ไม่มีตำรวจรายใดที่จะถูกตั้งข้อหาในเหตุรัวยิงนายจาค็อบ เบลค ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เข้ากลางหลังระหว่างการควบคุมตัว ทำให้เขาเป็นอัมพาต ในเหตุการณ์ซึ่งโหมกระพือความไม่สงบในเมืองเคโนชา รัฐวิสคอนซิน ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน จากการแถลงของอัยการเมื่อวันอังคาร (5 ม.ค.)
ไมเคล กราเวลีย์ อัยการเขตเคโนชา เคาน์ตี ระบุว่า รัสเต็น เชสกี ตำรวจผิวขาว มีข้ออ้างอย่างสมเหตุสมผลด้วยเกรงว่าจะถูกแทงตอนที่เขาตัดสินใจลงมือยิง เบลค หลายนัดเข้ากลางหลัง ในระหว่างที่เบลคพยายามเข้าไปในรถ
กราเวลีย์ บอกว่า มันเป็นการตัดสินใจที่แคบมากๆ แต่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในกรณีที่ตำรวจพัวพันกับเหตุยิงกัน พร้อมระบุว่ามันเป็นเรื่องยากลำบากมากๆ สำหรับอัยการรัฐที่จะพิสูจน์ว่า เชสกี ไม่ได้กำลังจะป้องกันตนเอง หากว่าเชสกีหรือเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ถูกตั้งข้อหาในคดีนี้
“ไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของโคโนชาในคดีนี้จะถูกตั้งข้อหาในความผิดทางอาญาใดๆ บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของกฎหมาย” กราเวลีย์กล่าว
เหตุรัวยิงชายผิวสีวัย 29 ปี ในรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เสมือนเป็นการราดน้ำมันใส่เปลวไฟที่กำลังลุกไหม้ เนื่องจากมันเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนทั่วประเทศกำลังโกรธแค้นต่อเหตุตำรวงยิงชาวอเมริกันผิวดำเสียชีวิตไปหลายราย จุดชนวนการประท้วงรุนแรงหลายวัน
คลิปที่ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เป็นภาพขณะที่ตำรวจ 2 นายถือปืนเล็งไปที่ เบลค ระหว่างที่เขากำลังเดินตรงไปที่รถ แต่เมื่อ เบลค เปิดประตูรถฝั่งคนขับ แล้วกำลังจะเข้าไป ตำรวจนายหนึ่งก็ดึงเสื้อเขาจากด้านหลัง ก่อนรัวยิง โดยมีเสียงปืนดังขึ้นถึง 7 ครั้ง ท่ามกลางความตกใจของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยหลายคนกรีดร้องออกมาเพราะไม่คิดว่าตำรวจจะยิง
เบลค รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ แต่ต้องกลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถใช้ขาทั้งสองข้างได้
กราเวลีย์ ระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่มีเหตุผลว่า เบลค อันตราย ตามข้อมูลจากสายโทรศัพท์ของคู่หมั้นผู้ห่างเหินของเขา ที่โทร.แจ้ง 911 ขอให้เจ้าหน้าที่ไปจุดเกิดเหตุ รวมถึงกรณีที่ เบลค มีหมายจับตามข้อหากระทำรุนแรงในครอบครัว แม้ เบลค บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าเขาต้องการไปให้พ้นจากจุดเกิดเหตุ และมีลูกๆ 3 คนอยู่ในรถ
อัยการเขตรายนี้เปิดเผยด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่ใช้ความพยายามถึง 3 ครั้งในการช็อตไฟฟ้าทำให้ เบลค สงบลง แต่ทั้งหมดประสบความล้มเหลว
กราเวลีย์ ระบุต่อว่า มิอาจโต้แย้งได้ว่า เบลค ถือมีดตอนเผชิญหน้ากับตำรวจ และตัวเบลคเองก็ยอมรับ
อย่างไรก็ตาม อัยการเขตระบุว่า ตัวของเบลคจะไม่ถูกตั้งข้อหาทางอาญาใดๆ ในเหตุการณ์นี้เช่นกัน
เหตุรัวยิงดังกล่าว โหมกระพือให้เกิดการประท้วงรุนแรง 3 คืนติด ซึ่งสิ้นสุดในคืนวันที่ 25 สิงหาคม โดยระหว่างนั้นได้เกิดเหตุ ไคล์ ริตเทาเฮาส์ เด็กหนุ่มผิวขาว ใช้อาวุธปืนยิงผู้ประท้วงเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 1 คน
คดีของเบลค ถูุกลากเข้าสู่การชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างโจ ไบเดน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ โดย ไบเดน ส่งเสียงสนับสนุนครอบครัวของเบลค และคว่ำครวญการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบในบรรดาเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ส่วน ทรัมป์ เลือกยืนอยู่ข้างตำรวจ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และริตเทาเฮาส์
(ที่มา : เอเอฟพี)