อินเดียระงับส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันแดนภารตะกลับมาพุ่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บสำรองวัคซีนไว้เพื่อใช้งานภายในประเทศ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอินเดียยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเตรียมจัดหาวัคซีนที่ผลิตโดย SII ส่งไปยังกลุ่ม 64 ประเทศ ที่มีรายได้น้อย
“เราคาดว่า การจัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประเทศที่มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการ COVAX คงจะต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการขออนุญาตส่งออกวัคซีน ซึ่งผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะจัดส่งได้ในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย.” กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ชี้แจงผ่านอีเมล
“COVAX กำลังหารือกับรัฐบาลอินเดีย เพื่อให้การส่งมอบวัคซีนเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด”
สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียได้ผลิตวัคซีนส่งให้กับ COVAX แล้วประมาณ 17.7 ล้านโดส จากทั้งหมด 60.5 ล้านโดส ที่ส่งออกไปต่างประเทศ และมีหลายชาติที่จำเป็นต้องพึ่งพาโปรแกรมกระจายวัคซีนนี้เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้แก่ประชากรของตนเอง
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย การส่งออกวัคซีนเริ่มหยุดชะงักตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่แล้ว (18) ในขณะที่อินเดียยกระดับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรภายในประเทศ
แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งยืนยันกับรอยเตอร์ว่า “ตอนนี้เรื่องอื่นๆ ถูกพักไว้ก่อน... จะไม่มีการส่งออกวัคซีน ไม่มีจนกว่าสถานการณ์ในอินเดียจะกลับเข้าสู่ภาวะเสถียรอีกครั้ง”
กระทรวงสาธารณสุขอินเดียยืนยันพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ 53,476 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 251 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
คณะรัฐมนตรีอินเดียได้ประกาศขยายแคมเปญฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรอายุ 45 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ขณะที่หลายรัฐมียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ทุกคน
อินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสม 11.7 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และบราซิล
ปัจจุบันผู้ที่มีสิทธิเข้ารับวัคซีนในอินเดียยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และบุคคลที่อายุมากกว่า 45 ปี และมีโรคประจำตัว ส่วนบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.
รัฐบาลอินเดียฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองไปแล้วมากกว่า 52 ล้านโดส โดย 47 ล้านโดส เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มอินเดีย ส่วนที่เหลือคือ วัคซีน COVAXIN ที่พัฒนาโดยบริษัท ภารัต ไบโอเทค
ที่มา: รอยเตอร์