xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำแห่งหยาดน้ำตาดั่งสายนที : 1 ปี กับ 5 แสนชีวิตที่ปลิดปลิวในมหาวิปโยคโรคระบาดโควิด-19 USA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะแพทย์และพยาบาลในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองยองเกอร์ส รัฐนิวยอร์ก ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโควิด-19  เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2020  ผู้ป่วยรายนี้มีบุญไม่ใช่น้อยที่สามารถฟื้นตัวและปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย เพราะอเมริกามีผู้ป่วยมากกว่าห้าแสนรายที่ต้องเสียชีวิตไปในมหาวิปโยคโควิด-19 อันเป็นหายนะที่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ หากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มีการรับมือกับวิกฤตการณ์นี้ได้อย่างถูกต้อง
เมื่อวาเลนไทนปีที่แล้ว ผู้คนในสหรัฐอเมริกาไม่รู้เลยว่าพวกเขาจะต้องเผชิญมหาวิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ยังไม่ถึงกับโกลาหล แม้ความกังวลจะทวีตัวมากขึ้นต่อเรื่องของโรคลึกลับในระบบทางเดินหายใจซึ่งถูกขนานนามว่าโควิด-19 มีการแตกตื่นซื้อของใช้ตุนไว้เผื่อฉุกเฉินบ้าง มีความหวาดหวั่นก่อตัวบ้าง กระนั้นก็ตาม คนอเมริกันยังรู้สึกกันว่าโรคโควิด-19 เป็นปัญหาของประเทศอื่น และเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ได้เริ่มมีการประกาศกรณีเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 รายแรกของประเทศกันแล้วก็ตาม

หนึ่งปีผ่านไป อเมริกามีผู้เสียชีวิดจากโรคโควิด-19 มากที่สุดของโลก ด้วยหลักไมล์อันน่าสยดสยอง ณ 500,000 ราย

สหรัฐฯ ซึ่งมั่งคั่งและทรงอำนาจ มาถึงจุดแห่งมหาวิปโยคซึ่งไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนนี้ ได้อย่างไร

(ภาพบน) ในห้องเก็บศพของสถานจัดพิธีไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต Daniel J. Schaefer Funeral Home ในเขตบรูกลิน รัฐนิวยอร์ก ร่างไร้วิญญาณมากมายถูกห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกมิดชิดป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 และรอการบรรจุลงในโลงศพเพื่อประกอบพิธี (ภาพเมื่อ 2 เมษายน 2020) (ภาพล่าง) เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายศพทำการห่อหุ้มร่างไร้วิญญาณไว้ในถุงพลาสติกมิดชิด พร้อมเครื่องครอบที่มีระบบปิดผนึกเพื่อสุขอนามัยของสาธารณชนขณะขนย้ายจากโรงพยาบาล Providence Holy Cross Medical Center ไปยังสถานจัดพิธีไว้อาลัยในเมืองลอสแองเจลิส (ภาพเมื่อ 9 มกราคม 2021)
สำนักข่าวเอพีจัดทำบันทึกเรื่องราวและภาพถ่ายที่จารึกถึงความทุกข์ตรม ความเจ็บปวด และความทรหดของผู้คนในประเทศ บันทึกที่จะแสดงให้เห็นว่ากาลเวลาหนึ่งปีได้เปลี่ยนแปลงอเมริกาไปอย่างมหาศาลราวใด

ในช่วงแรก วิกฤตโรคระบาดดูเป็นเรื่องไกลตัว

เดือนกุมภาพันธ์ 2020 คนอเมริกันยังทักทายกันด้วยประเพณีจับมือเช็กแฮนด์ และเดินทางไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะอันแน่นขนัด เด็กๆ ยังศึกษาหาความรู้อยู่ในห้องเรียนปกติ ทอม แฮงก์ส ดาราคนดังแห่งฮอลลีวูดยังเดินบนพรมแดงในงานประกวดผลรางวัลออสการ์โดยไม่ทราบชะตากรรมว่าอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า เขาและศรีภรรยาจะติดเชื้อโควิด-19  ฝูงชนยังไปร่วมชมกิจกรรมกีฬาอย่างเนืองแน่นโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ

และแล้ว สัญญาณลางร้ายใกล้แผ่นดินอเมริกาปรากฏขึ้น เมื่อ The Grand Princess เรือสำราญไซส์ยักษ์อลังการ ที่สุดแห่งความเลิศหรู ล่องลำออกจากชายฝั่งแคลิฟอร์เนียไปสู่มหาสมุทรโดยมีผู้โดยสาร 3 รายที่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ร่วมเดินทางไปด้วย แนวทางการจัดการในช่วงต้นที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจระดับรัฐและระดับประเทศเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 บนเรือสำราญนี้ ด้วยการห้าม The Grand Princess กลับเข้าชายฝั่ง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ความเชื่อผิดๆ ของอเมริกาว่าตนสามารถกางกั้นไม่ให้โรคร้ายนี้เข้าสู่ประเทศ

ในวันคืนที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังคืบคลานเข้าสู่สหรัฐฯ ถ้อยคำสำคัญ อาทิ ปิดเมือง ปิดประเทศ สร้างระยะห่างทางสังคม ยังไม่อยู่ในคลังศัพท์ของผู้คนในอเมริกา นอกจากนั้นยังแทบจะไม่มีประชาชนที่ยอมสวมหน้ากากอนามัยในที่แออัด เช่น ในขณะเบียดเสียดกันในซูเปอร์มาร์เกตเพื่อแย่งซื้อกระดาษชำระก่อนที่สินค้าจะเกลี้ยงไปจากหิ้ง หรือขณะต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อข้าวของเครื่องใช้ไปตุนไว้เผื่อมีกรณีฉุกเฉิน

Grand Princess เรือสำราญไซส์ยักษ์อลังการ ที่สุดแห่งความเลิศหรู ซึ่งล่องลำออกจากชายฝั่งแคลิฟอร์เนียเมื่อกุมภาพันธ์ 2020 กลายเป็นแหล่งแพร่โรคระบาด เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ความเชื่อผิดๆ ของอเมริกาว่าตนสามารถกางกั้นไม่ให้โรคร้ายนี้เข้าสู่ประเทศ
ดวงใจสลาย-สภาพจิตใจท้อแท้ : ชะตากรรมนี้มาถึงไวมาก

สภาพการณ์ดั่งฝันร้ายอันน่าหวาดกลัวซึ่งประชาชนในอเมริกาได้เห็นจากประสบการณ์ตรงของประเทศจีนและประเทศอิตาลีได้มาถึงแผ่นดินสหรัฐฯ รวดเร็วเกินคาด

บรรดาบ้านพักคนชราใกล้เมืองซีแอตเทิลกลายเป็นแหล่งการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รุ่นแรกที่ร้ายกาจอย่างที่สุดของสหรัฐฯ ผู้คนในอเมริกาตลอดจนประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นภาพอันน่าสะเทือนใจที่ผู้ชราและผู้เจ็บป่วยอ่อนแอต้องทนทุกข์ต่อสู้โรคร้ายไปตามลำพัง ดังเช่นที่ได้เห็นในภาพที่ 4 ว่าคุณยายอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ต้องนอนพักรักษาตัวโดยที่ญาติไม่สามารถเข้าไปดูแลโอบกอดให้กำลังใจ ในภาพนี้คุณลูกสาวได้แต่นั่งให้แม่เห็นหน้า จากอีกข้างหนึ่งของกำแพงแก้วด้านนอกอาคาร และสนทนากันผ่านโทรศัพท์มือถือ ตามมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

จูดี้ เชป (กลาง) คุณยายอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ทักทายกับลูกสาวและลูกเขยซึ่งมานั่งให้เห็นหน้าชื่นใจกันที่อีกข้างหนึ่งของกำแพงอาคาร แล้วสนทนากันผ่านโทรศัพท์มือถือ ครอบครัวของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 รายนี้ ยังถือว่ามีบุญที่สามารถส่งความรักและกำลังใจให้กันได้แบบมีระยะห่างผ่านกระจกหน้าต่าง ณ ศูนย์ดูแลผู้ชรา Life Care Center ในเมืองเคิร์กแลนด์ คิงเคาน์ตี้ รัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ซีแอตเทิล  บ้านพักคนชราไม่อนุญาตให้ครอบครัวเข้าไปเยี่ยมเยือนแบบตัวต่อตัวในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
ในเดือนมีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลกประกาศสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หลังจากนั้น สถานที่ทุกแห่งนับจากสถานศึกษา ไปจนถึงสำนักงานธุรกิจ กลายเป็นสถานที่ว่างเปล่า ด้านสมาคมกีฬาอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ เอ็นซีเอเอ ประกาศจัดการแข่งขันบาสเก็ตบอลระหว่างสถานศึกษาแบบถ่ายทอดสด โดยเป็นการเล่นต่อหน้าเก้าอี้ว่างๆ เต็มสนามการแข่งขัน แต่ไม่นานหลังจากนั้น ก็ประกาศยกเลิกการแข่งขัน

ชื่อของ ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าของสหรัฐฯ ในด้านโรคติดเชื้อ กลายเป็นชื่อสามัญประจำบ้านของชาวประชาในอเมริกา เพราะมีการเอ่ยนามคุณหมอเฟาซีทุกวันในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 กระนั้นก็ตาม เมื่อ ดร.เฟาซีออกมาประกาศเมื่อเดือนมีนาคมเพื่อให้ตัวเลขประมาณการว่าจะมีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 หรือไม่เกิน 200,000 ราย ต้องเสียชีวิตจากโรคไวรัสวายร้ายนี้ สาธารณชนรู้สึกผวากลัว แต่ส่วนมากเลือกที่จะไม่เชื่อ

ด้านประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ในปี 2020 กลับโน้มน้าวประชาชนด้วยการเสนอว่ายา ไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยาต้านมาลาเรีย จะเป็น “ตัวพลิกเกม” ในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ทว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์พากันคัดค้าน

ชีวิตในกระแสความรีบเร่งกระฉับกระเฉงของผู้คนในสหรัฐฯ ต้องมาถึงภาวะนิ่งงัน เมื่อพื้นที่การระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ปรากฏขึ้นคู่ขนานกันมหาศาลในทุกรัฐทั่วประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมหานครนิวยอร์กอันเกรียงไกร

ย่านไทม์สแควร์ยังเจิดจรัสด้วยแสงสีสดใสและไฮเทค แต่ฝูงชนและพลังอันคึกคักแห่งเศรษฐกิจและความบันเทิงได้สูญหายไป บรรยากาศสนุกสนานของชีวิตเดือนเมษายนในมหานครนิวยอร์กกลายเป็นความสงัดน่าหดหู่ที่ชวนให้นึกถึงวันสิ้นโลก เพราะถนนที่ปราศจากผู้คน แลดูเป็นหนังผีวิญญาณหลอนด้วยรถพยาบาลแผดเสียงหวอกึกก้องทั้งขาขึ้นและขาล่องแทบจะตลอดเวลา บริเวณด้านนอกของโรงพยาบาลต่างๆ เต็มไปด้วยรถห้องเย็นจอดรอให้บริการเก็บรักษาบรรดาร่างไร้วิญญาณของเหยื่อโควิด-19 ที่ถูกห่อมาในถุงป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นห้องเก็บศพชั่วคราว พร้อมกับเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายที่กระแทกขวัญของผู้พบเห็น

ไทม์สแควร์ที่แน่ขนัดด้วยฝูงชนผู้รีบเร่งและขวักไขว่ กลายเป็นถิ่นร้าง ทั้งที่ในเวลาที่บันทึกภาพนี้ เป็นยามเช้าของวันทำงาน เอพีบันทึกภาพนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2020 อันเป็นห้วงแห่งการล็อกดาวน์นิวยอร์กเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโควิด-19

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล Kingsbrook Jewish Medical Center ในเขตบรู้คลิน รัฐนิวยอร์ก ทำการลำเลียงบรรดาร่างไร้วิญญาณของอดีตผู้ป่วยสาหัสด้วยโรคโควิด-19 ขึ้นไปวางเรียงบนชั้นวางของภายในรถห้องเย็น ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องเก็บศพชั่วคราว ในภาพนี้ที่เอพีบันทึกไว้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2020 จะมองเห็นบางส่วนของศพที่ถูกห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติดสีขาวภายใต้กระบวนการสามัญของการจัดการศพ คือ มีบ่วงผูกคอ มีปอผูกศอก และมีปลอกผูกเท้าเพื่อความแน่นหนาในการเคลื่อนย้าย
ชีวิตปลิดปลิวเกลื่อนกล่นดั่งใบไม้ร่วงในห้วงแห่งฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อชีวิตปลิดปลิวเกลื่อนกล่นราวกับใบไม้ร่วงในห้วงแห่งฤดูใบไม้ผลิ เมษายน 2020 อัตราตายด้วยโรคระบาดโควิด-19 ในแต่ละวันพุ่งทะยานสูงลิ่วกระทั่งว่าล้นหลามเกินศักยภาพของโรงพยาบาล สถานจัดพิธีศพ วัด สุสาน ฯลฯ ผู้คนในสหรัฐฯ จึงต้องตกอยู่ในชะตากรรมละม้ายประเทศแถบอเมริกาใต้อย่างเอกวาดอร์

จำนวนศพแห่งเหยื่อโควิด-19 ในมหานครนิวยอร์กมีล้นพ้นกระทั่งว่า บางส่วนของศพไม่มีญาติจะถูกบรรจุลงในโลงกระดาษรอส่งเข้าเตาเผา และอีกมากมายมหาศาลถูกนำไปฝังในหลุมรวมหมู่ในสุสาน City Cemetery อันเป็นสุสานของทางการนิวยอร์กซิตี้บนเกาะฮาร์ตไอส์แลนด์ใกล้ชายฝั่งของเขตบรองซ์ ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ปี 1869 เพื่อฝังศพไร้ญาติ

ภาพถ่ายจากมุมสูงที่เอพีบันทึกไว้ เป็นอีกหนึ่งภาพที่ชาวอเมริกันไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องประสบกับชะตาชีวิตของคนร่วมชาติที่น่าอนาถใจเยี่ยงนี้ เหล่าเจ้าหน้าที่ในชุดป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคที่ปิดมิดชิดตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้าค่อยๆ หย่อนโลงศพนับร้อยลงในหลุมศพรวมหมู่ที่ลึกมาก ลักษณะเป็นหลุมขนาดสี่เหลี่ยมแถบยาวเหยียด แต่ละโลงถูกบรรจงหย่อนลงไปตั้งเรียงรายและตั้งซ้อนเทินทับกันขึ้นไปสามชั้น

เจ้าหน้าที่ในชุดป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคที่ปิดมิดชิดตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ช่วยกันฝังร่างไร้วิญญาณของเหยื่อโควิด-19 ในช่วงการระบาดใหญ่ในเดือนเมษายน 2020 ณ สุสาน City Cemetery อันเป็นสุสานของทางการนิวยอร์กซิตี้ บนเกาะฮาร์ตไอส์แลนด์ ใกล้ชายฝั่งของเขตบรองซ์ สุสานแห่งนี้มีมาตั้งแต่ปี 1869 เพื่อฝังศพไร้ญาติ

พิธีศพสำหรับผู้วายชมน์ด้วยไวรัสโควิด-19 ที่มีครอบครัวดูแลจัดพิธีไว้อาลัยให้อย่างเหมาะสม ต้องมีรูปแบบงานที่เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing โดยจะมีผู้เข้าร่วมได้ไม่เกิน 10 คน ตามมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อาทิ พิธีไว้อาลัยแลร์รี แฮมมอนด์ อดีตซูลูคิงผู้เป็นที่รักและเคารพของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจำนวนมหาศาล ครอบครัวจัดงานที่สถานจัดพิธีไว้อาลัย Boyd Funeral Home ในนิวออร์ลีนส์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2020 (22 วันหลังการเสียชีวิต)

หลังจบพิธีไว้อาลัย ครอบครัวของอดีตซูลูคิง มาตั้งเก้าอี้ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน โบกมือทักทายและขอบคุณญาติมิตรตลอดจนประชาชนซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมพิธีศพได้ แล้วพากันจัดขบวนพาเหรดรถยนต์และรถกระบะขับเคลื่อนอย่างแช่มช้าผ่านหน้าบ้านของแลร์รี แฮมมอนด์ บ้างบีบแตร บ้างโบกมือส่งเสียงร้องเชียร์ บ้างชูป้ายถ้อยคำน่าประทับใจ เพื่อแสดงความรัก อาลัย และให้เกียรติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกให้อย่างเรียบร้อย
ผู้คนในอเมริกาทั้งทึ่งทั้งพิศวงกับความกล้าหาญและทุ่มเทที่บุคลากรด้านสาธารณสุขปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เพื่อช่วยเหลือเหยื่อแห่งโควิด-19 ดังนั้น ในอันที่จะแสดงความขอบคุณ ณ เวลาหนึ่งทุ่มของทุกคืน คนนิวยอร์กช่วยกันปรบมือ ส่งเสียงร้องเชียร์ และตีหม้อตีกระทะ เป็นเกียรติแก่แพทย์และพยาบาลทั้งปวง

เหล่านี้เป็นการระลึกถึงความเจ็บปวดและทรมานไม่รู้จบที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับอยู่ในแนวหน้าแห่งสงครามอันโรมรับกับโรคร้ายโควิด-19

แม้จะมีความกลัวและความอ่อนล้า แต่บุคลากรทางการแพทย์ต่างไม่ย่อท้อกับการต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย พร้อมทั้งตั้งปณิธานที่จะไม่ปล่อยให้เหยื่อของโควิด-19 ต้องจากโลกไปอย่างเดียวดาย ภายในห้องรักษาผู้ป่วยทั้งหลาย ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนนับไม่ถ้วนไม่สามารถมีญาติเข้าไปปลอบโยนให้กำลังใจ ภารกิจแห่งการปลอบประโลมใจตกอยู่ในมือของแพทย์ พยาบาลและอนุศาสนาจารย์ซึ่งล้วนแต่เหนื่อยหนักจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างหักโหมเนิ่นนาน บางท่านต้องกลั้นสะอื้นขณะที่มอบการปลอบประโลมใจและคำภาวนาแก่ผู้ป่วยรายแล้วรายเล่า

ในท่ามกลางแรงกดดันอันน่าปวดร้าวนี้อนุศาสนาจารย์ท่านหนึ่งในรัฐจอร์เจียกล่าวว่า “ไม่เคยมีการตายครั้งใดที่มากมายเท่ากับครั้งนี้ มันท่วมทับอยู่บนดวงใจมันหนักหนาเหลือเกิน”

(ภาพซ้าย) แพทย์และพยาบาลให้ห้องฉุกเฉินผละออกจากผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งกระตุกขึ้นมาปุบปับด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน แล้วจึงเข้าช่วยคลายอาการสั่นสะท้าน เหตุการณ์นี้ผ่านไปด้วยดี คณะแพทย์สามารถฟื้นคนไข้ได้สำเร็จ เหตุเกิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองยองเกอร์ส รัฐนิวยอร์ก เมื่อ 20 เมษายน 2020  (ภาพขวา) ภาพแอบถ่ายของเอพี ซึ่งบรรยายว่าคุณหมองีบหลับพักช่วงหนึ่งสั้นๆ ขณะรอฟิล์มเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาล Providence Holy Cross Medical Center ในลอสแองเจลิส เมื่อ 22 ธันวาคม 2020

อนุศาสนาจารย์คริสติน มิเชลเซน กุมมือของผู้วายชนม์ด้วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล Providence Holy Cross Medical Center ในลอสแอนเจลิส เมื่อ 9 มกราคม 2021 อนุศาสนาจารย์มิเชลเซนโทรศัพท์ให้กำลังใจแก่ลูกหลานของผู้วายชนม์ว่า ดิฉันกุมมือของบุคคลผู้เป็นที่รักของคุณ และมอบความอบอุ่นใจให้เขาในเวลาสำคัญที่คุณไม่สามารถเข้ามาดูแลส่งเขากลับสู่อ้อมอกพระผู้เป็นเจ้า
US กับความจริงสุดอัปยศ : สหรัฐฯ กลายเป็นจุดศูนย์กลางแห่งโรคโควิด-19 ที่ระบาดในระดับโลก

ผลจากนโยบายอันผิดพลาดของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ความเป็นจริงอันเจ็บปวดจึงปรากฏขึ้นมาว่า ในท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 ในทุกหย่อมหญ้าทั่วโลกซึ่งมีความรุนแรงสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่นั้น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางแห่งโรคระบาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ชีวิตต้องไปเคลื่อนไหวอยู่ในโลกออนไลน์ ทุกสิ่งทุกอย่างนับจากการทำงาน การศึกษาเล่าเรียน ไปจนถึงการนัดแพทย์ การจัดปาร์ตี้วันเกิด การจัดพิธีแต่งงาน และเหนืออื่นใด การจัดพิธีศพ ล้วนแต่ดำเนินอยู่ในโลกออนไลน์

ยิ่งกว่านั้น ผู้คนในสหรัฐฯ ตระหนักชัดว่าไม่มีใครเลยที่ปลอดภัย แต่มีบางคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าผู้อื่นอย่างมหาศาล โดยเป็นไปในสภาพการณ์ที่มีความไม่เท่าเทียมในเชิงเชื้อชาติ กล่าวคือตัวเลขสถิติของทางการได้แสดงให้เห็นว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็นเชื้อชาติแอฟริกันและละตินนั้นพุ่งสูงเวอร์อย่างยิ่ง และทำนองเดียวกันในบรรดาผู้วายชนม์ด้วยโรคโควิด-19 สัดส่วนของรายที่เป็นเชื้อชาติแอฟริกันและลาติน ก็สูงเวอร์อย่างยิ่งเช่นกัน

โรเมเลีย นาวาร์โร (ขวา) ร่ำไห้ดั่งดวงใจสลายในโอบกอดปลอบโยนของคุณพยาบาลมิเชล ยอนกิ้น คุณป้าโรเมเลียนั่งร้องไห้ทุกข์ตรมกับการสูญเสียอันโตนิโอ นาวาร์โร ผู้เป็นสามี ให้แก่โรคร้ายโควิด-19 ที่ศูนย์โควิด-19 แห่งโรงพยาบาลจูดเมดิคอลเซ็นเตอร์ เมืองฟูลเลอร์ตัน แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2020
การติดโรคโควิด-19 กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เล่นงานเศรษฐกิจและสังคมของอเมริกา เพราะโรคระบาดรุนแรงนี้เป็นเหตุให้สังคมต้องปิดตัวเอง บังคับให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดลง ขณะที่ปัญหาอัตราการว่างงานทะยานสูงเสียดฟ้า รายได้ของผู้คนหลายล้านครัวเรือนต้องลดฮวบบ้าง ถูกตัดหายไปบ้าง ในเวลาเดียวกัน ปัญหาความอดอยากซึ่งรุนแรงอยู่แล้ว ต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมสาหัสยิ่งขึ้นไปทั่วประเทศ ผู้คนมหาศาลพากันเข้าคิวที่ฟูดแบงก์ศูนย์การบริจาคอาหาร โดยมีจำนวนมากที่ต้องรับอาหารบริจาคเป็นครั้งแรกในชีวิต

ยิ่งกว่านั้น อเมริกายังถูกซ้ำเติมจากฝ่ายการเมือง ซึ่งทิ้งขว้างหลักการคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังนำไปใช้เล่นงานโจมตีฝ่ายตรงข้าม  ความแตกแยกภายในชาติที่ได้หยั่งรากลึกเป็นพิษร้ายอยู่ในสังคม จึงยิ่งบาดลึกลงไปอีก พร้อมกับทำให้ความตึงเครียดของประเทศเพิ่มทบทวีจนปรากฏออกมาให้เห็นอยู่ทั่วไป กระนั้นก็ตาม ในเวลาที่การประท้วงต่อต้านความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว กระตุ้นเร้าผู้คนให้ออกมาเข้าร่วมแน่นขนัดตามท้องถนนนั้น มาตรการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดก็ได้รับการปฏิบัติตามอย่างกว้างขวาง

ในท่ามกลางชีวิตที่ผิดปกติไปหมดนั้น คนอเมริกันมากมายสามารถสร้างสรรค์ความเป็นปกติเล็กๆ ให้แก่ตนเองได้บ้างเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ร้านอาหารถูกสั่งให้ขายอาหารเฉพาะแบบห่อกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่ลูกค้าบางรายขับรถมาจอดหน้าร้าน นำโต๊ะ เก้าอี้ ผ้าปูโต๊ะ จานชามกระเบื้องงามหรูมาปักหลักเพลิดเพลินกับอาหารอิตาเลียนที่เจ้าของร้านขายแบบห่อใส่กล่อง

(ภาพซ้าย) การเดินขบวนประท้วงความไม่เป็นธรรมที่คร่าชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ในภาพนี้เป็นกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งเข้าร่วมโดยสวมหน้ากากอนามัย ณ อนุสรณ์สถานลินคอล์น (Lincoln Memorial) วอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2020 (ภาพขวา) นอร์แมน บัตเลอร์ วัย 53 ปี รอรับบริจาคอาหารจากฟูดแบงก์เป็นครั้งแรก โดยจอดรถเข้าคิวข้ามคืนที่เมืองเมเทรี รัฐลุยเซียนา เมื่อ 19 พ.ย. 2020 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เคยขับรถลิมูซีนรับส่งสนามบิน-โรงแรม ปัจจุบันขับรถโดยสารอูเบอร์

(ภาพบน) คนพิการและไร้บ้านถูกทอดทิ้งให้ผจญชะตากรรมตามลำพังบนรถเข็นในท่ามกลางสายฝนและความมืดมน เอพีบันทึกภาพนี้ที่สวนสาธารณะ Echo Park ในลอสแองเจลิส เมื่อ 6 เมษายน 2020 (ภาพล่าง) คนไร้บ้านเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งซึ่งเปราะบางเป็นพิเศษ มีโอกาสจะติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อย่างง่ายดาย ทางการของซานฟรานซิสโกมีการจัดพื้นที่ให้พักอาศัยในรูปแบบที่มีระยะห่างทางสังคมภายในศูนย์ Civic Center โดยขีดเส้นตารางพื้นที่ที่แน่นอนให้คนไร้บ้านได้นำร่มขาดๆ และรถเข็นสมบัติมอมแมมมาปักหลักพักพิงชั่วคราว ภาพนี้บันทึกไว้เมื่อ 21 พฤษภาคม 2020
แสงเลือนรางแห่งความหวังปรากฏกลางธันวาคม

ภายในแวดล้อมแห่งการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและญาติพี่น้องกับผองเพื่อน วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ก้าวเข้าสู่ชีวิตของผู้คนในสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2020 ตามด้วยการรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ นับเป็นข่าวดีรายการแรกในปีแห่งหายนะก็ว่าได้ สังคมส่งเสียงเชียร์นโยบายการให้วัคซีนแก่กลุ่มแพทย์และพยาบาลเป็นกลุ่มแรก หลายคนน้ำตาร่วงในความโล่งใจที่ยุคยามแห่งความทุกข์ทรมานและโศกเศร้าอันยาวนานจะล่วงพ้นไปเสียที

เมื่อปริมาณวัคซีนค่อยๆ ทวีจำนวนขึ้นมา สถานที่แห่งความสุขสันต์หรรษาที่ร้างรานานหลายเดือน อาทิ สวนสนุกและสนามกีฬา ก็ได้กลับมารับใช้ชุมชนอีกคราหนึ่ง ด้วยการเป็นสถานที่เพื่อฉีดวัคซีนแก่ประชาชน

นพ.ถวน ออง (กลาง) ซึ่งอยู่ในอารมณ์สะเทือนใจ เอื้อมแตะไหล่ นพ.ทิม เดลลิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์แห่งวอชิงตัน (UW Medicine Chief Medical Officer) ขณะที่เล่าถึงผู้ป่วยด้วยโควิด-19 จำนวนมหาศาลที่ได้รักษาดูแลมา โดยได้พบเห็นความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และได้เห็นผู้ป่วยมากมายต้องสูญเสียชีวิตเพราะเชื้อโควิด   ทั้งนี้ ทีมของคุณหมอถวน ออง เป็นทีมแรกที่ทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ในสถานรักษาพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่แอตเทิล รัฐวอชิงตัน และคุณหมอกับทีมงานมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่โรงพยาบาล UW ซีแอตเทิล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2020
ในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ซึ่งเป็นวันเวลาแห่งความหวัง บรรยากาศที่แจ่มใสดีขึ้นถูกสลับแทรกด้วยร่องรอยความทุกข์เศร้า เก้าอี้ที่ว่างเปล่าเพราะผู้ที่เคยนั่งตรงนั้น ได้จากโลกไปแล้วด้วยโรคระบาดโควิด-19 กลายเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความจริงอันเจ็บปวด

กระนั้นก็ตาม หายนะหวนกลับมาอีกคำรบหนึ่ง เพราะคนอเมริกันนับล้านพากันละเลยคำอ้อนวอนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ร้องขอให้ช่วยกันงดเว้นการเดินทางตลอดจนการรวมกลุ่มทางสังคม ดังนั้น ประเพณีประจำปีได้กลายเป็นตัวเร่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ซึ่งสาหัสหนักหนา เพราะวิกฤตโรคระบาดที่พุ่งทะยานช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่ ได้สมทบทับถมไปบนวิกฤติของช่วงขอบคุณพระเจ้านั่นเอง

โจเซลิโต ฟลอเรนโด นางพยาบาลมีใบอนุญาตเป็นหนึ่งในคณะผู้ออกปฏิบัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นกิจกรรมสาธารณสุขของภาครัฐ โดยมีการจัดกันเป็นมหกรรมอย่างถูกสุขอนามัย ณ สถานที่ของสวนสนุกขนาดยักษ์ Six Flags Magic Mountain ในชุมชนวาเลนเซียซานตาแคลริตา ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 22 มกราคม 2021

บรรดาลูกจ้างของแปลงเกษตรกรรมต่างๆ ในชุมชนเมกกะอันเป็นชุมชนทะเลทรายในหุบเขาโคเชลลา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  ในภาพนี้เป็นการแจกวัคซีนที่โรงงานผลิตไวน์ Tudor Ranch ในชุมชนเมกกะ เมื่อ 21 มกราคม 2021
โบกมือลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แต่ไตรมาสแรกจะสาหัสละม้ายเดิม

ปัจจัยบวกที่สำคัญประการหนึ่งในการเอาชนะโควิด-19 คือความหักเหทางการเมือง โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่เข้าบริหารประเทศแทนโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากสี่ปีที่อเมริกาตกอยู่ในความโกลาหลและความขัดแย้งอันมหาศาล ประธานาธิบดีไบเดนนำบรรยากาศอันสงบมั่นคงดีขึ้น เข้ามาในการเมืองของชาติ กระนั้นก็ตาม ปัญหาความล่าช้าที่จะได้รับวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ยังไม่อาจยุติได้ ดังนั้นจึงไม่แน่ชัดว่าอเมริกาได้ชัยชนะในสงครามต่อต้านไวรัสแล้วหรือไม่

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 สถิติหลายหมวดดีขึ้น อาทิ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยต่อวันได้ลดต่ำลงมากมาย หลังจากพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในเดือนมกราคม นอกจากนั้นอัตราการเสียชีวิตรายวันก็ลดฮวบลงตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระนั้นก็ตามตัวเลขเหล่านั้นไม่สามารถรั้งยอดการเสียชีวิตสะสมให้อยู่ต่ำกว่าเพดาน 500,000 ราย

และแล้ว ณ วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021 ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ ได้ทะยานขึ้นสูงเกินเพดาน 500,000 ราย หลังจากที่ได้ทำสถิติ 300,000 รายเมื่อเดือนธันวาคม และแตะระดับ 200,000 รายในเดือนกันยายน และ 100,000 รายเมื่อช่วงกลางปี 2020 การที่ผู้คนล้มตายมหาศาลในวิกฤตโควิด-19 นี้ ถูกนำไปเทียบกับยอดการเสียชีวิตในเหตุการณ์ใหญ่โตอื่นๆ ของประเทศ ว่ายอดรวมคนอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม ยังต่ำกว่ายอดการเสียชีวิตด้วยโควิด-19

ยิ่งกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญให้ประมาณการไว้แล้วว่าตัวเลขสถิติจะวิ่งขึ้นไปอีกมาก ด้วยสาเหตุจากไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีอันตรายสูงยิ่งเพราะสามารถแพร่ระบาดได้ไวยิ่งขึ้นแต่ป้องกันยากกว่าเดิม ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายต่างๆ ล้วนตระหนักว่าชาวอเมริกันยังฉีดวัคซีนไม่มากพอ

ประธานาธิบดีไบเดนปราศรัยในระหว่างไปดูงานของสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (National Institutes of Health – NIH) เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2021 ว่าสหรัฐฯ มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะใช้ฉีดให้แก่ประชาชน 300 ล้านราย ครบรายละ 2 โดส ได้เรียบร้อยภายในปลายเดือนกรกฎาคม  พร้อมทั้งตำหนิไปถึงอดีตประธานาธิบดีทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ได้มีการจัดทำแผนฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเลย  ซึ่งตัวเขาให้ความสำคัญเร่งด่วนกับเรื่องนี้ จึงดำเนินการขึ้นมาบนเป้าหมายที่จะให้มีการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนให้ครบ 100 ล้านรายเป็นอย่างน้อยภายใน 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง
คำถามถึงอนาคตมีอยู่หลายหลาก ซึ่งยากจะให้คำตอบได้ว่าชีวิตวิถีใหม่ นิวนอร์มัลนั้นจะมีลักษณะอย่างไร จะได้เดินเบียดเสียดในฝูงชนที่สวนสนุกหรือโรงหนังอีกไหม จะได้ร่วมอยู่กับฝูงชนอันเนืองแน่นในมหกรรมนับถอยหลังเข้าสู่ศักราชใหม่ ณ ไทม์สแควร์กันอีกหรือไม่ ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญให้ประมาณมาว่าทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยและร่วมกันเฝ้าระวังไปจนสิ้นศักราช 2021

ปีแห่งหายนะของอเมริกาได้สอนให้เราต้องไม่ลืมที่จะอดทนรอคอยคำตอบ รอคอยอยู่ในความตั้งมั่นจนกว่าจะถึงเวลาที่ทุกสิ่งจะแสดงตนออกมาให้ได้ทราบพร้อมกัน

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : เอพี วิกิพีเดีย เอเอฟพี รอยเตอร์)



กำลังโหลดความคิดเห็น