xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามการค้า’ กำลังแปรเปลี่ยนกลายเป็น “สงครามลดค่าเงินตรา” เมื่อโลกย่างเข้าสู่ปี 2021

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม เพเซค


โลกทำท่าขยับใกล้เกิดสงครามลดค่าเงินตรา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Trade wars to become currency wars in 2021
By WILLIAM PESEK
17/12/2020

การทะเลาะวิวาททางการค้าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อขึ้นกับเอเชีย กำลังเกิดการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนน่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งต่อสู้กันด้วยการแข่งขันลดค่าเงินตราระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก ทั้งนี้โดยแรงขับดันจากการที่ทุกๆ ฝ่ายพยายามเร่งตะเกียกตะกายฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งล่มจมเสียหายหนักด้วยฤทธิ์เดชโรคระบาดใหญ่โควิด-19

ขณะอยู่บนเส้นทางของการก้าวออกจากประตูอำลาจากอำนาจวาสนา คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแข็งกร้าวต่อเอเชีย ในท้ายที่สุดก็ยังคงรวบเอาปรปักษ์ผู้สุขุมรอบคอบและหลีกหลบได้ว่องไวเสมอมาเอาไว้ในร่างแหรายหนึ่งจนได้ ซึ่งก็คือ เวียดนาม

ภายหลังตลอดเวลา 4 ปีของการทวิตข้อความเกรี้ยวกราดเกี่ยวกับ เงินหยวนจีนที่ “มีค่าต่ำเตี้ยกว่าความเป็นจริง” ซึ่ง “กำลังเข่มฆ่าพวกเราให้ล้มตาย” กระทรวงการคลังของทรัมป์กลับเลือกที่จะใส่สกุลเงินด่งเวียดนาม เข้าไปในบัญชีผู้ปั่นค่าเงินตราอันน่าสะพรึงกลัวของตน โดยที่ประเทศจีนของ สี จิ้นผิง กลับได้รับการบรรเทาโทษในนาทีสุดท้าย ตามรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันพุธ (16 ธ.ค.)

ไม่มีใครทราบว่าในสมองของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน คิดอะไรอยู่ จึงตัดสินใจเช่นนี้ ความเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ จากการที่ในปีนี้ ค่าเงินดอลลาร์ลดต่ำลงมา 6.5% เมื่อเปรียบเทียบกับเงินหยวน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/quote/USDCNY:CUR) รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังกำลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งก็ย่อมส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงไปอีกนั่นเอง จีนจึงย่อมสามารถตอกกลับได้อย่างง่ายๆ และน่าเชื่อถือเสียด้วย ว่าทรัมป์ต่างหากคือผู้ที่กำลังพยายามอาศัยการลดค่าสกุลเงินตราของตนมาเป็นหนทางในการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว อันเป็นพฤติการณ์ของการเข้าแทรกแซงตลาดและปั่นค่าเงินตรา

ถึงแม้ออกจะแปลกประหลาดเอาการ ในการที่ สวิตเซอร์แลนด์ ถูกลากมาใส่ในบัญชีเดียวกันกับเวียดนามในฐานะเป็นผู้ปั่นค่าเงินตรา แต่ความรู้สึกนึกคิดของวอชิงตันในเรื่องสถานที่ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่โตที่สุด ก็ยังคงเป็นเอเชียอย่างเห็นได้ชัด โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯนอกจากใส่ 2 ประเทศดังกล่าวเข้าไปในรายชื่อผู้ปั่นค่าเงินตราแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศมากกว่านั้น ถูกบรรจุเอาไว้ในรายชื่อผู้ถูกจับตามอง ได้แก่ จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, และไทย ซึ่งเป็นประเทศและดินแดนในเอเชียทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ไบเดน จะได้รับมรดกตกทอดต่อจาก ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคมนั้น ไม่ใช่เป็นอะไรที่ง่ายๆ ธรรมดาๆ เลย มันจะไม่เป็นเพียงแค่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์กับหยวน หรือดอลลาร์กับเยน เท่านั้น หากแต่เป็นการวิวาททุ่มเถียงกันเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินตราต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียที่มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง แล้วแถมยังมีการทะเลาะกันในเรื่องนี้ระหว่างพวกในเอเชียกับโลกตะวันตกอีกด้วย

เงินหยวนของจีนมีค่าสูงขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในปีนี้
ลองพิจารณาสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในห้วงวันเวลาอันใกล้จะหมดสิ้นลงของปี 2020 ก็ได้ เวลานี้ค่าของเงินหยวนกับเงินหยวนกำลังไต่ขึ้นสูง และกำลังทำให้เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกเป็นอย่างมากของ 2 ประเทศนี้ (ซึ่งเป็น 2 ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของเอเชียอีกด้วย) ตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอย่างมากในปี 2021

ในที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เงินวอนเกาหลีใต้กำลังอ่อนค่าลง อันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งพวกเทรดเดอร์มองว่า ชี้ให้เห็นถึงการที่ธนาคารแห่งเกาหลี (Bank of Korea
ธนาคารกลางของเกาหลีใต้) ยังคงเข้าดำเนินการแทรกแซงค่าเงินตราของตนอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.yna.co.kr/view/AEN20190930008700320) เวลาเดียวกัน ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การไหลรูดลงของค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย ก็ถูกมองว่ามีแรงขับดันจากธนาคารกลางของแดนอิเหนาเช่นเดียวกัน

การที่เงินหยวนและเงินเยนมีค่าแข็งขึ้นดูเป็นสิ่งสมเหตุสมผล เมื่อคุณพิจารณาไปที่เศรษฐกิจของจีนและของญี่ปุ่นซึ่งค่อนข้างมีเสถียรภาพกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโลกตะวันตก แท้ที่จริงแล้วเงินทุนกำลังหลั่งไหลเข้าไปยังภูมิภาคนี้เนื่องจากพวกผู้จัดการพอร์ตลงทุนทั้งหลายต่างกำลังจับตามองด้วยความวิตกหวั่นไหวกับความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวอชิงตันสืบเนื่องจากโดนัลด์ทรัมป์ ยังไม่ยอมรับความปราชัยในการเลือกตั้งของตน และความไม่แน่ไม่นอนที่เกิดขึ้นในบรัสเซลส์กับลอนดอนสืบเนื่องจากการเจรจายังไม่ลงตัวเสียที เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรหลังจากช่วงระยะผ่านของ “เบร็กซิต” จะหมดสิ้นลงในสิ้นปีนี้ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีระลอกใหม่ๆ ของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 แผ่ลามขึ้นมาอีก ดังนั้น การมาวางเดิมพันกับอนาคตของเอเชียตะวันออกจึงดูมีแรงดึงดูดใจมากกว่า

อย่างไรก็ตามสภาพเช่นนี้อาจจะกลับกลายเป็นปัญหาในอีกไม่ช้าไม่นานจากนี้ไปในเมื่อหน่ออ่อนสีเขียวสดแห่งการฟื้นตัวของอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ปรากฏให้เห็นเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้กำลังหวนคืนไปสู่ความมืดมัวอึมครึมอีกครั้ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://uk.reuters.com/article/us-usa-currency/asian-countries-switzerland-at-risk-in-u-s-treasurys-currency-report-idUKKBN28Q0O8) จีนกับญี่ปุ่นจึงสามารถทำได้เพียงแค่การกระตุ้นอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศเท่านั้น และจะรู้สึกร้อนอกร้อนใจขึ้นเรื่อยๆ ในการหาทางกระตุ้นการส่งออก

“ถ้าการแข็งค่าของเงินตราเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปแล้ว ประเทศเหล่านี้ก็อาจจะเริ่มต้นผลักดันค่าเงินให้ถอยกลับไปอย่างแรงๆมากขึ้น” นี่เป็นความเห็นของ มานิก นาเรน (Manik Narain)นักยุทธศาสตร์ด้านเงินตราแห่งแบงก์ ยูบีเอสขณะที่เขายังไม่พร้อมที่จะกล่าวว่า เรากำลังจะได้เห็นสงครามค่าเงินตราแต่นาเรนก็บอกว่า “คุณสามารถพูดได้ว่ามันจะมีการยิงเตือนยิงขู่กันในระยะแรกๆ เกิดขึ้นมาให้เห็นกัน”

ปักกิ่งนั้นกำลังพยายามสร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นที่จะต้องลดทอนสัดส่วนหนี้สินในระบบเศรษฐกิจของตนลงมา กับการดูแลกุมบังเหียนระบบการธนาคารเงามูลค่า 13
ล้านล้านดอลลาร์ที่กำลังเป็นตัวสนับสนุนอัตราการเติบโตส่วนโตเกียวนั้นได้ให้คำมั่นแล้วที่จะอัดฉีดเงินราวๆ 3ล้านล้านดอลลาร์เพื่อบรรเทาผลกระทบหนักหน่วงของการแพร่ระบาดระลอก 3ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งกำลังเล่นงานแดนอาทิตย์อุทัยรัฐบาลทั้ง 2
ประเทศนี้อาจจะใช้มาตรการบางประการที่เป็นการผ่อนเพลาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและก็จะลงมือทำกันในเร็วๆ นี้ด้วย

แต้มต่อในเวลานี้ออกมาในทางที่ว่าโตเกียวน่าจะเข้าต่อสู้กับโซลในการแข่งขันเพื่อปรับค่าเงินลงมาให้ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากสิ่งนี้เกิดขึ้นปักกิ่งก็อาจจะแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากกระโจนเข้าไปเล่นด้วยถึงแม้คุณคงจะไม่เห็นการเข้าแทรกแซงตลาดอย่างแข็งกร้าวไม่แคร์ใครหน้าไหนซึ่งจะสร้างความไม่พอใจให้แก่วอชิงตัน แต่พวกผู้กำหนดนโยบายในชาติเหล่านี้ก็อาจพึ่งพาพวกมาตรการด้านการควบคุมเงินทุน (capital controls) (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.afr.com/policy/economy/the-disturbing-rise-of-capital-controls-20200108-p53pn9) หรือการเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนเพื่อสยบกระแสเงินร้อนที่กำลังหลั่งไหลมาจากต่างประเทศ

มีความเป็นไปได้เสมอที่เอเชียอาจจะเลือกใช้วิธีการร่วมมือกันและการเบนเข้าหากันแทนที่จะเอาแต่แข่งขันต่อสู้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้เอเชียสามารถที่จะเข้าผูกพันกันและกันในทางการค้าด้วยข้อตกลงการค้า RCEP ถึงแม้มันจะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเตาะแตะเอามากๆ

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พลังมองโลกในแง่ดีสืบเนื่องจากความหวังเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19กำลังส่งกระแสคลื่นของเงินทุนเข้ามายังตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่แห่งต่างๆ
เฉพาะในเดือนนั้นเท่านั้น พวกนักเสี่ยงโชคได้วางเงินสูงเป็นสถิติใหม่นั่นคือ 40,000 ล้านดอลลาร์ เข้าไปในตลาดหุ้นของพวกตลาดเกิดใหม่ และอีก37,000 ล้านดอลลาร์ในตลาดตราสารหุ้นของประเทศเหล่านี้ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute ofInternational Finance ใช้อักษรย่อว่า IIF)นี่เป็นจำนวนซึ่งสูงกว่าตัวเลขของ 3 เดือนก่อนหน้านั้นรวมกันเสียอีก

“เรากำลังได้เห็นการทำสถิติใหม่ในเรื่องฝีก้าวที่แข็งแรงที่สุดของพวกพอร์ตลงทุนต่างชาติ
ซึ่งหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ ในรอบระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา” โรบินบรูคส์ (Robin Brooks) นักเศรษฐศาสตร์ของ IIF ชี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.iif.com/Research/Capital-Flows-and-Debt)“เมื่อบวกกับเรื่องที่มีการออกตราสารหุ้นกู้ออฟชอร์กันอย่างคึกคักเข้ามาด้วย ไตรมาส 4 ปีนี้ก็จะกลายเป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2012”

เงินเยนญี่ปุ่นกำลังแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อเมริกัน
การที่เงินทุนหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคักเช่นนี้ เมื่อผสมผสานกับเรื่องที่วัคซีนจะถูกนำออกมาใช้กันได้อย่างกว้างขวางในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จริงๆ แล้วก็อาจสามารถลดระดับอุณหภูมิโดยรวมลงมา และทำให้ ปักกิ่ง, โตเกียว, โซล, และแม้กระทั่งจาการ์ตา เกิดความมั่นอกมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในการยินยอมต้อนรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่สูงขึ้น

ทว่าแนวโน้มต่างๆ ในปัจจุบัน เป็นต้นว่าการเดินกันไปคนละทิศทางของค่าเงินเยนและเงินวอน กลับกลายเป็นข้อโต้แย้งคัดค้านการที่สกุลเงินต่างๆ ในเอเชียจะมีการบรรจบกันในทิศทางแห่งการมีค่าเงินแข็งขึ้น และอย่างที่เอเชียไทมส์ได้เคยสำรวจตรวจสอบเอาไว้ การที่ภูมิภาคนี้มีทิศทางแบบนักพาณิชย์นิยม (mercantilist) อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ยังสามารถที่จะกลายเป็นตัวถ่วงรั้งไม่ให้เกิดพัฒนาการดังกล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/12/japan-korea-hold-their-nerve-as-currencies-surge/)

ตัวที่คอยค้ำยันสนับสนุนสกุลเงินตราที่อ่อนค่าลงมา ได้แก่สวัสดิภาพของภาคบริษัทธุรกิจทั้งหลายในขอบเขตใหญ่โตกว้างขวาง ถึงแม้มันกำลังทำให้พวกซีอีโอทั้งหลายมีแรงจูงใจน้อยลงในเรื่องการสร้างนวัตกรรม, การปรับโครงสร้าง, และการเพิ่มพูนผลิตภาพ ขณะเดียวกันมันก็ทำให้รัฐบาลทั้งหลายไม่ต้องมีภาระความรับผิดชอบในการสร้างกล้ามเนื้อทางเศรษฐกิจโดยผ่านการปฏิรูปต่างๆ ในทางด้านอุปทาน (supply-side reforms)

อย่างไรก็ตาม ความหายนะจากโควิด-19 ยังคงกำลังทำให้ภูมิภาคนี้ถอยหลังกลับไปหลายๆ
ปีในเรื่องของอัตราเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชากร นี่ก็กลายเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งซึ่งทำให้มีโอกาสมากกว่าที่รัฐบาลต่างๆ จะพากันหวนกลับไปสู่มาตรการลดค่าเงิน ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นนโยบายมุ่งแก้ปัญหาของตนเอง ด้วยการผลักไสให้เพื่อนบ้านต้องกลายเป็นยาจก (beggar-thy-neighbor policies) อย่างที่ได้ใช้กันมาในระยะ 20 ปีหลังมานี้

ถ้าหากจีนกับญี่ปุ่นกลับเข้ามาสู่เวทีการทะเลาะต่อสู้กันเช่นนี้อีกครั้งหนึ่ง ก็น่าจะทำให้พวกผู้รับผิดชอบของเกาหลีใต้เดินหน้าไปไกลยิ่งขึ้นอีกในความพยายามเพื่อทำให้ค่าเงินวอนอ่อนตัวลง

เมื่อตอนสิ้นเดือนกันยายน ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ได้ขายสุทธิไปเป็นจำนวน 3,800 ล้านดอลลาร์ในระยะ 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันว่า “ยุทธการเพื่อสร้างความราบรื่น” (smoothing operations) แต่เส้นทางโคจรของเงินวอนนับแต่นั้นมา (เงินวอนมีคาลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในปีนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://www.bloomberg.com/quote/USDKRW:CUR) บ่งชี้ให้เห็นว่า ธนาคารแห่งเกาหลีอาจจะกำลังเร่งขายออกไปมากยิ่งขึ้นอีกแบบไม่กระโตกกระตาก

สิ่งเดียวกันนี้น่าจะเกิดขึ้นเช่นกันด้วยฝีมือทีมงานของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ในกรุงจาการ์ตา และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก ในกรุงฮานอย (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-17/vietnam-reiterates-it-does-not-use-currency-for-unfair-trade) การที่ชาติต่างๆ ในเอเชียกำลังมีการบรรจบกันทางนโยบายในทิศทางมุ่งสู่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ต่ำลงเช่นนี้ ย่อมจะหมายความว่าการทะเลาะวิวาทด้านการค้าที่ทรัมป์ทำกับเอเชีย กำลังกลายพันธุ์จนกลายเป็นการปะทะขัดแย้งกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ในการแข่งขันกันเพื่อลดค่าเงินตราลงมาต่ำสุด

ความย้อนแย้งอยู่ตรงที่ว่า สภาพเช่นนี้เองตรงกับสิ่งที่ทรัมป์ต้องการเปี๊ยบเลยเมื่อปี 2016
ตอนที่เขากำลังรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

ย้อนหลังกลับไปในช่วงทศวรรษ 1980 ทรัมป์ที่มีฐานะเป็นเจ้าพ่อด้านอสังริมทรัพย์ในนิวยอร์กอยู่ในเวลานั้น ด่าว่ากล่าวโทษไม่ขาดปากโดยหาว่าชาวเอเชียกำลังใช้การลดค่าเงินตราให้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาโจรกรรมตำแหน่งงานไปจากชาวอเมริกัน

ในตอนนั้น ญี่ปุ่นถูกจับให้แสดงบทบาทเป็นภูติผีปีศาจอันธพาลที่เวลานี้ทรัมป์โยนมาให้แก่จีน ในการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่งเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1980 ทรัมป์บอกว่านโยบายต่างๆ ของโตกียว “ได้ดูดเลือดไปจากอเมริกาอย่างเป็นระบบ”  และ “หลบหนีไปได้อย่างลอยนวลแม้จะก่อการฆาตกรรม” (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://money.cnn.com/2016/10/19/news/economy/trump-reagan-japan-trade-1989/index.html)

นี่เป็นถ้อยคำภาษาที่รัฐบาลของจีนพบเจอมาอย่างซาบซึ้งเป็นอันดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมสงครามการค้าที่ทรัมป์ทำกับจีนจึงประสบความล้มเหลว

เมื่อในท้ายที่สุดเขาได้โอกาสที่จะเล่นงานพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนในปี 2017 นั้น ทรัมป์ได้หยิบยืมนำเอายุทธวิธีต่างๆ จากปี 1985 มาใช้ นั่นคือปีที่พวกประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่ม จี7 วางแผนกันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องยินยอมปล่อยให้เงินเยนของตนเพิ่มค่าขึ้นไปอย่างสูงลิบ ข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวมีชื่อว่า ข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ตามชื่อของโรงแรมในนครนิวยอร์กซึ่งพวกผู้นำ จี7 มาประชุมกันในครั้งนั้น
ตัวทรัมป์เองก็เคยเป็นเจ้าของโรงแรมพลาซาอยู่ช่วงหนึ่งในทศวรรษ 1980

โลกทัศน์แบบยึดติดอยู่กับอดีตเช่นนี้เป็นสิ่งที่อธิบายว่า ทำไมลงท้ายแล้ว สี กลับกลายเป็นที่ยอมรับของทรัมป์ วันเวลาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่มีอีกแล้วที่กลุ่ม จี7 สามารถที่จะชี้นิ้วบงการเพื่อให้ความสัมพันธ์ทางการค้าซี่งทรงความสำคัญสำหรับยุคสมัย เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามความปรารถนาของพวกเขา

นอกจากนั้นนโยบายในลักษณะเช่นนี้เมื่ออยู่ในบริบทของสถานการณ์โลกในช่วงระหว่างปี
2017-2021 ก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้น, มีผลิตภาพสูงขึ้น, หรือพรักพร้อมสำหรับการธำรงรักษาความได้เปรียบของตนในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วยิ่ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช่ว่าจะมองตากันได้ตลอดเวลา
แต่กระนั้นก็ตาม ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็อาจจะลังเลใจที่จะต้องเห็นค่าเงินดอลลาร์พุ่งพรวดขึ้นสูงขณะที่ปี 2021 เคลื่อนตัวไปข้างหน้า เขาต้องรับมรดกเศรษฐกิจที่ถูกโรคระบาดใหญ่ทำลายล้าง โดยมีผู้ที่ต้องตกงานเป็นล้านๆ คน, ยอดหนี้สินแห่งชาติกำลังวิ่งตะบึงผ่านหลัก 27 ล้านล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.nasdaq.com/articles/u.s.-debt%3A-the-elephant-in-the-room-that-keeps-growing-2020-10-19), และธนาคารกลางที่มียอดงบดุลสูงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์

และเมื่อคณะบริหารไบเดนมองหาหนทางต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัว
เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมาก็จะกลายเป็นหนึ่งในตัวดูดซับความตื่นตระหนกซึ่งยั่วยวนชวนให้นำมาใช้อยู่มาก

“บางทีความชัดเจนอย่างมหาศาลที่สุดภายหลังการเลือกตั้งก็คือ สำหรับทางด้านการค้าโลก” เดวิด ไบลิน (David Bailin) และ สตีเวน วีทิง (Steven Wieting) 2 นักยุทธศาสตร์ของ ซิตี้ ไพรเวต แบงก์ (Citi Private Bank) เขียนเอาไว้เช่นนี้ “นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯจะเดินเข้าสู่ช่วงเวลาที่สามารถคาดการณ์ทำนายได้มากขึ้น โดยที่ไม่มีการข่มขู่คุกคามว่าจะปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปอีก เรามองเห็นการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯกำลังอ่อนตัวลง และพวกตลาดเกิดใหม่กำลังปรับสูงขึ้น ว่าคือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างสูง”

อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของอเมริกาอยู่ในสภาพย่ำแย่มาก อาจจะเป็นตัวช่วยไบเดนในทิศทางนี้อยู่ดี

ดังที่ ฟิตช์ โซลูชั่นส์ (Fitch Solutions) พูดเอาไว้ในรายงานชิ้นใหม่ชิ้นหนึ่งว่า เงินดอลลาร์เวลานี้อาจจะแข็งค่าเกินกว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่รองรับอยู่เบื้องลึกลงไปก็เป็นได้ “ปัจจัยจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินดอลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งปัจจัยเรื่องการใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายในสหรัฐฯ, ความกระหายในเรื่องความเสี่ยงซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นในระดับทั่วโลก, การที่ดอลลาร์มีค่าแข็งเกินไป, และการที่ผลตอบแทนแท้จริง (real yields) ของสหรัฐฯกำลังลดต่ำลง” ฟิตช์แจกแจงเหตุผลของตน

กระนั้นก็ตาม การที่ตลาดโลกอยู่ในสภาพคลื่นลมผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ยังอาจกลายเป็นตัวผลักดันค่าเงินดอลลาร์ให้ขึ้นสูงเป็นพักๆ ได้ตลอด เมื่อพวกนักลงทุนหวนกลับมาสู่ “ท่าหมอบนิ่งที่‘ตัดความเสี่ยงทิ้งไปทั้งหมด’” (risk-off” crouch) (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://edition.cnn.com/2020/11/03/investing/dollar-biden-trump/index.html) “ถึงแม้เราคาดหมายว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลง” ฟิตช์ก็พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ด้วย “แต่มันก็จะเอนเอียงไปสู่การแข็งค่าขึ้นอยู่เป็นพักๆ ขณะที่ระยะแห่งการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจะขึ้นมาเป็นตัวนำไปสู่การพุ่งสูงในอุปสงค์ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ความเสี่ยงขาลงใดๆ ก็ตามของสกุลเงินยูโร ก็สามารถที่จะส่งผลให้เกิดแรงสนับสนุนขาขึ้นในเงินตราของสหรัฐฯเช่นกัน”

บรูคส์ แห่งIIF เห็นพ้องว่าเงินดอลลาร์มีช่องทางที่จะลดค่าลง ในรายงานชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน บรูคส์สรุปว่า “เงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินไปอย่างสำคัญทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบเงินของพวกตลาดเกิดใหม่” ในรายงานการศึกษาใกล้เข้ามากว่านั้นอีก นั่นคือฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม บรูคส์ได้สำรวจสิ่งที่IIF มองเห็นว่าเป็น “ผลต่างๆ ในทางที่เป็นคุณ จากการลดค่าเงินตรา ซึ่งเมื่อผลเหล่านี้มีขนาดอันใหญ่โตแล้ว ก็จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับเข้าสู่ความสมดุลได้อย่างแรงทีเดียว”

กระนั้น ผลกระทบแรงสะเทือนทางการเมืองจากศึกชักเย่อค่าเงินตราระหว่างตะวันออก - ตะวันตก อาจทำให้ปี 2021 กลายเป็นปีแห่งการขึ้นลงอย่างวูบวาบและตึงเครียดสำหรับตลาดต่างๆ อันที่จริงแล้ว หลายประเทศได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างหนักแน่นต่อการที่ถูก มนูชิน ประทับตราให้ว่ากระทำตัวเป็นผู้ร้ายอันธพาลด้วยการปั่นค่าเงิน

“สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องในการปั่นค่าเงินตราไม่ว่ารูปแบบไหนทั้งสิ้น” พวกเจ้าหน้าที่ของ “สวิส เนชั่นแนล แบงก์” (Swiss National Bank ใช้อักษรย่อว่าSNB) ที่เป็นแบงก์ชาติของสวิตเซอร์แลนด์ ตอบโต้ด้วยท่าทีหยามหมิ่นในทันทีที่ข่าวเรื่องนี้แพร่กระจายออกมา เวลาเดียวกันนี้SNB ได้ออกคำแถลงย้ำว่า ตนเองจะยังคงเดินหน้าจำกัดขีดสูงของค่าเงินฟรังก์สวิสที่แข็งโป๊กเอาไว้ ขณะที่พลังต่างๆ ในทางด้านเงินฝืดกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-16/swiss-vow-to-keep-up-interventions-defying-u-s-criticism)

เวลาเดียวกัน “สเตท แบงก์ ออฟ เวียดนาม (State Bank of Vietnam ใช้อักษรย่อว่าSBV) ธนาคารกลางของเวียดนาม แถลงว่า “การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ (ของSBV) อยู่ภายในกรอบใหญ่แห่งนโยบายการเงินของทางธนาคาร และมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายอันสม่ำเสมอเรื่อยมาในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ, การสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจมหภาค” ดังนั้นSBV จึงโต้แย้งว่า เวียดนามไม่ได้กำลังพยายามทำให้ประเทศของตนมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมขึ้นมา

ใครๆ ยังสามารถโต้แย้งได้ด้วยว่า ทำเนียบขาวที่เฉลียวฉลาดมากขึ้นและสุภาพอ่อนโยนมากขึ้น กำลังอยู่บนเส้นทางที่จะก้าวเข้ามาช่วยลดอุณหภูมิร้อนฉ่าในแวดวงการแลกเปลี่ยนเงินตรา

พนักงานผู้หนึ่งกำลังนับธนบัตรเงินด่งเวียดนาม
เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ซึ่ง ไบเดน เลือกเพื่อเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีคลังของเขา ได้ออกมาโต้แย้งอยู่เรื่อยๆ ว่า พลวัตของอัตราแลกเปลี่ยนเวลานี้มีความสลับซ้อนยิ่งกว่าที่โลกทรรศน์จากช่วงทศวรรษ 1980 ของทรัมป์บ่งบอกเอาไว้มากมายนัก เมื่อปีที่แล้ว อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องยากลำบากจริงๆ แถมยังอาจเกิดการพลิกผันแปรเปลี่ยนไปได้อีกด้วย ในการที่เราจะนิยามจำกัดความว่า เมื่อใดประเทศหนึ่งๆ กำลังมีพฤติกรรมปั่นค่าเงินตราของตนเพื่อให้เกิดความได้เปรียบต่างๆ ในทางการค้า”

แท้ที่จริงแล้ว เอเชียสามารถที่จะวาดภาพให้เห็นได้อย่างไม่ลำบากลำบนเลยเสียด้วยซ้ำว่า
ทรัมป์นั่นแหละเป็นนักปั่นค่าอัตราแลกเปลี่ยน แถมยังป็นนักปั่นค่าเงินระดับกระจอก เนื่องจากสามารถเห็นกันได้อยู่แล้วว่า การขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของทรัมป์ไม่ได้เร่งรัดทำให้พวกบริษัทนานาชาติทั้งหลายโยกย้ายตำแหน่งงานต่างๆ จากจีนกลับไปยังสหรัฐฯ หากแต่หันไปอยู่ที่เวียดนามต่างหาก

อย่างที่ เจสัน เฟอร์แมน (Jason Furman) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้เอาไว้ว่า “การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯประทับตราให้เวียดนามเป็นนักปั่นค่าเงินตรานั้น เป็นตัวอย่างสำหรับข้อสรุปที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับแนวความคิดเช่นนี้ล้วนแต่เป็นความผิดพลาดทั้งหมด” เฟอร์แมนตั้งข้อสังเกตว่า เงินด่งเวียดนาม มีความโน้มเอียงที่จะขึ้นและลงตามเงินดอลลาร์ สืบเนื่องจากพลวัตของอุปทานและอุปสงค์ ดังนั้น การประทับตราฮานอยเช่นนี้จึงกลายเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจว่า ตลาดมีการทำงานกันอย่างไร

รัฐบาลของเวียดนามแถลงในวันพฤหัสบดี (17 ธ.ค.) ว่า ตนจะทำให้เกิดความแน่ใจว่าจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ “ประสานสอดคล้องและเป็นธรรม” กับประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ กระนั้น การออกมาตะปบครั้งสุดท้ายในยุคสมัยของทรัมป์คราวนี้
อาจจะบีบบังคับให้ไบเดน “ตกอยู่ในฐานะที่เขาจะต้องหาหนทางเพื่อให้หลุดพ้นออกมา” นักยุทธศาสตร์ เพอร์ แฮมเมอเรด (Per Hammered) แห่ง เอสอีบี กรุ๊ป (SEB Group) ชี้

นี่ย่อมรวมไปถึงความโน้มเอียงที่จะทำให้โตเกียวเกิดความรู้สึกถูกทำร้ายจนพกช้ำดำเขียว
อย่างที่รายงานของ มนูชิน ระบุเอาไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียแห่งนี้ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงตามลำพังฝ่ายเดียวในตลาดเงินตราต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2011 โน้นแล้ว กระนั้นก็ตาม รายงานนี้ของสหรัฐฯยังคงตั้งแง่ว่า ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพดอยู่ในระดับเท่ากับ 3.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดช่วง 4 ไตรมาสซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ปี 2020 (ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2019 จนถึงไตรมาส 2 ปี 2020) ซึ่งสหรัฐฯเห็นว่า “มีขนาดใหญ่พอสมควรทีเดียว” ขณะที่ดุลการค้าทวิภาคีก็ได้เปรียบสหรัฐฯอยู่ 57,000 ล้านดอลลาร์ จึงทำให้ “ชาวทรัมป์” ต้องใส่ชื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ เอาไว้ในบัญชีถูกจับตา ว่าอาจสร้างความเสียหายให้แก่สหรัฐฯ

ทีมงานของ มนูชิน ยินยอมปล่อยให้ แบงก์ชาติจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) หลุดรอดจากรายชื่อผู้แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.investopedia.com/articles/investing/072815/how-does-china-manage-its-money-supply.asp) อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังสหรัฐฯยังคงแสดงการคัดค้านเรื่องที่พวกแบงก์ใหญ่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน กำลังดูเหมือนกับเข้าไปซื้อหาสินทรัพย์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อดูจากยอดสุทธิช่วง 12 เดือนตั้งแต่กรกฎาคม 2019 จนถึง มิถุนายน 2020

“ขณะที่การเข้าแทรกแซงโดยผ่านตัวแทนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนซึ่งชี้ว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนได้เข้าแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราในช่วงระยะเวลาที่ศึกษาทบทวนคราวนี้ แต่ประเด็นนี้ก็สมควรที่จะติดตามสอบสวนกันต่อไปอีก”
รายงานฉบับนี้ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุ

สำหรับอินเดียก็อยู่ในสภาพของการทดสอบความอดทนอดกลั้นของฝ่ายอเมริกันในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ไม่ค่อยมีชาติกำลังพัฒนารายใหญ่ๆ แห่งไหนต้องเผชิญกับงานในการสร้างความสมดุลขึ้นมาในปี 2021 แบบที่คณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ต้องเผชิญอยู่ ทั้งนี้ในเวลาเดียวกับที่กระแสเงินทุนกำลังไหลบ่าเข้าไปตามเส้นทางของนครมุมไบ กลับปรากฏว่าเงินรูปีอินเดียมีค่าอ่อนตัวลงมาคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้

เหตุผลของเรื่องนี้ก็คือ ช่วงเวลาจำนวนมากของปี 2020 แบงก์ชาติแดนภารตะซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รีเสิร์ฟ แบงก์ ออฟ อินเดีย” (Reserve Bank of India ใช้อักษรย่อว่าRBI) จะคอยรั้งบังเหียนเอาไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ในเวลาที่พวกนักวางเดิมพันทั่วโลกทุ่มเทเงินทองราวๆ 50,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปในแดนภารตะ ทั้งในรูปของการซื้อหุ้นในตลาดและการซื้อหุ้นโดยตรงในบริษัทอินเดียแห่งต่างๆ

นโยบายต่างๆ เหล่านี้ของRBI กำลังทำให้วอชิงตันจับตาเฝ้ามอง เงินรูปีที่อ่อนค่าลงอาจจะช่วยสนับสนุนการส่งออก แต่มันก็อาจนำไปสู่เรื่องปวดเฮด –ซึ่งก็รวมไปถึงการทำให้อินเดียติดเข้าไปในรายชื่อนักปั่นค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯยุคไบเดน ด้วยการที่มีเงินทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไปถือครองหลักทรัพย์ต่างๆ ของอินเดียเป็นมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ความสามารถของRBI ในการตรึงค่าเงินรูปีเอาไว้ก็อาจจะอยู่ในสภาพจำกัด

ธนบัตรเงินรูปีของอินเดีย
ในอีกด้านหนึ่ง อินโดนีเซียถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พวกนโยบายผ่อนคลายแบบสุดๆ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถทำให้เหล่าแบงก์ชาติในเอเชียมีช่องทางเพิ่มมากขึ้นขนาดไหนในการดำเนินการผ่อนคลายของตนเอง –และบางทีก็กระทำในหนทางซึ่งกลายเป็นการเพิ่มพูนความตึงเครียดด้านค่าเงินตรา ตัวอย่างเช่น “แบงก์ อินโดนีเซีย”(Bank
Indonesia ใช้อักษรย่อว่าBI ชื่อธนาคารกลางของแดนอิเหนา) กำลังทดลองใช้พวกนโยบาย “แปลงหนี้สินให้เป็นเงินตรา” ซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างสูงลิ่ว

เวลานี้BI กำลังซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากกระทรวงการคลังอินโดนีเซียกันโดยตรงทีเดียว เพื่อเร่งรัดความพยายามในการผ่อนคลายระบบการเงินให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว นโยบายนี้และนโยบายอื่นๆ สามารถเร่งตัวให้สกุลเงินรูเปียห์อินโดนีเซียลดค่าลง 1.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.bloomberg.com/quote/USDIDR:CUR) และกำลังทำให้จาการ์ตากลายเป็นที่สนอกสนใจมากขึ้นไปอีกของฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกระทำตามกันบ้าง

ทั้งหมดเหล่านี้แหละคือความเสี่ยง ก่อนที่ทีมไบเดนจะทันรู้เนื้อรู้ตัวเสียอีก พวกเขาก็ถูกดึงลากเข้าไปในการทะเลาะโต้เถียงเรื่องค่าเงินตราเสียแล้ว ทั้งในการวิวาทกันภายในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง และในระหว่างภูมิภาคทั้งสอง ตลอดจนในสงครามเงินตราที่มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นไปอีกระหว่างเอเชียกับสหรัฐฯ สถานการณ์เช่นนี้ส่อแสดงให้เห็นว่า ยังมีอะไรเยอะแยะมากมายทีเดียวที่จะต้องคอยภาวนาตั้งความหวังกัน เพื่อให้เกิดช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าที่มีความเงียบสงบกว่าปี 2020
กำลังโหลดความคิดเห็น