มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงจำนวนจำกัดเท่านั้นที่สามารถถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศได้อย่างยั่งยืน สำหรับบริษัทที่ให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกควรตระหนักว่าการป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่าการฟื้นฟูรักษา
ปัจจุบัน บริษัทต่างๆทั่วโลกได้เพิ่มระดับความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบริษัทที่มีความมุ่งมั่นมากถึงกับประกาศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 จริงๆแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ "สุทธิ (Net)" นี้ทำงานอย่างไร บริษัทต่างๆ สามารถทำได้โดยการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศอย่างกระตือรือร้น โดยกระบวนการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Removal - CDR)” CDR นี้หมายรวมถึงการปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าหรือการฟื้นฟูป่า ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี เช่น การผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bioenergy with Carbon Capture and Storage - BECCS) หรือการดักจับคาร์บอนในอากาศโดยตรงด้วยการกักเก็บ (Direct Air Carbon Capture and Storage - DACCS)
อย่างไรก็ตาม ตามที่กรีนพีซได้เน้นในรายงานล่าสุดว่า แนวทางเหล่านี้จะต้องไม่กลายเป็นบัตรผ่านฟรีที่ทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษรอดพ้นจากความรับผิด เนื่องจากจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถกำจัดออกไปได้อย่างสมเหตุสมผลนั้นสามารถทำได้อย่างจำกัด อีกทั้งการปลูกต้นไม้ใหม่ยังต้องใช้ที่ดินมากมาย และวิธีการอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นทุนสูงและมีความยากในการดำเนินการ
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) ตั้งข้อสังเกตว่า “เทคโนโลยี CDR ส่วนใหญ่นั้นได้สร้างความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคม” ทั้งการปลูกป่า การฟื้นฟูป่า และการผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนนั้น ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเราใช้พื้นที่เกษตรกรรมในการดำเนินการก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ถ้าเราใช้พื้นที่ป่าก็ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ถ้าเราจะใช้ BECCS เพื่อกำจัด CO2 จำนวน 12,000 เมตริกตัน/ ปี ซึ่งเป็นค่ามัธยฐานในการนำไปสู่การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5˚C ภายในปี 2100 ของ IPCC จำนวนพื้นที่ที่จะต้องอุทิศให้กับพลังงานชีวภาพนั้นเทียบเท่ากับหนึ่งถึงสองเท่าของประเทศอินเดีย หรือคิดเป็นร้อยละ 25-46 ของพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมดบนโลกเลยทีเดียว แล้วมันจะยั่งยืนหรือไม่ มันจะทำได้จริงหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ อย่างแน่นอน…
ในทางกลับกัน วิธีการ DACCS นั้นไม่ต้องการที่ดิน แต่กลับต้องใช้พลังงานจำนวนมาก การกักเก็บการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสามในสี่ในปัจจุบันจะต้องใช้ไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของปริมาณไฟฟ้าทั่วโลกที่สร้างขึ้นในปัจจุบันและปริมาณความร้อนเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของการบริโภคพลังงานทั้งหมดเลยทีเดียว
เราจะบอกอะไร?
เห็นได้ชัดเจนว่าการป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่าการพยายามฟื้นฟูแก้ไข และนี่คือสิ่งที่บริษัทควรทำ โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยเฉพาะส่วนที่ไม่สามารถตัดออกไปได้ รายงานของกรีนพีซชี้ให้เห็นว่าหากสมมุติว่ามีเพียงบริษัท Eni Spa ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของอิตาลี และบริติชแอร์เวย์สายการบินของอังกฤษเท่านั้นที่สามารถชดเชยการปล่อยมลพิษ โดยใช้วิธีการปลูกป่า บริษัทอาจต้องใช้พื้นที่ถึง 12% ของที่ดินทั้งหมดที่มีอยู่
เหตุใดทั้งสองบริษัทจึงกำลังมองหาทางกำจัด CO2 ในชั้นบรรยากาศจำนวนมากเช่นนี้ ข้อมูลของ Arabesque
S-Ray ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมาพบว่า บริษัทพลังงานของอิตาลีนี้มีคะแนน ESGScore โดยรวมอยู่ที่ 55.40 จาก 100 คะแนน ซึ่งอยู่ในอันดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 51 ของบริษัทในกลุ่ม Energy Minerals ในทางกลับกันสายการบินของอังกฤษมีคะแนน ESG ที่ 44.07 คะแนน โดยอยู่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ต่ำที่สุดอันดับที่ 22 ของกลุ่มบริษัทในภาคการขนส่ง ผลดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัททั้งสองยังมีช่องทางในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นก่อนที่จะมาใช้เทคนิค CDR ต่างๆ
หากเรามาดูที่ TemperatureTM Score ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการมีส่วนร่วมในการเพิ่มอุณหภูมิโลกของแต่ละบริษัทผลที่ออกมาก็ไม่ได้เปลี่ยนไป โดยทั้งสองบริษัทมีคะแนนอุณหภูมิในระยะยาว (ปี 2050) อยู่ที่ > 2.7°C ซึ่งหมายความว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัททั้งสองไม่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสแถมยังอยู่ห่างจากข้อตกลงอย่างมากอีกด้วย
หมายความว่าอย่างไร?
IPCC ได้เน้นย้ำว่าการพึ่งพา CDR เป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อความสามารถของมนุษยชาติในการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ความไม่แน่นอนทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่กลไกในการกำจัด CO2 นั้นว่าได้ผลหรือไม่ ซึ่งอย่างน้อยมันได้ผลในห้องแล็บ แต่มันอยู่ที่ว่าจะสามารถดำเนินการส่งมอบได้ในสเกลขนาดใหญ่พร้อมด้วยเงินทุนและกฎระเบียบที่เพียงพอในการกักเก็บ CO2 ในระยะยาวโดยไม่มีผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เรายอมรับไม่ได้หรือไม่ต่างหาก
CDR ไม่ใช่ทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซสุทธิ ในความเป็นจริงมันมีบทบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น CDR ควรถูกใช้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซที่ทำการลดปริมาณได้ยากที่สุดและแพงที่สุดเท่านั้น
ความรับผิดชอบนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ผู้บริโภค และสื่อต่างๆ ที่ต้องระลึกไว้ว่า “เป้าหมายภูมิอากาศโลกสุทธิเป็นศูนย์จะดีก็ต่อเมื่อผลที่ออกมาสุทธิเป็นศูนย์เท่านั้น”
บทความโดย ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์
Arabesque
S-Ray ผู้ให้บริการข้อมูล คำปรึกษา และโซลูชั่นด้านความยั่งยืน (ESG) โดยมีการประเมินความยั่งยืนในมิติต่างๆของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ข้อมูลอัพเดททุกวัน