สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียน ควรระงับสมาชิกภาพของพม่า หากว่าคณะผู้ปกครองทหารปฏิเสธคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยและปล่อยตัวบรรดาผู้นำพลเรือนที่ถูกคุมขังตามรัฐประหาร จากถ้อยแถลงร่วมของบรรดาสมาชิกรัฐสภาคนดังทั้งอดีตและปัจจุบัน 6 คนของภูมิภาคในวันพุธ (18 มี.ค.)
ถ้อยแถลงร่วมที่ริเริ่มโดย สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านที่หลบหนีอยู่ในต่างแดนของกัมพูชา ระบุว่ารัฐบาลต่างๆ ใน 10 ชาติประชาคมอาเซียน จำเป็นต้องละทิ้งหลักการเก่าๆ ที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ พร้อมทั้งสำรวจหาแนวทางความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าต่อคณะรัฐประหาร
ผู้ร่วมลงนามคนอื่นๆ ในถ้อยแถลงร่วมครั้งนี้ ประกอบด้วย อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซีย ฟาดลิ ซอน อดีตรองประธานสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอินโดนีเซีย กิโก ปังกิลินัน วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ ชาร์ลส์ ชอง อดีต ส.ส.พรรครัฐบาลสิงคโปร์ และกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย
โดยทั่วไปแล้ว ประชาคมอาเซียนมักมีจุดยืนไม่แทรกแซงกิจการภายในชาติสมาชิก แต่เสียงเรียกร้องครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากนานาชาติ ล่าสุดคณะสอบสวนการละเมิดสิทธิในพม่าของสหประชาชาติได้ร้องขอให้ประชาชนรวบรวมและเก็บรักษาพยานเอกสารการก่ออาชญากรรมที่ทหารสั่งการตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อยื่นฟ้องผู้นำของพวกเขา
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า มีผู้ชุมนุมประท้วงมากกว่า 180 คน ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงที่พยายามจะบดขยี้การประท้วงนับตั้งแต่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจในประเทศ
“บุคคลที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดต่ออาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุดมักเป็นผู้ที่มีตำแหน่งผู้นำระดับสูง” นิโคลัส โคอุมเจียน หัวหน้าคณะสอบสวนของสหประชาชาติ ระบุในคำแถลง
โฆษกรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบรับสายโทรศัพท์ที่ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็น และเมื่อวันอังคาร (16) สำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้ประณามการใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง
“พวกเขาไม่ถูกตรวจสอบ และมีความโหดร้ายรุนแรงมากขึ้นทุกวัน มันเป็นการยกระดับความรุนแรงที่คิดพิจารณาไว้แล้ว” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหประชาชาติ กล่าว
พม่าตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบนับตั้งแต่ทหารขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ควบคุมตัวเธอและสมาชิกพรรคของเธออีกจำนวนมาก ซึ่งเรียกเสียงประณามจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง
ผู้สอบสวนของสหประชาชาติกำลังรวบรวมหลักฐานของการใช้กำลังที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต การจับกุมอย่างผิดกฎหมาย การทรมาน และการกักขังคนที่ครอบครัวไม่ได้รับแจ้งถึงที่อยู่ของพวกเขา คำแถลงระบุ
กลไกการสอบสวนอย่างอิสระสำหรับพม่าถูกตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2018 เพื่อรวบรวมหลักฐานของการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยื่นฟ้องดำเนินคดีในศาลระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระหว่างประเทศ
(ที่มา : เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์/ผู้จัดการออนไลน์)