xs
xsm
sm
md
lg

มุกเก่า? ผู้นำเกาหลีใต้ลุ้น ‘โตเกียวโอลิมปิก’ ช่วยฟื้นสัมพันธ์ ‘มะกัน-โสมแดง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ ระบุวันนี้ (1 มี.ค.) ว่า การแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ รวมไปถึงเกาหลีเหนือกับญี่ปุ่น และระหว่าง 2 เกาหลีเอง

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวาระครบรอบ 102 ปีขบวนการเรียกร้องเอกราชเกาหลีที่กรุงโซล มุน ยังระบุด้วยว่า เกาหลีใต้พร้อมที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อให้การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกประสบความสำเร็จ อันจะมีส่วนช่วยให้ทั้ง 2 ประเทศสามารถฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เร็วขึ้น

คำพูดของผู้นำเกาหลีใต้มีขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตกต่ำลง เนื่องจากการเจรจานิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ที่ล้มเหลวและหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2019

รัฐบาลโซลหวังว่า การแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวน่าจะเป็นเวทีที่ช่วยฟื้นฟูการเจรจาทางการทูตกับเกาหลีเหนือได้ คล้ายๆ กับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อช่วงกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังไม่แน่นอน อีกทั้งเปียงยางก็ยังคงปิดพรมแดนงดติดต่อกับโลกภายนอกเพื่อสกัดการแพร่ของเชื้อไวรัสก็ตาม

“กีฬาโอลิมปิกในปีนี้อาจเป็นโอกาสที่เราจะรื้อฟื้นการพูดคุยระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ กับเกาหลีเหนือ, เกาหลีเหนือกับญี่ปุ่น และเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา” มุน กล่าว “ผมหวังว่า ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และช่วยกันร่างกฎระเบียบใหม่สำหรับโลกยุคหลังโควิด”

กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคยยึดครองคาบสมุทรเกาหลีเมื่อช่วงปี 1910-1945 ซึ่งปมประวัติศาสตร์นี้ยังคงบั่นทอนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ชาติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลเกาหลีใต้มีคำสั่งให้ญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินชดเชยแก่สตรีชาวเกาหลี 12 คน ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานเป็นโสเภณีบำเรอกามแก่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และย้อนไปเมื่อปี 2018 ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ก็พิพากษาให้บริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานในยุคสงคราม

คำตัดสินทั้ง 2 ครั้งเรียกเสียงวิจารณ์รุนแรงจากฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งอ้างว่าปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขจนเป็นที่ยุติแล้วภายใต้ข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1965 และทั้ง 2 ชาติยังได้ประกาศยุติข้อพิพาท “อย่างไม่สามารถย้อนกลับได้” อีกครั้งในปี 2015

ประธานาธิบดี มุน ยืนยันว่า “พร้อมที่จะนั่งลงพูดคุย” กับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเพื่อคลี่คลายปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า ทั้ง 2 ฝ่าย “ควรหาทางออกที่ชาญฉลาด ซึ่งอิงกับความพึงพอใจของเหยื่อเป็นสำคัญ”

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น