ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
สมมุติว่าเราเลือกที่จะเป็นหมีจำศีลขอแช่แข็งตัวเองไว้สัก 10 ปีอาจไม่ต้องนานถึง 70 ปีเหมือนกัปตันอเมริกา เอาแค่ว่าตื่นขึ้นมาในเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ปี 2031 วิถีชีวิตบนโลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ? หวังว่าระบบการแจ้งเตือนของ FB จะยังคงทำงานหรืออาจจะมีฟังก์ชันที่ดีกว่าเพื่อแจ้งเตือนว่าบทความต่อไปนี้จะยืนยันอนาคตได้มากน้อยเพียงใด และนี้คือสิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสามอย่างซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการพยากรณ์ของ Peter Diamandis นักวิชาการชื่อดังประกอบกับข้อมูลอื่นที่ผมค้นคว้ามาเสริมเพิ่มเติมเพื่อทำให้บทความชิ้นนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
1. มีอิทธิฤทธิ์แบบเห้งเจียสามารถถอนขนตัวเองออกมาเป่าเป็นร่างอวตารนับหมื่น ๆ ร่างได้
อ่านถึงตรงนี้อย่าพึ่งคิดว่าเป็นเรื่องโม้เกินจริง ตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI สามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่คิดว่าไม่มีทางที่จะชนะมนุษย์ได้ เรื่องที่ แอลฟาโกะชนะแชมป์โลกหมากล้อมแบบราบคาบหรือการที่ Gary Kasparov นักหมากรุกที่ได้รับการยกย่องว่าเก่งที่สุดเท่าที่เคยมีมาได้เคยแพ้ให้กับ Deep Blue ของ IBM เมื่อ 24 ปีที่แล้ว และเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานกันมากและไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร การคิดเชิงระบบซึ่งจัดได้ว่าเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของสมองมนุษย์ก็ไม่สามารถต่อกรอะไรได้กับศักยภาพของสมองกลที่มีแสนยานุภาพมากกว่าสมองมนุษย์แบบเทียบชั้นไม่ได้ ที่ยังคงพอมีที่ว่างให้มนุษย์มีที่ยืนได้บ้างน่าจะเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ อาชีพหลายอย่างเช่น นักประพันธ์ นักเขียนบทละคร จิตกร นักแต่งเพลง อาชีพเหล่านี้หลายคนคิดว่าน่าจะยังพอมีพื้นที่ให้มนุษย์ได้แสดงความสามารถได้บ้าง......แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเราตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ของอีก 10 ปีข้างหน้าทันทีที่ลืมตาขึ้นเราได้ยินเสียงเพลงที่แต่งโดย AI ทานอาหารที่มี AI เป็นผู้ปรุงและคิดคำนวณสูตรแคลอรี่มาให้เสร็จสรรพ พร้อมกับอ่านบทความหนังสือพิมพ์และดู trailer ภาพยนต์ที่มี AI เป็นคนสร้าง [1-5]?
หมายความว่าในเรื่องความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ AI ก็จะชนะหรือก้าวข้ามขีดความสามารถของมนุษย์ในที่สุด และที่เด็ดกว่าคือการผนวกเอาเทคโนโลยี Deepfake ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Deep learning + Fake เข้ามาใช้เช่นฉากสุดท้ายในภาพยนต์ Fast & Furious 7 ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Deepfake มาใช้จำลองหน้าตาของ Paul Walker หนึ่งในนักแสดงนำผู้ล่วงลับโดยได้มีการให้น้องชายของ Paul มาขับรถแทนพี่ชาย [6] จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ AI สามารถเรียนรู้ความสามารถเราได้หมดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ความเฉลียวฉลาดไหวพริบในการตอบคำถาม องค์ความรู้ที่มี ความคิดสร้างสรรค์ในการโต้ตอบ และที่สำคัญคือมันสามารถลอกเลียนใบหน้าของเราได้เหมือนหมดทุกกระเบียดนิ้ว!?
นั้นคือที่มาของการนำเอาแนวคิดของเห้งเจียมาเปรียบเปรย ความหมายคือในโลกออนไลน์เราสามารถสร้างร่างอวตารของตัวเอง สอนหนังสือให้นักศึกษาฟัง อ่านข่าวให้ผู้ชมทางบ้านได้รับรู้พร้อมกับโต้ตอบใน Clubhouse ได้อย่างมีอรรถรส หรือมีปากเสียงกับลูกค้าที่กำลังดูการขายของแบบ Live สดอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนเสมือนหนึ่งเป็นตัวเราเอง ทั้งที่กิจกรรมนับหมื่นที่กำลังเกิดขึ้นในโลกออนไลน์อาจคาบเกี่ยวกับเวลาที่ตัวตนที่แท้จริงของเรากำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ในที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ก็เป็นได้!!
2. ประตูวิเศษโดราเอม่อน ไปที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้รวมทั้งดาวอังคาร!!
เอาละรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นหรือชินคันเซนเคยทำความเร็วไว้สูงสุดที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง [7] ส่วนระบบ Hyperloop ที่ Elon Musk คาดหวังไว้ว่าจะทำความเร็วได้สูงถึง 1,102 กิโลเมตรต่อชั่วโมง [8] ก็ยังห่างไกลจากแนวคิดของประตูวิเศษโดราเอม่อนอยู่หลายขุม อีกระยะเวลาแค่ 10 ปีเราจะสามารถสร้างประตูวิเศษได้จริงหรือไม่? คำตอบของคำถามนี้อาจมีรูปแบบที่ต่างไปจากที่คิด เพราะนิยามของการเดินทางอาจไม่ใช่การนำเอา "ร่างกาย" ของเราเคลื่อนตัวไปยัง "สถานที่เป้าหมาย" ในทางตรงกันข้าม เทคโนโลยีในอีกสิบปีข้างหน้าสามารถทำให้ มนุษย์สามารถรับรู้ข้อมูลของ "สถานที่เป้าหมาย" ผ่านโสตประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ประกอบด้วยตาดู หูฟัง ลิ้นรับรส จมูกดมกลิ่น และผิวสัมผัสผ่านระบบ Virtual Reality โดนผ่านการส่งสัญญาณ 6G หรืออาจจะมากกว่าโดยใช้ดาวเทียมเป็นตัวส่งสัญญาณ
สมมุติว่าเราอยากไปนั่งชมวิวที่ขั้วโลกใต้ เราก็ให้หุ่นยนต์สักตัวไปนั่งอยู่ตรงนั้นแล้วติดตั้งเซนเซอร์ที่รับอุณหภูมิ ความเร็วลม ความเข้มของแสงแดด รูปภาพของวิวทิวทัศน์ เสียง กลิ่น รวมทั้งสัมผัสของก้อนน้ำแข็งและก้อนหินที่เต็มไปด้วยไลเคนส์ เฟิร์น มอส ส่งเป็นข้อมูลผ่านระบบ 6G แล้วส่งตรงมายังห้องนั่งเล่นที่อยู่ในอำเภอปาย แค่นี้เราก็สามารถท่องเที่ยวไปยังโลกกว้างได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้นจริงๆ
3. บ้านราคาถูกกว่า 150,000 บาทต่อหลัง!!??
หนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคือ เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ (3D printing) ซึ่งความก้าวหน้าในยุคปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีธาตุตัวใดในตารางธาตุที่ไม่สามารถพิมพ์แบบสามมิติได้ วัสดุเช่น แก้ว โลหะ พลาสติก ก็สามารถนำมาพิมพ์แบบสามมิติได้ การพิมพ์สามมิติไตเทียม ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะทำได้มาตั้งแต่ปี 2012 แล้ว [9] การพิมพ์สามมิติหัวใจเทียม เส้นเลือด ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง [10-11] มีความเป็นไปได้สูงที่ 3D Printing อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบ Logistic ทั้งหมดเนื่องจากการซื้อของไม่จำเป็นต้องสั่งจากต่างประเทศอีกต่อไป เพราะลูกค้าสามารถดาวน์โหลดสินค้าและสั่งพิมพ์มันเองที่บ้านได้เลยผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ! ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ไม่ปล่อย PM2.5 และสารก่อมะเร็งรวมทั้งโลหะหน้กอันเป็นต้นเหตุของสารพัดโรคร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยประหยัดค่าก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆได้ด้วย ตอนนี้มีการใช้เทคโนโลยีนี้แล้วในการสร้างบ้านหลายแห่ง [12-13]
ในขณะที่หลายคนกำลังกังวลว่า AI จะมาแย่งอาชีพคนไปและคนนับล้านจะกลายเป็นชนชั้นที่ไร้ค่า (Useless Class) เนื่องจากไม่มีความสามารถใดๆที่จะไปแข่งขันกับ AI ได้ แต่โลกอนาคตก็อาจยังพอมีแสงสว่างให้มองเห็นได้บ้างแต่โจทย์ที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ มนุษย์ จะอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างไรโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน?
เอกสารอ้างอิง
[1] Latar, N. L. (2018). Robot journalism: Can human journalism survive?. World Scientific.
[2] Hertzmann, A. (2018, June). Can computers create art?. In Arts (Vol. 7, No. 2, p. 18). Multidisciplinary Digital Publishing Institute.
[3] Moruzzi, C. (2017, November). Creative AI: Music composition programs as an extension of the composer’s mind. In 3rd Conference on" Philosophy and Theory of Artificial Intelligence (pp. 69-72). Springer, Cham.
[4] Monlezun, D. J., Dart, L., Vanbeber, A., Smith-Barbaro, P., Costilla, V., Samuel, C., ... & Harlan, T. S. (2018). Machine learning-augmented propensity score-adjusted multilevel mixed effects panel analysis of hands-on cooking and nutrition education versus traditional curriculum for medical students as preventive cardiology: multisite cohort study of 3,248 trainees over 5 years. BioMed research international, 2018.
[5] Smith, J. R., Joshi, D., Huet, B., Hsu, W., & Cota, J. (2017, October). Harnessing ai for augmenting creativity: Application to movie trailer creation. In Proceedings of the 25th ACM international conference on Multimedia (pp. 1799-1808).
[6] https://www.youtube.com/watch?v=WmdcERGYaCg&feature=emb_logo
[7] Uno, M. A. M. O. R. U. (2016). Chuo shinkansen project using superconducting maglev system. Japan Railway & Transport Review, 68, 14-25.
[8] Crozet, Y. (2015). Maglev (603 km/h), Hyperloop (1102 km/h). Vers un" retour sur terre" de la très grande vitesse?. Transports (ISSN 0564-1373), (491), 5-15.
[9] Denizet, G., Calame, P., Lihoreau, T., Kleinclauss, F., & Aubry, S. (2019). 3D multi-tissue printing for kidney transplantation. Quantitative imaging in medicine and surgery, 9(1), 101.
[10] Olejník, P., Nosal, M., Havran, T., Furdova, A., Cizmar, M., Slabej, M., ... & Masura, J. (2017). Utilisation of three-dimensional printed heart models for operative planning of complex congenital heart defects. Kardiologia Polska (Polish Heart Journal), 75(5), 495-501.
[11] Xu, Y., Hu, Y., Liu, C., Yao, H., Liu, B., & Mi, S. (2018). A novel strategy for creating tissue-engineered biomimetic blood vessels using 3D bioprinting technology. Materials, 11(9), 1581.
[12] Yin, H., Qu, M., Zhang, H., & Lim, Y. (2018). 3D printing and buildings: A technology review and future outlook. Technology| Architecture+ Design, 2(1), 94-111.
[13] Wu, P., Wang, J., & Wang, X. (2016). A critical review of the use of 3-D printing in the construction industry. Automation in Construction, 68, 21-31./