เหตุเกิดในวันที่ ๙ มีนาคม!
๐ ๒๔๙๐ “กรมทหารอากาศ”แยกจากกองทัพบกเป็น “กองทัพอากาศ"
ประวัติศาสตร์การบินของไทยเริ่มขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ หลังจากที่พี่น้องตระกูลไรท์ประสบความสำเร็จในการบินเพียง ๘ ปี โดยในวันนั้น นายแวน เดอ บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินแบบ “อังรีฟาร์มัง”ของฝรั่งเศส บินจากไซ่ง่อนมากรุงเทพฯ และแสดงการบินให้ประชาชนชมที่สนามม้าสระปทุม โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ทรงศึกษาด้านโยธาธิการและวิศวกรรมจากอังกฤษ กับ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงสนพระทัยผลัดกันขึ้นบินทั้ง ๒ พระองค์
จากการทกลองบินในวันนั้น พี่น้องทั้ง ๒ พระองค์เล็งเห็นว่า เครื่องบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในกิจการพลเรือนและการทหาร ในปีนั้นเองจึงได้ทรงส่ง นายพันตรี สุนี สุวรรณประทีป นายร้อยเอก หลง สินสุข และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ไปเรียนการบินที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการบินของโลกในขณะนั้น
เมื่อนักบินทั้ง ๓ กลับมาในปี ๒๔๕๖ ได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบ “เบรเกต์” ปีก ๒ ชั้น ซึ่งเป็นแบบที่ศิษย์การบินไทยทั้ง ๓ ใช้ฝึกบินในฝรั่งเศสมา ๓ เครื่อง ใช้ฝึกบินที่สนามม้าสระปทุม และจัดตั้งเป็น “กองบินทหารบก”ขึ้นในปีนั้น ต่อมาในปี ๒๔๕๗ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเสนอให้ย้ายสนามบินไปสร้างใหม่ที่ดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง มีชื่อเรียกขานกันว่า “ดอนอีเหยี่ยว” (แต่ในปี ๒๕๕๔ ขนเครื่องบินหนีน้ำแทบไม่ทัน)
นอกจากสั่งซื้อเครื่องบินแบบฝึกบินมาจากฝรั่งเศสแล้ว กองโรงงาน กรมการบินทหารบก ยังได้สร้างเครื่องบินขึ้นมาเองด้วย โดยสั่งซื้อเครื่องยนต์ ลำตัว และปีก มาสร้างเอง บางเครื่องก็ออกแบบเอง สั่งซื้อมาแต่เครื่องยนต์ และบางแบบก็ขอซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเอง จนไทยมีเครื่องบินรบกว่า ๒๐๐ ลำ มากกว่าทุกชาติในเอเชีย คราวสงครามเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่รบกับฝรั่งเศสในอินโดจีนปี ๒๔๘๓ ก็ใช้เครื่องบินที่ไทยสร้างเองนี้ขึ้นปกป้องอธิปไตย
สนามบินดอนเมืองเปิดใช้ได้ในเดือนมีนาคม ๒๔๗๕ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน ยกฐานะกองบินทหารบก เป็น “กรมอากาศยานทหารบก” ในปี ๒๔๗๘ จึงเปลี่ยนเป็น “กรมทหารอากาศ” แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับกองทัพบก ต่อมาจึงได้แยกออกจากกองทัพบก มาเป็น “กองทัพอากาศ” ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๙๐
๐ เปิดตัวตุ๊กตาบาร์บี้ที่มียอดขายสูงสุด
ใน ๖๐ ปีที่ผ่านมานี้ ตุ๊กตาสัญชาติอเมริกันที่ชื่อ “บาร์บี้” ได้สร้างประวัติการว่าเป็นตุ๊กตาที่ขายดีที่สุดในโลก ไม่แต่เด็กผู้หญิงวัย ๓ ถึง ๑๑ ปีที่เป็นเป้าหมายการขายเท่านั้น แต่ทุกเพศทุกวัยต่างรู้จักหญิงสาวผมบลอนด์ที่ชื่อบาร์บี้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นผลงานจากความมุ่งมั่นของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำธุรกิจอย่างใช้ความคิดและจินตนาการ
เธอผู้นี้มีชื่อว่า รูธ แฮนด์เลอร์ ซึ่งร่วมกับ อีเลียต สามีผู้เป็นช่างทำกรอบรูปไม้ ในเวลาว่างอีเลียตมักจะนำเศษไม้มาทำเป็นตุ๊กตาประดับบ้านเล่น และยังนำไปวางขายหน้าร้านด้วย ซึ่งก็พอขายได้ ต่อมารูธสังเกตเห็นว่า บาร์บาร่าลูกสาวของเธอกับเพื่อนนั้นชอบเล่นตุ๊กตาหญิงสาวมากกว่าตุ๊กตาเด็ก เธอรู้สึกว่าเป็นจินตนาการของเด็กในวัยนี้ว่าตัวเองจะเป็นอย่างไรเมื่อโตเป็นสาว
ตุ๊กตาที่วางขายอยู่ทั่วไปในตลาดนั้น มักทำด้วยกระดาษแบนๆ มีอยู่แค่ ๒ มิติ เมื่อเอามาแต่งตัวให้ใหม่ก็ไม่เหมือนคนจริงเท่าใด เธอจึงเห็นว่าตุ๊กตา ๓ มิติที่ทำเหมือนคนจริง น่าจะสร้างจินตนาการให้เด็กมากว่า
รูธนำความคิดนี้เสนอต่อสามีและทีมงานที่เป็นผู้ชายล้วนๆ ทุกคนไม่เห็นด้วย เพราะมีต้นทุนสูง จึงมีความเสี่ยงมาก ต้องขายในราคาแพง ซึ่งน่าจะขายยาก
ต่อมารูธได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ และสนใจตุ๊กตาที่ทำจากเยอรมันตัวหนึ่งชื่อลิลลี่ เลียนแบบตัวการ์ตูนที่โด่งดังของเยอรมัน เธอจึงซื้อกลับมาและนำมาเป็นต้นแบบบาร์บี้ เธอลงทุนว่าจ้างคนออกแบบเสื้อผ้า ออกแบบเครื่องแต่งตัวให้ตุ๊กตาของเธอในสไตล์อเมริกัน และนำไปเสนอสามีกับทีมงานของบริษัทใหม่ ครั้งนี้ทุกคนยอมจำนนในความมุ่งมั่นของเธอ
ตุ๊กตาบาร์บี้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๒ ในงานเทศกาลของเล่นที่นิวยอร์ค แต่ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้านัก เพราะเห็นว่าราคาสูงจะทำให้ขายยาก รูธจึงนำออกวางตามร้านค้าในราคาตัวละ ๓ ดอลลาร์ พร้อมกับมีเสื้อผ้าเครื่องประดับให้เปลี่ยนได้ตามใจชอบ ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และมียอดสั่งเข้ามาจนต้องใช้เวลากว่า ๓ ปีจึงสามารถผลิตได้ตามออร์เดอร์ แค่ปีแรกกขายไปถึงกว่า ๓๕๐,๐๐๐ ตัว และยังเป็นแฟชั่นให้สาวๆแต่งตัวแบบบาร์บี้ด้วย
ต่อมาบาร์บี้ยังได้พัฒนารูปแบบการแต่งกายเป็นอาชีพต่างๆกว่า ๑๐๐ อาชีพ มีสัญชาติมากกว่า ๕๐ สัญชาติ และมีวางขายมากกว่า ๑๕๐ ประเทศ
บริษัทของเธอยังผลิตสินค้าอื่นๆในแบรนด์เนมบาร์บี้ออกมาอีกหลายชนิด เช่น หนังสือการ์ตูน เสื้อผ้า วิดิโอเกม เครื่องประดับ ตลอดจนอาหารและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่ง“บาร์บี้”ก็พาไปสู่ความนิยมได้ทั้งหมด