xs
xsm
sm
md
lg

ทั้ง‘รัสเซีย’และ‘จีน’กำลังบอก‘ไบเดน’ว่า มันผ่านไปแล้วสำหรับวันเวลาเก่าๆ ที่‘อเมริกา’เที่ยว‘กร่าง’บงการให้คนอื่นทำตาม ‘มาตรฐาน’ ของตน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โทนี เควิน


ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน แสดงออกถึงความสนิทสนมกัน ระหว่างที่ผู้นำทั้งสองเข้าร่วมเวทีประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg International Economic Forum) ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2019
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Russia and China tell Biden: The old days are over
by Tony Kevin
26/03/21

ในเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน มอสโกและปักกิ่งต่างส่งข้อความที่ดุดันแข็งกร้าวออกมาว่า พวกเขาจะไม่ทนสำหรับการที่ฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เที่ยวมาบอกกล่าวว่าพวกเขาจะต้องทำอะไร หรือจะต้องประพฤติตัวอย่างไร จึงจะเข้า “มาตรฐาน” ที่ฝ่ายตะวันตกยอมรับ

ช่วงสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ถือเป็นจุดพลิกผันในความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับฝ่ายตะวันตก – และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ มีช่วงขณะอันน่าตื่นตาตื่นใจ 2 ช่วงที่ต่างมีการถ่ายทอดออกอากาศทางโทรทัศน์กันทั้งคู่ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เปลี่ยนแปลงพลังความเคลื่อนไหวในระหว่างประเทศทั้งสอง บางทีจนถึงขั้นที่ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้อีกแล้ว

พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นทางสื่อในโลกตะวันตกแทบทั้งหมด มุ่งโฟกัสไปที่ “การแสดงความเกรียน” ของปูตินต่อไบเดน ด้วยการพูดอย่างหน้าตาเฉย –ถึงแม้ตัวปูตินเองจะย้ำว่า เขาไม่ได้กำลังเยาะหยันเหน็บแนมเลยนะ –แสดงความปรารถนาให้ประมุขรัฐของฝ่ายอเมริกัน “มีสุขภาพดี” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2021/03/18/world/europe/russia-biden-putin-killer.html) ใช่ครับ เขาพูดอย่างนี้ ภายหลังจาก ไบเดน ได้เรียก ปูติน ว่าเป็น “ฆาตกร”

แต่การอ่านข้อความที่ปูตินส่งไปถึงสหรัฐฯด้วยความระมัดระวังมากขึ้นและอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจว่า ทำไมในท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำรัสเซียคนหนึ่งจึงรู้สึกพร้อมที่จะบอกกับสหรัฐฯว่า –อย่าเอาสิ่งที่คุณอ้างว่าเป็นมาตรฐานของคุณ มาใช้วินิจฉัยตัดสินเรา และอย่าได้พยายามบอกกับเราว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง

ปูตินนั้นไม่เคยเลยที่จะออกมาประกาศยืนกรานข้อเสนอแนะเหล่านี้ด้วยความโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาถึงขนาดนี้ และมันเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาเมื่อเขาตัดสินใจทำเช่นนั้น

ข้อความที่ ‘ปูติน’ ส่งถึง ‘ไบเดน’

การทดสอบอย่างตึงเครียดถึงความแข็งแกร่งของกันและกันคราวนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อไบเดนถูกถามถึงความเห็นเกี่ยวกับปูติน ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์ จอร์จ สเตฟาโนปูลอส (George Stephanopoulos) ทางรายการของฝ่ายข่าวเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี (ABC News) และตอบว่า เขาเห็นด้วยว่าปูตินนั้นเป็น “ฆาตกร” ที่ปราศจากจิตวิญญาณ เขายังพูดอีกว่า ปูตินจะต้อง “จ่ายหนี้” สำหรับการกระทำต่างๆ ของตนเอง

จากนั้น ปูติน ก็ใช้จังหวะก้าวแบบผิดธรรมดา โดยไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ VGTRK ด้วยคำแถลงที่ตระเตรียมเอาไว้ซึ่งมีความยาว 5 นาที เพื่อเป็นการตอบโต้ไบเดน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://youtu.be/uO6ptqMSVzU)

ในคำแถลงดังกล่าว ปูตินใช้ท่าทีฟันเปรี้ยงตรงไปตรงมาอย่างไม่ปกติ โดยกล่าวทบทวนถึงประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯทั้งในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมือง, ประสบการณ์อันโหดเหี้ยมเลวร้ายของการใช้แรงงานทาส, การกดขี่ข่มเหงชาวอเมริกันผิวดำที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ และการที่สหรัฐฯทิ้งระเบิดนิวเคลียร์โดยที่ไม่ได้ถูกยั่วยุอะไรใส่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในสงครามโลกครั้งที่ 2

เขาเสนอแนะว่า รัฐต่างๆ ไม่ควรวินิจฉัยตัดสินคนอื่นๆ โดยใช้มาตรฐานต่างๆ ของตนเอง “เมื่อใดก็ตามที่คุณพูดเกี่ยวกับคนอื่นๆ นั่นก็คือคุณกำลังพูดถึงตัวคุณเอง”

มีนักหนังสือพิมพ์และผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันบางคน แสดงปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ว่า เป็น “การแสดงความเกรียน” ของปูติน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/GeorgePapa19/status/1372678798827614214) แต่มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก

นี่เป็นอารัมภบทให้แก่ข้อความสำคัญที่สุดของปูตินในรอบระยะเวลาหลายๆ ปีมานี้ ซึ่งมุ่งส่งไปถึงสิ่งที่เขาเรียกกว่าเป็น “พวกผู้ทรงอำนาจ ชนชั้นปกครอง” ชาวอเมริกัน เขากล่าวว่าคณะผู้นำสหรัฐฯมีความตั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์กับรัสเซีย ทว่าต้องเป็นความสัมพันธ์ชนิดที่ “เป็นไปตามเงื่อนไขของ (สหรัฐฯ) เอง” เท่านั้น

“ถึงแม้พวกเขาคิดว่าเราเป็นอย่างเดียวกับที่พวกเขาเป็น แต่เรานั้นเป็นคนที่แตกต่างออกไป เรามีรหัสทางพันธุกรรม, มีกติกาทางวัฒนธรรมและทางศีลธรรมที่แตกต่างออกไป แต่เราทราบว่าจะพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของเราเองได้อย่างไร

“และเราจะทำงานกับพวกเขา แต่ต้องอยู่ในพวกพื้นที่ซึ่งเราเองมีความสนใจ และบนเงื่อนไขที่เราพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับเราเอง และพวกเขาก็จะต้องคำนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ถึงแม้จะใช้ความพยายามทุกๆ อย่างเพื่อหยุดยั้งการพัฒนาของเราก็ตามที ถึงแม้ใช้ทั้งการแซงก์ชั่น, การหยามหมิ่น, แต่พวกเขาก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้”


นี่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับปูติน ก่อนหน้านี้เขาใช้เวลาเป็นแรมปีมาแล้วในการพูดอธิบายจุดนี้ โดยใช้ท่าทีที่สุภาพเสมอมา ในการชี้ให้เห็นว่า พวกมหาอำนาจตะวันตกจำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กับรัสเซียบนพื้นฐานของพิธีการทางการทูตที่ถูกต้อง และบนความเคารพในอธิปไตยแห่งชาติของกันและกัน ถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะผ่อนคลายความตึงเครียด

ทว่าก่อนหน้านี้เขาไม่เคยใช้ท่าทีตรงไปตรงมาเช่นนี้ นี่จึงเท่ากับเป็นการป่าวร้องว่า: อย่าได้บังอาจพยายามวินิจฉัยตัดสินเราหรือลงโทษเรา ที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่คุณอ้างว่าเป็นมาตรฐานสากล เพราะเรานั้นมีความแตกต่างจากคุณ วันเวลาที่ปล่อยให้พวกคุณทำเช่นนั้น เมื่อมาถึงตอนนี้ก็คือสิ้นสุดลงแล้ว

จีนก็ผลักไสแรงกดดันให้ถอยกลับไปเช่นกัน

คำแถลงที่ทรงพลังของปูติน น่าสังเกตว่าอยู่ในลักษณะคล้ายๆ กับคำแถลงต่อสาธารณชนอันหนักแน่นพอๆ กัน ที่กล่าวโดยคณะนักการทูตอาวุโสชาวจีน ต่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ในรัฐอะแลสกา เมื่อสัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมา

บลิงเคนเปิดการประชุมหารือระหว่างสหรัฐฯกับจีนคราวนั้น ด้วยการวิจารณ์โจมตีจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/donald-trump-alaska-antony-blinken-yang-jiechi-wang-yi-fc23cd2b23332fa8dd2d781bd3f7c178) ว่า มีความเป็นเผด็จการรวบอำนาจ และใช้ท่าทีก้าวร้าวรุกรานทั้งภายในประเทศและนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ –ไม่ว่าในทิเบต, ซินเจียง, ฮ่องกง, หรือทะเลจีนใต้ เขาอ้างว่าความประพฤติเช่นนี้เป็นกำลังเป็นการคุกคาม “ระเบียบที่ยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธำรงรักษาเสถียรภาพของโลกเอาไว้”

หยาง เจียฉือ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตอบโต้ด้วยการประณามท่าทีมือถือสากปากถือศีลของอเมริกา เขากล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/usa-china-alaska-idUSL1N2LH0A5) เอาไว้ดังนี้:

“สหรัฐฯไม่มีคุณสมบัติที่จะพูดว่า ตนต้องการพูดกับจีนจากฐานะแห่งความเข้มแข็ง สหรัฐฯนั้นใช้กำลังทหารของตนและการครองความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ทางการเงินของตน มาดำเนินการใช้อำนาจยุติธรรมนอกอาณาเขต และกดขี่กำราบประเทศอื่นๆ สหรัฐฯใช้แนวคิดที่อ้างว่าเป็นความมั่นคงแห่งชาติ ไปในทางมิชอบ เพื่อขัดขวางการแลกเปลี่ยนทางการค้าอย่างปกติธรรมดา อีกทั้งยุยงบางประเทศให้โจมตีจีน”

เขาบอกว่าสหรัฐฯไม่มีสิทธิที่จะผลักดันประชาธิปไตยในเวอร์ชั่นของตนเองไปให้คนอื่นๆ ต้องนำไปใช้ ในขณะที่สหรัฐฯเองต้องรับมือกับความไม่พอใจและปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมากมายถึงขนาดนี้ในบ้านของตน

“รัสเซีย-จีน”กำลังเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ

คำแถลงของ ปูติน ได้รับการเพิ่มน้ำหนักให้หนักแน่นยิ่งขึ้นอีกจากการปฏิบัติการทางการทูต 2 อย่าง ได้แก่ การที่รัสเซียเรียกเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯของตนกลับประเทศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://abcnews.go.com/International/wireStory/russia-recalls-ambassador-us-consultations-76515771) และการพบปะหารือกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียเก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย กับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ในแดนมังกร

ปักกิ่งและมอสโกเห็นพ้องกันในการหารือคราวนี้ที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคงเพื่อต่อต้านการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก และเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกเขา เพื่อลดทอนการที่พวกเขาต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯในทางการค้าระหว่างประเทศและในการชำระเงินระหว่างประเทศ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.afr.com/world/asia/china-and-russia-pledge-to-stand-up-to-western-sanctions-20210323-p57d74) ลาฟรอฟยังพูดด้วยว่า “เราทั้งสองเชื่อว่าสหรัฐฯแสดงบทบาทเป็นผู้บั่นทอนเสถียรภาพ สหรัฐฯนั้นพึ่งพาอาศัยพวกกลุ่มพันธมิตรทางการทหารที่ก่อตั้งขึ้นในยุคสงครามเย็น รวมทั้งกำลังพยายามจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อบ่อนทำลายระเบียบโลก”

ถึงแม้การที่ไบเดนแสดงความเห็นเกี่ยวกับปูตินแบบไม่มีมารยาททางการทูต อาจจะเกิดขึ้นชนิดที่ไม่ได้มีการเตรียมการกันมาก่อน แต่ผลกระทบก็ยังคงลึกซึ้งกว้างขวางอยู่นั่นเอง ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับน้ำสียงดุดันในระหว่างการพบปะเจรจาของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ-จีนในอะแลสกา –ซึ่งเกิดจากการยั่วยุของฝ่ายสหรัฐฯเช่นเดียวกัน— มันก็เป็นที่ชัดเจนว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในบรรยากาศของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน-รัสเซีย

เรื่องนี้จะมีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ? ทั้งรัสเซียและจีนต่างกำลังส่งสัญญาณว่า พวกเขาจะติดต่อสัมพันธ์กับฝ่ายตะวันตกก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานที่และเวลาซึ่งเหมาะสมกับพวกเขาเท่านั้น การแซงก์ชั่นไม่ได้สร้างความวิตกใดๆ ให้แก่พวกเขาอีกแล้ว

ทั้งสองมหาอำนาจยังกำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความสบายอกสบายใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงานด้วยกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกัน ถ้าหากยังไม่ใช่เป็นพันธมิตรทางทหารกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theconversation.com/australias-strategic-blind-spot-chinas-newfound-intimacy-with-once-rival-russia-142385) พวกเขาจะยกระดับความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งพวกเขามีผลประโยชน์ร่วมกัน และในการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือระบบการค้าและการชำระเงินซึ่งตะวันตกครอบงำอยู่

ประเทศต่างๆ ในเอเชียและที่อยู่ห่างไกลออกไป ต่างกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงพัฒนาการของระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นทางเลือกนี้ ซึ่งนำโดยมอสโกและปักกิ่ง พวกเขายังรับทราบด้วยเช่นกันถึงสัญญาณต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯกำลังเสื่อมถอยทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

มันเป็นสงครามเย็นชนิดใหม่ แต่ไม่ใช่สงครามเย็นแบบที่ขึ้นอยู่กับแนวความคิดอุดมการณ์อย่างสงครามเย็นครั้งแรก มันเป็นสงครามเพื่อความถูกต้องชอบธรรมระหว่างประเทศ เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะใจและเพื่อเงินทอง ในพื้นที่ส่วนซึ่งกว้างใหญ่มากของโลกที่ยังไม่ได้ผูกพันเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯหรือสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

สหรัฐฯและพันธมิตรของเขาจะยังคงเดินหน้าไปตามเรื่องเล่าของพวกเขา เวลาเดียวกันรัสเซียกับจีนก็จะผลักดันเรื่องเล่าของฝ่ายตนขึ้นมาประชันขันแข่ง สภาพเช่นนี้มองเห็นได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ๋วจากการดำเนินการทางการทูตอย่างน่าตื่นตาตื่นใจของพวกมหาอำนาจใหญ่ๆ เหล่านี้ในช่วงเวลาสัปดาห์เศษที่ผ่านมาดังกล่าว

ดุลแห่งอำนาจของทั่วโลกกำลังเกิดการปรับเปลี่ยน และสำหรับชาติจำนวนมาก การวางเดิมพันที่ถือว่าฉลาด เวลานี้อาจจะเป็นการวางพนันข้างรัสเซียและจีน

ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ The Conversation (https://theconversation.com/russia-and-china-are-sending-biden-a-message-dont-judge-us-or-try-to-change-us-those-days-are-over-157771)

โทนี เควิน เป็นนักวิจัยกิตติคุณ (Emeritus Fellow) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เขาทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของออสเตรเลีย จากปี 1968 ถึงปี 1998 โดยเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำโปแลนด์เมื่อปี 1991-94 และประจำกัมพูชา ช่วงปี 1997-97

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกอากาศทางโทรทัศน์รัสเซียเมื่อวันที่ 18 มีนาคม  ทั้งนี้ในวันนั้น เขาตอบโต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเขาเป็น “ฆาตกร” ที่ไร้จิตวิญญาณ  โดยบอกว่ามันทำให้เขาคิดถึงตอนเป็นเด็กๆ ซึ่งเวลาทะเลาะกันมักชอบพูดกันว่า “ว่าแต่เขา ตัวเองเป็นเอง”  พร้อมกันนั้นปูตินยังบอกด้วยว่า ขอให้ไบเดน ซึ่งเวลานี้อายุ 78 ปี “มีสุขภาพดี”
กำลังโหลดความคิดเห็น