เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง “แอมะซอน” เตรียมสละตำแหน่งซีอีโอให้แอนดี แจสซี หัวเรือใหญ่ธุรกิจคลาวด์ในเครือ ช่วงฤดูร้อนปีนี้ โดยผันตัวเองไปเป็นประธานกรรมการบริหาร หลังพาบริษัทกวาดยอดขายไตรมาสส่งท้ายปีที่แล้วทะลุแสนล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก การตัดสินใจนี้ยังส่งสัญญาณว่า แอมะซอนกำลังแปลงร่างจากกิจการผู้ค้าปลีกบนเว็บ สู่บทบาทกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่บนอินเทอร์เน็ตเต็มตัว
เบซอส วัย 57 ปี ได้พลิกธุรกิจแอมะซอน จากการเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์เมื่อ 27 ปีที่แล้วกลายเป็นยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซและหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก โดยเมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.) แอมะซอนรายงานผลประกอบการไตรมาสที่แล้ว (ต.ค.-ธ.ค. 2020) ที่ฟันยอดขายทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก
ผู้ก่อตั้งแอมะซอน ซึ่งทุ่มเทความสนใจให้กับธุรกิจส่วนตัวอื่นๆ มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกาศสละตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) และผันตัวไปเป็นประธานกรรมการบริหาร ในจดหมายถึงพนักงาน ซึ่งเขากล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการบริหาร เขาจะยังคงมีส่วนร่วมกับแผนการริเริ่มใหม่ๆ ของแอมะซอนต่อไป และจะมีเวลาและพลังเหลือเพียงพอสำหรับทุ่มเทให้กับกองทุน เดย์ วัน ฟันด์, เบซอส เอิร์ธ ฟันด์, บลู ออริจิน (บริษัทพัฒนายานอวกาศ), หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ และสิ่งที่สนใจอื่นๆ
เบซอสสำทับว่า ไม่เคยรู้สึกมีพลังเหลือเฟือแบบนี้มาก่อน และย้ำว่า นี่ไม่ใช่การเกษียณตัวเอง
ทางด้านไบรอัน โอลซาฟสกี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของแอมะซอน ยืนยันกับนักวิเคราะห์ว่า เบซอสจะยังคงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อกิจการและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงของแอมะซอนต่อไป
สำหรับแจสซี วัย 53 ปี เรียนจบจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเข้าทำงานกับแอมะซอนในปี 1997 เขาเป็นผู้ก่อตั้งกิจการ “แอมะซอน เว็บ เซอร์วิส” (เอดับเบิลยูเอส) และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นระบบคลาวด์ที่มีผู้ใช้งานนับล้านๆ ในปัจจุบัน
แจสซียังเป็นตัวเก็งสำหรับตำแหน่งสูงสุดของแอมะซอน หลังจากที่มีการกำหนดบทบาทซีอีโอ 2 คนที่ต้องรายงานตรงต่อเบซอสเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยซีอีโออีกคนคือ เจฟฟ์ วิลค์ เกษียณไปเมื่อไม่นานมานี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า แจสซีมีความรู้ความเข้าใจรายละเอียดทางเทคนิคขั้นสูง และนิยมถากถางบริษัทคู่แข่งอย่าง ออราเคิล คอร์ป และไมโครซอฟท์อยู่เป็นประจำ ในขณะที่เบซอสนั้นไม่ค่อยพาดพิงถึงคู่แข่ง
ภายใต้การบริหารของแจสซี แอมะซอนได้เซ็นสัญญาให้บริการคลาวด์กับลูกค้ารายใหญ่มากมาย รวมถึงเวอไรซอน บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของอเมริกา, แมคโดนัลด์ และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่างฮันนีเวลล์ ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพในซิลิกอนแวลลีย์ส่วนใหญ่ล้วนพึ่งพาบริการของเอดับเบิลยูเอส ทำให้รายได้ของธุรกิจในเครือของแอมะซอนแห่งนี้พุ่งขึ้นถึง 37% ในปี 2019 และ 30% ในปี 2020
อย่างไรก็ตาม เอดับเบิลยูเอสพลาดหวังในการคว้าสัญญาสร้างระบบคลาวด์ให้ “เจได” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีขนาดใหญ่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยผู้ได้โครงการนี้ไปคือไมโครซอฟท์
ในวันอังคาร แอมะซอนรายงานผลประกอบการไตรมาสที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่าทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ 125,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 44% จาก 87,400 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็ทำกำไรเพิ่มกว่า 2 เท่าตัวเป็น 7,200 ล้านดอลลาร์ โดยได้อานิสงส์จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ทางด้าน อัลฟาเบ็ต บริษัทแม่ของกูเกิล ซึ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปีที่แล้วในวันอังคารเช่นกัน ก็ได้แรงหนุนส่งจากปรากฏการณ์เดียวกันนี้ โดยระบุว่า กำไร ทะยานขึ้นถึง 50% อยู่ที่ 15,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 57,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 46,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันปี 2019
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)