(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
AT tells Le Figaro why China is winning the tech war
By LAURE MANDEVILLE AND DAVID P GOLDMAN
14/12/2020
บรรณาธิการข่าวธุรกิจของเอเชียไทมส์ เดวิด โกลด์แมน แสดงความคิดเห็นเรื่องสงครามเทค และอื่นๆ ในการให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อมวลชนทรงอิทธิพลของฝรั่งเศส
ลอร์ มองด์วิลเลอ (Laure Mandeville) นักหนังสือพิมพ์จาก เลอ ฟิกาโร (Le Figaro) หนังสือพิมพ์รายวันในฝรั่งเศส ได้สัมภาษณ์ เดวิด พี. โกลด์แมน (David P. Goldman) บรรณาธิการข่าวธุรกิจของเอเชียไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ บทสัมภาษณ์ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส สามารถดูได้ที่ https://www.lefigaro.fr/vox/monde/chine-l-amerique-me-rappelle-l-amiraute-russe-en-1905-avant-le-desastre-de-tsushima-20201210 ขณะที่เอเชียไทมส์นำเอาเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาเผยแพร่ ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้:
ลอร์ มองด์วิลเลอ: หลังจากการก่อตั้ง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) ขึ้นมา ซึ่งเป็นเขตการค้าที่ครอบคลุมรวมเอาชาติพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯเอาไว้หลายราย เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และเกาหลีใต้ โดยที่มีจีนให้ความสนับสนุนอย่างแข็งขัน คุณได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาในกรอบของสถานการณ์การเป็นคู่แข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน และคุณบอกว่านี่คือ “ช่วงขณะแห่งสึชิมะ” (Tsushima moment) [1] สำหรับสหรัฐฯ
หมายความว่าคุณกำลังเปรียบเทียบการที่สหรัฐฯไม่มีศักยภาพที่จะจำกัดควบคุมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจของจีน ว่าเหมือนกับความหายนะที่เกิดขึ้นเมื่อกองทัพเรือรัสเซียยุคพระเจ้าซาร์เผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในปี 1905 ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซีย คุณยังพูดถึงช่วงขณะแห่ง “เดียนเบียนฟู” (“Dien Bien Phu” moment) [2] ด้วย ทำไมล่ะคะ? ถึงขั้นพ่ายแพ้สูญเสียหมดเลยหรือ? คุณคิดว่าจีนจะเอาชนะสหรัฐฯในการเป็นอภิมหาอำนาจ (superpower) หรือ?
เดวิด โกลด์แมน:ไม่มีอะไรสูญเสียหมดสิ้นหรอกครับ ฝ่ายตะวันตกน่ะมีทรัพยากรทางเทคโนโลยีและทรัพยกรทางการสร้างสรรค์อย่างมากมายมหาศาล แต่มันไม่มีการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้อย่างทรงประสิทธิภาพต่างหาก ในเส้นทางโคจรปัจจุบัน จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯในการเป็นอภิมหาอำนาจ จีนต้องการมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือล้ำกว่าใครๆ โดยอิงอยู่กับการเข้าควบคุมพวกเทคโนโลยีหลักๆ ของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแอปพลิเคชั่นด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งใช้กับชุดข้อมูลขนาดใหญ่ๆ
จีนต้องการควบคุมพวกสิทธิบัตรที่มีความสำคัญยิ่งยวด, พวกมาตรฐานทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ส่วนอื่นๆ ของโลกต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่จักรวรรดิจีน และจีนก็ต้องการมีฐานะทางการทหารที่ไม่มีใครเอาชนะได้ จีนต้องการให้ตนเองสามารถที่จะรังแกและดูหมิ่นประเทศต่างๆ ซึ่งขัดขวางผลประโยชน์ของตน –อย่างที่เวลานี้กำลังพยายามทำกับออสเตรเลีย นี่คือตัวอย่าง
ลอร์ มองด์วิลเลอ: เรามาถึงตรงนี้ได้ยังไง? เราทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ตรงไหนถึงได้นำมาสู่สถานการณ์อย่างนี้? สหรัฐฯพลาดพลั้งมองไม่เห็นขนาดขอบเขตของการท้าทายทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ของจีนเช่นนี้ได้ยังไงตั้งหลายปีขนาดนี้?
เดวิด โกลด์แมน: หลังจากการพังครืนของลัทธิคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สหรัฐฯไม่สามารถจินนาการได้เลยว่าจะมีคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์อีกรายหนึ่งปรากฏตัวขึ้นมาได้ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรของจีนในปี 1990 อยู่ในระดับเพียงแค่หนึ่งในสิบของที่จีนมีอยู่ในทุกวันนี้ พวกบริษัทอเมริกันมองจีนในฐานะเป็นแหล่งที่มาของแรงงานราคาถูกสำหรับทำงานในพวกอุตสาหกรรมการผลิตที่ให้อัตราผลกำไรต่ำ ส่วนพวกนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันก็คิดว่า การที่จีนส่งออกสินค้าผู้บริโภคราคาถูกๆ นั้นถือเป็นการทำประโยชน์ให้แก่สหรัฐฯ
อเมริกาเพียงแต่ไม่เคยนึกฝันจินตนาการเลยว่าจีนสามารถที่จะก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจทางเทคโนโลยี เรายังคงไม่สามารถทำใจให้เชื่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของเรานี้
ลอร์ มองด์วิลเลอ: ความผิดพลาดสำคัญที่สุดซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ใช่หรือไม่ว่าคือข้อเท็จจริงที่ว่าพวกบริษัทเทคอเมริกันได้พากันทอดทิ้งธุรกิจด้านฮาร์ดแวร์ภายหลังตลาดหุ้นร่วงหันระเนระนาดในเดือนมีนาคม 2000 แล้วหันไปรวมศูนย์แทบจะเฉพาะในเรื่องซอฟต์แวร์เท่านั้น?
เดวิด โกลด์แมน: มันไม่ใช่ความผิดพลาดหรอกสำหรับพวกผู้ถือหุ้นของบริษัทเทคอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งได้เพิ่มมูลค่าในระดับเป็นล้านล้านดอลลาร์ให้แก่มูลค่าตามราคาตลาดหุ้นของพวกเขาในระหว่าง 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ประสบความสำเร็จนั้นมีอัตราผลตอบแทนสูง เพราะต้นทุนเพิ่มของการได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นมา 1 รายคือ ศูนย์ พวกบริษัทโครงสร้างพื้นฐานไฮเทค อย่างเช่น อิริคสัน และ หัวเว่ย มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ในระดับตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น
คณะบริหารทรัมป์เคยติดต่อทาบทามบริษัทซิสโก้ ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ลิตเครื่องเราเตอร์อินเทอร์เน็ตระดับท็อปมาก่อน โดยเสนอแนะให้เข้าควบรวมกิจการกับอิริคสัน และสร้างบริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับหัวเว่ย ปรากฎว่า ซิสโก้ตอบว่าตนไม่ต้องการซื้อพวกธุรกิจที่มีอัตราผลกำไรต่ำๆ หรอก ฮาร์ดแวร์ราคาไม่แพงจากเอเชียนั้นทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ซอฟต์แวร์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เอเชียมีการให้การอุดหนุนแก่การลงทุนในอุตสาหกรรมเน้นหนักเงินทุน (capital-intensive investments) แต่สหรัฐฯหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไปเลย
นี่ได้ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องที่เป็นความวิบัติหายนะให้แก่ฐานะความสามารถแข่งขันในระยะยาวของอเมริกา และแก่ศักยภาพทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา เวลาเดียวกัน การที่ต้องสูญเสียตำแหน่งงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯเป็นจำนวนราว 10 ล้านตำแหน่งก็สร้างความเสียหายให้แก่สายใยทางสังคมของเรา
ลอร์ มองด์วิลเลอ: ฝ่ายอเมริกันยินยอมเห็นพ้องกับการถ่ายโอนเทคโนโลยี และยินดีต้อนรับนักศึกษาจีน 350,000 คนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของพวกตน โดยที่ไม่ได้มีการควบคุมสิ่งที่พวกเขากระทำเมื่ออยู่ที่นั่นอย่างเฉพาะเจาะจงเอาเลย นี่ใช่ไหมคือความไร้เดียงสา ความมืดบอดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความละโมบ ซึ่งนำไปสู่แบบแผนวิธีการอันย่อหย่อนเช่นนี้ขึ้นมา?
เดวิด โกลด์แมน: เกือบๆ 4 ใน 5 ของนักศึกษาระดับปริญญาเอกในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ของสหรัฐฯนั้น เป็นนักศึกษาต่างชาติ โดยที่นักศึกษาจีนเป็นกลุ่มก้อนที่มีสัดส่วนสูงที่สุดทิ้งห่างกลุ่มอื่นๆ เรากลายเป็นผู้ฝึกอบรมคณาจารย์ชั้นยอดระดับโลกให้แก่พวกมหาวิทยาลัยต่างๆ ของจีน ผู้ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ในระดับเยี่ยมที่สุดของโลก คนเอเชียเวลานี้มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของพนักงานทางวิชาชีพของพวกกิจการเทคสหรัฐฯ สหรัฐฯนั้นไม่สามารถทำอะไรได้หรอกถ้าหากไม่มีผู้อพยพชาวเอเชีย
เมื่อมองทบทวนย้อนหลังกลับไป เราน่าที่จะทาบทามรั้งตัวพวกนักศึกษาที่เราต้องการเก็บรักษาเอาไว้ในสหรัฐฯ และเก็บรักษาส่วนที่ดีที่สุดของพวกเขาเอาไว้ให้ได้ ความลับที่แสนสกปรกก็คือพวกนักศึกษาต่างชาตินั้นปกติแล้วต้องจ่ายค่าเล่าเรียนกันแบบเต็มๆ ซึ่งก็คือแพงกว่าค่าเล่าเรียนเฉลี่ยราวๆ 40% ดังนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯจึงต้องการให้มีนักศึกษาที่จ่ายค่าเล่าเรียนแบบนี้กันเยอะๆ เรานั้นไร้เดียงสาในเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยี และก็สะเพร่าไม่รอบคอบเกี่ยวกับเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่มันก็เป็นการเกินเลยความเป็นจริงที่จะไปประณามว่าจีนก้าวผงาดขึ้นมาได้เพราะการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา บริษัทจีนบางแห่ง ซึ่งที่โดดเด่นมากก็อย่างเช่น หัวเว่ย เป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมสูงกว่าพวกคู่แข่งชาวตะวันตก
เวลานี้จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับหลังปริญญาตรีเพื่อไปทำงานเป็นวิศวกรและนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ คิดเป็นประมาณ 6 เท่าตัวของสหรัฐฯ เมื่อ 20 ปีก่อน คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาระดับหลังปริญญาตรีของจีนนั้นแย่มาก แต่เวลานี้มีการปรับปรุงยกระดับขึ้นมาอย่างมากมาย และกำลังเข้าใกล้มาตรฐานของโลกตะวันตก
ลอร์ มองด์วิลเลอ: ด้วยการขึ้นครองอำนาจของ โดนัลด์ ทรัมป์ และการที่เขาประกาศทำสงครามทางการพาณิชย์เพื่อต่อต้านคัดค้านความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของจีน แล้วจากนั้นก็โรคระบาดใหญ่ โควิด-19 ในฉับพลันทันทีนั้น ในเวลาเพียงชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้น เราก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังมีโหราจารย์มาทำนายทายทักให้เห็นถึงอนาคต เป็นเสียงระฆังเตือนปลุกให้เราตื่นขึ้นมา ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้กับจีน
หลังจากพึ่งพาอาศัยนโยบาย “อเมริกาเป็นอันดับแรกก่อนใครๆ” (America First) ในที่สุด ไมค์ พอมเพโอ ก็ดำเนินการให้มีการจัดตั้งกลุ่มคว็อด (Quad) ขึ้นมา และเริ่มต้นการทัวร์ยุโรปเพื่อเตือนชาวยุโรปให้ต่อต้านคัดค้านจีน ทางฝ่ายยุโรปมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคอยทำหน้าที่กำกับตรวจสอบการลงทุนของจีน ประเทศจำนวนมากรวมทั้งสหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจที่จะกลับลำการตัดสินใจก่อนหน้านี้ของพวกเขาที่จะยอมรับเทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ย ความเป็นปฏิปักษ์ต่อแผนการเส้นทางสายไหมก็ได้เพิ่มสูงขึ้นมาเช่นกัน สหรัฐฯได้สกัดกั้น “ติ๊กต็อก” ในอเมริกา แต่ดูเหมือนกับว่าความเพลี่ยงพล้ำต่างๆ เหล่านี้ (ของจีน) เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น การที่จีนทำสงครามประสบชัยชนะในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาจะทำให้จีนสามารถรีเซตยุทธศาสตร์ของตนขึ้นใหม่ได้หรือไม่?
เดวิด โกลด์แมน: การทูตอันแข็งกร้าวแบบ “กองพันนักรบหมาป่า” (“Wolf Warrior” diplomacy) ของจีน เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่จุดยืนของจีนมาก รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีได้กล่าวประณามอย่างเปิดเผยต่อ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจาก หวัง เตือนสาธารณรัฐเช็กว่า จะต้องจ่ายด้วย “ราคาแพงลิ่ว” สำหรับการที่ประธานวุฒิสภาของเช็กเดินทางไปเยือนไต้หวัน นอกจากนั้นแล้วยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ทำนองเดียวกันอีกหลายๆ กรณี ผลการสำรวจความคิดเห็นในสหรัฐฯเฉกเช่นเดียวกับในยุโรป กำลังแสดงให้เห็นถึงความเป็นปรปักษ์ต่อจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
อารมณ์ความรู้สึกในโลกตะวันตกนั้นนิยมฝักใฝ่ไปในทางเป็นแนวร่วมต่อต้านคัดค้านจีน ทว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อกรกับอำนาจได้ จีนเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่เพียงรายเดียวในโลกที่จะเติบโตขยายตัวในช่วงปี 2020 ซึ่งต้องขอบคุณความสำเร็จอันโดดเด่นของพวกเขาในการปราบปรามสยบโรคระบาดใหญ่ อำนาจทางเทคโนโลยีใน 5จี ของจีน และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นอีก คือ แอปพลิเคชั่นทั้งทางอุตสาหกรรม, การพาณิชย์, และการแพทย์ ซึ่ง 5จี ทำให้มันเป็นไปได้นั้น ได้ชักจูงโน้มน้าวโลกตะวันตกส่วนใหญ่ว่าพวกเขาไม่สามารถโดดเดี่ยวจีนได้ นี่ก็เป็นทัศนะของพวกผู้ช่วยของไบเดนเช่นเดียวกัน อย่าง เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน
ลอร์ มองด์วิลเลอ: เยอรมนีเพิ่งประกาศว่าจะอนุญาตให้ติดตั้ง 5จี ของ หัวเว่ย คุณมีข้อสรุปจากการตัดสินใจนี้อย่างไร? หลักตรรกะในระยะสั้นจากเรื่องนี้ หมายถึงการส่งมอบอำนาจในการควบคุมบิ๊กดาต้าให้แก่จีนใช่ไหม?
เดวิด โกลด์แมน:เท่าที่ผมทราบมานั้น เยอรมนียังไม่ได้มีการประกาศอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่เป็นสื่อมวลชนเยอรมนีที่เสนอข่าวซึ่งรั่วไหลออกมาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่รัฐบาลจะเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งเปิดทางให้ติดตั้ง 5จี ของหัวเว่ย [3] การที่ทรัมป์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯบางทีอาจจะ เป็นสิ่งที่ทำให้ความสมดุลเอนเอียงไปทางข้างที่เป็นประโยชน์แก่ หัวเว่ย ทั้งนี้ หัวเว่ย นั้นมีความคิดเห็นเสมอมาว่า 5จี เป็นแกนกลางของ “ระบบนิเวศ” ของพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่ง 5จี ทำให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ขึ้นมา
อย่างที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ หัวเว่ย เคยบอกกับผมว่า “จุดควบคุม”เศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ไป จะอยู่ที่การนำเข้า-ส่งออกข้อมูลและการเก็บรักษาข้อมูลในรูปแบบซึ่งเครื่องจักรสามารถอ่านได้ ถ้าหากน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแห่งศตวรรษที่ 20 ข้อมูลก็จะเป็นเชื้อเพลิงแห่งศตวรรษที่ 21 ตัวอย่างเช่นจีนเวลานี้ได้นำเอาข้อมูลประวัติด้านการรักษาทางการแพทย์และการจัดลำดับทางดีเอ็นเอของพลเมืองจำนวนหลายร้อยล้านคนของตนเองมาแปลงเป็นระบบดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว และ หัวเว่ย คาดหมายว่าจะได้ประวัติของผู้คนอีก 500 ล้านคนที่อยู่นอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาอีกในช่วงระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ไป
ฐานข้อมูลชนิดนี้จะพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงการวิจัยด้านยา และดังนั้นพวกบริษัทยาของยุโรปรายใหญ่ๆ ทุกๆ รายในปัจจุบัน จึงต่างมีการร่วมลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์กับพวกบริษัทเทค รายใหญ่ของจีนสัก 1 รายกันทั้งนั้น แล้วมันยังสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตและด้านโลจิสติกส์อีกด้วย ปักกิ่งจะมีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อันละเอียดซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปจนถึงแม่น้ำไรน์
ลอร์ มองด์วิลเลอ: โอบามาได้เคยเปิดตัวความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
(Trans-Pacific Partnership) แต่เวลานี้มีเขตการค้าที่นำโดยจีน ซึ่งก็คือ รีเซ็ป ทั้งออสเตรเลีย, เกาหลีใต้, และคนอื่นๆ ตัดสินใจที่จะกลับไปหาจีนนี่คือความเคลื่อนไหวในลักษณะมองการเมืองตามความเป็นจริง เนื่องจากพวกเขามองเห็นอเมริกาว่าเป็นมหาอำนาจที่กำลังเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ถูกครอบคลุมอยู่ในสงครามภายในต่างๆ และไม่น่าเชื่อถือไว้วางใจแล้ว ใช่หรือไม่?
เดวิด โกลด์แมน: ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี่จะลดภาษีศุลกากรลงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ --ประมาณ 90% ทีเดียวในกรณีของสินค้าออกของญี่ปุ่นที่ส่งไปยังจีน— แล้วเวลานี้จีนยังกำลังพยายามเจรจาเพื่อทำเขตการค้าเสรีกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอีกด้วย การค้าของเอเชียเวลานี้มีลักษณะรวมศูนย์อยู่ภายในเอเชีย เฉกเช่นเดียวกับการค้าของยุโรปที่รวมศูนย์กันอยู่ภายในยุโรป
หลักตรรกะของการพัฒนาตลาดภายในเอเชียเองขึ้นมา ก็ทำนองเดียวกันกับของประชาคมเศรษบกิจยุโรป (European Community) นั่นแหละ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรหรอกที่ชาวเอเชียทั้งหลายกำลังสร้างเขตการค้าเสรีขนาดยักษ์ขึ้นมา ออสเตรเลียกำลังอยู่ในการสู้รบที่น่าสะอิดสะเอียนกับจีน แต่เวลานี้ออสเตรเลียขายสินค้าออกของตนไปยังจีนในสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ผ่านมา ออสเตรเลียจึงไม่สามารถที่จะอยู่นอกอาร์เซ็ปได้
ผู้บริโภคชาวอเมริกันคือแหล่งที่มาสำคัญที่สุดของอุปสงค์ความต้องการของเศรษฐกิจโลกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่เวลานี้ตลาดภายในเอเชียเองกลับมีความสำคัญยิ่งกว่านักหนา ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ส่งออกไปยังจีนมากเป็นสองเท่าตัวของที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผมแน่ใจมากว่าทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวเกาหลีใต้นั้นชอบสหรัฐฯมากมายยิ่งกว่าที่พวกเขาชอบจีน แต่ตรรกะทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องหลังเขตการค้าเสรีเอเชียนั้นมันมีอำนาจอย่างยากที่จะต้านทาน
แน่นอนทีเดียวว่า เขตการค้าเสรีเอเชีย เป็นสิ่งซึ่งสามารถเข้ากันได้กับบทบาทของอเมริกาในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจชั้นนำ แบบเดียวกับที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปตอนเริ่มแรกดั้งเดิมนั้นถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยการอุปถัมภ์ค้ำชูของอเมริกันในระหว่างสงครามเย็นนั่นเอง
ทว่าสิ่งที่แตกต่างกันนั้น ก็แน่นอนว่า คือการที่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของจีนทำให้ตนเองกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดระบบเศรษฐกิจเอเชียทั้งหมดทั้งสิ้นได้ ภายในบริบทนี้ เป็นเรื่องน่าสังเกตว่าทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างปฏิเสธอย่างสุภาพต่อข้อเรียกร้องของอเมริกันที่จะให้กีดกัน หัวเว่ย ออกไปจากเครือข่าย 5จี ของพวกเขา
ลอร์ มองด์วิลเลอ: ไบเดนสามารถทำและจะทำอะไรบ้างในสถานการณ์ที่กำลังท้าทายเหลือเกินเช่นนี้?
เดวิด โกลด์แมน:หลักนโยบายในการรณรงค์หาเสียงของไบเดนนั้น ได้รวมเอาพวกมาตรการต่างๆ ที่จะกระตุ้นส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาของอเมริกันเข้าไปด้วย แต่เขาดูจะไม่ได้ให้ไอเดียนี้มีลำดับความสำคัญใดๆ ระหว่างช่วงการรณรงค์หาเสียง เรายังได้เห็นเอกสารทางนโยบายต่างๆ จำนวนหนึ่งจากพวกมหาวิทยาลัยและพวกคลังสมองทั้งหลายในค่ายไบเดน และข้อเสนอต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและคลังสมองเหล่านี้ในเรื่องการสนับสนุนเทคโนโลยีก็ดูจะไม่ได้เล็งไกลหวังสูงอะไรกันมากมายเท่าใด
ตัวอย่างเช่น เอกสารที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้จาก สมาคมเอเชีย (Asia Society) ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า“The China Challenge”(การท้าทายจากจีน) โต้แย้งให้เหตุผลว่า สหรัฐฯไม่ควรพยายามสร้างแชมเปี้ยนแห่งชาติของตนเองในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมขึ้นมา เพื่อเข้าแข่งขันกับ หัวเว่ย ตรงกันข้าม ควรที่จะให้การอุดหนุนกระบวนวิธีเข้าถึงปัญหาแบบอิงอยู่กับซอฟต์แวร์
ผมน่ะกลัวว่าพวกบริษัทซอฟต์แวร์ของเราจะยังกำลังเขียนโค้ดและทดสอบโค้ดกันอยู่เลย
ในขณะที่ หัวเว่ย เข้าครอบงำเหนือบรอดแบน์ไร้สายตลอดทั่วทั้งมหาทวีปยูเรเชีย เพื่อธำรงรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีเหนือจีนของตนเองเอาไว้ให้ได้ สหรัฐฯจะต้องลงมือกระทำอย่างชนิดน่าตื่นตาตื่นใจได้แล้ว ข้อเท็จจริงก็คือ เรามีอะไรเยอะแยะมากมายเหลือเกินที่จะต้องทำเพื่อการไล่ตามให้ทันนี่
ในการฟื้นฟูการผลิตด้านไฮเทค เราจำเป็นที่จะต้องมีการลดหย่อนภาษีและการให้การอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมเน้นหนักเงินทุน (capital-intensiveindustry) ประเภทที่พวกรัฐบาลทางเอเชียให้กันอยู่, เราจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม ชนิดที่ได้เคยนำไปสู่เทคโนโลยีสำคัญๆ ทุกๆ อย่างของยุคดิจิตอล ตั้งแต่ไมโครโปรเซสเซอร์
ไปจนถึง อินเทอร์เน็ต, และเราจำเป็นที่จะต้องเน้นหนักกันให้มากมายกว่านี้นักหนาในเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในทุกๆ ระดับของการศึกษา
เหนืออะไรทั้งหมดทั้งสิ้นเลย เราจำเป็นที่จะต้องมีความสำนึกเกี่ยวกับวัตถุประสงค์แห่งชาติ ชนิดที่ (ประธานาธิบดี) จอห์น (เอฟ) เคนเนดี ได้กระตุ้นปลุกเร้าขึ้นมาด้วยโครงการอวกาศ
หรือ (ประธานาธิบดี โดนัลด์) เรแกน ได้กระทำด้วย แผนการริเริ่มป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative) เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เราได้ใช้จ่ายเงินไปหลายล้านล้านดอลลาร์ทีเดียวในการอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ของผู้คนที่ขาดหายไปเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ รวมทั้งในการสนับสนุนตลาดทุน อีกสักล้านล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนความเหนือล้ำทางเทคโนโลยีก็ดูไม่ใช่เป็นการสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยอะไรหรอก
และนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันจะได้ผล การใช้จ่ายงบประมาณรัฐบาลอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ไป นอกจากนั้นแล้วเรายังจำเป็นต้องกลับมาทบทวนนโยบายเรื่องผู้อพยพ เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ หรือไม่สามารถที่จะทำให้มันเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเพียงพอหรอก ถ้าปราศจากผู้อพยพชาวเอเชียทักษะสูง ซึ่งก็รวมไปถึงคนจีนด้วย
ลอร์ มองด์วิลเลอ: การจับมือเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีกับยุโรป พร้อมกันไปกับเขตการค้าเสรีกับยุโรปที่ญี่ปุ่นและระบบเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ สามารถเข้าร่วมได้ มันจะสามารถเปลี่ยนเกมในระดับนี้ได้ไหม?
เดวิด โกลด์แมน:ผมน่ะไม่มีความสงสัยหรอกว่า ความริเริ่มของอเมริกันที่มีเครดิตความน่าเชื่อถือนั้น จะต้องเป็นที่ยินดีต้อนรับกันอย่างยิ่งในยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และแน่นอนล่ะ ไต้หวันด้วย รวมทั้งผมก็ไม่มีความสงสัยในเรื่องที่ว่าพวกพันธมิตรของเรานั้นมีความต้องการที่จะมาเข้าร่วมกับเรา เรานั้นมีจุดยืนที่เป็นปัญหาทีเดียวในระหว่างหลายๆ ปีที่ผ่านมา จากการที่เราไปบั่นทอนตัดรอนพวกพันธมิตรของเราไม่ให้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของจีน โดยที่เราไม่ได้เสนอเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันได้ของเราเองออกมา
ผมคิดว่าทั้งยุโรปและญี่ปุ่นต่างตระหนักกันเป็นอย่างดีถึงความเหนือล้ำกว่าของอเมริกาในเรื่องแบบแผนวิธีการเพื่อไปสู่นวัตกรรม จีนนั้นทำได้ดีมากๆ ในเรื่องการบรรลุเป้าหมายเฉพาะเจาะจงทั้งหลาย แต่คนอเมริกันและคนยุโรปน่าที่จะมีความเป็นไปได้มากกว่าในการค้นพบสิ่งที่เป็นพื้นฐานต่างๆ ซึ่งพวกนักวางแผนไม่ได้เคยคาดหวังเอาไว้เลยในตอนแรก นวัตกรรมยุคดิจิตอลที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกันทุกๆ อย่างเลย เริ่มต้นขึ้นมาด้วยการอุดหนุนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่ว่าทุกๆ อย่างเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการค้นพบนอกกรอบนอกขอบเขตของโครงการดั้งเดิมกันทั้งนั้น
เครือข่ายออปติคอล (optical network) เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ มันเริ่มต้นขึ้นมากับโครงการทางทหารโครงการหนึ่งที่ต้องการให้สนามรบมีความส่องสว่างในเวลากลางคืน
ขณะที่ อาร์ซีเอ แล็ปส์ (RCA Labs) ค้นพบเลเซอร์เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor
laser) ซึ่งทำให้เครือข่ายออปติคอลเป็นเรื่องเป็นไปได้ขึ้นมา และสร้างอุตสาหกรรมใหม่อุตสาหกรรมหนึ่งขึ้นมาทั้งหมดเลย
ลอร์ มองด์วิลเลอ: ในหนังสือของคุณที่ตีพิมพ์จำหน่ายในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณแสดงให้เห็นว่า จีนได้สร้างยุทธศาสตร์เพื่อการพิชิตโลกทั้งทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ตอนนี้คืออะไร และผลของมันจะเป็นอย่างไรต่อไป?
เดวิด โกลด์แมน: จีนสามารถทราบอย่างชัดเจนแน่นอน ว่าพลเมืองของตนทั้งหมดนั้นอยู่ที่ไหนแน่ตลอดเวลาเลย โดยผ่านเทคโนโลยีการกำหนดตำแหน่งด้วยโทรศัพท์ และเทคโนโลยีการรับรู้ใบหน้า, แล้วจีนก็ทราบอีกว่าพลเมืองของตนนั้นอยู่กับใคร, พวกเขาโพสต์อะไรบนสื่อสังคม, และพวกเขาซื้อหาอะไรบ้าง นี่ทำให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมเหนือประชากรของตนในระดับที่ไม่มีระบอบเผด็จการอื่นใดในโลกสามารถกระทำได้มาก่อน
มีการพูดกันเยอะแยะทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องที่จีนกำลังส่งออกโมเดลทางการเมืองของตน
พร้อมกันไปกับเทคโนโลยีของตน และแน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องมีระบอบเผด็จการบางแห่งที่ใช้เทคโนโลยีจีนเพื่อการกดขี่ปราบปรามทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การพูดแบบนี้สามารถที่จะเป็น และบ่อยครั้งทีเดียวที่เป็น การพูดอย่างเกินเลยความเป็นจริง
ความมุ่งมาดปรารถนาของจีนในการเป็นอภิมหาอำนาจนั้น มีความแตกต่างจากความมุ่งมาดปรารถนาของอเมริกา แบบเดียวกับที่ความมุ่งมาดปรารถนาของอเมริกามีความแตกต่างไปจากของอังกฤษ และของอังกฤษก็มีความแตกต่างไปจากความมุ่งมาดปรารถนาของฝรั่งเศสยุคนโปเลียน จีนยังไม่เหมือนกับสหภาพโซเวียตอีกด้วย จีนไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่ให้เป็นไปตามภาพลักษณ์ของตนเอง
จีนไม่ได้เคยแสดงให้เห็นว่ามีความสนอกสนใจอะไรมากมาย เกี่ยวกับวิธีการที่พวกคนป่าเถื่อน –ซึ่งนี่หมายถึงทุกๆ คนนั่นแหละ ยกเว้นคนจีน— ถูกปกครอง จักรวรรดิจีนนั้นต้องการที่จะเก็บค่าเช่าจากพวกเราทั้งหมดที่เหลือนอกเหนือจากีน ต้องการที่จะรังแกประเทศอื่นๆ เพื่อให้ยินยอมสนับสนุนผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน และต้องการที่จะเป็นผู้ชนะในการสู้รบขัดแย้งทางการทหารใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมา
ทั้งหมดนี่ก็ถือว่าเลวร้ายพอแล้วล่ะ แต่ผมไม่คิดว่าจีนมีความตั้งใจ อย่าว่าแต่พูดถึงความสามารถเลย ที่จะนำเอาระบบของตนมาบังคับใช้กับส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลกจำนวนมาก
จีนบางทีอาจจะช่วยรักษาระบอบปกครองที่น่ารังเกียจบางรายให้คงอยู่ในอำนาจต่อไป
ลอร์ มองด์วิลเลอ: พวกผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจำนวนมาก ไม่ได้มีความคิดเห็นไปในทางมองโลกแง่ร้ายอย่างคุณ โดยพวกเขาชี้ไปที่ความอ่อนแอต่างๆ ที่แฝงฝังอยู่ภายในของพวก
ระบอบปกครองเผด็จการ (authoritarian) และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) แนวความคิดนี้ที่ว่าจีนนั้นอ่อนแอ และจะถูกท้าทายอย่างบังเกิดผลในระยะยาว เป็นสิ่งที่คณะบริหารทรัมป์ก็เห็นด้วย คุณมีคำตอบต่อข้อโต้แย้งต่างๆ เหล่านี้ของพวกเขายังไง?
เดวิด โกลด์แมน:ผมน่ะสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะผมชอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะระบอบประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าระบอบเผด็จการเสมอไปหรอก พูดกันโดยทั่วไปแล้ว พวกระบอบประชาธิปไตยน่าที่จะยืนกรานกระทำความผิดพลาดอย่างไม่เลิกราน้อยกว่า
ขณะที่น่าที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าพวกระบอบเผด็จการ แต่ในระยะสั้นแล้ว มันมีข้อยกเว้นเยอะแยะทีเดียวต่อกฎข้อนี้ – ตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีในปี 1940 [4]
สหภาพโซเวียตขยับเข้าใกล้มากๆ ทีเดียวที่จะเป็นผู้ชนะในสงครามเย็น หลังจากที่พวกอาวุธของรัสเซียยิงเครื่องบินอิสราเอลตก 100 ลำในระหว่างสงครามปี 1973 พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า รัสเซียจะเป็นผู้ชนะในสงครามที่รบกันโดยใช้อาวุธตามแบบแผน (ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์) รวมทั้งในท้ายที่สุดจะเป็นผู้ชนะในสงครามเย็น แต่แล้วสหรัฐฯก็สามารถพลิกให้มันกลายเป็นตรงกันข้ามในระยะเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษ อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะกำหนดจัดวางเอาไว้ล่วงหน้า
เป็นเวลา 30 ปี ที่เราประมาณการต่ำกว่าความเป็นจริงเรื่อยมา เกี่ยวกับความแข็งแรงของเศรษฐกิจจีน และศักยภาพของชาวจีนในการแก้ไขปัญหาอันใหญ่โตมหึมาต่างๆ –ตัวอย่างเช่น การอพยพผู้คน 600 ล้านคนจากเขตชนบทมายังเขตเมืองใหญ่ ซึ่งปรากฏว่าพวกเขาใช้เวลาเพียงแค่ 3 ทศวรรษก็ทำได้สำเร็จแล้ว เมื่อตอนที่โรคระบาดใหญ่ โควิด-19 เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม 2020 นั่น วลียอดนิยมในสื่อมวลชนสหรัฐฯก็คือ “ชั่วขณะแห่งเชอร์โนบิลของจีน” (China’s Chernobyl moment)
พูดกันให้ชัดๆ เจาะจงมากขึ้น ก็คือว่า พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกนั้นมีความโน้มเอียงที่จะพูดเกินเลยความเป็นจริงในเรื่องเกี่ยวกับความบกพร่องผิดพลาดต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบของจีน
เป็นเรื่องจริงที่ว่าจีนมีประชากรที่กำลังแก่ลงอย่างรวดเร็ว ทว่าก็ไม่ได้กำลังแก่ลงอย่างรวดเร็วในระดับใกล้เคียงกับประชากรของญี่ปุ่นหรือของเกาหลีใต้ ในระยะยาวเรื่องนี้จะสร้างปัญหาสาหัสร้ายแรงต่างๆ ให้แก่จีน แต่มันจะยังไม่เป็นอย่างนั้นหรอกในช่วงประมาณ 20 ปีจากนี้ไป ซึ่งจะกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินชี้ขาด
เป็นเรื่องจริงที่ว่าจีนมีหนี้สินเยอะแยะมากมาย อยู่ที่ระดับประมาณ 300% ของจีดีพี แต่สหรัฐฯก็มีอัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีระดับนี้เหมือนกัน จีนกำลังทำงานได้ค่อนข้างดีทีเดียวในขณะนี้เกี่ยวกับการลดภาระการกู้ยืมในระบบการเงินของตน พวกนักวิเคราะห์สหรัฐฯจำนวนมากคิดว่าการลงโทษคว่ำบาตรของสหรัฐฯที่ไม่ให้มีการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปให้หัวเว่ย จะทำให้ หัวเว่ย กลายเป็นอัมพาต แต่จีนกลับแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความช่างประดิษฐ์คิดสร้างอยู่อย่างมากมายในการทำงานเพื่อหลบหลีกการจำกัดต่างๆ ของสหรัฐฯ และการสร้าง 5จี ของหัวเว่ยก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะล่าช้าลงไปเลย
สหรัฐฯวางเดิมพันเสี่ยงครั้งใหญ่ทีเดียว จากการอ้างสิทธิอำนาจนอกอาณาเขตของตนเองเพื่อควบคุมการจำหน่ายชิปคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าทั้งหลายไปให้แก่จีน แม้กระทั่งพวกชิปซึ่งทำจากประเทศที่สามเพียงแต่ใช้เทคโนโลยีอเมริกันในการผลิต อย่างไรก็ดี นั่นกลายเป็นสร้างแรงจูงใจให้แก่การสร้างสายโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่ปราศจากเทคโนโลยีอเมริกันขึ้นมา
แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนอาจจะตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาตจากปัญหาภายในต่างๆ แต่ผมไม่คิดหรอกว่ามันน่าจะเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ นอกจากนั้นการคิดหวังให้จีนเกิดล่มสลายลงไปย่อมไม่ใช่วิธีในการกำหนดยุทธศาสตร์ เราจะสามารถทำได้ดีกว่านั้นมาก ถ้าหากถือเสียว่าจีนจะยังไม่พังครืนลงไปด้วยปัญหาภายใน และเราจะต้องปลุกระดมความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยวของพวกเราเองเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ เราอาจจะคิดไปในเชิงว่า นี่คือการแปรผันพลิกแพลงอย่างหนึ่งของ “การเดิมพันของปัสคาล” (Pascal’s wager) [5] ก็ได้
หมายเหตุผู้แปล
[1]“ช่วงขณะแห่งสึชิมะ” (Tsushima moment)การที่กองทัพเรือของจักรวรรดิญี่ปุ่นมีชัยชนะเหนือกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียอย่างเด็ดขาดในยุทธการสึชิมะ (Battle of Tsushima) ที่บริเวณช่องแคบสึชิมะ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเกาหลีกับภาคใต้ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27-28 พฤษภาคม 1905 ทั้งนี้ญี่ปุ่นพลิกความคาดหมายของผู้คนทั่วไปซึ่งเห็นกันว่าเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า โดยสามารถทำลายกองเรือรบรัสเซียอย่างย่อยยับในยุทธการคราวนั้น และส่งผลให้เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ปี 1904-1905 ความปราชัยอย่างน่าอดสูของกองทัพรัสเซีย ยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ “การปฏิวัติรัสเซียปี 1905 (Russian Revolution of 1905) ถึงแม้การปฏิวัติครั้งนั้นจะยุติลงด้วยความปราชัย โดยที่ระบอบปกครองพระเจ้าซาร์ยังคงรักษาอำนาจเอาไว้ได้ แต่หลายคนก็มองว่า การปฏิวัติปี 1905 คือการแผ้วถางทางจัดเวทีให้แก่การปฏิวัติรัสเซียปี
1917 และทำให้พรรคบอลเชวิกที่มี วลาดิมีร์ เลนิน เป็นผู้นำ ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะขบวนการทางการเมืองที่โดดเด่นในรัสเซีย แม้ว่ายังคงมีฐานะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Tsushima, https://en.wikipedia.org/wiki/Russo-Japanese_War, https://en.wikipedia.org/wiki/1905_Russian_Revolution)
[2]“เดียนเบียนฟู” (“Dien Bien Phu” moment)การที่นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์-ชาตินิยม
เวียดมินห์ มีชัยชนะเหนือกองทหารฝรั่งเศส ในยุทธการที่เดียนเบียนฟู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามยุทธการที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 1954
คราวนี้ สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างกว้างขวางของฝรั่งเศส ซึ่งส่งอิทธิพลให้ฝรั่งเศสต้องยินยอมสละอาณานิคมในอินโดจีนทั้งหมด (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://th.wikipedia.org/wiki/ยุทธการที่เดียนเบียนฟู หรือhttps://en.wikipedia.org/wik/Battle_of_Dien_Bien_Phu)
[3]รัฐบาลเยอรมนีได้ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้แก่รัฐสภาอย่างเป็นทางการแล้วในวันพุธที่
16 ธ.ค. ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่องGermany opens the door to Huawei, with conditions ที่https://asiatimes.com/2020/12/germany-opens-the-door-to-huawei-with-conditions/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทย‘เยอรมนี’เดินหน้าเปิดประตูอย่างมีเงื่อนไข ให้‘หัวเว่ย’เข้าไปร่วมสร้าง‘เครือข่าย 5จี’https://mgronline.com/around/detail/9630000128923)
[4] สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีในปี 1940 คือ สงครามที่ฝรั่งเศสทำกับเยอรมนีในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป ซึ่งยุติลงในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว ด้วยการที่กองทัพนาซีเยอรมันประสบชัยชนะ สามารถเข้ายึดครองฝรั่งเศส, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์ ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_France
[5] การเดิมพันของปัสกาล (Pascal's wager) เป็นข้อคิดเห็นทางปรัชญาอย่างหนึ่งซึ่งเสนอขึ้นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 17 โดยแบลซ ปัสกาล (Blaise Pascal) นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ และนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี1623-1662 เขาเสนอไว้ว่า การกระทำของมนุษย์เป็นเหมือนกับการเดิมพันชีวิตหลังความตายไว้กับข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่มี
ปัสกาลให้ความเห็นไว้ว่า บุคคลผู้มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล ควรจะใช้ชีวิตเสมือนว่าพระเจ้ามีอยู่จริง และควรจะเชื่อในพระเจ้า เนื่องจากหากพระเจ้าไม่มีอยู่จริงบุคคลนั้นจะสูญเสียผลประโยชน์เพียงระดับหนึ่ง (เช่น ความเพลิดเพลินใจ ความหรูหรา บางประการ เป็นต้น) ในขณะที่หากพระเจ้ามีอยู่จริงบุคคลนั้นจะได้ผลประโยชน์อันมหาศาลเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด (ชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์) และหลีกเลี่ยงการเสียผลประโยชน์อันมหาศาลเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
(ชีวิตนิรันดร์ในนรก) ไปพร้อมๆ กัน
การเดิมพันของปัสกาลมีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องพระเจ้าของศาสนาคริสต์ แต่การใช้ข้อคิดเห็นในลักษณะเดียวกันนี้ก็มีปรากฏอยู่ในศาสนาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://th.wikipedia.org/wiki/การเดิมพันของปัสกาล หรือhttps://en.wikipedia.org/wiki/Pascal%27s_wager)