xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกติดโควิด-19 ทะลุ 100 ล้านคน อังกฤษตายเกินแสน-อิเหนาป่วยพุ่ง 1 ล้าน นำโด่งในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ป่วยโควิด-19 นอนสวมเครื่องช่วยหายใจอยู่ภายในห้องแยกโรค (isolation room) ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองโบกอร์ อินโดนีเซีย
โรคระบาดใหญ่ “โควิด-19” มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งทะลุ 100 ล้านคน ในสัปดาห์นี้ ขณะที่หลายชาติยังประสบปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ไวรัสชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกทวีป ทำให้ประชากรโลกติดเชื้อไปแล้วถึง 1.3% และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2.1 ล้านคน โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 7.7 วินาที ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 668,250 คน และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2.15%

ข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในช่วงสายของวันที่ 28 ม.ค.ตามเวลาในไทย พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 100,850,283 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,173,938 ราย

สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, บราซิล, รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็น 5 ชาติ ที่เผชิญการระบาดหนักที่สุด มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมกันเกินครึ่งของโลก และผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งหมดได้เพิ่มจากหลัก 50 ล้านคนขึ้น มาเป็น 100 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน

ด้วยยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 25.5 ล้านคน สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั่วโลก และยังมีผู้เสียชีวิตราวๆ 1 ใน 5 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกในแต่ละวัน

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งสาบานตนเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พยายามปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 ที่ลุกลามกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเพิกเฉยละเลยคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด และยังคอยยุยงชาวอเมริกันให้เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้อันตรายอย่างที่กลัวกัน

ไบเดน ประกาศในวันอังคาร (26) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 200 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับฉีดให้ชาวอเมริกัน 300 ล้านคน หรือเกือบทั้งประเทศภายในต้นฤดูใบไม้ร่วง และก่อนหน้านั้น ยังออกคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้, บราซิล, อังกฤษ, ไอร์แลนด์ และ 26 ประเทศในยุโรป เดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อสกัดการแพร่เข้ามาของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์โรคระบาดในอเมริกาเลวร้ายลงไปกว่านี้

แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ได้ลงนามคำสั่งให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อโดยสารเครื่องบิน, เรือเฟอร์รี, รถไฟ, รถไฟใต้ดิน, รถประจำทาง, แท็กซี่ รวมถึงยานพาหนะแบบ ride-share โดยจะสามารถถอดมาสก์ได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อจะดื่มหรือรับประทานอาหารเท่านั้น

สหรัฐฯ ยังเริ่มบังคับใช้ข้อกำหนดให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศที่อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบภายใน 3 วันก่อนเดินทาง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าหายป่วยจากโควิด-19 แล้วก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศ

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ก้มหน้านิ่งมองโพเดียม ขณะเปิดแถลงข่าวเพื่ออัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบดาวนิงสตรีท กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.
ทางด้านของยุโรปมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน ทุกๆ 4 วัน ซึ่งทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมตอนนี้ใกล้แตะ 30 ล้านคน

สหราชอาณาจักรสถานการณ์ยังคงย่ำแย่เป็นพิเศษ โดยมีผู้เสียชีวิตสะสมทะลุ 100,000 คน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26) สร้างสถิติคนตายมากกว่าพลเมืองสหราชอาณาจักรที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 และมากกว่าผู้เสียชีวิตในเหตุนาซีทิ้งระเบิดถล่มเกือบทุกเมืองทั้งใหญ่และเล็ก (Blitz) ในปี 1940-1941 ราวๆ เท่าตัว

อังกฤษได้กลับเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. โดยใช้ทั้งมาตรการปิดผับบาร์ ร้านอาหาร ห้างร้านต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็น และสถาบันการศึกษาเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังกำหนดข้อจำกัดด้านการเดินทางเพิ่มเติมด้วย

ล่าสุด รัฐบาลอังกฤษประกาศให้ผู้เดินทางที่เป็นพลเมืองท้องถิ่นต้องกักตัวในโรงแรมใกล้สนามบินนาน 10 วัน หลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศแถบอเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้ ขณะที่ไอร์แลนด์ซึ่งมีพรมแดนติดกับอังกฤษ จะเริ่มบังคับใช้มาตรการกักตัวผู้เดินทางเป็นครั้งแรก และจะขยายมาตรการล็อกดาวน์รอบที่ 3 ไปจนถึงวันที่ 5 มี.ค.

รัฐบาลเยอรมนีอยู่ระหว่างพิจารณาระงับเที่ยวบินเข้าประเทศเกือบทั้งหมด เพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดได้เร็วขึ้นกว่าเชื้อตัวดั้งเดิม

ในฝั่งยุโรปตะวันออก ซึ่งรวมถึงรัสเซีย, โปแลนด์ และยูเครน เวลานี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมกันเกือบ 10% ของโลก

แม้จะทำสัญญาสั่งซื้อตั้งแต่เนิ่นๆ ทว่า หลายประเทศในยุโรปกลับเผชิญปัญหาได้รับวัคซีนล่าช้า ทั้งจาก ไฟเซอร์ อิงค์ และ แอสตราเซเนกา พีแอลซี ซึ่งล่าสุดสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาเตือนว่า อาจจะต้องใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตภายในอียู ในกรณีที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ไม่สามารถผลิตวัคซีนป้อนได้ทันตามจำนวนที่ตกลง

อินเดียซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลกราวๆ 10 ล้านคน เวลานี้มีอัตราการติดเชื้อใหม่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 13,700 คนต่อวัน หรือเพียง 15% ของตัวเลขรายวันที่เคยพุ่งสูงสุดเกือบ 100,000 คน เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (22) ว่า อินเดีย “สามารถพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ” โดยภายใน 1 สัปดาห์แรกที่เริ่มโครงการก็สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรได้มากกว่า 1 ล้านคนแล้ว

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฮ่องกงสวมชุดป้องกันลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายในชุมชนย่านจอร์แดน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา
จีนเพิ่งจะผ่านพ้นวาระครบรอบ 1 ปี ของการประกาศล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น และเวลานี้สถานการณ์โรคระบาดมีแนวโน้มย่ำแย่ลงอีก โดยยอดผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศกลับมาทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ขณะที่ฮ่องกงก็เริ่มใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมือง ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางการเงินและการบินแห่งเอเชีย โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีคำสั่ง “ล็อกดาวน์” เป็นครั้งแรกบริเวณเขตจอร์แดน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยในฝั่งเกาลูน โดยประชาชนราว 10,000 คนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เพื่อรอเจ้าหน้าที่ทำการตรวจคัดกรองโควิด-19 จนครบทุกคน

ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงสามารถควบคุมยอดผู้ติดเชื้อสะสมเอาไว้ที่ระดับต่ำกว่า 10,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเพียงราวๆ 170 คน ทว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เกิดการระบาดระลอกที่ 4 ขึ้น โดยเฉพาะตามชุมชนผู้มีรายได้น้อยแถบเหยาซิมหมง (Yau Tsim Mong) ซึ่งมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานควบคุมโรคแห่งเกาหลีใต้ (KDCA) รายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 559 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง นับจนถึงเที่ยงคืนวันอังคาร (26) ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในแดนโสมขาวเพิ่มเป็น 76,429 คน และเสียชีวิต 1,378 คน ขณะที่รัฐยังตรวจพบพบผู้ติดเชื้อใหม่หลายร้อยคนที่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์โบสถ์และโรงเรียนคริสเตียน ซึ่งทำให้ความหวังที่จะยุติการระบาดระลอกที่ 3 ได้อย่างรวดเร็วยังห่างไกลจากความเป็นจริง

อินโดนีเซียกลายเป็นอีกชาติที่สถานการณ์ยังน่ากังวล โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อยืนยันทะลุ 1 ล้านคน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26) และพบผู้ติดเชื้อรายวันโดยเฉลี่ยเกินกว่า 11,000 คน มานานกว่า 1 สัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 29,000 คน

ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามากที่สุดลำดับต้นๆ ของเอเชีย และมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “ฟิลิปปินส์” เกือบเท่าตัว

ยอดติดเชื้อสะสมในฟิลิปปินส์อยู่ที่ราวๆ 520,000 คน โดยก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมนำหน้าอินโดนีเซียมาตลอด จนกระทั่งถูกแซงในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

นอกจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แล้ว ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสถานการณ์ก็ไม่ค่อยสู้ดีเช่นกัน โดยมาเลเซียนั้นพบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 3,585 คน ในวันอังคาร (26) ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งมาอยู่ที่ประมาณ 194,000 คน ตามมาด้วย พม่าซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสม 138,802 คน, สิงคโปร์ 59,391 คน และไทย 15,465 คน

กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดี (28) ว่า มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมนุม 2 เคสแรก ในรอบเกือบ 2 เดือน โดยหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึงเทศกาลตรุษญวน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนรวมตัวทำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านั้น เวียดนามมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมเพียง 1,551 ราย และเสียชีวิต 35 ราย อันเป็นผลจากมาตรการกักกันโรค การตรวจเชื้อ และติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอย่างเข้มข้น จนทำให้ติด 3 อันดับแรกในผลสำรวจเกี่ยวกับชาติที่รับมือกับโรคระบาดใหญ่ได้ดีที่สุด

แอฟริกามีผู้ป่วยโควิด-19 รวมกันเกือบ 3.5 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 85,000 คน ทว่า กลุ่มประเทศซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเหล่านี้ยังประสบปัญหาในการเข้าถึงวัคซีน อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงจากโควิด-19 กลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ ซึ่งเรียกกันว่า ‘501Y.V2’ โดยเชื้อชนิดใหม่นี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 50% และเวลานี้พบผู้ติดเชื้อแล้วในอย่างน้อย 20 ประเทศ

โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เริ่มขึ้นแล้วในเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก และมีวัคซีนถูกแจกจ่ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 64 ล้านโดส โดยอิสราเอลถือเป็นชาติที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อหัวประชากรสูงสุด คือ มีพลเมืองราว 29% ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส


กำลังโหลดความคิดเห็น