xs
xsm
sm
md
lg

พิเคราะห์‘พอมเพโอ’ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯที่ยังเที่ยวอาละวาดไม่เลิก ใส่พวกชาติซึ่งเขาหมายหัว

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


(ภาพจากแฟ้ม) ไมค์ พอมเพโอ ยังคงออกฤทธิ์ออกเดชเที่ยวเล่นงานประเทศที่เขาหมายหัว  ถึงแม้เหลืออีกไม่กี่วันเขาก็ต้องพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Is Pompeo the last gasp of US imperial power?
By MK BHADRAKUMAR
11/01/2021

แม้เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ก็จะต้องพ้นตำแหน่งตามการหมดวาระของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่นักการเมืองผู้รับใช้ใกล้ชิดอาณาจักรธุรกิจพี่น้องตระกูลโคค แห่งเมืองวิชิตา รัฐแคนซัส คนนี้ ก็ยังคงออกฤทธิ์ออกเดชอาละวาดใส่พวกชาติที่เขาเห็นเป็นปรปักษ์ ไม่ว่าจะเป็น จีน, อิหร่าน, เวเนซุเอลา, คิวบา, หรือกระทั่งเวียดนาม แต่พฤติกรรมเช่นนี้นอกจากมีผลในทางก่อกวนสร้างความลำบากยุ่งยากให้แก่คณะบริหารชุดต่อไปของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แล้ว มันก็ไม่ได้มีผลอะไรในระยะยาว ชวนให้ระลึกเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าในตำนานที่ว่า จักรพรรดิเนโรของจักรวรรดิโรมัน ยังคงสีซอด้วยความเพลิดเพลิน ขณะที่พระเพลิงกำลังเผาผลาญกรุงโรม

ความต้องการที่จะแก้ตัวหลังจากที่เคยพลาดพลั้ง เป็นกระบวนการซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ความเสื่อมทรุดของอภิมหาอำนาจหนึ่งๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะเร่งตัว ทว่ามหาอำนาจจักรวรรดินิยมทั้งหลายย่อมพบว่ามันเป็นเรื่องยากเย็นเสียจริงๆ ในการเรียนรู้ว่าตนเองได้เปลี่ยนฐานะกลายเป็นแค่ประเทศ “ธรรมดาสามัญ” เสียแล้ว ความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้สามารถที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์อันเจ็บปวดชนิดสร้างบาดแผลทางจิตใจขึ้นมา

การที่จักรวรรดิโรมถูกปล้นชิงเก็บกวาดทรัพย์สมบัติโดยกองทัพของพวกวิซิกอท (Visigoth) ที่เป็นชาวชนเผ่าอนารยชนทางภาคเหนือของยุโรป นำโดยผู้นำทางทหารซึ่งมีชื่อว่า อาลาริก (Alaric) เมื่อ 1,610 ปีก่อน คือตัวอย่างหนึ่งของเหตุการณ์เช่นว่านี้ ขณะที่วิกฤตการณ์คลองสุเอซปี 1956 (Suez crisis of 1956) [1] คืออีกตัวอย่างหนึ่ง

ความพยายามที่จะแก้มือของอเมริกาก็ทำท่าจะต้องประสบกับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง และถูกหยามหมิ่นให้ได้รับความอับอาย ถ้าหากไม่เริ่มต้นทำอะไรให้ถูกต้องตรงไปตรงมา กระนั้น ยังคงไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกชนชั้นนำในกรุงวอชิงตันยอมรับแล้วว่า ศักยภาพของสหรัฐฯในการบังคับให้ประชาคมโลกต้องทำตามความต้องการความปรารถนาของตนนั้น กำลังแห้งเหือดระเหยหายไปอย่างรวดเร็วแล้ว

เพียงแต่เหลือบตามองผ่านๆ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (https://www.state.gov/) กิจกรรมซี่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ กระทำในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ชวนให้เราหวนย้อนระลึกเปรียบเทียบไปถึงเมื่อตอนที่ จักรพรรดิเนโรยังคงสีซออย่างเพลิดเพลิน ขณะที่พระเพลิงกำลังเผาผลาญกรุงโรม

ทั้งนี้ กิจกรรมเหล่านี้ของพอมเพโอ ได้แก่:
*ลงโทษคว่ำบาตร บังโก ฟินันเซียโร อินเตอร์นะซิอองนัล เอสเอ (Banco Financiero Internacional SA) ธนาคารพาณิชย์ของคิวบา เนื่องจากผลกำไรของแบงก์แห่งนี้มาจาก “ผลประโยชน์ซึ่งได้จากฝ่ายทหารคิวบา อย่างชนิดไม่ได้สัดส่วนกับที่ได้จากพวกผู้ประกอบการอิสระชาวคิวบา” (วันที่ 1 มกราคม 2021)
*เขียนบทความว่าด้วย “การสร้างสมอาวุธนิวเคลียร์อย่างคลุมเครือและอย่างเป็นภัยคุกคาม” ของประเทศจีน (4 มกราคม)
*ลงโทษคว่ำบาตร 17 บริษัทและ 1 บุคคล ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลหะของอิหร่าน โดยรายรับจากอุตสาหกรรมนี้ถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับ “กิจกรรมสั่นคลอนเสียรภาพต่างๆ ตลอดทั่วทั้งโลก” ของอิหร่าน (5 มกราคม)
*บังคับบงการไปถึงกรุงการากัส ว่า ฮวน กุยโด (Juan Guaidó) จะยังคงเป็นประมุขแห่งรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมายของเวเนซุเอลาต่อไป ถึงแม้มีการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) กันใหม่แล้ว [2] (5 มกราคม)
*ข่มขู่จีนว่าจะเจอการถูกลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มเติม รวมทั้ง “การถูกจำกัดอย่างอื่นๆ” ถ้าหาก “พวกนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย” ในฮ่องกง “ไม่ได้รับการปล่อยตัวในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข” (6 มกราคม)
*ประณามฮานอยที่พิจารณาตัดสินนักหนังสือพิมพ์ 3 คนว่ามีความผิดและลงโทษพวกเขา โดยระบุว่า เวียดนามกำลังเกิด “แนวโน้มซึ่งสร้างความกังวลใจในอัตราเร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเข้าจับกุมและเอาผิดพลเมืองชาวเวียดนามซึ่งกำลังใช้สิทธิต่างๆ ตามที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของเวียดนาม” พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องว่านักหนังสือพิมพ์เหล่านี้จะต้อง “ได้รับการปล่อยตัวในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข” และต้องอนุญาตให้ประชาชนชาวเวียดนาม “แสดงทัศนะความคิดเห็นของพวกเขาได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวเกรงว่าจะถูกตอบโต้แก้เผ็ด” (วันที่ 7 มกราคม)
*ประกาศชื่อให้ ฟาลิห์ อัล-ฟายยัต (Falih al-Fayyadh) ประธานของคณะกรรมการปลุกระดมประชาชนชาวอิรัก (Iraqi Popular Mobilization Commission) รวมทั้งเป็นอดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของนายกรัฐมนตรีอิรัก เป็นผู้ถูกลงโทษตามกฎหมายของสหรัฐฯฉบับซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “รัฐบัญญัติแมกนิตสกี้เพื่อการไล่เรียงเอาผิดทางด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทั่วโลก (Global Magnitsky Human Rights Accountability Act) (วันที่ 8 มกราคม)
*ประกาศให้มาตรการข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวงในความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีกับไต้หวัน ( “บรรดาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการติดต่อกับไต้หวัน” ของสหรัฐฯที่กำลังมีผลบังคับใช้กันอยู่) เป็นโมฆะทั้งหมด (วันที่ 9 มกราคม)
*ประณามกฎหมายที่กำลังพิจารณากันในรัฐสภาอิหร่าน ซึ่งให้ขับไล่พวกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบนิวเคลียร์ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ใช้อักษรย่อว่า IAEA) ออกจากอิหร่าน ถ้ามาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหมดของสหรัฐฯยังคงไม่ถูกยกเลิก (วันที่ 9 มกราคม)

พอมเพโอกำลังแสดงบทบาทอย่างคลั่งไคล้ใหลหลงในช่วงวันท้ายๆ ของเขาที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บางทียังอาจจะมีขีปนาวุธทำนองเดียวกันนี้อีกหลายๆ ลูกถูกเขายิงออกมาแล้วและกำลังอยู่ระหว่างทางพุ่งสู่เป้าหมายก็เป็นได้ แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่พอมเพโอกระทำเหล่านี้ คือการที่เขากำลังวาดภาพลักษณ์ของสหรัฐฯให้ออกมาเป็นประเทศที่ทำสิ่งต่างๆ อย่างบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน ราวกับเป็นยักษ์ใหญ่ผู้แสนสะเพร่างุ่มง่ามซึ่งต่อไม่ติดเสียแล้วกับสภาพความเป็นจริง

นักใช้เล่ห์กลทางการเมือง

พฤติกรรมของพอมเพโอ มีแต่จะเป็นการสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่คณะบริหารที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เท่านั้น ยังมีใครอีกหรือที่คอยติดตามเอาใจใส่ความเสียหายซึ่งพอมเพโอจะสามารถก่อให้เกิดขึ้นแก่ผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯ?

ในความคิดเห็นของชาวอเมริกันนั้น โดยทั่วไปมีความโน้มเอียงที่จะพิจารณาเห็นว่าเขาเป็นนักใช้เล่ห์กลทางการเมือง (political operator) และเป็นนักไต่เต้าทางการเมือง ตลอดจนเป็นเด็กรับใช้คนหนึ่งของพี่น้องตระกูลโคค (Koch brothers) “เดอะ เนชั่น” [3] ได้พูดถึงพอมเพโอ ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2018 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “The Koch Brothers Get Their Very Own Secretary of State” (พี่น้องตระกูลโคคได้รมต.ต่างประเทศที่เป็นของพวกเขาเองจริงๆ) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thenation.com/article/archive/the-koch-brothers-get-their-very-own-secretary-of-state/) ดังนี้:

“พอมเพโอเป็นหนึ่งในบุคคลทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้มากที่สุด ในนครที่มีความขัดแย้งอยู่เสมออย่างกรุงวอชิงตัน (เขามีชื่อเสียงเช่นนี้) มาอย่างยาวนานแล้ว ทั้งนี้คงต้องขอบคุณความผูกพันซึ่งเขามีอยู่กับอาณาจักรธุรกิจระดับโลกแห่งนั้นที่อยู่ในการควบคุมของเอกชนและดำเนินงานอย่างเป็นความลับ (โดยที่อาณาจักรธุรกิจแห่งนี้) ได้แสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดในความก้าวหน้าทางอาชีพการงานในทางการเมืองของเขา

“พอมเพโอก็มาจากเมืองวิชิตา (Wichita) รัฐแคนซัส แห่งเดียวกันนั่นเอง มันเป็นประชาคมทางธุรกิจซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจด้านน้ำมันและแก๊สของตระกูลโคค แท้ที่จริงแล้วในอดีตที่ผ่านมา พอมเพโอสร้างบริษัทของตัวเขาเองขึ้น ก็โดยอาศัยเงินก้นถุงที่ได้รับจาก โคค เวนเจอร์ แคปิตอล (Koch Venture Capital)”

หลังจาก เดอะ เนชั่น แล้ว ยังมี ซูซาน กลาสเซอร์ (Susan Glasser) ของนิตยสาร เดอะ นิวยอร์กเกอร์ (The New Yorker) ได้เขียนบทความอันแสนมหัศจรรย์พูดถึงโปรไฟล์ของพอมเพโอ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.newyorker.com/magazine/2019/08/26/mike-pompeo-the-secretary-of-trump) ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกเขาให้เข้าแทนที่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กลาสเซอร์ได้สืบสาวตามรอยการเดินทางที่น่าตื่นใจของของพอมเพโอ ตั้งแต่ที่เป็นผู้ประกาศตัวเองเป็นฝ่ายหัวคิดก้าวหน้า แล้วเปลี่ยนไปเป็นนักเคลื่อนไหวกลุ่มทีปาร์ตี้ (Tea Party) ในพรรครีพับลิกัน และสุดท้ายก็จบลงด้วยการแสดงตนเป็นผู้มีความกระตือรือร้นแรงกล้าในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในแถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯ

แบบแผนของการที่พอมเพโอพร้อมคล้อยตามเชื่อฟังพวกผู้ให้ผลประโยชน์ทางการเมืองแก่เขา ทำให้เขาดูโดดเด่นในด้านความหนักแน่นมั่นคงสำหรับประธานาธิบดีที่ช่างหลงตัวเองเสียเหลือเกิน กลาสเซอร์ได้อ้างอิงอดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งเล่าให้เธอฟังว่า “เขา (พอมเพโอ) เหมือนกับขีปนาวุธไล่ติดตามความร้อน ที่พร้อมเข้าเสียบรูทวารหนักของทรัมป์” ไม่ต้องสงสัยเลย พอมเพโออยู่ในหมู่ผู้คนช่างเลียแข้งเลียขาที่สุดและช่างประสบสอพลอที่สุดซึ่งอยู่รอบๆ ตัวทรัมป์

แต่สุนัขทุกๆ ตัวย่อมต้องมีวันของมันเองกันบ้าง และจากการที่ผู้เป็นประธานาธิบดีเอาแต่วิตกครุ่นคิดอย่างเศร้าสร้อยอยู่ในทำเนียบขาวโดยไม่ได้สนอกสนใจอะไรอย่างอื่น พอมเพโอก็ดูเหมือนจะคิดว่าวันของเขามาถึงแล้ว ทั้งนี้เขาดูเหมือนกำลังพยายามผลักดันสิ่งที่เป็นวาระส่วนตัวของเขา เพื่อให้เป็นที่ต้องตาของท่านผู้ชมซึ่งเป็นเป้าหมายของเขาในอเมริกา

ในข้อเขียนของกลาสเซอร์ ได้เขียนถึงการคิดการณ์ใหญ่ของเขาเอาไว้ว่า:

“พอมเพโอเป็นผู้ที่คำนึงถึงเรื่องการเมืองมากยิ่งกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในระยะหลังๆ มานี้ไม่ว่าคนไหนก็ตาม โดยบางทีอาจจะมีกรณียกเว้นก็เฉพาะ ฮิลลารี คลินตัน ในบางแง่บางมุมแล้ว เขาปฏิบัติต่องานนี้เสมือนกับเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต โดยกำลังเป็นเจ้าภาพต้อนรับพวกนักยุทธศาสตร์ของรีพับลิกันอย่างเช่น คาร์ล โรฟ (Karl Rove) และพวกผู้อุปถัมภ์ที่มั่งคั่งร่ำรวย อย่างเช่น อดีตซีอีโอโกลด์แมนแซคส์ ลอยด์ แบล็งเฟน (Lloyd Blankfein) ในรายการเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดขึ้นเป็นประจำ โดยใช้ชื่อว่า “แมดิสัน ดินเนอร์ส” (Madison Dinners) ตามนามของ (เจมส์ แมดิสัน James Madison) รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 5 ของสหรัฐฯ (ซึ่งในเวลาต่อมาก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐฯ) ...

“งานเลี้ยงดินเนอร์นี้ผู้ทำหน้าที่ดูแลติดต่อประสานงานคือ ซูซาน ภรรยาของพอมเพโอ ซึ่งเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ กับเขาอยู่บ่อยครั้ง และจากการที่เธอมีข้อเรียกร้องที่ผิดปกติธรรมดา ทำให้เวลานี้เธอกำลังถูกสอบสวนจากพวกเดโมแครตในรัฐสภา หลังจากมีผู้แฉเบาะแสไม่ชอบมาพากลภายในหน่วยงาน (whistleblower) ผู้หนึ่งออกมาร้องเรียนว่า สามีภรรยาคู่นี้กำลังใช้ทรัพยากรต่างๆ ของรัฐบาลอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม และกำลังสั่งการพวกทีมงานรักษาความปลอดภัยให้แก่พอมเพโอตามใจชอบ เสมือนกับว่า กำลังใช้ “บริการสั่งซื้ออาหาร ‘อูเบอร์อีทส์ (UberEats) ที่มีการพกปืนด้วย’”

‘ศัตรูตัวใหญ่ที่สุด’

จริงทีเดียว การที่พอมเพโอทุ่มเทความสนใจเป็นห่วงเป็นใยภาพลักษณ์ทางการเมืองของเขา ดูเหมือนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมแบบที่ถูกนำมาแฉ โดยที่เขากำลังวาดภาพให้ตัวเองเป็นนักชาตินิยมห้าวเป้ง ซึ่งเชื่ออย่างจริงใจในเรื่องจะต้องทำให้คริสต์ศตวรรษนี้กลายเป็น “ศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (New American Century)

ทว่าพอมเพโอก็เป็นคนฉลาดคนหนึ่ง เขาจัดแจงหลบฉากได้อย่างประณีตบรรจง ไม่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันด้วย ในเรื่องที่ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน มีคำชี้แนะไปถึงพวกเจ้าหน้าที่ของเขา “ให้พัฒนาระบบอาวุธนิวเคลียร์ติดหัวรบได้หลายๆ หัวรบที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาพวกขีปนาวุธนิวเคลียร์ยิงจากใต้น้ำ, ดาวเทียมสปายสายลับ, และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2021/01/09/asia/north-korea-nuclear-development-intl-hnk/index.html)

นอกจากนั้นพอมเพโอยังบ่ายเบี่ยงทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นการที่ผู้นำคิมพูดถึงสหรัฐฯว่า เป็น “ศัตรูตัวใหญ่ที่สุด” ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ในคำปราศรัยที่เขากล่าวต่อการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี (Workers’ Party of Korea) ที่กรุงเปียงยาง เมื่อวันที่ 5 มกราคม แน่นอนทีเดียว เขาจะไม่เข้าร่วมวงในการเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับคิม ซึ่งในบางช่วงบางเวลาได้ถูกกล่าวขานว่าเป็นถ้วยรางวัลแห่งความสำเร็จทางด้านนโยบายการต่างประเทศใบใหญ่ที่สุดของทรัมป์ มิตรไมตรีระหว่างพอมเพโอกับคิม ในความเป็นจริงแล้วมันก็เป็นเพียงการเสแสร้างแกล้งทำอีกอย่างหนึ่งของพอมเพโอเท่านั้น

แต่พอมเพโอสะดุดขาตัวเองอย่างแรง จากการปากพล่อยวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้นำคอมมิวนิสต์ในฮานอย บางทีเขาคงไม่ได้ตระหนักเลยว่า ด้วยการออกคำแถลงใช้วาจาแสบร้อนเช่นนี้ต่อประเทศอาเซียนทรงอิทธิพลรายหนึ่งซึ่งกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคอีกด้วย เขาก็รังแต่จะดึงลากความสนอกสนใจมายังความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของโปรเจ็กต์ชื่นชอบส่วนตัวของเขาเอง ในความพยายามโน้มน้าวชักชวนเวียดนามให้เข้าร่วมใน “กลุ่มคว็อด” และเข้าร่วมในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่นำโดยสหรัฐฯ (พอมเพโอกระทั่งวิ่งเต้นออกแรงเดินทางไปเยือนกรุงฮานอยในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อติดตามผลในเรื่องเหล่านี้ด้วยซ้ำ ทว่าดูเหมือนเขาจะถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย)

คำแถลงต่อสื่อมวลชนของพอมเพโอเมื่อวันที่ 9 มกราคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/iran-threatening-to-expel-un-investigators/#:~:text=In%20December%20Iran's%20parliament%20passed,unless%20all%20sanctions%20are%20lifted.&text=Violating%20those%20obligations%20would%20thus,with%20its%20JCPOA%20nuclear%20commitments.) ว่าด้วยเรื่อง “อิหร่านกำลังคุกคามที่จะขับไล่คณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของยูเอ็น” ก็กำลังกลายเป็นกรณีศึกษาไปอีกกรณีหนึ่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิหร่านได้แสดงท่าทีท้าทายในเชิงยุทธศาสตร์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเลย มันคือการเน้นย้ำให้เห็นว่าเตะหรานได้โยนทิ้ง “บัญญัติ 12 ประการ” (Twelve Commandments) [4] อันมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ของพอมเพโอ (โดยที่ บัญญัติ 12 ประการดังกล่าว คือการที่เขาประกาศยื่นคำขาดต่อคณะผู้นำอิหร่าน ระหว่างไปกล่าวปราศรัยที่มูลนิธิเฮอริเทจ ฟาวน์เดชั่น Heritage Foundation กลุ่มคลังสมองสายอนุรักษนิยมจัด ใน วอชิงตัน ดีซี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018) ตรงเข้าไปในถังขยะ

เป็นสิ่งที่น่าสนใจทีเดียว เวลานี้พอมเพโอไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่ต้องการข่มขู่คุกคามอิหร่านอีกต่อไปแล้ว ตรงกันข้ามเขากลับเตือนเตหะรานให้ระลึกว่า “อิหร่านมีความผูกพันทางกฎหมายตามสนธิสัญญา ที่จะต้องอนุญาตให้คณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของ IAEA (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ) เข้าถึงเพื่อติดตามว่าอิหร่านมีการปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อการป้องกันต่าง ๆ ซึ่งกำหนดเอาไว้สำหรับการดำเนินการให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ การละเมิดความผูกพันเหล่านี้ย่อมหมายความถึงการก้าวออกไปไกลยิ่งกว่าการกระทำต่างๆ ในอดีตของอิหร่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับพันธะความผูกพันทางนิวเคลียร์ตามข้อตกลง JCPOA ของอิหร่าน”

นี่พอมเพโอกำลังกลับมารบเร้าให้เตหะรานต้องยึดมั่นปฏิบัติตาม JCPOA! กงล้อกำลังหมุนกลับมาจนครบวงอย่างสมบูรณ์แล้ว [5]

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย

หมายเหตุผู้แปล
[1]วิกฤตการณ์คลองสุเอซปี 1956 (Suez crisis of 1956) เปิดฉากด้วยการที่อิสราเอลเข้ารุกรานอียิปต์เมื่อปลายปี 1956 และจากนั้นอังกฤษกับฝรั่งเศสก็ติดตามา จุดมุ่งหมายของพวกเขาก็คือเพื่อให้ฝ่ายตะวันตกกลับเข้าควบคุมคลองสุเอซ และโค่นประธานาธิบดีกามัล อับเดล นัสเซอร์ ของอียิปต์ให้ตกจากอำนาจ โดยที่นัสเซอร์ประกาศโอนคลองขุดสำคัญยิ่งแห่งนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์แห่งชาติของอียิปต์ หลังจากการสู้รบเริ่มต้นขึ้นมาแล้ว แรงกดดันบีบคั้นทางการเมืองจากสหรัฐฯ, สหภาพโซเวียต, และสหประชาชาติ ก็ได้ทำให้ผู้รุกรานทั้ง 3 รายนี้ต้องถอนทหารออกไป เหตุการณ์นี้สร้างความอับอายเสื่อมเสียให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ขณะที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะของนัสเซอร์ ทั้งนี้ เห็นกันว่าจากวิกฤตการณ์คราวนั้นทำให้ฐานะความเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมของอังกฤษและฝรั่งเศส –โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ-- ซึ่งเสื่อมโทรมมากอยู่แล้วจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งถดถอยหนัก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Suez_Crisis)

[2] ฐานะความเป็นประมุขแห่งรัฐเวเนซุเอลา ของ ฮวน กุยโด เดิมที กุยโด เป็นประธานของสมัชชาแห่งชาติของเวเนซุเอลา แต่ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2018 ซึ่งถูกกล่าวหาโจมตีอย่างกว้างขวางว่าประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ใช้กลโกงทุจริตต่างๆ เพื่อรักษาเก้าอี้ ครั้นเมื่อมาดูโรสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สอง สมัชชาแห่งชาติซึ่งฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากอยู่ จึงประกาศว่ามาดูโรเป็น “ผู้แย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี” แล้วอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งให้กุยโดเข้าเป็นประธานาธิบดีรักษาการ โดยที่สหรัฐฯและชาติตะวันตกพากันให้การรับรอง ขณะที่จีน, รัสเซีย, คิวบา ตลอดจนสหประชาชาติ ให้การรับรองมาดูโร ต่อมาในเดือนธันวาคม 2020 เวเนซุเอลาจัดการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติกันใหม่ โดยที่กุยโดและฝ่ายค้านคนอื่นๆ พากันคว่ำบาตรไม่เข้าร่วม ทำให้พวกผู้สนับสนุนมาดูโรกวาดชัยชนะไป ถึงแม้การเลือกตั้งนี้ถูกกล่าวหาโจมตีว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ก็ทำให้บางฝ่ายโดยที่สำคัญแล้วคือสหภาพยุโรปเปลี่ยนท่าที ทั้งนี้เวลานี้แม้อียูเห็นด้วยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเต็มไปด้วยความทุจริตและไม่ยอมรับผลที่ออกมา แต่ก็ไม่เรียกกุยโดเป็นประธานาธิบดีรักษาการอีกต่อไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Venezuelan_presidential_crisis , https://www.reuters.com/article/us-venezuela-election-eu-idUSKBN29B2A9, และhttps://edition.cnn.com/2021/01/14/americas/venezuela-revolution-guaid-analysis-intl/index.html)

[3]เดอะเนชั่น (The Nation) เป็นนิตยสารรายสัปดาห์เก่าแก่ในสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Nation)

[4]บัญญัติ 12 ประการ (Twelve Commandments) ของพอมเพโอ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.com/news/2018/5/21/mike-pompeo-speech-what-are-the-12-demands-given-to-iran)

[5] JCPOA ย่อมาจาก Joint Comprehensive Plan of Action แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม หรือที่นิยมเรียกกันว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เป็น ข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่ทำกันระหว่างอิหร่าน กับ P5+1 (ซึ่งหมายถึง 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อันได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน บวกกับอีก 1 คือเยอรมนี) และสหภาพยุโรป สาระสำคัญของข้อตกลงนี้ได้แก่อิหร่านจะยอมชะลอและระงับกิจกรรมต่างๆ ทางนิวเคลียร์ของตน แลกเปลี่ยนกับการที่นานาชาติจะยุติการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ดี เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็ได้ประณามโจมตี JCPOA รวมทั้งนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงฉบับนี้ ทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการไม่ทำตามพันธะหลายๆ ประการตาม JCPOA บ้าง ดังนั้น การที่เวลานี้พอมเพโอกลับมาเรียกร้องเตหะรานให้ต้องเคารพปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับซึ่งสหรัฐฯเองคือผู้ละเมิดตั้งแต่แรก จึงทำให้ผู้สังเกตการณ์เห็นเป็นความย้อนแย้งที่น่าละอาย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Joint_Comprehensive_Plan_of_Action)

(ภาพจากแฟ้ม) รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยาง สนทนากับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ที่อาคารรับรองแขกเมืองในนครหลวงของโสมแดง
กำลังโหลดความคิดเห็น