xs
xsm
sm
md
lg

คณะผู้เชี่ยวชาญไวรัสโคโรนาของ WHO เรียนรู้อะไรจากการเยือนเมืองอู่ฮั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (เอพี)


คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนต้นกำเนิดของโรคโควิด-19 เดินทางมาถึงสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ของจีน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ทั้งนี้คณะได้เสร็จภารกิจที่เมืองนี้และเดินทางจากจีนแล้วในวันพุธ (10 ก.พ.)
EXPLAINER: What the WHO coronavirus experts learned in Wuhan
By EMILY WANG FUJIYAMA and KEN MORITSUGU Associated Press
11/02/2021

คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกจากประเทศจีนไปแล้ว ภายหลังได้รับความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ บางอย่างบางประการ เกี่ยวกับต้นตอจุดกำเนิดของโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งได้สังหารผู้คนทั่วโลกไปมากกว่า 2.3 ล้านคน -- ทว่าก็ยังคงมีคำถามฉกรรจ์ๆ ที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบ

การเดินทางไปเยือนของคณะผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ในคราวนี้ ถือเป็นสิ่งที่สร้างความอ่อนไหวทางการเมืองให้แก่จีน –ซึ่งมีความห่วงกังวลต่อข้อกล่าวหาใดๆ ก็ตามทีที่ระบุว่าพวกเขาจัดการรับมืออย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมในช่วงต้นๆ ที่เกิดการระบาด –และก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากทั่วโลก

ปีเตอร์ ดัสแซค (Peter Daszak) สมาชิกคนหนึ่งในคณะ ได้แสดงความคิดเห็นในทางสดใสมีกำลังใจ ในตอนที่มาถึงท่าอากาศยานเมื่อวันพุธ (10 ก.พ.) ณ ห้วงแห่งการสิ้นสุดทริปเดินทางยาวนาน 4 สัปดาห์ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของจีน และเป็นจุดซึ่งตรวจพบเคสผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เคสแรกๆ ในเดือนธันวาคม 2019

“เราได้ตัวชี้นำทางที่ชัดเจนหลายๆ ตัวว่าขั้นตอนต่อๆ ไปควรจะทำอะไร” เขากล่าว “เราทราบอะไรเพิ่มขึ้นมามากมาย หลังจากได้ทำงานซึ่งเพิ่งทำเสร็จกันลงไปนี้”

ข้อสรุปสำคัญๆ ของผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ ดูจะเป็นการยืนยันสิ่งที่พวกนักวิจัยส่วนใหญ่ได้สันนิษฐานคาดหมายกันเอาไว้แล้วเกี่ยวกับไวรัสร้ายตัวนี้ โดยที่การมาเยือนคราวนี้ไม่ได้เคยเป็นที่คาดหวังกันมาก่อนว่าจะสามารถชี้บ่งได้อย่างชัดเจนแน่นอนถึงต้นกำหนดของโรคระบาดใหญ่ซึ่งยังคงอาละวาดไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ –นี่ดูจะเป็นภาระหน้าที่ซึ่งยังอิงอาศัยการศึกษาและการทำงานในที่อื่นๆ และของคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลากันเป็นปีๆ

ต่อไปนี้ เป็นการสรุปอย่างเร็วๆ เกี่ยวกับทฤษฎีข้อสมมุติฐานต่างๆ ที่ทางคณะได้สำรวจศึกษาระหว่างการเยือนอู่ฮั่นครั้งนี้ของพวกเขา:

ค้างคาว

คณะผู้เชี่ยวชาญที่มาปฏิบัติงานในอู่ฮั่นครั้งนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทฤษฎีสำคัญทฤษฎีหนึ่งในในเรื่องไวรัสนี้มาจากไหน ทั้งนี้พวกนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากคิดกันว่า ค้างคาวน่าจะเป็นไปได้สูงที่สุดที่จะเป็นพาหะ และค้างคาวได้ผ่านเชื้อไวรัสนี้ไปที่สัตว์อีกชนิดหนึ่ ซึ่งได้ส่งผ่านเชื้อต่อมาที่มนุษย์ ขณะที่ยังมีความเป็นไปได้อย่างอื่นๆ อีกหลายทาง –ตัวอย่างเช่น ค้างคาวอาจเป็นตัวที่ส่งเชื้อไวรัสนี้มาติดมนุษย์โดยตรง— แต่เส้นทางที่ต้องผ่านสัตว์ชนิดที่สองก็ยังคงเป็นฉากทัศน์ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด ทั้งนี้ตามความเห็นทั้งของคณะผู้เชี่ยวชาญ WHO และของคณะฝ่ายจีนที่มาร่วมทำงานด้วย คำถามอยู่ที่ว่าสัตว์ดังกล่าวคืออะไร และแพร่เชื้อกันที่ไหน

ตลาดอาหารทะเลหัวหนาน

ตลาดอาหารทะเลหัวหนาน (Huanan Seafood Market) คือจุดที่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนกลุ่มหนึ่งเมื่อตอนเริ่มต้นเกิดการระบาดในอู่ฮั่น และตอนต้นๆ ทีเดียวถูกสงสัยว่าเป็นสถานที่ซึ่งคนติดเชื้อโรคโควิด-19 กันครั้งแรกสุด แต่จากการค้นพบเคสผู้ป่วยเมื่อตอนแรกๆ กันเพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา ล้วนแต่ปฏิเสธว่าทฤษฎีนี้ไม่จริง กระนั้น บรรดานักวิจัยก็ยังคงต้องการทราบอยู่ดีว่ากลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อตอนเริ่มแรกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ตลาดแห่งนี้กิจการหลักคือการซื้อขายอาหารทะเลแช่แข็ง แต่ก็มีการขายพวกสัตว์ป่าที่ถูกคนนำมาเลี้ยงด้วย ในจำนวนนี้มีทั้งกระต่าย อันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าติดเชื้อไวรัสนี้ได้ง่ายๆ ตลอดจน ตัวตุ่น และ หมาหริ่ง ซึ่งก็เป็นที่สงสัยกันว่าสามารถติดเชื้อนี้ได้ง่ายเหมือนกัน ณ การแถลงข่าวช่วงปิดท้ายการทำงานที่อู่ฮั่นของคณะผู้เชี่ยวชาญ WHO ชุดนี้เมื่อวันอังคาร (9 ก.พ.) สมาชิกคนหนึ่งในทีมบอกว่า สัตว์เหล่านี้บางส่วนสามารถสืบสาวไปถึงฟาร์มเลี้ยงหรือพวกผู้ค้าซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของค้างคาวที่เป็นพาหะของไวรัส ซึ่งเป็นญาติสนิทที่สุดเท่าที่ทราบกันของค้างคาวที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19

ไวรัสนี้ยังอาจถูกนำเข้ามาในตลาดโดยบุคคลที่ติดเชื้ออยู่แล้วก็ได้ พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนชี้ว่ามีเพียงพวกบริเวณผิวนอกของตลาดนี้เท่านั้นซึ่งผลตรวจทดสอบไวรัสนี้ออกมาเป็นบวก ทว่ากลับไม่มีผลิตภัณฑ์สัตว์ใดๆ เลยที่ผลตรวจเป็นบวก เจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งกล่าวในวันอังคาร (9 ก.พ.) ว่า ในเวลาประมาณเดียวกันกับที่มีกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อจากตลาดแห่งนี้นั้น ดูเหมือนเกิดเคสผู้ป่วยตามที่อื่นๆ ในเมืองอู่ฮั่นเช่นกัน ดังนั้นการถ่ายทอดไวรัสนี้จากสัตว์มาสู่มนุษย์จึงอาจจะเกิดขึ้นที่อื่นก็ได้ ไม่สามารถระบุเจาะจงได้ว่าเป็นที่ตลาดแห่งนี้

ห้องแล็ปไวรัสวิทยาที่อู่ฮั่น

ทั้งพวกผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศและพวกผู้เชี่ยวชาญของจีนต่างสรุปว่า ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ไวรัสนี้รั่วไหลออกมาจากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) ซึ่งเป็นห้องแล็ปที่มีการรวบรวมตัวอย่างไวรัสเอาไว้เป็นจำนวนมาก อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของเขา อยู่ในพวกที่คอยแพร่กระจายทฤษฎีนี้ ซึ่งถูกตอบโต้อย่างทันควันด้วยความโกรธเกรี้ยวจากจีน และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ได้แสดงความสงสัยข้องใจกับทฤษฎีนี้นานแล้ว

ในการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ พวกเขาบอกว่าการรั่วไหลเช่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากสุดๆ และไม่ได้มีหลักฐานใดๆ เลยว่าเมื่อตอนที่โรคระบาดใหญ่นี้เริ่มต้นขึ้นมานั้น มีไวรัสนี้อยู่ในห้องแล็ปแห่งนี้ หรือในห้องแล็ปแห่งใดๆ ไม่ว่าที่ไหนในโลก ทางคณะยังได้ศึกษาทบทวนกระบวนวิธีด้านความปลอดภัยที่สถาบันแห่งนี้ และให้ข้อสรุปว่า “มันไม่น่าเป็นไปได้อย่างมากๆ ที่จะมีอะไรสามารถหลุดออกมาจากสถานที่เช่นนี้ได้” ปีเตอร์ เบน เอ็มบาเรค (Peter Ben Embarek) หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO บอก

สินค้าแช่แข็งจากต่างแดน

การสืบสวนสอบสวนร่วมกันระหว่างคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติของ WHO กับคณะของฝ่ายจีนที่มาร่วมงานด้วย ได้เปิดความเป็นไปได้ประการหนึ่งขึ้นมาโดยที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนชัดเจน นั่นคือ ไวรัสนี้อาจจะแพร่กระจายสู่มนุษย์โดยผ่านพวกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง เรื่องนี้สร้างความเซอร์ไพรซ์ขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากพวกผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศโดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยให้น้ำหนักกับความเสี่ยงในเรื่องนี้

นี่เป็นทฤษฎีซึ่งถูกโปรโมตสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ซึ่งได้ตรวจสอบพบไวรัสนี้บนหีบห่อบรรจุอาหารแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และจับเอาเรื่องนี้มาเสนอแนะว่าไวรัสนี้อาจเข้ามาที่จีนจากต่างแดนก็ได้

แมเรียน คูปแมนส์ (Marion Koopmans) สมาชิกคนหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญของ WHO ชี้ว่า เรื่องนี้ถ้าเป็นความจริง มันก็จะยังไม่ได้ตอบคำถามอยู่ดีว่าไวรัสนี้กำเนิดจากที่ไหน “มันเกิดขึ้นมาจากสายโซ่อุปทานสินค้าแช่แข็ง (cold chain) เองไม่ได้ นั่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้” เธอกล่าวเช่นนี้ขณะอยู่ที่สนามบิน “ไวรัสนี้ต้องมาจากที่ไหนสักแห่ง”

ข้อมูลเชื่อได้แค่ไหน

คณะผู้เชี่ยวชาญชุดนี้ถูกตั้งคำถามอย่างชนิดกัดไม่ปล่อยจากสื่อมวลชนและฝ่ายอื่นๆ ว่า จีนให้เสรีภาพมากน้อยแค่ไหนแก่พวกเขาในการไปเยือนสถานที่ต่างๆ และพูดจากับผู้คนซึ่งพวกเขาต้องการคุยด้วย ปรากฏว่าในตอนท้าย พวกเขาดูเหมือนรู้สึกพอใจกับการจัดเตรียมของฝ่ายจีน อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็มีท่าทีเช่นนั้นในการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เธีย โคเอลเสน ฟิชเชอร์ (Thea Koelsen Fischer) สมาชิกคนหนึ่งในคณะ กล่าวว่า เธอไม่ได้มีโอกาสดูข้อมูลดิบ และต้องอาศัยผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ฝ่ายจีนนำเสนอ แต่เธอก็บอกด้วยว่านี่ก็เป็นวิธีปฏิบัติซึ่งประเทศส่วนใหญ่ทำกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น