กระทรวงการคลังสหรัฐฯในวันพุธ (16 ธ.ค.) เปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน โดยขึ้นบัญชีสวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม ในฐานะประเทศที่ทำการปั่นค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางการค้าเหนือสินค้าส่งออกของอเมริกา ส่วน ไทย ถูกใส่ชื่อในบัญชีกลุ่มประเทศจับตามอง
ในรายงานด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรอบครึ่งปี กระทรวงการคลังสหรัฐฯพบว่า สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม แทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา เพื่อส่งผลกระทบกับดุลการชำระเงิน และในกรณีของเวียดนาม ยังมีเป้าหมายเพื่อให้ได้เปรียบด้านการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรมในการค้าระหว่างประเทศด้วย
สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯเรียกการตัดสินใจดังกล่าวว่า “เป็นก้าวย่างที่แข็งกร้าว เพื่อปกป้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปกป้องโอกาสสำหรับคนงานและภาคธุรกิจของอเมริกา”
จีนยังคงอยู่ใน “บัญชีจับตามอง” ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี รวมถึงประเทศอื่นๆ และในครั้งนี้ทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯได้เพิ่มเติมรายชื่อ 3 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย, ไต้หวันและไทย เข้าไปในบัญชีดังกล่าวด้วย
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โวยวายบ่อยครั้งใส่ประเทศต่างๆ ที่เกินดุลการค้าอเมริกา กล่าวหาหลายชาติในนั้น ว่าใช้ค่าเงินที่อ่อนค่า ขายสินค้าในราคาถูกลง ซึ่งส่งผลกระทบกับบรรดาผู้ผลิตสหรัฐฯ
เป้าหมายหลักที่เขาพุ่งเป้าวิพากษ์วิจารณ์ก็คือจีน แต่มันรวมไปถึงเบอร์ลินด้วย แม้ความจริงคือเยอรมนีใช้สกุลเงินร่วม “ยูโร”
กระทรวงการคลังสหรัฐฯถอด จีน พ้นจากบัญชีประเทศปั่นค่าเงินในเดือนมกราคม ไม่นานก่อนวอชิงตันและปักกิ่งลงนามในข้อตกลงการค้า “เฟส 1” เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งบางส่วนในสงครามการค้าที่ยืดเยื้อนานหลายเดือน
แต่ในรายงานได้เรียกร้องให้จีน “ปรับปรุงความโปร่งใส” ในด้านบริหารอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเข้าแทรกแซงตลาดการเงิน
การค้นพบในรายงานส่วนใหญ่แล้วเป็นในเชิงสัญลักษณ์ และไม่ได้เป็นข้อผูกมัดที่ต้องกำหนดมาตรการลงโทษต่างๆ แต่มันเป็นการกระตุ้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมแบบทวิภาคี เรียกร้องให้แต่ละประเทศ “พัฒนาแผนใดแผนหนึ่งขึ้นมา เพื่อจัดการกับสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังของค่าเงินที่อ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็น และความไม่สมดุลของปัจจัยภายนอก
สหรัฐฯมีหลักเกณฑ์ 3 ข้อในการตัดสินว่าประเทศใดเข้าข่ายเป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงิน ได้แก่ ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวได้เข้าแทรกแซงค่าเงิน และเข้าซื้อดอลลาร์เกินกว่า 2% ของ GDP
ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน อาจถูกสหรัฐฯออกมาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้
รายงานข่าวระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม ถูกพบว่าเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธในทันทีต่อข้อกล่าวหาว่าพวกเขาปั่นค่าเงิน และบอกว่าเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการติดต่อกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ “เพื่อชี้แจงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศของเรา”
ในส่วนของฮานอย กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุว่า จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ค่าเงินด่องของเวียดนาม มีมูลค่าต่ำกว่าดัชนีค่าเงินที่แท้จริงถึง 8.4% ในปี 2018 และแทบจะทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์มาตั้งแต่นั้น
กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุในรายงานเรียกร้องให้เวียดนาม “ลดการแทรกแซงค่าเงินและปล่อยให้มีความเคลื่อนไหวในอัตราแลกเปลี่ยน” พร้อมระบุว่า เวียดนามควรเปิดโอกาสให้แรงงานและบริษัทสหรัฐฯ ได้แข่งขันต่อสู้บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ด้วยการรื้อถอนขวางหนามที่เป็นอุปสรรคแก่บริษัทสหรัฐฯ และการส่งออกของสหรัฐฯ
(ที่มา: เอเอฟพี)