(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Why Russia is driving the West crazy
By PEPE ESCOBAR
10/02/2021
การที่มอสโกปักหลักมุ่งเน้นที่เอเชียเพื่อสร้าง “มหายูเรเชีย” ขึ้นมา มีบรรยากาศของความหลีกเลี่ยงไม่ได้สืบเนื่องจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และนั่นทำให้สหรัฐฯกับสหภาพยุโรปต้องวิตกกังวล
พวกนักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจจะบันทึกเอาไว้ในฐานะที่ว่า มันเป็นวันซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) ของรัสเซีย ที่ปกติเป็นคนหนักแน่น ได้ตัดสินใจว่าเขาเจอมามากเกินพอแล้ว:
“เรามีความรู้สึกคุ้นเคยเสียแล้วกับข้อเท็จจริงที่ว่า สหภาพยุโรปกำลังพยายามบังคับใช้พวกข้อจำกัดต่างๆ อย่างตามอำเภอใจฝ่ายเดียว เป็นข้อจำกัดที่ผิดกฎหมายไม่มีความชอบธรรม และเราก็จะเดินหน้าไปจากสมมุติฐานที่ว่า ในขั้นตอนนี้สหภาพยุโรปคือหุ้นส่วนที่ไว้วางใจไม่ได้”
ปรากฏว่า โจเซฟ บอร์เรลล์ (Josep Borrell) ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างมาเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ ได้แต่อ้อมๆ แอ้มๆ ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์
ลาฟรอฟ ซึ่งปกติแล้วเป็นสุภาพบุรุษสมบูรณ์แบบ กล่าวต่อไปว่า “ผมหวังว่าการทบทวนเชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดจะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ จะมุ่งโฟกัสไปที่พวกผลประโยชน์หลักๆ ของสหภาพยุโรป และหวังว่าการพูดจาหารือเหล่านี้จะช่วยทำให้การติดต่อต่างๆ ของเรามีความสร้างสรรค์กันมากขึ้น”
ทั้งนี้ เขากำลังพาดพิงกล่าวถึงการประชุมซัมมิตในเดือนหน้า ณ เวทีคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งบรรดาผู้นำรัฐและผู้นำรัฐบาลของชาติสมาชิกอียูทั้งหลายจะเข้าร่วม โดยที่พวกเขามีกำหนดจะหารือกันถึงเรื่องรัสเซีย ลาฟรอฟไม่ได้ปกปิดเลยว่า เขาไม่มีภาพมายาใดๆ ว่า “พวกหุ้นส่วนที่ไว้วางใจไม่ได้” เหล่านี้จะประพฤติปฏิบัติตัวแบบผู้ใหญ่ที่เติบโตแล้ว
กระนั้นก็ตาม ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ดูลับลมคมในซึ่งสามารถค้นพบได้ในคำกล่าวเปิดของลาฟรอฟ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mid.ru/en/foreign_policy/news/-/asset_publisher/cKNonkJE02Bw/content/id/4552801) ในการพบปะหารือกับบอร์เรลล์คราวนี้ ทั้งนี้ลาฟรอฟพูดว่า “ปัญหาข้อสำคัญที่สุดที่เราทั้งหลายเผชิญอยู่ก็คือ การขาดความเป็นปกติธรรมดาในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็น 2 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอาณาเขตยูเรเชีย นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งไม่ให้ประโยชน์แก่ใครเลย”
2 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอาณาเขตยูเรเชีย (ผมเป็นผู้ใส่ข้อความนี้ให้เป็นตัวเอน) ตอนนี้ขอให้เราทิ้งเรื่องนี้เอาไว้ก่อน เราจะกลับมาพูดกันต่อในอีกสักครู่หนึ่ง
อย่างที่ปรากฏออกมาให้เห็นกันอยู่แล้ว ฝ่ายอียูดูเหมือนเสพติดอย่างถอนตัวไม่ได้กับการทำให้ “สถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ” นี้ ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission องค์กรบริหารของอียู) กระทำความผิดพลาดอย่างที่จะถูกจารึกเอาไว้ โดยเดินเกมในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของทางบรัสเซลส์ด้วยความงุ่มง่ามชักช้า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.eu/article/blame-ursula-von-der-leyen-eu-vaccine-debacle/) การที่เธอส่ง บอร์เรลล์ มายังมอสโกครั้งนี้ โดยสาระสำคัญแล้วคือการขอไลเซนส์ให้พวกบริษัทืกิจการของยุโรปได้รับสิทธิในการผลิตวัคซีน “สปุตนิก 5” (Sputnik V) ของรัสเซีย ซึ่งกำลังจะได้รับการรับรองให้ใช้ได้จากอียูในเร็ววันนี้
แต่กระนั้น พวกข้ารัฐการของอียูยังคงนึกสนุกเหมือนอยู่ในอาการโรคประสาทหวาดผวาไม่ยอมเลิกรา ด้วยการโปรโมตส่งเสริมตัวตลกที่เป็นทรัพย์สินของนาโต้ และเป็นนักหลอกลวงต้มตุ๋นที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้วอย่าง อเล็กเซ นาวาลนี (Alexei Navalny) –ซึ่งพอจะเปรียบเทียบได้ว่าเป็น ฮวน กวยโด (Juan Guaido) ชาวรัสเซีย
เวลาเดียวกันนั้น ทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ภายใต้การกำบังด้วยข้ออ้างเกี่ยวกับ การป้องปรามในทางยุทธศาสตร์ (strategic deterrence ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.usni.org/magazines/proceedings/2021/february/forging-21st-century-strategic-deterrence) พลเรือเอก ชาร์ลส์ ริชาร์ด (Admiral Charles Richard) ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ (United States Strategic Command หรือ US STRATCOM) ได้ทำทีเหมือนกับหลุดแพล็มออกมาว่า “มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่ว่าวิกฤตการณ์ระดับภูมิภาค (ที่สหรัฐฯ) มีอยู่กับรัสเซียหรือจีน อาจบานปลายขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการสู้รบขัดแย้งที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าเกี่ยวข้องด้วย ถ้าหากพวกเขา (รัสเซียหรือจีน) มีความรับรู้ความเข้าใจขึ้นมาว่า ความปราชัยในการสู้รบตามแบบแผนของพวกเขาจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อระบอบปกครองหรือต่อรัฐ”
การพูดเช่นนี้ย่อมหมายความว่า มีการประฌามกล่าวโทษกันเอาไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากเกิดสงครามครั้งต่อไป –และบางทีอาจจะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายอีกด้วย!!—— มันก็เนื่องมาจากพฤติการณ์ “สั่นคลอนเสถียรภาพ” ของรัสเซียและจีน แถมมีการทึกทักกันต่อไปว่าพวกเขาจะ “ปราชัย” ในการสู้รบตามแบบแผนที่ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และจากนั้นในท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวสุดเหวี่ยงเพียงชั่ววูบ พวกเขาจะนำเอาอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ ขณะที่เพนตากอนจะไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจาก มิสเตอร์ STRATCOM ผู้นี้หาข้ออ้างเตรียมเอาไว้เสร็จสรรพว่า สหรัฐฯจะไม่ “ยึดมั่นติดแน่นอยู่ใน (ความคิดจิตใจแบบ) สงครามเย็น”
มันก็ไม่เลวหรอก ถ้าหากพวกนักวางแผนของ STRATCOM จะหันมาอ่านงานของ อันเดร มาร์ตียานอฟ (Andrei Martyanov) นักวิเคราะห์ด้านการทหารชั้นยอดกันบ้าง มาร์ตียานอฟ คือผู้นำหน้ามานานหลายปีแล้วในการอธิบายให้รายละเอียดว่า กระบวนทัศน์ใหม่ของอาวุธที่มีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ระดับความเร็วที่เหนือกว่าความเร็วเสียงตั้งแต่ 5 เท่าขึ้นไป) --ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์หรอก— กำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะและขนาดขอบเขตของการทำสงครามไปอย่างไรบ้าง
หลังจากอภิปรายให้ข้อคิดทางด้านเทคนิคกันอย่างแจกแจงเป็นรายละเอียดแล้ว มาร์ตียานอฟชี้ให้เห็นว่า “สหรัฐฯในปัจจุบันก็เพียงแต่อยู่ในอาการที่ไม่ได้มีทางเลือกดีๆ ใดๆ เอาเลย ไม่มีเอาเลย อย่างไรก็ดี สำหรับทางเลือกที่เลวน้อยลงมา คือการพูดจากับฝ่ายรัสเซียโดยไม่ใช่เป็นการพูดจาด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์งี่ๆ เง่าๆ ตลอดจนไม่ใช่ฝันเปียกที่ว่า ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง สหรัฐฯอาจจะสามารถเกลี้ยมกล่อมโน้มน้าวรัสเซียให้ “ยอมทิ้ง” จีนได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://smoothiex12.blogspot.com/2020/10/about-zircon-again.html)
“สหรัฐฯไม่มีอะไรเลย มีแต่ศูนย์เท่านั้น ที่จะมายื่นเสนอเพื่อขอให้รัสเซียทำอย่างที่ว่า แต่อย่างน้อยที่สุดฝ่ายรัสเซียและฝ่ายอเมริกันก็ยังอาจจะรอมชอมกันได้อย่างสันติในท้ายที่สุดเกี่ยวกับเรื่อง “การมีฐานะเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครๆ” งี่เง่านี่ในระหว่างพวกเขากันเอง แล้วจากนั้นจึงโน้มน้าวจึนให้ยินยอมนั่งลงพูดคุยด้วยในท้ายที่สุด ในฐานะที่เป็น 3 ผู้ยิ่งใหญ่ “บิ๊กทรี” (Big Three) บนโต๊ะเจรจา ซึ่งพวกเขาจะตัดสินกันในท้ายที่สุดถึงวิธีการที่จะบริหารโลก นี่คือโอกาสเพียงอย่างเดียวเท่านั้นสำหรับสหรัฐฯ ที่จะยังสามารถอยู่ต่อไปได้อย่างมีความหมายในโลกใหม่ใบนี้”
รัสเซียมีตราประทับแห่งความเป็นจักรวรรดิใหญ่ของเอเชีย
เหมือนกับที่โอกาสมีน้อยนิดเหลือเกินสำหรับการที่ อียู จะสามารถตั้งสติหันมาจัดการแก้ไข "สถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ” กับรัสเซีย มันก็ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยเช่นกันว่าสิ่งซึ่ง มาร์ติยานอฟ สรุปเอาไว้จะได้รับความสนใจพิจารณาอย่างจริงจังจากพวกผู้ทรงอำนาจอิทธิพลที่แฝงฝังหยั่งลึกอยู่ในระบบข้ารัฐการ (deep state) ของสหรัฐฯ
เส้นทางข้างหน้าจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือ การที่ฝ่ายตะวันตกแซงก์ชั่นรัสเซียครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด, การที่องค์การนาโต้แผ่ขยายตัวไปประชิดติดพรมแดนของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด, การจัดตั้งวงแหวนแห่งรัฐที่เป็นปรปักษ์ขึ้นมารายล้อมรอบรัสเซีย, การที่สหรัฐฯเข้าก้าวก่ายแทรกแซงในกิจการภายในของรัสเซียอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด –โดยที่มีกองทัพของสปายสายลับซึ่งคอยให้ความช่วยเหลือข้าศึก บวกกับสงครามข้อมูลข่าวสารแบบจัดเต็ม คอยประสานคอยโจมตีไปด้วยอย่างสมบูรณ์แบบ
ลาฟรอฟกำลังทำให้เป็นที่ชัดเจนแจ๋วแหววมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มอสโกไม่คาดหวังอะไรทั้งนั้น กระนั้นก็ตามที ข้อเท็จจริงต่างๆ ในภาคสนาม ย่อมจะสะสมเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่นั่นเอง
โครงการสายท่อส่งแก๊ส “นอร์ดสตรีม 2” (Nordstream 2) ถึงยังไงก็จะดำเนินการกันไปจนเสร็จสิ้น –ไม่ว่าฝ่ายตะวันตกจะแซงก์ชั่นรัสเซียหรือไม่แซงก์ชั่นก็ตามที— และจะทำหน้าที่ส่งแก๊สธรรมชาติจำนวนมากซึ่งเป็นที่ต้องการเหลือเกินไปยังเยอรมนีและไปยังชาติอื่นๆ ในอียู ส่วนนักต้มตุ๋นที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดไปแล้วอย่าง นาวาลนี –ซึ่งแท้จริงแล้วได้รับ "ความนิยม” จากประชาชนในรัสเซียเพียงแค่ 1% เท่านั้น— จะยังคงอยู่ในคุกต่อไป พลเมืองทั้งหลายทั่วทั้ง อียู จะได้รับฉีดวัคซีน สปุตนิก 5 ขณะที่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับจีนก็จะเดินหน้าสู่ความมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า เราเดินกันมาถึงความยุ่งเหยิงวุ่นวายสืบเนื่องจากความหวาดกลัวรัสเซียเช่นนี้กันได้ยังไง หนังสือเรื่อง Russian Conservatism: Managing Change under Permanent Revolution (ลัทธิอนุรักษนิยมรัสเซีย: การแปลี่ยนแปลงแบบมีการจัดการภายใต้การปฏิวัติอย่างถาวร) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amazon.com/Russian-Conservatism-Managing-Permanent-Revolution-ebook/dp/B08P667J64/ref=sr_1_1?dchild=1&keywords=Glenn+Diesen&qid=1612925763&sr=8-1) ได้ให้แผนที่โรดแมปอันจำเป็นเอาไว้ หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานการศึกษาปรัชญาทางการเมืองเล่มใหม่ซึ่งน่าตื่นเต้นมากของ เกลนน์ ดีเซน (Glenn Diesen) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์อิสเทร์นนอร์เวย์ (University of Southeastern Norway) อาจารย์ของโรงเรียนเศรษฐศาสตร์ชั้นสูงแห่งมอสโก (Moscow’s Higher School of Economics) และก็เป็นหนึ่งในคู่สนทนาผู้ทรงเกียรติของผมในกรุงมอสโก
ดีเซน เริ่มต้นด้วยการโฟกัสสิ่งที่เป็นสาระสำคัญต่างๆ ซึ่งได้แก่ ภูมิศาสตร์, ภูมิลักษณ์ (topography), และประวัติศาสตร์ รัสเซียนั้นเป็นมหาอำนาจภาคพื้นดินที่มีพื้นที่แผ่นดินกว้างขวางแต่ปราศจากช่องทางออกสู่ทะเลต่างๆ อย่างเพียงพอ เขาเสนอว่า ภูมิศาสตร์เป็นสิ่งที่กำหนดรากฐานของ “นโยบายแบบอนุรักษนิยมทั้งหลาย ที่ถูกนำมานิยามจำกัดความกีนว่าเป็นระบอบปกครองอัตตาธิปไตย (autocracy), แนวความคิดลัทธิชาตินิยมที่มีลักษณะกำกวมและสลับซับซ้อน , ตลอดจนบทบาทอันคงทนยืนยาวของคริสต์ศาสนานิกายออธอด็อกซ์ (Orthodox Church)” –ซึ่งเป็นบางสิ่งบางอย่างที่บ่งบอกเป็นนัยว่ามุ่งต้านทาน "ลัทธิฆราวาสนิยมหัวรุนแรง” (radical secularism)
เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่จะต้องระลึกเอาไว้เสมอว่า รัสเซียนั้นไม่ได้มีพรมแดนที่สามารถใช้ธรรมชาติมาเป็นตัวปกป้องคุ้มครองได้เลย รัสเซียนั้นได้เคยถูกรุกรานหรือถูกยึดครองทั้งโดยชาวสวีเดน, ชาวโปแลนด์, ชาวลิทัวเนีย, อาณาจักรข่านโกลเดนฮอร์ด ของจักรวรรดิมองโกล (Mongol Golden Horde), พวกตาตาร์บนแหลมไครเมีย (Crimean Tatars), รวมทั้ง นโปเลียน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการรุกรานที่นองเลือดชุ่มโชกของพวกนาซี
คำๆ หนึ่ง สามารถมีอะไรแฝงฝังเอาไว้บ้าง? คำตอบคือ ทุกสิ่งทุกอย่างเลย คำว่า “ความมั่นคง” นั้น ในภาษารัสเซีย คือ byezopasnost ซึ่งปรากฏว่าเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ กล่าวคือ byez แปลว่า “ปราศจาก” ส่วน opasnost แปลว่า “อันตราย”
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกิดจากการสั่งสมพอกพูนอย่างสลับซับซ้อนและโดดเด่นไม่เหมือนใครของรัสเซีย มักก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นมาอยู่เสมอ ใช่ครับ รัสเซียมีความใกล้ชิดสนิทมากกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine empire) แต่ถ้ารัสเซีย “ประกาศอ้างว่าตนเป็นผู้รับมอบถ่ายทอดอำนาจสิทธิ์ขาดแห่งจักรวรรดิจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ หรือนิยมเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า จักรวรรดิโรมันตะวันออก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Byzantine_Empire --หมายเหตุผู้แปล) แล้ว รัสเซียก็จะถูกบังคับให้ต้องเข้าพิชิตมันเอาไว้” และถ้าหากประกาศอ้างตนเป็นทายาท,เป็นผู้รับบทบาทและเป็นผู้รับมรดกของอาณาจักรข่านโกลเดนฮอร์ด มันก็จะลดฐานะของรัสเซียให้เป็นเพียงมหาอำนาจเอเชียเท่านั้น
บนเส้นทางแห่งการก้าวไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ของรัสเซียนั้น การรุกรานของมองโกลไม่เพียงกระตุ้นยั่วยุให้เกิดการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆในทางภูมิศาสตร์ หากยังเหลือรอยประทับอันล้ำลึกเอาไว้ในการเมืองของรัสเซียอีกด้วย ทั้งนี้ดีเซนเสนอว่า“ระบอบอัตตาธิปไตยกลายเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อจะเดินตามมรดกตกทอดของมองโลกรวมทั้งเมื่อจะก่อตั้งรัสเซียให้กลายเป็นจักรวรรดิแห่งยูเรเชีย(ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในยุโรปต่อเนื่องมาถึงดินแดนในเอเชีย)ซึ่งมีการขยายตัวในทางภูมิศาสตร์ออกไปอย่างกว้างขวางทว่ามีการเชื่อมต่อกันภายในที่ย่ำแย่
ยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกตะวันตก
ทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับรัสเซียคือเรื่องของการที่ตะวันออกมาพบเจอะเจอกับตะวันตกโดยแท้ ดีเซนเตือนความจำพวกเราว่า อันที่จริงแล้ว นิโคไล เบียร์ดียาเอฟ (Nikolai Berdyaev) หนึ่งในนักอนุรักษนิยมชั้นนำของยุคศตวรรษที่ 20ได้ประกาศเรื่องนี้เอาไว้อย่างหนักแน่นเมื่อปี 1947ว่า “ความไม่คงเส้นคงวาและความสลับซับซ้อนของจิตวิญญาณชาวรัสเซียนั้นบางทีอาจจะเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในรัสเซียนั้นมี 2 กระแสของประวัติศาสตร์โลก --ตะวันออกและตะวันตก—ต่างเบียดเสียดกระแทกกระทั้นกันและต่างส่งอิทธิพลต่ออีกกระแสหนึ่ง”เขากล่าว “รัสเซียเป็นภาคส่วนหนึ่งของโลกที่มีความสมบูรณ์แบบอยู่ในตัวเอง –เป็นยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกตะวันตก (a colossal East West)”
ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มความเป็นปึกแผ่นให้แก่การเกาะเกี่ยวภายในของจักรวรรดิรัสเซีย และเพื่อสำแดงอำนาจเข้าไปในเอเชียนั้น คือตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญมากตัวหนึ่ง อย่างที่ ดีเซน บรรยายว่า “้ด้วยการที่ชุมชนอันเกิดมาจากการลงหลักปักฐานทางภาคเกษตรของรัสเซียกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทางตะวันออก รัสเซียก็กำลังเข้าแทนที่บรรดาเครือข่ายถนนโบราณ ซึ่งเมื่อก่อนได้เคยถูกใช้มาควบคุมและเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ของยูเรเชียเข้าด้วยกัน”
เป็นสิ่งที่มีมนตร์เสน่ห์ตรึงใจมากที่ได้เฝ้ามองดูว่า การพัฒนาของเศรษฐกิจรัสเซียมีอันยุติลงด้วยการชนเปรี้ยงเข้ากับทฤษฎีดินแดนหัวใจของแมคคินเดอร์ (Mackinder’s Heartland theory) –โดยที่ทฤษฎีนี้เสนอว่าการที่จะเข้าควบคุมโลกได้นั้นจำเป็นต้องควบคุมมหาทวีปยูเรเชียให้ได้ สิ่งที่สร้างความสยดสยองให้แก่แมคคินเดอร์ก็คือ เส้นทางรถไฟของรัสเซียซึ่งกำลังเชื่อมโยงยูเรเชียเข้าด้วยกัน ทำท่าจะเป็นตัวบ่อนทำลายโครงสร้างทางอำนาจโดยรวมของสหราชอาณาจักรซึ่งมีฐานะเป็นจักรวรรดิทางทะเล
ดีเซนยังแสดงให้เห็นว่า ลัทธิยูเรเชียนิยม (Eurasianism) –ซึ่งปรากฏขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1920 ในหมู่ผู้คนที่อพยพออกไปนอกประเทศสืบเนื่องจากการปฏิวัติรัสเซียปี 1917— อันที่จริงแล้วเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของลัทธิอนุรักษนิยมรัสเซีย
ด้วยเหตุผลต่างๆ จำนวนหนึ่ง ลัทธิยูเรเชียนิยมไม่เคยกลายเป็นขบวนการทางการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แกนกลางของลัทธิยูเรเชียนิยมคือแนวคิดที่ว่า รัสเซียไม่ได้เป็นเพียงรัฐยุโรปตะวันออกรัฐหนึ่งเท่านั้น ภายหลังการรุกรานของมองโกลในช่วงศตวรรษที่ 13 และความสำเร็จในการเข้าพิชิตของพวกราชอาณาจักรชาวตาตาร์ในศตวรรษที่ 16 ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของรัสเซียก็ไม่สามารถที่จะอยู่เพียงแค่ความเป็นยุโรปเท่านั้น ในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แบบแผนวิธีการที่มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น –และเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับเอเชีย
นักเขียนทรงอิทธิพล ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky) ได้ขบคิดและกำหนดกรอบในเรื่องนี้เอาไว้อย่างหลักแหลมก่อนหน้าใครๆ โดยได้เขียนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 1881 ดังนี้:
“ชาวรัสเซียมีความเป็นชาวเอเชียมากพอๆ กับที่มีความเป็นชาวยุโรป ความผิดพลาดของนโยบายของเราในตลอดช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมาก็คือ การทำให้ผู้คนของยุโรปเชื่อว่าเราเป็นชาวยุโรปอย่างแท้จริง เราได้รับใช้ยุโรปมาอย่างดีล้ำเกินไปแล้ว เราได้เข้าไปมีส่วนอย่างมากมายจนเกินไปเหลือล้นในการทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัวของยุโรป ... เรากำลังก้มศีรษะโค้งคำนับราวกับข้าทาสเมื่ออยู่ต่อหน้าชาวยุโรป และก็ได้รับกลับมาเพียงแค่ความเกลียดชังและความดูหมิ่นเหยียดหยามจากพวกเขาเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันเหออกไปจากยุโรปผู้อกตัญญู อนาคตของเราคือในเอเชีย”
สำหรับในหมู่ชาวลัทธิยูเรเชียรุ่นใหม่ เลฟ กูมิเลฟ (Lev Gumilev) สมควรถือเป็นซูเปอร์สตาร์ของนิวเจเนอเรชั่น เขาเสนอความคิดว่า รัสเซียนั้นก่อตั้งขึ้นมาด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกันตามธรรมชาติ ในระหว่างชาวสลาฟ, ชาวมองโกล, และชาวเติร์ก หนังสือเรื่อง The Ancient Rus and the Great Steppe (ชาวรัสโบราณ และเขตทุ่งหญ้าสเตปป์ที่ยิ่งใหญ่) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1989 ของเขา สร้างผลกระทบอย่างสำคัญยิ่งในรัสเซียภายหลังการพังครืนของสหภาพโซเวียต – ดังที่ผมได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากเจ้าบ้านชาวรัสเซียของผมเมื่อตอนผมเดินไปทางไปถึงกรุงมอสโกโดยใช้รถไฟสายทรานส์ไซบีเรียในฤดูหนาวของปี 1992
อย่างที่ ดีเซน วางกรอบเอาไว้ให้เห็น กูมิเลฟกำลังเสนอสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นหนทางที่สาม นอกเหนือจากหนทางแห่งการเป็นนักชาตินิยมชาวยุโรป (European nationalism) หรือการเป็นนักสากลนิยมแบบอุดมคติ (utopian internationalism) ในคาซัคสถานมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเลฟ กูมิเลฟ ขึ้นมา ขณะที่ ปูติน พูดถึง กูมิเลฟ ว่าเป็น “ชาวยูเรเชียผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของเรา”
ดีเซน เตือนความจำพวกเราว่า แม้กระทั่ง จอร์จ เคนัน (George Kennan นักการทูตและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากการเสนอนโยบายว่าด้วยการปิดล้อมสกัดการขยายตัวของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/George_F._Kennan --หมายเหตุผู้แปล) ยังกล่าวเอาไว้ในปี 1994 รับรู้ถึงการต่อสู้ดิ้นรนของชาวอนุรักษนิยม เพื่อ “ประเทศที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงชนิดถือเป็นโศกนาฏกรรมและถูกบั่นทอนทางจิตวิญญาณแห่งนี้” แต่สิ่งที่ ปูติน กล่าวเอาไว้ในปี 2005 มีความคมคายกว่านั้นมากมายนัก ทั้งนี้เขาเน้นย้ำเอาไว้ดังนี้:
“การล้มครืนของสหภาพโซเวียต เป็นความวิบัติหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษ และสำหรับประชาชนชาวรัสเซียแล้ว มันช่างเป็นความตื่นเต้นเร้าอารมณ์อย่างแท้จริง ... พวกอุดมการณ์เก่าๆ ถูกทำลายลงไป สถาบันต่างๆ จำนวนมากถูกยุบเลิก หรือเพียงแต่ถูกปฏิรูปกันใหม่อย่างเร่งร้อน ... ด้วยการมีอำนาจควบคุมอย่างไร้ขีดจำกัดเหนือการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร พวกออลิการ์ช (oligarch) กลุ่มต่างๆ จึงสามารถดำเนินการเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ภาคบริษัทของพวกเขาเองอย่างเต็มที่ ความยากจนของมวลชนเริ่มที่จะถูกยอมรับว่าเป็นบรรทัดฐานปกติ ทั้งหมดเหล่านี้วิวัฒนาการไปในท่ามกลางภูมิหลังของภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างสาหัสร้ายแรงที่สุด, ภาคการเงินไม่มีเสถียรภาพ, และแวดวงทางสังคมอยู่ในอาการเป็นอัมพาต”
แล้วก็ถึงเวลาของการนำเอาแนวความคิด “ประชาธิปไตยแบบมีอธิปไตย” มาใช้
และดังนั้นเอง เราจึงมาถึงคำถามที่สำคัญยิ่งยวดเกี่ยวกับความเป็นยุโรปของรัสเซีย
ในช่วงทศวรรษ 1990 นโยบายการต่างประเทศของรัสเซียซึ่งอยู่ในการนำของพวกแอตแลนติกนิยม (Atlanticist) ได้เน้นโฟกัสที่ “มหาทวีปยุโรป” (Greater Europe) อันเป็นคอนเซปต์ ซึ่งอิงอยู่กับแนวความคิดของมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย และเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย ก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย) ในเรื่อง “บ้านของชาวยุโรปทั้งมวล” (Common European Home)
ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว ยุโรปยุคหลังสงครามเย็นกลับปรากฏออกมาในสภาพที่มีการขยายตัวขององค์การนาโต้อย่างไม่หยุดยั้ง และมีการกำเนิด—ตลอดจนการขยายตัว—ของอียูอย่างไม่หยุดยั้ง แนวความคิดแบบเสรีนิยมกระทั่งความบิดเบี้ยวคดงอทุกอย่างทุกชนิด ถูกนำมารวมบรรจุเอาไว้ในยุโรปทั้งหมดทั้งมวล ทว่ายุโรปที่ว่านี้ มันไม่ได้รวมเอารัสเซียเข้าไว้ด้วย รัสเซียนั้นถูกกีดกันออกมา
ดีเซน ทำได้ดีมากในการสรุปกระบวนการทั้งหมดนี้เอาไว้อย่างกะทัดรัด ดังนี้ “ยุโรปแห่งเสรีนิยมใหม่ เป็นตัวแทนความต่อเนื่องของอังกฤษ-อเมริกัน ในแง่มุมของการปกครองโดยพวกมหาอำนาจทางทะเล และในแง่มุมของการดำเนินการตามวัตถุประสงค์แบบแมคคินเดอร์ ด้วยการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างชาวเยอรมันกับชาวรัสเซียให้อยู่ในรูปแบบ “ใครชนะคว้าเดิมพันไปหมดคนเดียว” (zero-sum format) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจับกลุ่มเป็นพันธมิตรในระหว่างพวกเขา จากการมีผลประโยชน์ร่วมกันขึ้นมา”
ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ทำไม ปูติน จึงต้องถูกประกาศแต่งตั้งให้กลายเป็น “ฮิตเลอร์คนใหม่” ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ผิดอะไรกับการแต่งตั้งให้เขากลายเป็น “หุ่นไล่กาสูงสุด” (Supreme Scarecrow) เพื่อกระพือความหวาดกลัว ทั้งนี้ก็เนื่องจากปูตินปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ยอมรับการกำหนดบทบาทให้รัสเซียเป็นเพียงแค่เด็กฝึกงานของอารยธรรมตะวันตก รวมทั้งรัสเซียจะไม่ยอมเป็นเพียงแค่เด็กฝึกงานของลัทธิมุ่งเป็นเจ้าใหญ่เหนือคนอื่นของพวกเสรีนิยม (ใหม่) ซึ่งเกิดขึ้นติดตามมาหลังจากนั้น
ปูตินป่าวประกาศด้วยว่า โมเดลสำหรับประชาธิปไตยนั้นไม่ได้มีเพียงโมเดลเดียว และในท้ายที่สุดก็ได้สรุปออกมาเป็นแนวความคิดว่าด้วย “ประชาธิปไตยแบบมีอธิปไตย” (sovereign democracy) ประชาธิปไตยไม่สามารถดำรงคงอยู่ได้ถ้าหากปราศจากอธิปไตย ดังนั้นจึงต้องถอนทิ้งโยนทิ้ง “การกำกับตรวจสอบ” ของฝ่ายตะวันตกทั้งหลายทั้งปวงไปเสีย เมื่อนั้นแหละจึงจะทำให้มันสามารถใช้การได้ขึ้นมา
ดีเซน ตั้งข้อสังเกตอย่างหลักแหลมว่า ถ้าหากสหภาพโซเวียตเป็น “ลัทธิยูเรเชียนิยมแบบปีกซ้ายหัวรุนแรงแล้ว คุณสมบัติบางอย่างบางประการแห่งความเป็นยูเรเชียนิยมของมันก็อาจสามารถถ่ายโอนมาสู่ลัทธิยูเรเชียนิยมแบบอนุรักษนิยมได้” ดีเซน ชี้ว่า เซียเก คารากานอฟ (Sergey Karaganov) ซึ่งบางครั้งได้รับการอ้างอิงว่าเป็น “คิสซิงเจอร์ชาวรัสเซีย”
ได้เคยแสดงให้เห็นมาแล้ว “ว่าสหภาพโซเวียตเป็นแกนกลางของกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม และเป็นหมอตำแยให้แก่การผงาดขึ้นมาของเอเชีย ด้วยการตัดทอนความสามารถของฝ่ายตะวันตกในการบังคับให้โลกต้องเดินตามเจตนารมณ์ของตนโดยผ่านทางการใช้กำลังทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายตะวันตกได้กระทำมาโดยตลอดนับจากศตวรรษที่ 16 จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1940”
เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันโดยส่วนใหญ่ในตลอดทั่วทั้งกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ทั้งหลาย ตั้งแต่ละตินอเมริกา ไปจนถึงแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุโรปจะกลายเป็นแค่คาบสมุทรทางด้านตะวันตกของยูเรเชีย
ดังนั้นหลังจากสงครามเย็นยุติลง และแนวความคิด “มหาทวีปยุโรป” (Greater Europe) ก็ประสบความล้มเหลว การที่มอสโกหันมาตอกหมุดตรึงติดเอาไว้กับเอเชียเพื่อสร้าง “มหายูเรเชีย” (Greater Eurasia) จึงไม่สามารถเป็นอะไรอย่างอื่นไปได้นอกจากบอกว่ามันมีบรรยากาศแห่งการเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทางประวัติศาสตร์ (historical inevitability)
หลักเหตุผลข้ออธิบายของเรื่องนี้เรียกได้ว่าหนักแน่นอย่างไร้ข้อบกพร่องกันทีเดียว ศูนย์กลางทางภูมิเศรษฐกิจของยูเรเชียเวลานี้มีอยู่ 2 แห่ง คือ ยุโรป กับ เอเชียตะวันออก มอสโกต้องการที่จะต่อเชื่อมศูนย์กลางทั้งสองนี้ในทางเศรษฐกิจเพื่อให้กลายเป็นซูเปอร์ทวีป (supercontinent) ตรงนี้แหละที่แนวความคิดมหายูเรเชีย ต่อเชื่อมเข้ากับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน ทว่าสำหรับรัสเซียแล้ว มันยังมีมิติแง่มุมอย่างเป็นพิเศษอยู่ด้วย อย่างที่ ดีเซน ชี้เอาไว้ว่า มันเป็น “การเปลี่ยนผ่านที่ (รัสเซีย) ถอยออกมาจากที่เคยอยู่แค่ชายขอบของศูนย์กลางแห่งอำนาจเหล่านี้เรื่อยมา และมุ่งเข้าไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคที่กำลังก่อสร้างกันขึ้นมาใหม่”
ดีเซน เน้นย้ำว่า เมื่อมองจากทัศนะมุมมองแบบอนุรักษนิยมแล้ว “เศรษฐศาสตร์การเมืองของมหายูเรเชีย สามารถทำให้รัสเซียเอาชนะประวัติศาสตร์แห่งการเอาแต่หมกมุ่นอยู่แต่กับฝ่ายตะวันตกของตน และสถาปนาเส้นทางที่มีชีวิตของรัสเซียเพื่อมุ่งไปสู่ความทันสมัย”
นี่เป็นการบ่งชี้ไปถึงการพัฒนาพวกอุตสาหกรรมทางยุทธศาสตร์, ระเบียงทางเศรษฐกิจแห่งต่างๆ ที่มีการเชื่อมต่อกัน, พวกเครื่องมือทางการเงิน, พวกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อเชื่อมรัสเซียฟากยุโรปกับดินแดนไซบีเรียและรัสเซียฟากแปซิฟิก ทั้งหมดเหล่านี้ กระทำไปภายใต้แนวความคิดใหม่ อันได้แก่ เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบอนุรักษนิยมและแบบผ่านขั้นตอนการพัฒนาอุตสาหกรรมไปแล้ว
ปรากฏว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับจีน มีความคึกคักแข็งขันในภาคส่วนภูมิเศรษฐกิจทั้ง 3 ภาคส่วนเหล่านี้ อันได้แก่ อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์/แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี, ระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีการเชื่อมต่อกัน, และพวกเครื่องมือทางการเงิน
เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งหนุนส่งไปสู่การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องกฎเกณฑ์ระดับสูงสุดกันอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ การเผชิญหน้ากันระหว่างดินแดนหัวใจกับมหาอำนาจทางทะเล
มหาอำนาจยูเรเชียที่ยิ่งใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา มีอยู่ 3 ราย ได้แก่ ชาวไซเธียน (Scythians),ชาวฮัน (Huns), และชาวมองโกล เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาเกิดการแตกแยกออกเป็นเสี่ยงและเสื่อมโทรมตกต่ำในเวลาต่อมานั้น ก็คือ การที่พวกเขาไม่สามารถที่จะไปให้ถึง --และควบคุม –พวกพรมแดนทางทะเลของยูเรเชีย
มหาอำนาจยิ่งใหญ่รายที่ 4 ของยูเรเชีย ได้แก่ จักรวรรดิรัสเซีย –และทายาทของจักรวรรดินั้น อันได้แก่ สหภาพโซเวียต เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายก็เป็นเพราะ –อีกแล้ว— พวกเขาไม่สามารถที่จะไปให้ถึง --และควบคุม–พวกพรมแดนทางทะะเลของยูเรเชีย
สหรัฐฯพยายามสุดฤทธิ์ที่จะป้องกันกีดกันสหภาพโซเวียต ด้วยการผสมผสานแนวความคิดของแมคคินเดอร์, อัลเฟรด ธาเยอร์ มาฮาน (Alfred Thayer Mahan), และ นิโคลัส จอห์น สปีคแมน (Nicholas John Spykman) มาใช้ กระทั่งยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า กลไกเพื่อการปิดล้อม สปีคแมน-เคนัน (Spykman-Kennan containment mechanism) –ซึ่งก็คือพวก “การส่งกำลังทหารไปประจำการยังประดาฐานส่วนหน้า” ในบริเวณชายขอบทางทะเลของยูเรเชีย ทั้งในยุโรปตะวันตก, เอเชียตะวันออก, และตะวันออกกลางนั่นแหละ
เราทั้งหมดต่างทราบกันแล้วเมื่อมาถึงตอนนี้ว่า ยุทธศาสตร์นอกชายฝั่งของสหรัฐฯโดยรวมนี้ –รวมทั้งเหตุผลข้อใหญ่ที่สุดซึ่งทำให้สหรัฐฯเข้าร่วมในสงครามโลกทั้งสองครั้ง– ก็คือการต้องป้องกันไม่ให้มีเจ้าใหญ่ทรงอำนาจเที่ยวครอบงำคนอื่นไปทั่วเกิดขึ้นมาได้ในยูเรเชีย (Eurasian hegemon) โดยที่สหรัฐฯพร้อมทุ่มเทเครื่องมือวิธีการที่จำเป็นทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการนี้
สำหรับการที่สหรัฐฯกลายเป็นเจ้าใหญ่ทรงอำนาจเที่ยวครอบงำคนอื่น (hegemon) เสียเองนั้น นั่นจะเป็นสิ่งที่ได้รับการคิดค้นสรุปเป็นแนวความคิดออกมาอย่างหยาบๆ –โดยที่มีความโอหังแบบจักรวรรดิอย่างพรักพร้อมตามสูตร— โดย ซบิก เบรซซินสกี้ (Zbig “Grand Chessboard” Brzezinski) ในปี 1997 นั่นคือ ที่เขาบอกว่า กฎเกณฑ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการของภูมิยุทธศาสตร์แบบจักรวรรดิ ได้แก่ “การป้องกันไม่ให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดกัน รวมทั้งการธำรงรักษาให้พวกขุนนางข้าราชบริพาร (vassals) ต้องคอยพึ่งพาอาศัยทางด้านความมั่นคงเอาไว้ , การเก็บรักษาพวกสาขาที่ว่าได้ใช้ฟังเอาไว้และคอยให้การพิทักษ์คุ้มครอง, และการรักษาไม่ให้พวกอนารยชนรวมกำลังบุกเข้ามา”ทั้งนี้ มันก็คือการนำเอาวิธีการเก่าๆ ที่ยังใช้การได้ดีอยู่ อย่าง การ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” (Divide and Rule) มาปรับใช้ โดยผ่าน "ระบบ-การครอบงำ” (system-dominance) นั่นเอง
ก็เจ้าระบบนี้แหละที่เวลานี้กำลังหล่นร่วงลงมา – สร้างความรู้สึกผิดหวังมากมายให้แก่พวกหน้าเดิมๆ ดีเซน ตั้งข้อสังเตตเอาไว้ว่า “ในอดีตที่ผ่านมา การผลักไสรัสเซียให้เข้าไปอยู่ทางเอเชีย จะเป็นการเนรเทศรัสเซียให้เข้าสู่ความมืดมนหดหู่ทางเศรษฐกิจ และริบเอาฐานะของรัสเซียในการเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งของยุโรป” ทว่ามาในเวลานี้ จากการที่ศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงด้านภูมิเศรษฐกิจกำลังปรับเปลี่ยนเคลื่อนไปยังจีนและเอเชียตะวันออก มันจึงกลายเป็นเกมการเล่นอย่างใหม่ขึ้นมาโดยสิ้นเชิง
การที่สหรัฐฯคอยประโคมทำให้ รัสเซีย-จีน กลายเป็นปีศาจร้ายไม่มีเวลาหยุดหย่อนว่างเว้นเรียกว่าเปิดทำการตลอดแบบ 24/7สมทบกับความคิดจิตใจแบบ “สถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ” ของพวกข้าราชบริพาร อียูมีแต่ช่วยกันผลักดันรัสเซียให้เข้าไปชิดใกล้จีนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ณ ตรงทางแยกที่การมีฐานะครอบงำโลกของฝ่ายตะวันตก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วดำเนินมาได้เพียง 2 ศตวรรษเท่านั้น อย่างที่ อังเดร กุนเดอร์ แฟรงก์ (Andre Gunder Frank) ได้พิสูจน์ให้เห็นจริงอย่างชัดเจนแน่นอนแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.amazon.com/ReORIENT-Global-Economy-Asian-Age-ebook/dp/B0064BV2I8/ref=sr_1_1?dchild=1&keywords=Andre+Gunder+Frank&qid=1612941545& sr=8-1) กำลังจะมาถึงจุดสิ้นสุด
ดีเซน ซึ่งตรงนี้ดูเหมือนใช้ท่าทีแบบนักการทูตมากไปหน่อย แสดงความคาดหมายว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกก็จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด จากการผงาดขึ้นมาของยูเรเชีย ยุทธศาสตร์แบบเป็นปฏิปักษ์ที่ฝ่ายตะวันตกใช้กับรัสเซียนั้น มีเงื่อนไขอิงอยู่กับแนวความคิดที่ว่ารัสเซียไม่มีที่ไหนจะไปได้ และต้องยอมรับไม่ว่าอะไรก็ตามทีที่ฝ่ายตะวันตกยื่นเสนอให้เพื่อ “การเป็นหุ้นส่วนกัน” แต่การผงาดขึ้นมาของตะวันออกำลังเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่มอสโกมีอยู่กับฝ่ายตะวันตกจนถึงระดับรากฐาน ด้วยการทำให้รัสเซียสามารถที่จะกระจายการสร้างพันธมิตรของตนออกไปได้หลายๆ ทิศทาง
เราอาจจะกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วในการเข้าไปสู่จุดที่ว่า มหายูเรเชียของรัสเซียจะยื่นข้อเสนอต่อเยอรมนีว่า จงรับข้อเสนอหรือไม่ก็ถอยไปไกลๆ ไม่ว่าเรา (รัสเซียกับเยอรมนี) จะสร้างดินแดนหัวใจด้วยกัน หรือว่า เราจะสร้างมันกับจีน –คุณก็จะยังเป็นเพียงแค่ผู้คอยยืนอยู่ข้างๆ ในทางประวัติศาสตร์ (historical bystander) เท่านั้นแต่แน่นอนทีเดียวยังคงมีความเป็นไปได้แบบห่างๆ ไกลๆ อยู่เสมอที่จะเกิดแกนพันธมิตร เบอร์ลิน-มอสโก-ปักกิ่ง ขึ้นมา เรื่องประหลาดๆ ยิ่งกว่านี้ยังเคยเกิดขึ้นมาแล้วเลย
เวลาเดียวกัน ดีเซน มีความเชื่อมั่นว่า “พวกมหาอำนาจภาคพื้นดินยูเรเชีย ในที่สุดแล้วจะรวมเอาทั้งยุโรปและรัฐอื่นๆ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณชายขอบส่วนในของยูเรเชีย ความจงรักภักดีทางการเมืองจะเกิดการปรับเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจหันไปอยู่ทางตะวันออก และยุโรปค่อยๆ กลายเป็นคาบสมุทรทางตะวันตกของมหายูเรเชีย”
ก็ขอเสนออาหารสำหรับขบคิดกัน ให้แก่พวกพ่อค้าเร่ชาวคาบสมุทรที่เที่ยวสร้าง "สถานการณ์ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ” ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ