(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
When China stopped following the US
by Francesco Sisci 17/02/2021
กล่าวได้ว่าจีนมองอเมริกาในฐานะเป็นแบบอย่างของตนมาเป็นเวลายาวนานถึงราว 100 ปีทีเดียว ถึงแม้พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากพยายามต้านทานเสน่ห์ความยั่วยวนนี้ ทว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินโลกในปี 2008 ประชาธิปไตยสไตล์อเมริกันก็หมดมนตร์ขลังสำหรับแดนมังกร และนับแต่นั้นมาปักกิ่งก็ยิ่งมองเห็นหลักฐานสนับสนุนความถูกต้องของการตัดสินใจคราวนั้น รวมทั้งจากเหตุการณ์สาวกโดนัลด์ ทรัมป์ บุกโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
ทางเลือกและนโยบายต่างๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศของอเมริกัน สามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจ, การกระทำ, และปฏิกิริยาต่างๆ ในปักกิ่ง
นโยบายต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน [1] ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ใช่สิ่งซึ่งสลักจารึกเอาไว้อย่างตายตัวจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มาจนถึงเวลานี้มันก็ยังคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการถูกผลักดันให้เดินหน้าไปหรือถอยหลังกลับ ตามความเห็นร่วมกันซึ่งพัฒนาคลี่คลายไป ณ ระดับคณะผู้ทรงอำนาจสูงสุด
กระบวนการมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง (Political democratization) คือหนึ่งในนโยบายเหล่านี้ ถึงแม้นี่อาจจะไม่ได้หมายความถึง “ประชาธิปไตย” ในความหมายของทางตะวันตก ก่อนหน้าปี 2008 มีหนังสือภาษาจีนจำนวนมากเสนอแนวความคิดว่าด้วยกระบวนการมุ่งไปสู่ประชาธิปไตย [2] หนึ่งในจำนวนนี้เสนอความคิดเห็นอย่างเปิดเผยว่า “ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ดีสิ่งหนึ่ง เนื่องจากในบรรดาคุณค่าซึ่งสังคมมนุษย์เสาะแสวงหานั้นก็มีประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย ประชาธิปไตยมีค่าเพียงพอสำหรับให้เราแสวงหา” [3]
บัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences หรือ CASS) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านในเรื่องกระบวนการมุ่งสู่ประชาธิปไตยในเอเชีย และแม้กระทั่ง โรงเรียนพรรค (Party School) ซึ่งเป็นสถานที่อันทรงอิทธิพลที่สุดในเรื่องหลักทฤษฎีและการปฏิบัติของพรรค ก็ยังเปิดให้มีการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับระบบหลายพรรคการเมืองในบางรูปแบบ
แน่นอนทีเดียว มันไม่ได้มีอะไรที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนหรอก แต่มีการอภิปรายถกเถียงกันเยอะแยะทีเดียวในที่ต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้จะถือว่าเป็นเพียงการหลอกลวงพวกชาวต่างชาติผู้เซ่อซ่าเท่านั้นหรือ?
ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นหรอก เนื่องจากสิ่งพิมพ์ทั้งหมดเหล่านี้ต่างเขียนกันเป็นภาษาจีน ดังนั้นจึงมุ่งหมายให้ผู้คนภายในประเทศจีนเองเป็นผู้อ่านผู้ดู ราวกับว่ากำลังเตรียมแผ้วถางทางเอาไว้ ตลอดจนกำลังทดสอบหยั่งดูสถานการณ์ สำหรับความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ในทางการเมือง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตั้งแต่การตกลงจากอำนาจของ “แก๊ง 4 คน” ในปี 1976, การเคลื่อนไหวกำแพงประชาธิปไตยปี 1980, และทั้งหลายทั้งปวงจนกระทั่งหลังจาก การเคลื่อนไหวเทียนอันเหมิน ปี 1989 พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็อยู่ในสภาพเหมือนกำลังลูบๆ คลำๆ ความคิดว่าด้วยประชาธิปไตย และแทบจะถูกรบกวนทนทุกข์ทรมานจากความคิดในเรื่องเช่นนี้ด้วยซ้ำไป
ไอเดียเรื่องนี้ในช่วงปีเหล่านั้นอยู่ในอาการขึ้นๆ ลงๆ แต่มักมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความอิจฉาริษยาเกี่ยวกับความสำเร็จของสหรัฐฯ, เกี่ยวกับประดาประเทศตะวันตกที่แสดงความเป็นประชาธิปไตยออกมาอย่างเห็นชัด, และเกี่ยวกับแบบอย่างเพื่อการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน
แต่แล้วคลื่นลมเช่นนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปอย่างมองเห็นได้ถนัด ภายหลังวิกฤตการณ์ภาคการเงิน (ของทั่วโลก) ในปี 2008 (หมายเหตุผู้แปล-ในประเทศไทยมีผู้นิยมเรียกความปั่นป่วนผันผวนซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสหรัฐฯครั้งนั้นว่า วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์) วิกฤตการณ์คราวนั้นได้พิสูจน์ให้ชาวจีนมองเห็นว่าระบบของสหรัฐฯใช้การไม่ได้ และที่สำคัญมากๆ ก็คือ ภายหลังวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ยังไม่ได้มีการปรับปรุงยกเครื่องระบบกันอย่างมโหฬาร หรือมีการลงโทษเอาผิดพวกที่เป็นตัวการก่อปัญหา
แน่นอนว่านี่เป็นวิธีคิดที่มีความเป็นจีนเอามากๆ เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นมา ต้องมีใครบางคนซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ แล้วนี่มันมีอะไรบางอย่างที่ดำเนินไปอย่างผิดพลาดชนิดมโหฬารขนาดนี้ ทั้งกับสหรัฐฯ และกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ดังนั้นใครละที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ? มีการทำอะไรไปบ้างเพื่อแก้ไขจัดการกับปัญหาดังกล่าว?
คำตอบคือ ไม่มีอะไรเลย อย่างไรก็ตาม บางทีสิ่งสำคัญอาจจะอยู่ที่การทำความเข้าใจถึงความคิดของชาวจีน ณ ช่วงขณะแห่งวิกฤตยิ่งยวดคราวนั้น
ปรากฎว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมา มันแทบจะดับสูญกระแสลมซึ่งโบกพัดให้ประชาธิปไตยแล่นฉิวไปในเมืองจีนจนหมดสิ้น มันได้ทำลายเสน่ห์มนตร์ขลังของอเมริกาอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ บางทีอาจจะยาวนานถึงราว 100 ปีทีเดียว ที่อเมริกาได้เคยถูกมองให้เป็นแบบอย่างของจีน แม้ว่าพวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากพยายามต้านทานความยั่วยวนนี้ก็ตามที
การที่สหรัฐฯมีชัยชนะเหนือสหภาพโซเวียต และในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในปี 1990-1991คือความสำเร็จที่ใหญ่โตยิ่ง ทว่าภายหลังอเมริกาเข้ารุกรานอิรักในปี 2003 และติดตามมาด้วยเรื่องยุ่งเหยิงมากมายจากการเข้าไปยึดครองประเทศนั้น ก็ทำให้เรื่องดูคลุมเครือน่ามึนงงขึ้นมาเยอะ อเมริกาสามารถสร้างเรื่องยุ่งเหยิงแย่ๆ ทบทวีขึ้นมาอย่างเลวร้ายถึงขนาดนี้ได้อย่างไรกัน? ครั้นแล้ว ก็เกิดวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 ซึ่งสร้างความตระหนกแตกตื่นให้แก่ปักกิ่งอย่างรุนแรง
การย้อนรอยทบทวนสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมพึงกระทำ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้สามารถเกิดความตระหนักเข้าใจอย่างมั่นคงขึ้นมาว่า ความสนใจห่วงใยของคนจีนต่อประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนประธานาธิบดีสี จิ้งผิง แล้ว รวมทั้งเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งถึงเหตุผลสภาพแวดล้อมที่ฝ่ายอเมริกันถูกกล่าวหาว่า บังเกิด “ความหลงละเมอ” เกี่ยวกับการเปลี่ยนจีนให้กลายเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาในเวลานั้น
มันยังมีความสำคัญสำหรับการขบคิดถึงวิธีการต่างๆ ในการรับมือกับจีนในเวลานี้อีกด้วย ถ้าหากประชาธิปไตยแบบตะวันตกมีเสน่ห์ดึงดูดใจ และระบบของฝ่ายตะวันตกมีความแข็งแกร่งและทรงประสิทธิภาพแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้ก็สามารถที่จะเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการรับมือกับจีน
กรณีสาวกทรัมป์บุกโจมตีรัฐสภาวันที่ 6 มกราคม ทำให้จีนยิ่งมองเห็น “ความล้มเหลวของประชาธิปไตยอเมริกัน”
ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกกันเลยว่า การสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีการบุกเข้าโจมตีอาคาร “แคปิตอล” ของรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 นั้น ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น และอาจจะต้องเดินกันไปอีกยาวไกลทีเดียวกว่าที่จะสามารถฟื้นตัวกลับคืนมาได้อย่างเข้มแข็ง
ประชาธิปไตยที่มีสุขภาพดี และตลาดซึ่งโปร่งใสและทรงประสิทธิภาพ จะไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายปัญหายุ่งยากทั้งหมดที่ฝ่ายตะวันตกมีอยู่กับจีนหรอก ทว่ามันสามารถช่วยได้มากทีเดียว พวกสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นไม่ได้เป็นพวกคลั่งลัทธิอุดมการณ์กันเป็นบ้าเป็นหลังหรอก พวกเขาเป็นคนที่คำนึงถึงแต่ผลในทางปฏิบัติอย่างชนิดไม่แยแสอารมณ์ความรู้สึกทีเดียว (cynically practical people) เนื่องจากพวกเขาเป็นนักต่อสู้มุ่งเอาชีวิตรอดผู้บึกบึนเหนียวแน่น
พวกเขาเคยผ่านช่วงเวลา 1 ทศวรรษ (ปี 1966-1976) แห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ที่โชกเลือด อันเป็นสงครามกลางเมืองซึ่งพวกเขาทรยศหักหลังแม่, พี่น้อง, และเพื่อนมิตรของพวกเขาเอง –และแม่, พี่น้อง, ตลอดจนเพื่อนมิตรของพวกเขาก็ทรยศหักหลังเขาด้วยเช่นกัน และพวกเขาก็ยังคงค้นพบการสนับสนุนและเพื่อนมิตรในที่ซึ่งพวกเขาคาดหวังเอาไว้น้อยนิดที่สุด
ความผูกพันทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ แต่สายสัมพันธ์ใหม่ๆ ก็จำเป็นต้องสร้างกันขึ้นมา และหนทางอย่างเดียวที่จะเคลื่อนที่ต่อไปข้างหน้าได้ก็คือการทำความตกลงกับปีศาจร้ายซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นความหายนะร้ายแรงนั้นทั้งหมด นั่นก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์
นี่เองอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำไมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงชื่นชอบโปรดปรานวรรณกรรมเรื่อง "เฟาสต์” (Faust) ของ เกอเธ่ (Goethe) อย่างที่เขาได้บอกเล่าให้พวกผู้นำชาวเยอรมันทราบด้วยตัวเขาเอง จุดใหญ่ใจความสำคัญของเรื่อง เฟาสต์ ก็คือ: คุณต้องขายวิญญาณของคุณเพื่อที่จะมีชีวิตรอดต่อไป และวาดหวังว่าในท้ายที่สุดเทวดาจะมาช่วยเหลือคุณให้รอดพ้นจากนรก
เรื่องนี้บอกให้คุณทราบว่า คุณจะต้องคำนึงถึงผลทางปฏิบัติให้มากๆ โดยไม่แยแสสนใจต่ออารมณ์ความรู้สึก กล่าวคือ ถ้าหากมันใช้การได้ มันก็คือใช้การได้ ถ้าหากมันใช้การไม่ได้ มันก็คือเลวเกินไป หลักการต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องนำมาคำนึง หรือถ้าหากคุณปรารถนา ก็สามารถคำนึงเอาไว้สักเล็กน้อยได้ แต่ใช่หรือไม่ว่าการเมืองก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่ว่าที่ไหนไม่ว่าเมื่อใด? ผู้คนขบคิดใคร่ครวญกันอย่างนี้ในปักกิ่ง
หลังจากปี 2008 และจวบจนกระทั่งถึงวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ข้อสรุปที่พวกเขาได้ออกมาก็คือ: ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วใช้การไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมันใช้การไม่ได้สำหรับเรา ถ้าหากสหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกต้องการที่จะรับมือกับจีนอย่างทรงประสิทธิภาพแล้ว พวกเขาจะต้องแก้ไขคลี่คลายประเด็นนี้ –ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กๆ เลย
แล้วเรากำลังอยู่ในโลกแบบไหนเวลานี้ ? จีนคิดหรือเปล่าที่จะค่อยๆ พิชิตปกครองโลกภายในระยะเวลายาวนานหน่อยแบบการวิ่งมาราธอน
ถ้าอย่างนั้นแล้ว เวลานี้เรากำลังอยู่ในโลกแบบไหน? ตรงนี้เรื่องเจตนารมณ์ความตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างแน่นอน ขณะที่พวกแผนการต่างๆ ก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ ฝ่ายจีนคิดเอาไว้ในใจหรือเปล่าที่จะเข้าพิชิตปกครองทั่วทั้งโลกนี้ภายในระยะเวลาอันยื้อยาวแบบการวิ่งมาราธอน อย่างเช่นสักภายในเวลา 100 ปี [4] เฉกเช่นที่ ฮิตเลอร์ เคยต้องการที่จะกำราบปราบปรามพวกศัตรูทั้งหมดของเขา --ไม่ว่าจะเป็นศัตรูจริงๆ หรือในจินตนาการก็ตามที— แต่อยากจะกระทำให้เสร็จภายในระยะเวลาอันเร่งรัดแบบวิ่งรวดเดียวจบ นั่นคือแค่ 3 ปี?
มันไม่มีหนทางไหนหรอกที่จะสามารถพิสูจน์ยืนยันเรื่องนี้ได้อย่างหนักแน่น หรือปฏิเสธบอกปัดเรื่องนี้ได้อย่างมั่นคง ทว่าบางทีภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อาจจะช่วยให้เราสามารถพยากรณ์อนาคตกันได้บ้าง
จีนนั้นเป็นรัฐเดี่ยวซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด บนทวีปที่มีประชากรมากที่สุดและกำลังเติบโตรวดเร็วที่สุด รวมทั้งยังเป็นรัฐที่มีการเกาะตัวภายในอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย ใช่ครับ อินเดียมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนประชากรแซงหน้าสูงกว่าจีน กระนั้นชาวจีนจำนวนมากยังคงข้องใจสงสัยว่า อินเดียถือเป็นประเทศที่มีการเกาะเกี่ยวภายในอย่างเหนียวแน่นได้หรือเปล่า อินเดียแตกแยกทั้งด้วยการที่มีภาษาหลายสิบภาษา, มีวรรณะต่างๆ อย่างน้อยที่สุดสิบกว่าวรรณะ, และมีศาสนายิ่งใหญ่ 2 ศาสนา นั่นคือ อิสลาม และฮินดู ซึ่งเกิดสงครามรบราระหว่างกันไม่หยุดไม่หย่อน
แม้กระทั่งในศาสนาฮินดู ซึ่งถือเป็นศาสนาและวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดของอนุทวีปอินเดีย ก็ไม่ได้เป็นอย่างเดียวกันไปเสียทั้งหมด ประชาชนชาวดราวิเดียนทางภาคใต้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนจากพวกชาวอินโด-ยูโรเปียนของภาคเหนือ แล้วยังมีประชาชนชาวชนเผ่าต่างๆ ซึ่งพำนักอาศัยกันตามเขตภูเขาและเกิดปัญหาความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง ผู้คนเหล่านี้บางส่วนอาจจะกลายเป็นนักลัทธินิยมเหมา เจ๋อตง (เหมาอิสต์ Maoist) คนสุดท้ายบนพื้นพิภพนี้ก็เป็นได้
พวกคนจีนคิดกันว่า อินเดียไม่สามารถที่จะประชันขันแข่งกับประเทศชาติของตน ซึ่งประชากร 95% อ้างได้ว่าอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน นันคือ ชาวฮั่น ขณะที่ชนกลุ่มน้อยอีก 55 กลุ่มที่เหลือนั้นโดยพื้นฐานแล้วอยู่ในสภาพที่ถูกกลืน และพวกกลุ่มที่ยังคงเกิดความไม่สงบอยู่ ซึ่งก็มีเพียงชาวอุยกูร์ และชาวทิเบต รวมกันแล้วมีจำนวนไม่ถึง 1% ของประชาชนทั่วประเทศจีน
เมื่อเป็นดังนั้น จากตรงนี้เองจึงเกิดการอนุมานอย่างภววิสัย (objective deduction) อย่างหนึ่งขึ้นมา ถ้าหากจีนสามารถยืนหยัดเอาไว้ได้อย่างมั่นคงและมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ก็จะสามารถบังคับใช้การปกครองและการควบคุมของตนในทางพฤตินัย ไปตลอดทั่วทั้งเอเชีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประชากร 60% ของทั่วโลก และเป็นบ้านเกิดของการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจจำนวนมากมาย
จากตรงนั้น จีนสามารถที่จะครอบงำเหนือทั้งโลกได้โดยไม่ต้องเสียเวลาอะไร และแทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลยโดยเปรียบเทียบ การปกครองด้วยอำนาจของจีนสามารถที่จะเป็นอย่างเดียวกันกับที่เคยทำมาในครั้งอดีตเก่าก่อน นั่นคือ ใช้ทั้งอำนาจและความเมตตากรุณา โดยใช้ 2 อย่างนี้กระจายตัวผิดแผกกันไปตามแต่ความสะดวกเหมาะสม นี่ก็คือ จีนสามารถนำเอาวิสัยทัศน์แบบจักรวรรดิตามประเพณีดั้งเดิมของตนเองมาประยุกต์ใช้กับโลกในปัจจุบันได้
แล้วจีนคิดถูกหรือเปล่า? สหรัฐฯสามารถที่จะพลิกเกมได้หรือไม่เพื่อพิสูจน์ว่าวิสัยทัศน์ของจีนนั้นไม่ถูกต้อง?
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามที่แท้จริงจึงอยู่ที่ว่า จีนเป็นฝ่ายถูกต้องหรือไม่ในการวิเคราะห์เช่นนี้? ถ้าหากถูกต้อง ประวัติศาสตร์ก็อยู่ข้างพวกเขา และสิ่งที่จีนต้องทำก็คือการรับมือและฟันฝ่าพายุลูกต่างๆ ซึ่งถาโถมเข้ามาในปัจจุบัน เพราะในไม่ช้าก็เร็ว สิ่งต่างๆ จะต้องหันเหไปสู่เส้นทางของพวกเขา
แต่ถ้าหากจีนเป็นฝ่ายผิดพลาด สหรัฐฯก็ควรต้องแสดงออกมาให้จีนมองเห็น ตรงนี้แหละที่ยังเป็นปริศนาซึ่งยากแก่การแก้ไขคลี่คลาย ในสหรัฐฯนั้น พวกเขาชอบคิดกันว่าโลกนี้เป็นของสหรัฐฯ ถ้าหากไม่ใช่ในทางนิตินัย ก็เป็นของสหรัฐฯในทางพฤตินัย ทว่าสหรัฐฯ “เป็นเจ้าของ” โลกที่ว่านี้ ไม่ใช่โดยผ่านโครงสร้างทางอำนาจ หากแต่ผ่านค่านิยมทางวัฒนธรรมและระเบียบกฎเกณฑ์ด้านตลาดและด้านการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง โดยที่มีการปฏิบัติการทางทหารเป็นตัวใช้อำนาจบังคับกันเป็นครั้งคราว
สหรัฐฯคือผู้พิทักษ์ค่านิยมและระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้ โดยมีสมมุติฐานกันด้วยว่า ค่านิยมและระเบียบกฎเกณฑ์พวกนี้เป็นสิ่งที่ดำรงคงอยู่อย่างเป็นอิสระและเป็นเอกเทศจากอำนาจของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การพัฒนากำลังโยกย้ายออกไปจากสหรัฐฯเสียแล้วอย่างเช่นเวลานี้ อเมริกาก็กำลังสูญเสียแรงฉุดลากทางเศรษฐกิจไปให้แก่จีน ซึ่งตอนนี้คือผู้ที่ครอบครองแรงฉุดลากนี้อยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตล่มลายลงไป สหรัฐฯโดยพื้นฐานแล้วได้ยกเลิกถอดวางอุปกรณ์ที่น่าเกรงขามที่สุดในอำนาจของตน
ซึ่งปรากฏว่ามันก็เป็นอุปกรณ์อันทรงอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดของโรมโบราณด้วยเช่นกัน อันได้แก่การสร้างและการบ่มเพาะความเป็นพันธมิตรกับฝ่ายต่างๆ ด้วยรูปแบบหลายหลากนานา
ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯยังมุ่งติดตามเสาะหาผลประโยชน์แห่งชาติของตนในลักษณะที่แทบทำให้พวกเขามีสภาพเหมือนกับชาติอื่นๆ ทั้งหลาย และถ้าสหรัฐฯกลายเป็นชาติๆ หนึ่งเหมือนๆ กับชาติอื่นๆ ไม่ได้มีฐานะเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิที่แผ่ขยายออกไปอย่างใหญ่โตกว้างขวางแล้ว โลกนี้ก็จะกลายเป็นทะเลเถื่อนที่ไม่มีใครปกครอง และจีนก็เป็นฝ่ายถูกต้องแล้วในการประพฤติตนอย่างที่กระทำอยู่ โดยพยายามหาประโยชน์หาความได้เปรียบอย่างเป็นภววิสัยจากสถานการณ์
ถ้าหากสหรัฐฯต้องการที่จะพิสูจน์ให้ห็นว่าวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกของจีนเป็นสิ่งซึ่งไม่ถูกต้องแล้ว สหรัฐฯก็จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงยกระดับเศรษฐกิจของตนเอง, สร้างความป็นพันธมิตรในทุกๆ รูปแบบขึ้นมาใหม่ และถอยห่างงดเว้นจากการเข้าสู่ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธที่สิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์อยู่บ่อยครั้ง
ในความเป็นจริงแล้ว โลกไม่ใช่เป็นทะเลเถื่อนซึ่งสหรัฐฯเป็นเพียงแค่ชาติๆ หนึ่งเหมือนๆ กับชาติอื่นๆ แรงต่อต้านที่จีนประสบอยู่ใน “การแผ่ขยาย” ทางการค้าและทางเศรษฐกิจคือหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ตรงนั้น –ไม่เช่นนั้นแล้วจีนก็อาจจะเข้าพิชิตสิ่งต่างๆ เอาไว้ได้ทั้งหมดทั้งสิ้นเรียบร้อยแล้ว
สหรัฐฯอาจจะต้องการนำเอาจีนเข้าสู่ผิวนอกของระบบโลกที่ดำรงคงอยู่ในเวลานี้ อาจจะต้องการยกระดับระบบให้ทันกาลและล้ำยุค เรื่องนี้โดยตัวมันเองก็อาจกลายเป็นชนวนทำให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันรอบใหม่ในจีน เกี่ยวกับการแผ่ขยายออกสู่ภายนอกของจีนและเกี่ยวกับประชาธิปไตย
ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯมีแผนอะไรเตรียมไว้หรือไม่ในเรื่องวิธีการที่จะทำให้จีนเข้าร่วมแสดงความรับผิดชอบ นี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับจีน และก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกซึ่งกำลังคอยเฝ้าติดตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆ มหาอำนาจสองรายนี้
ตรงนี้แหละสหรัฐฯจะถูกประณามสาปแช่ง ถ้าหากเดินหน้าเข้าประจันกับจีน เนื่องจากยืนยันได้ว่าจะต้องเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ขึ้นมา ในอีกทางหนึ่ง สหรัฐฯก็จะถูกประณามสาปแช่งเช่นกัน ถ้าหากถอยหลังและโค้งคำนับยอมรับจีนเป็นผู้ทรงอำนาจอันดับหนึ่งของโลกรายใหม่ ไม่ว่าจะออกมาในทางไหน โลกก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และส่วนอื่นๆ ของโลกก็จะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะออกมาในทางไหน วิถีทางของอเมริกันในการมองดูโลกแบบที่ได้ใช้มาในช่วงหลังสงครามเย็นครั้งเก่า ก็เป็นอันต้องยุติจบสิ้นลงไปแล้ว
จีนนั้นดูเหมือนตัดสินวินิจฉัยแล้วว่ากำลังเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ และตนเองจะต่อสู้และต่อต้านสงครามนี้ ทว่าบางทีเพียงแค่ต่อต้านอย่างธรรมดาก็ยังอาจจะไม่เพียงพอ เพราะโลกจะไม่ตกมาอยู่ในอ้อมอกของจีนอย่างง่ายๆ หรอก ถึงแม้สหรัฐฯและจักรวรรดิของสหรัฐฯได้เกิดการแตกทลายออกเป็นเสี่ยงๆ
เชิงอรรถ
[1]ข้อคิดข้อสังเกตต่างๆ ต่อไปนี้ อิงอยู่กับประสบการณ์แบบพบเห็นด้วยตนเองของผม และอิงอยู่กับการสนทนาในบางครั้งจากการทำงานกับพวกเจ้าหน้าที่ของจีนตลอดระยะเวลาราว 30 ปีในประเทศจีน ผมเคยศึกษาอยู่ที่บัณฑิตวิทยาลัยของบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ของจีน (CASS) ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และตั้งแต่ตอนปลายทศวรรษ 1990 ผมได้ร่วมมือกับ สถาบัน “ยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการจีน” (China Strategy and Management) อันเป็นหน่วยงานคลังสมองของประเทศนั้น หลังจากนั้นไปอีก ตลอดห้วงเวลาราว 1 ทศวรรษที่เริ่มตั้งแต่ปี 2004 ผมได้เป็นผู้รับผิดชอบโปรแกรมความร่วมมือระหว่างอิตาลีกับโรงเรียนพรรคส่วนกลาง (Central Party School) ปัจจุบัน ผมเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่มหาวิทยาลัยประชาชน (People University) ของประเทศจีน และเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการพัฒนาเทศบาลอียู-จีน (EU-China Municipal Development Commission) ผมทำงานเหล่านี้ทั้งหมดในเวลาเดียวกับที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับจีนให้แก่สื่อมวลชนตะวันตกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณ ชาร์ลส์ พาร์ตัน (Charles Parton) สำหรับข้อเขียนชิ้นนี้ เขาเป็นผู้ที่สนับสนุนผมให้เขียนและยังเมตตาตรวจทานแก้ไขให้อีกด้วย
[2]ตัวอย่างเช่น党内民主制度创新: 一个基层党委班子 “公推直选” 的案例研究 王长江 中央编译出版社, 2007, และ 民主・自由・人权・正义: 一个社会主义者的解读 李云龙, 张妮妮河南人民出版社, 2002 และ 财产权与民主的限度, 商务印书馆, 2007
[3] 民主・自由・人权・正义: 一个社会主义者的解读 李云龙, 张妮妮河南人民出版社, 2002, p. 40.
[4]หนังสือตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2015 ของ ไมเคิล พิลส์บิวรี (Michael Pillsbury) เรื่อง The Hundred-Year Marathon: China's Secret Strategy to Replace America as the Global Superpower
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกสุดทางเว็บไซต์ข่าว Settimana News (ดูได้ที่ http://www.settimananews.it/informazione-internazionale/us-molded-china//)