หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ยืนยันวานนี้ (16 ก.พ.) ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือพยายามใช้แฮกเกอร์ล้วงข้อมูลวัคซีนและตัวยารักษาโควิด-19 ของผู้ผลิตต่างชาติ แต่ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของ ส.ส.รายหนึ่งที่ระบุว่าวัคซีนของ ไฟเซอร์ อิงค์ ตกเป็นเป้าหมาย
ฮา แทกึง (Ha Tae-keung) หนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์นักข่าววานนี้ (16) ว่า ตนและสมาชิกสภาคนอื่นๆ ได้ทราบข้อมูลจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (NIS) ว่าเกาหลีเหนือเคยพยายามแฮกไฟเซอร์เพื่อล้วงเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สื่อนำคำพูดของ ฮา ไปรายงานจนเป็นข่าวคึกโครม NIS กลับออกมาปฏิเสธทันควันว่า “ไม่เคยพูดชื่อบริษัทที่ถูกแฮก” อีกทั้งสำนักงานกิจการสาธารณะของ NIS ยังออกมาตำหนิการให้ข้อมูลของ ฮา ว่า “ไม่ถูกต้อง”
ล่าสุด ส.ส.ผู้นี้ยังคงยืนยันกับสำนักข่าว AP ว่า ได้ทราบข้อมูลมาเช่นนั้นจริงๆ พร้อมทั้งอ้างว่าได้เห็นเอกสารของ NIS ซึ่งมีข้อความระบุชัดเจนว่า “เกาหลีเหนือขโมย (ข้อมูลวัคซีน) ไฟเซอร์ และพยายามขโมย (เทคโนโลยี) จากผู้ผลิตวัคซีนและยาของเกาหลีใต้หลายราย”
ฮา ยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวมีคำว่า “ไฟเซอร์” เขียนไว้ชัดเจน ซึ่งทำให้ตนมั่นใจจนไม่ได้ถามย้ำ แต่เนื่องจาก ส.ส.ทุกคนต้องคืนเอกสารให้กับ NIS ภายหลังรับฟังสรุปข้อมูล จึงไม่สามารถนำมายืนยันได้
เขามองว่าที่ NIS ออกมาปฏิเสธข้อมูลนี้อาจเป็นเพราะไม่ต้องการยั่วยุให้เกาหลีเหนือโกรธแค้นมากจนเกินไป
กวอน โบยอง ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไฟเซอร์ประจำเกาหลีใต้ ระบุว่าตนกำลังติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ไฟเซอร์เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของ ฮา
เกาหลีเหนือเคยมีประวัติทำสงครามไซเบอร์กับองค์กรและหน่วยงานต่างชาติมาแล้วหลายครั้ง ตัวอย่างเช่นในปี 2013 ที่แฮกเกอร์โสมแดงโจมตีเซิร์ฟเวอร์ของสถาบันการเงินในเกาหลีใต้ หลังจากนั้นก็แฮกระบบของ โซนี พิคเจอร์ส ในปี 2014 และยังถูกครหาว่าเป็นตัวการปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry ที่ระบาดทั่วโลกเมื่อปี 2017
การเข้าถึงข้อมูลวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นับว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกาหลีเหนือ ซึ่งยังมีระบบสาธารณสุขที่ด้อยพัฒนา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญภายนอกส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างของเปียงยางที่ระบุว่ายังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศแม้แต่รายเดียว
รัฐบาลโสมแดงได้ยื่นคำร้องเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านทาง Covax ซึ่งเป็นโครงการจัดหาและแบ่งปันวัคซีนที่มีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้นำ และมีข้อมูลเบื้องต้นจาก Covax ระบุว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกาจำนวน 1.99 ล้านโดสที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institure of India) จะถูกส่งไปยังเกาหลีเหนือภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ที่มา: เอพี