ราคาน้ำมันขยับขึ้นในวันอังคาร (6 เม.ย.) จากแรงหนุนข้อมูลกิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน ปัจจัยดังกล่าวดันทองคำแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ส่วนวอลล์สตรีทปิดในกรอบแคบๆ แม้ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโตมากสุดในรอบหลายสิบปี
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 68 เซนต์ ปิดที่ 59.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 59 เซนต์ ปิดที่ 62.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากข้อมูลกิจกรรมภาคบริการสหรัฐฯที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนกิจกรรมภาคบริการของจีนก็เติบโตอย่างร้อนแรงเช่นกัน
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากกรณีที่อังกฤษเตรียมผ่อนปรนข้อจำกัดสกัดโควิด-19 เพิ่มเติมในวันที่ 12 เมษายน โดยจะอนุญาตให้ธุรกิจต่างๆ ในนั้นรวมถึงร้านค้า ศูนย์ฟิตเนส ร้านทำผมและสถาบริการกลางแจ้งทั้งหลาย กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง
ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและจีน ช่วยดันราคาทองคำในวันอังคาร (6 เม.ย.) ปิดบวก แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 14.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,743.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันอังคาร (6 เม.ย.) ปิดในกรอบแคบๆ นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของเหล่าบริษัทจดทะเบียน แม้ได้แรงหนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอเมริกา
ดาวโจนส์ ลดลง 96.95 จุด (0.29 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,430.24 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 3.97 จุด (0.10 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,073.94 จุด แนสแดค ลดลง 7.21 จุด (0.05 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,698.38 จุด
ตลาดยังคงได้แรงหนุนจากข้อมูลของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ที่เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯพุ่งขึ้นสู่ระดับ 63.7 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 55.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 59.0 โดยดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ
ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากเมื่อวันศุกร์ (2 เม.ย.) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของอเมริกา พุ่งขึ้น 916,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020
นอกจากนี้แล้ว อีกปัจจัยที่หนุนวอลล์สตรีท ก็คือ ความเคลื่อนไหวของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในปีนี้ จากเดิม 5.5% เป็น 6% เป็นอัตราที่ไม่เคยพบเห็นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970
(ที่มา: รอยเตอร์)