ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันระบุจีนดูเหมือนกำลังเคลื่อนย้ายขีปนาวุธนิวเคลียร์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรงจากไซโลใต้ดิน สอดคล้องกับรายงานของเพนตากอนก่อนหน้านี้
ฮันส์ คริสเตนเซน ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันที่เฝ้าสังเกตการณ์กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียและจีนมายาวนาน ระบุว่า ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อปลายปีที่แล้วบ่งชี้ว่า จีนเริ่มสร้างไซโลใต้ดิน 11 แห่งในสถานที่ฝึกอบรมด้านนิวเคลียร์ บริเวณตอนกลางของประเทศ เพิ่มเติมจาก 5 แห่งที่เริ่มสร้างก่อนหน้านั้น และเพิ่มจากไซโลที่มีอยู่เดิม 18-20 แห่งที่จัดเก็บขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) แบบ ดีเอฟ-5 ซึ่งเป็นขีปนาวุธรุ่นเก่า
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่า จีนกำลังพยายามตอบโต้ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากอเมริกา ขณะที่ช่วงไม่กี่ปีมานี้วอชิงตันระบุว่า การพัฒนาศักยภาพนิวเคลียร์ของปักกิ่งเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับอเมริกาในการทุ่มทุนนับแสนล้านดอลลาร์สร้างคลังแสงนิวเคลียร์ใหม่ในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม คริสเตนเซนซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ที่ทำงานกับสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) สำทับว่า แม้จีนเพิ่มจำนวนไซโลไอซีบีเอ็มอีก 2-3 เท่า แต่ยังถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับอเมริกาและรัสเซียที่มีไซโล 450 แห่ง และ 130 แห่งตามลำดับ
ถึงแม้ไม่มีแนวโน้มว่า อเมริกากับจีนจะเปิดสงครามกัน แต่รายงานของคริสเตนเซนออกมาขณะที่สองชาติมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นตั้งแต่ประเด็นการค้าไปจนถึงความมั่นคงของชาติ และการยกระดับกองกำลังนิวเคลียร์ของจีนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สหรัฐฯต้องนำมาพิจารณา ในการตอบโต้ทางทหารต่อการดำเนินการก้าวร้าวของจีน เช่น ในไต้หวันหรือทะเลจีนใต้
ขณะเดียวกัน แม้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ของคริสเตนเซน แต่รายงานประจำปีของเพนตากอนที่เผยแพร่ในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้วระบุว่า ปักกิ่งมีเจตนายกระดับความพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์ด้วยการเคลื่อนย้ายหัวรบนิวเคลียร์จำนวนมากลงไปไว้ในไซโลใต้ดิน เพื่อให้รอดพ้นจากการโจมตีระลอกแรกและสามารถตอบโต้อย่างรุนแรงเพื่อให้ศัตรูได้รับความเสียหายในระดับที่ยอมรับไม่ได้
เพนตากอนยังระบุว่า จีนกำลังปรับปรุงกองกำลังนิวเคลียร์ให้ทันสมัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ครอบคลุมมากขึ้นในการสร้างกองทัพให้มีศักยภาพเทียบเท่า หรือเหนือกว่ากองทัพอเมริกาในบางด้าน ภายในกลางศตวรรษนี้
อเมริกาคาดว่า คลังแสงนิวเคลียร์ของจีนมีหัวรบเพียง 200 ลูก ขณะที่อเมริกาและรัสเซียมีหัวรบเป็นพันลูก และยังมองว่า กองกำลังจรวดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนจะเพิ่มขนาดคลังแสงนิวเคลียร์เป็นอย่างน้อย 2 เท่าตัวในช่วงกว่า 10 ปี แต่ยังถือว่า น้อยกว่าของอเมริกามากอยู่ดี
กระนั้น ไซโลแห่งใหม่เกือบทั้งหมดที่คริสเตนเซนตรวจพบดูเหมือนออกแบบมาสำหรับจัดเก็บไอซีบีเอ็มรุ่นใหม่คือ ดีเอฟ-41 ที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งทำให้พร้อมปล่อยขีปนาวุธเร็วขึ้น โดยมีพิสัยไกลถึงรัฐอะแลสกาและพื้นที่กว้างขวางบนแผ่นดินใหญ่อเมริกา นอกจากนั้นจีนยังมีขีปนาวุธดีเอฟ-41 รุ่นที่สามารถยิงจากรางรถไฟและรถบรรทุก
คริสเตนเซนมองว่า จีนกำลังพยายามเพิ่มความสามารถในการอยู่รอดของกองกำลังนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของจีนมีความก้ำกึ่งระหว่างการป้องปรามการเป็นปฏิปักษ์ของอเมริกา และการตอบโต้การโจมตีของอเมริกา
ทางด้าน แฟรงก์ โรส เจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมอาวุธของกระทรวงต่างประเทศในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีแนวโน้มน้อยมากที่จะทำให้จีนเปลี่ยนใจเข้าร่วมการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ แต่จีนอาจสนใจเจรจาถ้าอเมริกายินดีพิจารณาข้อกังวลของตนเองเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธของอเมริกา
โรสเสริมว่า จุดสนใจหลักของปักกิ่งคือการสร้างกองกำลังขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยปานกลางที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ ซึ่งเมื่อประกอบกับความสามารถในการโจมตีทางไซเบอร์และระบบที่สามารถทำลายหรือสร้างความเสียหายให้ดาวเทียมอเมริกา อาจสามารถผลักดันให้อเมริกาหลุดออกนอกย่านแปซิฟิกตะวันตก และยากที่จะแทรกแซงหากปักกิ่งตัดสินใจใช้กำลังกับไต้หวัน
(ที่มา: เอพี)