ เช่น กระเป๋าในรูปแบบ Word-Bags ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มจักสานของตรังที่สามารถพัฒนาตนเองจนเป็นที่ยอมรับของตลาดอย่าง นางจันทร์เพ็ญ ปูเงิน สมาชิก SACICT คนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำและไม่แน่นอน จึงได้มีการรวมกลุ่มสตรีมุสลิมบ้านดุหุน มาทำงานหัตถกรรมเพื่อต่อลมหายใจให้ครอบครัวจนกลายเป็นอาชีพหลัก โดยใช้วัตถุดิบเป็นเตยทะเลซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมหาดชายทะเลหรือป่าโกงกาง มาจักสานและแปรรูป โดยเน้นการออกแบบเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ความเรียบง่ายของลายสานที่ดูร่วมสมัย ละเอียด ประณีตและสีสันสวยงาม


ด้าน นายจิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ ผู้จัดการ Kachong Hills Tented Resort ภาคธุรกิจซึ่งนำงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่น จ.ตรัง ทั้งงานผ้า งานไม้ และงานจักสานมาใช้ประโยชน์อย่างกลมกลืน เช่น ใช้ผ้าทอนาหมื่นศรีมาเป็นเครื่องแบบของพนักงาน โดยมีการปรับดีไซน์และรูปแบบให้เรียบง่าย และดูทันสมัยมากขึ้น เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน

หัวใจสำคัญคือ การคัดสรรสินค้าท้องถิ่นและงานศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองที่เป็นงานออกแบบยุคใหม่มาผสมผสานเข้ากับแรงบันดาลใจใช้ในการตกแต่งและเป็นของใช้ในรีสอร์ทซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ของที่นำมาใช้จึงเน้นความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้หลอมรวมเป็นภาพเดียวกัน สำหรับโอกาสทางการตลาดของงานศิลปหัตถกรรมโดยชุมชนนั้น มองว่ามีอนาคตสดใส หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเป็นลำดับและการท่องเที่ยวกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ย่อมเป็นการขยายโอกาสในสินค้าชุมชนไปสู่กลุ่มธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหารและคาเฟ่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นมีเรื่องราวที่สามารถบอกเล่าได้ด้วยตัวเอง สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมให้กับผู้มาเยือนได้ซึมซับวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ผ่านทางชิ้นงานหัตถกรรมได้เป็นอย่างดี โดยคงอัตลักษณ์ภูมิปัญญาคุณค่าความเป็นไทยไว้อย่างน่าประทับใจ




กำลังโหลดความคิดเห็น