xs
xsm
sm
md
lg

‘เยอรมนี’เดินหน้าเปิดประตูอย่างมีเงื่อนไข ให้‘หัวเว่ย’เข้าไปร่วมสร้าง‘เครือข่าย 5จี’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Germany opens the door to Huawei, with conditions
by David P. Goldman
17/12/2020

เดินหน้าอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลเยอรมนีเสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งให้รัฐสภาพิจารณาประกาศใช้ ซึ่งจะทำให้ หัวเว่ย สามารถเข้าร่วมสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สาย 5 จีในประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปแห่งนี้ได้ แต่ทั้งนี้หัวเว่ยก็จะต้องรับประกันว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนดความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ อันเข้มงวดกวดขัน

คณะรัฐมนตรีของเยอรมนีอนุมัติในวันพุธ (16 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ให้ส่งร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา สาระสำคัญของร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวจะเป็นการเปิดทางให้ หัวเว่ย บริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติด้านเทเลคอมของจีน สามารถเข้าร่วมสร้างเครือข่าย 5จี ในประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้ โดยที่ต้องอยู่ในกรอบของหลักประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเข้มงวด วอชิงตันนั้นได้พยายามล็อบบี้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล เรื่อยมา ให้ตัดสิทธิบริษัทจีนรายนี้อย่างชนิดไม่ให้เหลือเยื่อใย

ร่างกฎหมายที่เสนอกันฉบับนี้ จะทำให้ หัวเว่ย และผู้จัดหาจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายรายอื่นๆ ต้องมีภาระทางการเงินในกรณีที่เกิดจุดอ่อนรูรั่วด้านความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมา นอกจากนั้นยังจะให้อำนาจแก่พวกหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของเยอรมัน ในการเข้าถึงเครือข่ายได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อวินิจฉัยตัดสินว่าเครือข่ายเหล่านี้ยังมีความซื่อสัตย์น่าไว้วางใจอยู่หรือไม่

พวกสื่ออเมริกันพากันร้องโวยวายว่า ร่างกฎหมายเยอรมันฉบับนี้ เป็น “ความพ่ายแพ้ปราชัยสำหรับคณะบริหารสหรัฐฯชุดที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง” ดังเช่นที่ วิลเลียม บอสตัน (William Boston) เขียนเอาไว้ใน วอลล์สตรีทเจอร์นัล (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/huawei-gets-conditional-green-light-in-germany-as-government-approves-security-bill-11608117504?page=1) ทั้งนี้เห็นกันว่ารัฐบาลแมร์เคิลอาจจะตัดสินใจแตกต่างออกไปจากนี้ ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะได้รับเลือกตั้งอีกสมัย

เอเชียไทมส์ เป็นผู้เสนอข่าวเรื่องร่างกฎหมายนี้เป็นรายแรกในบรรดาสื่อทั่วโลก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน (ข้อเขียนเรื่อง Huawei hits 5G critical mass with Germany’s approval https://asiatimes.com/2020/11/huawei-hits-5g-critical-mass-with-germanys-approval/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยคือเรื่อง ‘หัวเว่ย’กำลังจะติดปีกบินในเรื่อง‘5จี’ เมื่อ‘เยอรมนี’แสดงท่าทีว่าไม่รังเกียจที่ยักษ์จีนรายนี้จะเข้าไปร่วมสร้างเครือข่าย https://mgronline.com/around/detail/9630000124964) หลังจากสำเนาของร่างกฎหมายฉบับนี้รั่วไหลออกมาในเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแมร์เคิล และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ พีเทอร์ อัลต์ไมเออร์ (Peter Altmaier) ผู้สนับสนุนให้นำเอา หัวเว่ย เข้ามาร่วมในการสร้าง 5จี ของประเทศด้วย ได้ประสบกับการคัดค้านต่อต้านจากทั้งสองปีกของปริมณฑลทางการเมืองของเยอรมนี โดยที่พวกสมาชิกพรรคโซเชียลเดโมแครต และพรรคกรีน ในรัฐสภานั้น ไม่พอใจเรื่องที่หัวเว่ยขายอุปกรณ์ให้แก่ประดาหน่วยงานความมั่นคงของจีน ขณะที่บางส่วนของพวกสมาชิกพรรคคริสเตียนเดโมแครต ของแมร์เคิล เอง สนับสนุนข้อเรียกร้องของฝ่ายอเมริกันที่จะให้กีดกัน หัวเว่ย ออกไปด้วยเหตุผลข้ออ้างด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ถึงแม้เงื่อนไขด้านความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้ในร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้ ถูกมองว่ามีความยุ่งยากลำบากทีเดียวในการปฏิบัติตาม แต่มันก็สอดคล้องเข้ากันได้กับยุทธศาสตร์ของหัวเว่ยที่กำลังหาทางให้งานการตรวจเช็กด้านความมั่นคงปลอดภัยนั้น ดำเนินการโดยพวกห้องแล็ปอิสระ ประชาคมข่าวกรองอเมริกันตั้งข้อหากล่าวโทษบริษัทจีนรายนี้ว่ากำลังวางอุบายมุ่งโจรกรรมข้อมูลที่รับส่งผ่านฮาร์ดแวร์ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิต และพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้อ้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ได้พบหลักฐาน “คาหนังคาเขา” เกี่ยวกับความสามารถของหัวเว่ยในการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร ในรูปของ “ประตูหลัง” สำหรับให้พวกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถเฝ้าติดตามการสื่อสารผ่านอุปกรณ์ของหัวเว่ยได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/u-s-officials-say-huawei-can-covertly-access-telecom-networks-11581452256)

พวกเจ้าหน้าที่หัวเว่ยตอบโต้สวนกลับว่า บริษัทถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อมีข้อเรียกร้องอันชอบด้วยกฎหมายจากทางตำรวจ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะที่แห่งหนไหนก็ตามซึ่งบริษัทดำเนินงานอยู่ อีกทั้งกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยลักษณะเช่นนี้ก็จะกำหนดเรียกร้องอย่างเดียวกันจากผู้จัดหาจัดจำหน่ายอุปกรณ์เทเลคอมทุกๆ รายเสมอหน้ากันหมด ขณะที่พวกลูกจ้างพนักงานของหัวเว่ยจะสามารถเข้าถึงการจราจรของเครือข่ายได้ ต่อเมื่อเหล่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายดำเนินการเรียกร้องอย่างถูกต้องชอบธรรมเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ถ้าหาก หัวเว่ย สามารถฟันฝ่าผ่านรั้วกั้นเหล่านี้ของเยอรมนีได้ อย่างที่พวกเจ้าหน้าที่บริษัทพากันทำนายเอาไว้ บริษัทก็จะสามารถอ้างได้ว่า การทดสอบที่เข้มงวดกวดขันของแดนดอยช์ คือสิ่งซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ของวอชิงตันที่ว่าหัวเว่ยมีเจตนารมณ์ซึ่งมุ่งประสงค์ร้ายนั้นไม่มีมูลความจริง

ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่โพสต์บนเว็บไซต์ของหัวเว่ยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แอนดี้ เพอร์ดี้ (Andy Purdy) ประธานเจ้าหน้าที่ความมั่นคงปลอดภัยของบริษัท บอกว่า “ประเทศอื่นๆ ต่างต้อนรับเห็นดีเห็นงามกับการใช้วิธีการทดสอบที่เป็นรูปแบบหนึ่งเดียวกับบริษัทผู้จัดหาผู้จำหน่ายรายต่างๆ –ไม่มีการแบ่งแยกจำแนกโดยพิจารณาจากประเทศต้นกำเนิดของพวกเขา ... หัวเว่ย ยังได้เปิดศูนย์ทดสอบแห่งหนึ่งขึ้นในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว และอีกแห่งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ตอนก่อนหน้านี้ของปีนี้ บริษัทควรที่จะสามารถเปิดศูนย์ทำนองเดียวกันนี้ขึ้นมาในสหรัฐฯด้วย อย่างน้อยที่สุด สหรัฐฯควรที่จะใช้แบบแผนวิธีการทำนองเดียวกับที่เยอรมนีใช้อยู่ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้จัดหาจัดจำหน่ายอุปกรณ์เทเลคอมทุกๆ รายไปจัดตั้งพวกแล็ปที่ให้ตรวจพิสูจน์กันได้อย่างเป็นอิสระขึ้นมา โดยที่แล็ปเหล่านี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญฝ่ายที่สาม สามารถที่จะตรวจสอบกลั่นกรองโค้ดเพื่อดูจุดอ่อนเปราะต่างๆ ได้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/us/facts/news-opinions/2019/america-should-embrace-huawei-and-new-testing-standards)

พวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสหรัฐฯได้ปฏิเสธเรื่อยมาไม่ยอมรับข้อเสนอของ หัวเว่ย ในเรื่องการจัดให้มีการทดสอบอย่างอิสระ มีบางรายชี้ว่า “พวกประตูหลัง” บนชิปคอมพิวเตอร์ที่ตัวมันเองมีความละเอียดซับซ้อนอยู่แล้ว เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถตรวจสอบพบได้ในทางปฏิบัติ ในรายงานการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เมื่อปี 2016 แสดงให้เห็นว่า สามารถที่จะนำเอา “ประตูหลัง” ซึ่งบังคับสั่งการจากทางไกลได้ มาฝังอยู่ท่ามกลางตัวทรานซิสเซอร์จำนวนเป็นพันๆ ล้านตัวที่อยู่บนชิปตัวหนึ่งๆ โดยที่ประดาจอภาพรักษาความปลอดภัยที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ไม่สามารถมองเห็น (ดูเพิ่มเติมได้ที่http://www.ieee-security.org/TC/SP2016/papers/0824a018.pdf)

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเขียนเอาไว้ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดตั้งชิป อย่างผิดพลาด (ทั้งโดยเจตนาและอื่นๆ) พวกบริษัทออกแบบชิปจึงพึ่งพาอาศัยการทดสอบภายหลังการผลิตเป็นตัวชิปออกมาแล้ว โชคร้ายที่การทดสอบประเภทนี้ ยังคงปล่อยให้ประตูเปิดกว้างสำหรับการดัดแปลงต่างๆ ที่มีจุดประสงค์ในทางร้าย เนื่องจากผู้เข้าโจมตีสามารถจัดวางกำหนดให้การโจมตีจุดชนวนเปิดฉากขึ้นมาได้ ต่อเมื่อเกิดมีเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ต่อเนื่องกันอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ทดสอบจะไม่เคยเผชิญมาก่อนแม้กระทั่งจะเป็นผู้ทดสอบที่มีความเฉลียวฉลาดที่สุด”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯโต้แย้งว่า ถ้าประตูหลังที่แอบฝังอยู่ในพวกชิปละอียดซับซ้อนทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจตรวจพบได้ การพิสูจน์ตรวจสอบกันอย่างเป็นอิสระที่ หัวเว่ย เสนอ ก็ย่อมไม่สามารถไว้วางใจได้ ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยรายอื่นๆ ติงว่าข้อโต้แย้งเช่นนี้กลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ทั้งการอนุญาตและการปฏิเสธการใช้ หัวเว่ย ทั้งนี้ลูกจ้างพนักงานเพียงคนเดียวในโรงงงานผลิตชิปในไต้หวัน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักของพวกชิปประณีตซับซ้อนที่ใช้ในการให้พลังเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหลายนั้น ย่อมสามารถที่จะแอบสอดแทรก “ประตูหลัง” เข้าไปในชิปตัวหนึ่งซึ่งมีจุดหมายปลายทางเพื่อใช้ในเครือข่ายของผู้จัดหาจัดจำหน่ายอุปกรณ์รายใดก็ได้ ดังนั้น การสั่งห้ามอุปกรณ์หัวเว่ยจะไม่ทำให้เครือข่ายต่างๆ มั่นคงปลอดภัยขึ้นมา เนื่องจากตัวแสดงที่ประสงค์ร้ายยังคงสามารถแทรกซึมนำเอาชิปที่มีจุดอ่อนรูรั่วเข้าไปยังอุปกรณ์ของรายอื่นๆ ได้เช่นกัน

ปัจจุบัน ดอยเชอ เทเลคอม (Deutsche Telekom) ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี พึ่งพาอาศัย หัวเว่ย สำหรับอุปกรณ์เครือข่าย 4จีประมาณสองในสามที่บริษัทใช้งานอยู่ในเวลานี้ สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ที่เหลืออีก 2 ราย ได้แก่ โวดาโฟน (Vodaphone) และ เทเลฟอนิกา (Telefonica) หัวเว่ยก็เป็นผู้จัดหาจัดจำหน่ายอุปกรณ์ให้ราวๆ ครึ่งหนึ่ง ขณะที่เครือข่าย 5จี ใหม่จำเป็นจะต้องสามารถสื่อสารกับระบบ 4 จีเดิม ด้วยเหตุนี้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดอุปกรณ์ หัวเว่ย ให้สิ้นซากไปจึงจะอยู่ในระดับที่สูงมากทีเดียว

ร่างกฎหมายที่เสนอกันคราวนี้ระบุว่า สามารถที่จะกีดกันผู้จัดหาจัดจำหน่ายเครือข่ายรายใดก็ตาม ไม่ให้เข้าร่วมในการสร้างระบบของเยอรมนีได้ “เมื่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างโดดเด่นชัดเจน โดยเฉพาะผลประโยชน์แห่งความมั่นคงปลอดภัยของสหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนีคัดค้านการอนุญาตให้เข้ามาร่วม” โทมัส ไรชอาร์ท (Thomas Reichart) เขียนลงในหนังสือพิมพ์รายวัน ซูดดอยเชอ ไซตุง (Südduetsche Zeitung) ออกในเมืองมิวนิก
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ว่า พวกผู้จัดหาจัดจำหน่ายอุปกรณ์ “จะถูกตรวจสอบในเรื่องความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้ทางการเมือง เช่นเดียวกับความไว้วางใจได้ในทางเทคนิค ... การทดสอบเรื่องความไว้วางใจได้ในทางการเมืองคือปัญหาใหญ่สำหรับหัวเว่ย ... กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนนั้นผูกพันให้ หัวเว่ย ต้องจัดหาจัดส่งข้อมูล เมื่อทางการผู้รับผิดชอบของจีนเรียกร้องต้องการข้อมูลเหล่านี้”

ในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์อยู่ในเว็บไซต์ภาษาเยอรมันของบริษัท หัวเว่ย อ้างว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนฉบับดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะการดำเนินงานของบริษัทในจีนเท่านั้น และสำนักงานสาขาเยอรมันของตนในเมืองดุสเซลดอร์ฟ “ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมายจีน ไม่ได้ขึ้นกับข้อกำหนดเรียกร้องให้ร่วมมือจากกฎหมายจีน หากแต่ขึ้นกับกฎหมายเยอรมันเท่านั้น”

เงื่อนไขในทางการเมืองที่ระบุอยู่ในร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้ คือการยินยอมอ่อนข้อให้แก่พวกสมาชิกพรรคซีดียูของแมร์เคิล ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นพวกสนับสนุนข้อเรียกร้องของวอชิงตันที่ให้แบน หัวเว่ย อย่างสิ้นเชิง ทว่ามันไม่น่าที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อเนื่องอะไรในทางปฏิบัติ กิจการในเครือหัวเว่ยที่ตั้งอยู่ในเยอรมนี คือบริษัทเยอรมันภายใต้กฎหมายของเยอรมนี ดังนั้น หากไม่เกิดกรณีที่การตรวจสอบทางเทคนิคเปิดโปงให้ทราบว่ามีการกระทำผิดละเมิดกฎหมายของเยอรมนีแล้ว ก็จะเป็นการยากลำบากสำหรับรัฐบาลเยอรมนีไม่ว่าชุดไหนก็ตาม ที่จะพิสูจน์สาธิตให้เห็นจริงเห็นจังได้ว่า หัวเว่ย ไม่น่าเชื่อถือไม่น่าไว้วางใจในทางการเมือง

เยอรมนีกำลังพึ่งพาการค้าส่งออกไปยังจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2020 นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนสามารถขยายตัวได้ขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้ารายอื่นๆ ของเยอรมนีกลับเกิดการหดตัวเป็นแถวๆ  ทั้งนี้เยอรมนีส่งออกสินค้าไปยังจีนคิดเป็นมูลค่า 110,100 ล้านยูโรในปี
2019 เปรียบเทียบกับ 71,300 ล้านยูโรที่ส่งไปยังสหรัฐฯ  การส่งออกของเยอรมนีไปยังจีนเพิ่มขึ้นมา 13% ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2019 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2020 ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯแน่นิ่งเท่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

เรื่องที่สำคัญพอๆ กันกับการส่งออกของเยอรมนีไปยังจีน ก็คือ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเยอรมันที่ผลิตขึ้นในประเทศจีน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงรถยนต์ โดยที่ยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในจีนนั้นเป็นรถเยอรมันถึงหนึ่งในสาม พวกผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนีพึ่งพาอาศัย เทคโนโลยีจีนเป็นอย่างมาก รวมทั้งเรื่องแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในรถเยอรมัน พวกเจ้าหน้าที่จีนเคยเตือนรัฐบาลเยอรมนีว่า จะ “เกิดผลพวงต่อเนื่องอย่างได้สัดส่วนกัน” ขึ้นมา ถ้าหากเบอร์ลินกีดกัน หัวเว่ย โดยสันนิษฐานกันว่าปักกิ่งจะตอบโต้โดยใช้วิธีเล่นงานลงโทษพวกบริษัทเยอรมนี เวลานี้ประชาคมธุรกิจของแดนดอยช์จึงพากันล็อบบี้คัดค้านการกีดกัน หัวเว่ย ออกไป

เศรษฐกิจของเยอรมนีมีการบูรณาการเข้ากับจีนในระดับสูงมาก จนกระทั่งถ้าเกิดการแตกหักในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็จะสร้างความเจ็บปวดเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ยุโรปกำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยสืบเนื่องจากโควิด-19 นอกจากนั้น เพราะเยอรมนีล้าหลังในเรื่องบรอดแบนด์เคลื่อนที่ จึงวาดวังที่จะปรับปรุงยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของตน ด้วยการนำเอาบรรดาเทคโนโลยีแห่งการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมยุคที่ 4 เข้ามาใช้ โดยรวมไปถึง แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ใช้กับการผลิตทางอุตสาหกรรม, การวิจัยทางเวชภัณฑ์, และด้านโลจิสติกส์ แรงดึงดูดอย่างมหาศาลของจีนทั้งในเรื่องที่มีตลาดภายในบ้านซึ่งกำลังขยายตัวไปไม่หยุด และทั้งการอยู่ในตำแหน่งนำในเทคโนโลยีดิจิตอลสำคัญๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่เยอรมนียากจะต้านทาน ถึงแม้สาธารณชนชาวเยอรมันมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจจีนกันอย่างกว้างขวางก็ตามที

ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ไม่ได้ไว้วางใจจีน กระนั้น ความคิดเห็นของพวกเขาต่อสหรัฐฯก็ไม่ได้ดีกว่ากันเท่าใดนัก เมื่อไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจอย่างแรงกล้าทั้งต่อวอชิงตันและต่อปักกิ่ง
ชาวเยอรมันจึงเลือกที่จะเดินตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกตนเป็นสำคัญ

ผลการสำรวจความคิดเห็นที่ได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป และนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.faz.net/aktuell/politik/ausland/umfrage-in-deutschland-skepsis-gegenueber-peking-17057189.html) พบว่ามีชาวเยอรมันเพียงแค่ 35.4% ที่มีความคิดเห็นในทางบวกต่อจีน กระนั้นพวกเขาซึ่งมีความคิดเห็นในทางบวกต่อสหรัฐฯก็อยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ 39.2% ผู้ตอบคำถามในการสำรวจคราวนี้ 46% บอกว่าความเห็นของพวกเขาต่อจีนเลวร้ายลงในช่วงปีที่ผ่านมา และมีชาวเยอรมัน 62.5% กล่าวว่าพวกเขามีทัศนะในทางลบต่อจีน เปรียบเทียบกับ 54.1%
ซึ่งมีทัศนะในทางลบต่อสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น