xs
xsm
sm
md
lg

แผนทรัมป์ได้ผล! ยอดขายอาวุธจีนดิ่งฮวบหลังตึงเครียดอเมริกา เพื่อนบ้านหันไปซื้อยุทโธปกรณ์มะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยอดส่งออกอาวุธของจีนลดลงอย่างมากในช่วง 5 ปีหลังสุด การลดลงที่พวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีปัจจัยมาจากความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน ซึ่งกระตุ้นให้บรรดาเพื่อนบ้านของจีนหันไปซื้ออาวุธของสหรัฐฯ มากขึ้น

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารบางส่วนบอกว่า ยอดขายอาวุธที่ลดลงของจีน มีสาเหตุหลักจากความพยายามของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการขยายการส่งออกอาวุธของอเมริกา โดยวาดภาพจีนในฐานะภัยคุกคามของภูมิภาค ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งแง่การนำเข้าและส่งออก

สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำในการแข่งขันส่งออกอาวุธระหว่างปี 2016-2020 โดยมีสวนแบ่งตลาด 37% เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงปี 2011-2015 จากรายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ส่วนรัสเซียมีส่วนแบ่งตลาด 20% ลดลงจากระดับเดิมราวๆ 22% สืบเนื่องจากต้องเผชิญการแข็งขันที่แข็งแกร่งจากสหรัฐฯ ในเกือบทุกภูมิภาคของโลก

รายงานระบุว่า ฝรั่งเศสและเยอรมนี ครองตำแหน่งผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 และ 3 ตามลำดับ ส่วนอันดับ 5 ตกเป็นของจีน ซึ่งมียอดขายคิดเป็น 5.2% ของยอดส่งออกอาวุธรวมทั่วโลกระหว่างปี 2016 ถึง 2020 อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกอาวุธของจีนระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวลดลงจากช่วงระหว่างปี 2011 ถึง 2015 ถึงกว่า 7.8%

ซ่ง จงปิง (Song Zhongping) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร ซึ่งมีสำนักงานในฮ่องกง บอกว่าการลดลงของยอดขายอาวุธของจีน มีต้นตอจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทรัมป์ ที่พยายามผลักดันให้พันธมิตรในภูมิภาคหันไปซื้ออาวุธของอเมริกา ปฏิเสธอาวุธจีนและรัสเซีย ด้วยการเล่มเกม “ทฤษฎีภัยคุกคามจีน” ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเขา

“ตัวทรัมป์เองคือพ่อค้าอาวุธรายใหญ่ซึ่งจงใจพยายามปลุกปั่นความตึงเครียดในภูมิภาค ผลักดันประเทศต่างๆ ในเอเชียหันมาซื้ออาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ มากขึ้น ความเคลื่อนไหวที่เพิ่มยอดการส่งออกอาวุธของอเมริกา” ซ่งกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ยอดนำเข้าอาวุธของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 124% ในช่วง 5 ปีหลังสุด หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่ากระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น มีแผนใช้จ่ายเงินถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯระหว่างเดือนเมษายน 2019 ถึงเดือนมีนาคม 2024 เพื่อเสริมศักยภาพด้านการป้องกันขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศของประเทศ เพื่อตอบโต้แสนยานุภาพทางอากาศและทางทะเลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีน เช่นเดียวกับภัยคุกคามขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ

ในเดือนกรกฎาคม 2020 ญี่ปุ่นแถลงแผนซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม F-35 จำนวน 105 ลำ จากสหรัฐฯ ในราคา 23,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้แล้ว มีรายงานว่าไต้หวันบรรลุข้อตกลงจัดซื้ออาวุธล็อตใหญ่จากสหรัฐฯ หลายๆ ข้อตกลงในปี 2019 ในนั้นรวมถึงเครื่องบินรบ แม้ข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าตัวเลขนำเข้าอาวุธของเกาะแห่งนี้ระหว่างปี 2016-2020 ลดลงจากช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น

ตัวเลขนำเข้าอาวุธของอินเดียในปี 2016-2020 ลดลง 33% จากช่วงเวลาก่อนหน้านี้ แต่รายงานระบุว่าการลดลงมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากกระบวนการจัดซื้อระยะยาว ขณะเดียวกันคาดหมายกันว่ายอดนำเข้าอาวุธของอินเดียจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปากีสถานและจีน

(ที่มา : เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์)


กำลังโหลดความคิดเห็น