รัสเซียพบเคสไวรัสหวัดนกสายพันธุ์ H5N8 ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์เป็นเคสแรกของโลก และได้รายงานเรื่องดังกล่าวไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการเปิดเผยของแอนนา โปปาวา หัวหน้าสำนักงานเฝ้าระวังสุขภาพผู้บริโภค ‘รอสปอเตรบนาดซอร์’ (Rospotrebnadzor) แห่งแดนหมีขาวเปิดเผยในวันเสาร์ (20 ก.พ.)
การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ H5N8 มีรายงานในรัสเซีย ยุโรป จีน ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมาเป็นการพบในสัตว์ปีกเท่านั้น ขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ เช่น H5N1, H7N9 และ H9N2 เป็นที่ทราบกันดีว่าสามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์
ปาโปวา เปิดเผยว่า รัสเซียรายงานเคสติดเชื้อในมนุษย์แก่องค์การอนามัยโลกเมื่อหลายวันก่อน “ไม่นานหลังจากเราแน่ใจกับผลตรวจของเราจริงๆ” เธอให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์รอสซิยา 24 สื่อมวลชนแห่งรัฐ แต่เน้นว่ายังไม่พบสัญญาณการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
คนงาน 7 คนของโรงงานสัตว์ปีกแห่งหนึ่งในแถบภาคใต้ของรัสเซีย ติดเชื้อสายพันธุ์ H5N8 ตอนเกิดการระบาดในโรงงานเมื่อเดือนธันวาคม จากการเปิดเผยของปาโปวา พร้อมบอกต่อว่าตอนนี้บรรดาบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดีขึ้นแล้ว “สถานการณ์ไม่ลุกลามไปมากกว่านั้น” เธอระบุ
โปโปวาย้ำว่า “นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์” และ “เวลาจะเป็นตัวบอกว่าไวรัสชนิดนี้จะกลายพันธฺุ์ เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่”
องค์การอนามัยโลกสาขายุโรประบุในอีเมลว่า พวกเขาได้รับแจ้งจากรัสเซียเกี่ยวกับเคสมนุษย์ติดเชื้อไวรัส H5N8 แล้ว ซึ่งมันเท่ากับเป็นการยืนยันว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่มนุษย์ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้
“จากข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า เคสติดเชื้อที่ได้รับรายงานเป็นเหล่าคนงานที่สัมผัสกับสัตว์ปีก” อีเมลระบุ “พวกเขาติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เราอยู่ระหว่างพูดคุยกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและประเมินผลกระทบด้านสาธารณสุขจากเหตุการณ์นี้”
การติดเชื้อไข้หวัดนกของมนุษย์ ส่วนใหญ่แล้วสัมพันธุ์กับการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกตัวเป็นๆ หรือตายแล้ว และอาหารปรุงสุกอย่างเหมาะสมถูกมองว่ามีความปลอดภัย
กระนั้นการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก บ่อยครั้งที่นำมาซึ่งการฆ่าหมู่สัตว์ปีกตามโรงงานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาด และหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศผู้นำเข้าทั้งหลายกำหนดข้อจำกัดด้านการค้า
ด้วยเคสติดเชื้อส่วนใหญ่แพร่ระบาดจากบรรดาสัตว์ปีกที่ใช้ชีวิตอยู่ตามป่าซึ่งอพยพถิ่นฐานตามฤดูกาล ดังนั้น บรรดาประเทศผู้ผลิตทั้งหลายจึงเลือกใช้แนวทางเลี้ยงสัตว์ปีกของพวกเขาไว้ในที่ร่ม หรือหาทางสกัดไม่ให้พวกมันไปสัมผัสกับสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า สถาบัน ‘เว็คตอร์’ ในแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่พัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า พวกเขาเตรียมจะเริ่มการทดสอบในมนุษย์และพัฒนาวัคซีนเพื่อต้านเชื้อ H5N8 ด้วยเช่นกัน
(ที่มา : รอยเตอร์)