ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกเพิ่มจำนวนแตะหลัก 80 ล้านคนในสัปดาห์นี้ โดยล่าสุดมีรายงานการพบผู้ป่วยใน “แอนตาร์กติกา” ซึ่งหมายความว่าไม่เหลือทวีปใดๆ เลยในโลกที่รอดจากวิกฤตโรคระบาดใหญ่คราวนี้ ขณะเดียวกันก็มีการพบ “เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์” แพร่ระบาดหนักในอังกฤษ ซึ่งทำให้หลายชาติหันมาใช้มาตรการปิดพรมแดนไม่ต้อนรับผู้ที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยันการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่าวัคซีนที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรับมือได้
ข่าวการค้นพบไวรัสกลายพันธุ์ได้สร้างความตื่นตระหนก และทำให้กว่า 20 ประเทศตัดสินใจแบนเที่ยวบินและนักเดินทางจากเมืองผู้ดี ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะสร้างความสับสนอลหม่านไม่น้อยในช่วงเทศกาลวันหยุดคริสต์มาสและปีใหม่
ฝรั่งเศสได้สั่งปิดชายแดนกับสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 48 ชั่วโมงตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ (20) ก่อนที่จะคลายล็อกในวันพุธ (23) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) เสนอให้ผู้ที่ประสงค์จะข้ามแดนต้องผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
“การแบนเที่ยวบินและรถไฟจากอังกฤษควรจะยุติลง เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง และหลีกเลี่ยงผลกระทบในด้านการขนส่งสินค้าต่างๆ” สหภาพยุโรประบุ
คำสั่งปิดพรมแดนของฝรั่งเศสทำให้มีขบวนรถบรรทุกขนส่งสินค้าจอดนิ่งเป็นแถวยาวเหยียดในภาคใต้ของอังกฤษ ขณะที่ชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งเริ่มวางเปล่าไม่กี่วันก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาส
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยกเลิกคำสั่งแบนผู้เดินทางจากอังกฤษเช่นกันในวันพุธ (23) แต่มีข้อแม้ว่าผู้โดยสารทุกคน แม้แต่พลเมืองอียูเอง จะต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบจึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้
ทางด้านเยอรมนีได้ประกาศห้ามผู้เดินทางสหราชอาณาจักรเข้าประเทศจนถึงวันที่ 6 ม.ค. ปีหน้า รวมถึงผู้เดินทางจาก “แอฟริกาใต้” ซึ่งมีการพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์แล้วเช่นกัน
เยน สปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี ระบุว่า รัฐบาลเบอร์ลินจะพยายามป้องกัน “ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ไม่ให้โควิด-19 กลายพันธุ์เข้ามาระบาดในยุโรปภาคพื้นทวีป
วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคจะถูกนำมาใช้งานในสหภาพยุโรปตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 27 ธ.ค. หลังจากที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้อนุมัติใช้งานไปแล้วก่อนหน้า
แม้เชื้อโควิดกลายพันธุ์ในอังกฤษซึ่งมีชื่อเรียกว่า “B.1.1.7” จะสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 70% แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบข้อบ่งชี้ว่ามันจะก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงกว่า หรืออาจจะไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่โลกมีใช้กันอยู่ในขณะนี้
มอนเซฟ สลาวี หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการวัคซีน “Operation Warp Speed” ของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวถึงประเด็นไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม พร้อมแสดงความหวังว่าการทดสอบในห้องทดลองของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา (NIH) คงจะให้คำตอบที่ชัดเจนว่าไวรัสกลายพันธุ์นี้จะตอบสนองต่อวัคซีนและยารักษาที่ใช้กันอยู่หรือไม่
สลาวี ระบุด้วยว่า ในขณะที่หลายประเทศพากันปิดพรมแดนไม่ต้อนรับผู้เดินทางจากอังกฤษ แต่เป็นไปได้ที่ไวรัสกลายพันธุ์นี้อาจจะระบาดในสหราชอาณาจักรมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่นักวิจัยเพิ่งจะเริ่มต้นศึกษาจริงจัง จึงทำให้รู้สึกว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในตอนนี้ก็คือ มันไม่ได้มีความสามารถในการก่อโรคมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม” สลาวี ระบุ
ด้าน ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการด้านรับมือฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความเห็นว่าการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในอังกฤษยังไม่ถือว่า เกินการควบคุม อีกทั้งสามารถจัดการได้ด้วยมาตรการที่ใช้กันอยู่ และตั้งข้อสังเกตว่านับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาเริ่มระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว มีหลายครั้งที่อัตราการแพร่เชื้อพุ่งขึ้นสูงมาก แต่ก็ถูกกดลงมาได้ในที่สุด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (20) ว่าพบการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ซึ่งแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม
“เราเปิดแถลงข่าวในวันนี้เพื่อประกาศให้ทราบว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านจีโนมของเราค้นพบเชื้อไวรัส SARS-COV-2 กลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ ซึ่งถูกเรียกว่า 501.V2 จากหลักฐานที่พบค่อนข้างแน่ชัดว่า การแพร่ระบาดระลอก 2 ที่เราเผชิญอยู่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้” ซเวลี เอ็มคีเซ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ระบุ
ล่าสุด กระทรวงคมนาคมของอังกฤษได้สั่งระงับเที่ยวบินขาเข้าจากแอฟริกาใต้ตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี (24) หลังจากที่พบว่าเชื้อกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นคนละตัวกับที่พบในอังกฤษ เริ่มแพร่ระบาดเข้าไปถึงเมืองผู้ดีแล้วเช่นกัน
ผู้ผลิตเวชภัณฑ์อย่างน้อย 4 รายออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยอยู่ระหว่างการทดสอบเพิ่มเติม และคาดว่าจะแถลงผลได้ในอีก 2-3 สัปดาห์
อูเกอร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ผู้ผลิตยาสัญชาติเยอรมนีซึ่งจับมือกับไฟเซอร์ (Pfizer) พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ระบุเมื่อวันอังคาร (22) ว่า วัคซีนชนิด mRNA ของทางบริษัทจะให้ผลในการป้องกันที่ดีต่อเชื้อโควิดกลายพันธุ์
ทางด้านของ โมเดอร์นา อิงค์ (Moderna Inc), เคียวร์แวค (CureVac) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) มั่นใจเช่นกันว่าวัคซีนของตนสามารถสกัดกั้นไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนในอังกฤษ และทำให้หลายประเทศต้องประกาศห้ามการเดินทาง, ปิดกั้นการขนส่งสินค้าระหว่างเกาะอังกฤษกับยุโรป และเสี่ยงที่จะทำให้อังกฤษถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้นไปอีก
“ในทางวิทยาศาสตร์มีความเป็นไปได้สูงมากที่การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเกิดจากวัคซีนตัวนี้จะสามารถจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ด้วย” ซาฮิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
เขาระบุว่าน่าจะต้องใช้เวลาสักอีก 2 สัปดาห์เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูล ก่อนจะได้คำตอบที่แน่นอน
“วัคซีนของเรามีกรดอะมิโนมากกว่า 1,270 ตัว และมีแค่ 9 ตัวเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป (ในไวรัสกลายพันธุ์) นั่นหมายความว่าโปรตีนอีก 99% ยังคงเหมือนเดิม”
ซาฮิน ย้ำว่าหากมีความจำเป็นจริงๆ นักวิทยาศาสตร์จะสามารถดัดแปลงวัคซีนชนิด mRNA ให้เข้ากับโปรตีนของไวรัสกลายพันธุ์ได้ในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนแบบดั้งเดิมซึ่งจะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่า
วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา และเคียวร์แวค ล้วนแต่ใช้เทคโนโลยี mRNA ในขณะที่วัคซีนของแอสตราเซเนกาใช้อะดีโนไวรัสที่พบในลิงชิมแปนซีเพื่อส่งสารพันธุกรรมจากไวรัสโคโรนาไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
ทางด้านสหรัฐฯ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดสแรกแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21) เช่นเดียวกับ นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหมอใหญ่ในคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ ส.ว.คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ก็มีกำหนดฉีดวัคซีนเช่นกันในสัปดาห์หน้า โดยทั้งหมดนี้เป็นความพยายามสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีน ก่อนที่จะมีการแจกจ่ายแก่ชาวอเมริกันในวงกว้างในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กลับออกมาขู่เมื่อวันอังคาร (22) ว่าจะไม่ลงนามในร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ มูลค่า 892,000 ล้านดอลลาร์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส โดยระบุว่าควรเพิ่มวงเงินในเช็คเงินสดที่จะแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นรายละ 2,000 ดอลลาร์ และ 4,000 ดอลลาร์สำหรับคู่สามีภรรยา แทนที่จะจ่ายเพียงแค่ 600 ดอลลาร์ซึ่ง “น้อยเสียจนน่าขำ” ในสายตาของ ทรัมป์
ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเหลือเวลาบริหารประเทศอีกเพียงไม่ถึง 1 เดือนยังวิพากษ์วิจารณ์วงเงินที่จัดสรรไว้สำหรับช่วยเหลือต่างชาติ, สถาบันสมิธโซเนียน และอื่นๆ
“ผมร้องขอให้สภาคองเกรสกำจัดรายการที่ไร้ประโยชน์และไม่จำเป็นออกจากร่างกฎหมายนี้ และส่งร่างกฎหมายที่เหมาะสมมาให้ผม หรือไม่ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะบริหารชุดใหม่ในการคลอดแพ็กเกจเยียวยาโควิด ซึ่งบางทีรัฐบาลชุดนั้นอาจเป็นผมเอง” ทรัมป์ ซึ่งยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตัวเองแพ้เลือกตั้ง ระบุ
ทางด้านเกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงทำสถิติใหม่ 1,097 รายเมื่อวันอาทิตย์ (20) ขณะที่ประธานาธิบดี มุน แจอิน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงแผนการจัดซื้อวัคซีนที่ดูจะล่าช้า และเน้นพึ่งพาวัคซีนที่ผลิตในประเทศมากเกินไป ทั้งที่การนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วกว่ามาก
ผลสำรวจความคิดเห็นโดย Realmeter พบว่า ชาวเกาหลีใต้ 6 ใน 10 คนเชื่อว่า “ความเร่งด่วน” เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่า “ความปลอดภัย” เมื่อพูดถึงวัคซีนโควิด-19 และรัฐบาลควรจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดเพื่อชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งเป็นภูมิภาคแห่งเดียวในโลกที่ยังไม่เคยมีรายงานการพบเชื้อโควิด-19 ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มแรกแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ 36 คนในฐานวิจัยแห่งหนึ่งของชิลีมีผลตรวจออกมาเป็นบวก กลายเป็นหมุดหมายอันน่าเศร้าของโลกในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ฐานทัพนายพลเบอร์นาโด โอฮิกกินส์ ริเกลเม ฐานวิจัยของชิลีซึ่งตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรทรินิตี ยืนยันว่าบุคลากรทางทหาร 26 ราย กับพลเมือง 10 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานสัญญาจ้างในฐานดังกล่าว มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และเวลานี้บุคลากรที่ฐานวิจัยโอฮิกกินส์ได้เข้าสู่การกักกันโรคและคอยสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง