ภาวะมลพิษร้ายแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 160,000 รายในเมืองใหญ่ที่สุด 5 แห่งของโลกเมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้นในบางพื้นที่เนื่องจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ก็ตาม กลุ่มสิ่งแวดล้อมระบุในวันพฤหัสบดี (18)
เมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ นิวเดลี เมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดบนโลก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 54,000 คนจากอนุภาคในอากาศ PM 2.5 อ้างอิงรายงานจากกลุ่ม Greenpeace Southeast Asia
ในกรุงโตเกียว ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 40,000 ราย ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้, เซาเปาโล และเม็กซิโกซิตี อ้างตามรายงาน ซึ่งตรวจสอบผลกระทบจากอนุภาค PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
“เมื่อรัฐบาลเลือกถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซมากกว่าพลังงานสะอาด สิ่งที่ต้องจ่ายคือสุขภาพของพวกเรา” อวินาช แชนชัล นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศในกลุ่ม Greenpeace India
อนุภาค PM 2.5 ถูกพิจารณาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด มันสามารถทำลายหัวใจและปอด และเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหอบหืด บางงานวิจัยระบุว่าการสัมผัส PM 2.5 ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19
รายงานชิ้นนี้ใช้เครื่องมือออนไลน์ประเมินผลกระทบของ PM 2.5 ด้วยการรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์เฝ้าติดตาม IQAir และรวมมันเข้ากับรูปแบบความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลประชากรและข้อมูลสุขภาพ
เครื่องมือดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่าง Greenpeace , Greenpeace และศูนย์เพื่อการวิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Centre for Research on Energy and Clean Air)
ถึงแม้ว่าจะมีตัวเลขการเสียชีวิตที่สูง แต่การล็อกดาวน์จากโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งทำให้ท้องถนนโล่งขึ้นและปิดโรงงานปล่อยมลพิษ ก็ได้ทำให้ท้องฟ้าเหนือเมืองใหญ่หลายเมืองสดใสขึ้นชั่วคราว
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การลดลงอย่างมหาศาลของมลพิษในช่วงการล็อกดาวน์มีส่วนทำให้การเสียชีวิตลดลง
ถึงกระนั้น กรีนพีซเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลพิจารณาการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเป็นหัวใจของแผนการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจซบเซาหลังการแพร่ระบาด