xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดระบาดทั่วยุโรปตะวันออก ประชาชนขาดข้อมูลทำโครงการวัคซีนสะดุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี – ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ แล้ววัคซีนชาติไหนถึงจะดี ท่ามกลางการโต้เถียงทางการเมืองอย่างเผ็ดร้อนและทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดมากมาย ผลสุดท้ายคือโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังไปไม่ถึงไหน

ความเชื่อผิดๆ ว่าไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องหลอกลวง หรือการฉีดวัคซีนจะแอบฝังไมโครชิปไว้ในตัวคน แพร่ระบาดแข่งกับไวรัสในประเทศยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยถูกปกครองด้วยคอมมิวนิสต์

งานศึกษาชิ้นหนึ่งในแถบบอลข่านเตือนว่า ขณะนี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดกับความไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีน ทำให้คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่มีแผนฉีดวัคซีน ขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอื่นๆ ของยุโรปสนับสนุนการฉีดวัคซีน

ตัวอย่างเช่นในเซอร์เบียที่มีประชาชนเพียง 200,000 คนจากทั้งหมด 7 ล้านคน ลงชื่อรับวัคซีนในวันแรกๆ หลังจากรัฐบาลเริ่มต้นโครงการ เทียบกับที่มีถึง 1 ล้านคนขอรับเงินเยียวยาโควิด 100 ยูโร (120 ดอลลาร์) ตั้งแต่วันแรก

เจ้าหน้าที่เซอร์เบียลงทุนฉีดวัคซีนออกทีวี แต่ประชาชนยังเถียงกันอยู่ดีระหว่างวัคซีนตะวันตกของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค กับสปุตนิก 5 ของรัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช รับมอบวัคซีนซิโนฟาร์มของจีน 1 ล้านโดสเมื่อวันเสาร์ (16) พร้อมประกาศว่า จะฉีดวัคซีนตัวนี้เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย

ที่บอสเนียที่ยังคงมีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ระหว่างเซิร์บ บอสเนีย และโครแอตนั้น ดินแดนที่ปกครองโดยเซิร์บเตรียมเลือกวัคซีนรัสเซีย ส่วนดินแดนของบอสเนียและโครแอตมีแนวโน้มยอมรับวัคซีนตะวันตกมากกว่า

โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสระดับโลกชาวเซอร์เบีย ไม่เห็นด้วยกับการบังคับฉีดวัคซีนเพื่อให้สามารถเดินทางไปแข่งขันได้อย่างเสรี แต่ยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ปิดกั้นแนวคิดนี้ ยอโควิชและภรรยาเคยติดโควิดในเดือนมิถุนายนหลังลงแข่งในเกมที่เขาจัดขึ้นเองในบอลข่านโดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งคู่ตั้งมูลนิธิและบริจาคเงิน 1 ล้านยูโร (1.1 ล้านดอลลาร์) เพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ

ขณะเดียวกัน ผลศึกษาของกลุ่มที่ปรึกษาด้านนโยบายของยุโรปที่จัดทำขึ้นในบอลข่านและเผยแพร่ก่อนที่แคมเปญฉีดวัคซีนในภูมิภาคนี้จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม สรุปว่า พลเมืองเกือบ 80% ในประเทศแถบบอลข่านตะวันตกที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เชื่อทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดเกี่ยวกับไวรัส และราวครึ่งหนึ่งจะไม่ฉีดวัคซีน

ทฤษฎีที่ไม่มีมูลเหล่านี้กล่าวหาว่า ไวรัสเป็นเรื่องหลอกลวงหรือเป็นอาวุธชีวภาพของอเมริกาหรือศัตรูของอเมริกา อีกหนึ่งทฤษฎีที่แพร่หลายอย่างมากคือ บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ กำลังใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฝังไมโครชิปประชากรโลก 7,000 ล้านคน

กลุ่มคลังสมองในบอลข่านชี้ว่า การขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสและวัคซีน รวมทั้งความไม่ไว้ใจรัฐบาล และการกล่าวอ้างซ้ำๆ ของทางการว่า ประเทศกำลังถูกต่างชาติปิดล้อม เป็นตัวการทำให้คนมากมายเชื่อทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด

สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในบางประเทศอียูทางด้านตะวันออกเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น บัลแกเรีย ที่มีทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่โยงกับความพยายามในการฉีดวัคซีนรับมือการระบาดของโรคหัดในอดีต ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากยังคงไม่ไว้ใจวัคซีน โพลล์ล่าสุดของแกลลัป อินเตอร์เนชันแนลพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 30% ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด, 46% ไม่ยอมฉีด และ 24% ยังไม่ตัดสินใจ

ที่สาธารณรัฐเช็ก ประชาชน 40% ปฏิเสธการฉีดวัคซีน และมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านมาตรการจำกัดเพื่อควบคุมโรคระบาด รวมทั้งเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลบังคับประชาชนฉีดวัคซีน โดยอดีตประธานาธิบดีวาคลาฟ เคลาส์ ประกาศต่อฝูงชนว่า วัคซีนไม่ใช่ทางออก และเขาสนับสนุนแนวคิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยปล่อยให้ประชาชนติดไวรัส

ตรงข้ามกับดร.ไอวิกา เจเรมิก ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดในเซอร์เบียมาตั้งแต่เดือนมีนาคมและเคยติดเชื้อเองในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคาดหวังว่า โครงการวัคซีนจะรุดหน้าอย่างรวดเร็วหลังจากประชาชนเอาชนะความกลัวจากการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และตระหนักว่า มีเพียงวัคซีนเท่านั้นที่จะทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น