ตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิม จากการเปิดเผยของคณะผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันจันทร์ (18 ม.ค.) แต่ไม่พบหลักฐานว่ามันมีความรุนแรงกว่า
ซาลิม อับดูล คาริม ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา ประธานร่วมของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ระบุว่า สายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิม 50%
อย่างไรก็ตาม เขาบอกต่อว่า “ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตัวกลายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธ์ดั้งเดิม”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ข้อสรุปเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ของโควิด-19 ซึ่งเวลานี้กลายเป็นสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในแอฟริกาใต้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อหลักๆ ทั่วประเทศ
ด้วยมีประชาชนติดเชื้อมากกว่า 1.3 ล้านคน แอฟริกาใต้จึงกลายเป็นชาติที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดในทวีปแอฟริกา เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิต หลังยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 37,105 คน
ตัวเลขดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสระลอกสองกำลังผลักให้ระบบสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ถึงขีดจำกัด
รัฐมนตรีสาธารณสุขระบุในวันจันทร์ (18 ม.ค.) ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 23% แต่ขณะเดียวกันจำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกลับเพิ่มขึ้น 18.3%
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ วาซีลา จาสซัต สมาชิกอีกคนของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ บอกว่าแม้จำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในโรงพยาบาล ยังอยู่ในระดับพอๆกับการแพร่ระบาดระลอกแรก
การพบตัวกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 510Y.V2 โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญแอฟริกาใต้ เป็นตัวโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้ข้อจำกัดใหม่ๆในเดือนธันวาคม เพื่อชะลอการแพร่ระบาด
“โลกประเมินไวรัสนี้ต่ำเกินไป” อเล็กซ์ ซิกาล ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา สมาชิกคณะกรรมการอีกคนกล่าว พร้อมระบุว่ามันกำลังค่อยๆพัฒนาการและปรับตัวเข้ากับมนุษย์
ความกังวลเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้สายการบินบางแห่งจำกัดเที่ยวบินทั้งขาเข้าและออกจากแอฟริกาใต้
ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ บอกว่า วัคซีนโควิด-19 มากกว่า 20 ล้านโดส จะถูกส่งมาถึงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า แต่ทาง อับดูล คาริม ยอมรับไม่เป็นชัดเจนว่า วัคซีนในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่
(ที่มา:เอเอฟพี)