(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Germany plays more aggressive hand toward Iran
by MK Bhadrakumar
12/12/2020
เยอรมนีกำลังแสดงตัวมุ่งมาดก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสหภาพยุโรปอย่างเต็มตัว โดยที่ในระยะเฉพาะหน้า ท่าทีของเบอร์ลินต่อประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่อนัยถึงความเป็นไปได้ที่ว่าอียูจะมีนโยบายใหม่ในเรื่องนี้
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวคำปราศรัยที่กรุงมอสโกเมื่อวันอังคารที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของฝ่ายตะวันตกในระยะหลังๆ มานี้ ที่จะธำรงรักษาโมเดลระเบียบโลกแบบที่มีขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียว (unipolar world order) เอาไว้ต่อไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mid.ru/en_GB/foreign_policy/news/-/asset_publisher/cKNonkJE02Bw/content/id/4470074)
เขากล่าวว่า อาการที่สหภาพยุโรปอ้อยอิ่งอยู่ในแนวความคิดที่ว่าตนเองกำลังเป็นขั้วอำนาจขั้วหนึ่งในระบบโลกซึ่งประกอบด้วยขั้วอำนาจหลายๆ ขั้ว (multipolar system) นั้นกำลังจางคลายลงไปแล้ว พร้อมกันนั้นเขาก็เตือนว่าเยอรมนีกำลังดำเนินนโยบายหลายๆ ประการในช่วงไม่นานมานี้ ซึ่งอยู่ในทิศทางของการสงวนรักษา “การกล่าวอ้างความเป็นผู้นำอย่างสมบูรณ์ของตน” ต่ออียู
มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วย จากการที่สหราชอาณาจักรประกาศอำลาออกจากอียูไป ส่วนฝรั่งเศสก็ต้องยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ในวิกฤตการณ์ภายในประเทศ มันจึงเหมือนกับถึงเวลาแล้วสำหรับเยอรมนี ที่จะประกาศกล่าวอ้างความเป็นผู้นำของยุโรป แต่ว่าแม่พิมพ์ของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตซึ่งก่อให้เกิดความไม่สบายใจในเวลานี้ก็คือ ความหวั่นเกรงว่าเยอรมนีจะหวนกลับคืนอย่างแข็งกร้าวไปสู่ลัทธิทหาร (militarism)
เพียงเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี อานเนเกรท ครามป์-คาร์เรนเบาเออร์ (Annegret Kramp-Karrenbauer) ได้ออกมาเรียกร้องให้เพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารอย่างมโหฬาร ถึงแม้ในเวลานี้กำลังมีโรคระบาดใหญ่โควิด-19
ลัทธิทหารของเยอรมันนั้นได้นอนสงบนิ่งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว และเพื่อไม่ให้หลงลืมกันไป เราควรตระหนักว่า กองทัพเยอรมนี (Bundeswehr) ในปัจจุบันนั้น เมื่อตอนช่วงก่อตั้งในปี 1955 มีนายทหารระดับนายพลที่สาบานตัวแสดงความจงรักภักดีรวม 44 คน โดยทั้งหมดต่างเคยสังกัดอยู่กับแวร์มัคท์ (Wehrmacht กองทัพนาซีเยอรมัน) ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จำนวนมากที่สุดมาจากฝ่ายเสนาธิการของแวร์มัคท์
สำหรับทหารอาชีพจำนวน 14,900 คนซึ่งเป็นนายทหารของกองทัพเยอรมนีในปี 1959 มีอยู่ 12,360 คนเคยเป็นนายทหารในแวร์มัคท์ ในจำนวนนี้ 300 คนมาจากฝ่ายนำของกองกำลัง เอสเอส ที่น่าสะพรึงกลัว
ไม่ต้องสงสัยเลย เยอรมนีทำได้ดีในการหลีกเร้นทำให้ไม่เป็นที่สนใจสงสัย รวมทั้งปกปิดซุกซ่อนข้อเท็จจริงที่ว่า กองทัพเยอรมนี (Bundeswehr) กำลังเป็นความต่อเนื่องของกองทัพแวร์มัคท์ (Wehrmacht)
ย้อนหลังกลับไปในปี 2005 นิตยสารชปิเกล (Spiegel) เขียนเอาไว้ว่า “ทุกวันนี้กองทัพเยอรมนี (Bundeswehr) ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทรงอำนาจที่สุดเท่าที่มีกันอยู่สำหรับเหล่านักวางนโยบายการต่างประเทศชาวเยอรมัน นับตั้งแต่การรวมประเทศเป็นต้นมา องค์การที่ครั้งหนึ่งเคยอุ้ยอ้ายงุ่มง่าม ในฉับพลันทันทีนั้นก็ได้เข้าสู่กระบวนการของการรีดไขมันให้เพรียวลม, การปรับปรุงสู่ความทันสมัย, และการยกระดับทางเทคนิค ... กองทัพเยอรมนี ... กำลังวิวัฒนาการจากกองกำลังอาวุธเพื่อการป้องกันไปเป็นกองทัพของนักแทรกแซงในต่างแดน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spiegel.de/international/spiegel/spiegel-special-the-germans-germany-s-bundeswehr-steps-out-on-the-global-stage-a-360869.html)
เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในระยะไม่กี่ปีหลังสุดนี้ ประเพณีต่างๆ ของชนชั้นนำเยอรมันและลัทธิทหารของชนชั้นนี้ได้เริ่มต้นปรากฏตัวออกมาให้พบเห็น เรากำลังเป็นประจักษ์พยานของการที่กองทัพเยอรมนีเปลี่ยนโฉมแปลงร่างกลายเป็นเครื่องจักรแห่งสงครามซึ่งมีศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ต่างๆ ของเยอรมนีในตลอดทั่วโลก
ในคำปราศรัยเมื่อเดือนที่แล้วเนื่องในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปีของการก่อตั้งกองทัพเยอรมนี ประธานาธิบดี แฟรงค์-วอลเทอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) กล่าวว่า แม้กระทั่งภายใต้ยุคสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน ยุโรปก็จะไม่ได้มีความสำคัญต่อสหรัฐฯเหมือนอย่างที่เคยเป็นในอดีต และด้วยเหตุนี้ “ผมจึงมองประเทศชาติของเราว่ากำลังจะต้องมีความรับผิดชอบในสองส่วน” – ส่วนหนึ่งได้แก่การที่เยอรมนีจะต้องเป็นผู้นำของยุโรป และอีกส่วนหนี่งคือการที่เบอร์ลินจะต้องมีบทบาทอันเข้มแข็งยิ่งขึ้นภายในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)
งบประมาณด้านกลาโหมของเยอรมนีได้เพิ่มขึ้นมา 10% ในปีที่แล้ว สไตน์ไมเออร์บอกว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรมแล้วที่ทหารทั้งหลายต้องมี “สิทธิที่จะได้รับการประกอบอุปกรณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ซึ่งประเทศชาติแห่งนี้สามารถจัดหาให้แก่พวกเขา อุปกรณ์ที่จะทำให้พวกเขาได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสามารถทำให้พวกเขาเติมเต็มภารกิจต่างๆ ที่ได้รับการกำหนดจากปริมณฑลทางการเมือง”
เขาบอกอีกว่า “ประสบการณ์ต่างๆ ของทหารผู้ซึ่ง ... เข้าทำหน้าที่ในการสู้รบ อันทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บในทางกายภาพหรือในทางจิตวิทยา ... ก่อรูปขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของพวกเรา นี่ไม่ได้เป็นเพียงบางสิ่งบางอย่างที่เราสามารถคาดหวังได้ของสังคมของเราเท่านั้น แต่มันยังควรเป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญต่อสังคมของเราอีกด้วย สังคมนั้นเป็นหนี้พวกท่านสำหรับความเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆ เช่นนี้ และความสนใจเช่นนี้”
ประเพณีต่างๆ ที่กำลังสร้างความหนาวสะท้านให้ย้อนระลึกไปถึงช่วงทศวรรษ 1930 (ช่วงที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นำพรรคนาซีขึ้นครองอำนาจในเยอรมนี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Nazi_Germany -หมายเหตุผู้แปล) กำลังเผยโฉมออกมาให้เห็นกันอีกแล้ว –อันได้แก่ประเพณีของการที่ชนชั้นนำชนชั้นผู้ปกครองต้องรบเร้าประชาชาติเยอรมันทั้งหมดทั้งปวง ระบุตัวตนเข้ากับลัทธิทหาร ความหมายโดยนัยของสิ่งนี้ทั้งหมดน่าจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในนโยบายทั้งหลายของเยอรมนีในเวลาต่อไป
สำหรับในเฉพาะหน้านี้ จุดยืนของอียูต่อสถานการณ์รายรอบอิหร่านกำลังกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดขึ้นมา ท่าทีของเยอรมนีต่อประเด็นปัญหานิวเคลียร์อิหร่านได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย กำลังส่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่อียูจะมีนโยบายใหม่ ซึ่งมุ่งเสาะแสวงหาทางทำให้สำเร็จในสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯประสบความล้มเหลวมาแล้ว จากการรณรงค์ผลักดันสิ่งที่เรียกกันว่า “การสร้างแรงกดดันสูงสุด”
(maximum pressure) ต่อเตหะราน
ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร แดร์ ชปิเกล เดือนธันวาคมนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spiegel.de/international/germany/germany-s-foreign-minister-on-the-future-of-trans-atlantic-relations-a-68d28367-ae98-4785-bebf-6dbad3990b26) รัฐมนตรีต่างประเทศ ไฮโค มาส (Heiko Maas) ของเยอรมนีกล่าวว่า “การหวนกลับไปสู่ข้อตกลงก่อนหน้านี้ (ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015) ถึงอย่างไรก็จะไม่เป็นการเพียงพอ มันจะต้องมีข้อตกลงประเภท “ข้อตกลงนิวเคลียร์พลัส” (nuclear agreement plus) ขึ้นมา ซึ่งนี่ก็เป็นความสนใจของเราเช่นกัน
“เรามีความคาดหวังต่ออิหร่านอย่างชัดเจน นั่นคือ ต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แล้วยังต้องไม่มีโครงการขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ซึ่งคุกคามทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย อิหร่านยังจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทในภูมิภาคที่แตกต่างออกไปจากเดิม เราต้องการได้ข้อตกลงเช่นนี้ซึ่งมีความละเอียดชัดเจน เนื่องจากเราไม่ไว้วางใจอิหร่าน ผมได้มีการติดต่อประสานงานเอาไว้เรียบร้อยแล้วกับท่านรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสและของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับเรื่องนี้”
นี่ถือเป็นครั้งแรกทีเดียวที่รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีข้อตกลงกับอิหร่าน “ที่ดีขึ้นกว่าข้อตกลงเดิม” เวลาเดียวกันนั้น มิเกล แบร์เกอร์ (Miguel Berger) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี (secretary of state of the German Foreign Office) ยังได้เน้นย้ำข้อความที่ มาส เรียกร้อง โดยเขาให้คำมั่นว่าจะแสดง “ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างหนักแน่น” ต่อบทบาทของอิหร่านในภูมิภาค “ด้วยมาตรการแซงก์ชั่นถ้าหากมีความจำเป็น”
จุดที่สำคัญซึ่งควรต้องพิจารณากันก็คือ ข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ของทางเยอรมนี ดูเหมือนจะพูดอยู่ภายในบริบทของการระบุว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการ “อัปเดต” ข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งทำไว้กับอิหร่าน แต่นี่คือจุดยืนแบบพวกมือถือสากปากถือศีลโดยแท้ เนื่องจากเยอรมนีก็(เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตะวันตก) ที่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถกระทำตามคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่ได้ให้ไว้ในข้อตกลงปี 2015 อีกทั้งมีความตระหนักเป็นอย่างดีถึงความระแวดระวังของอิหร่านในการเข้าสู่การเจรจาใหม่ๆ ใดๆ กับฝ่ายตะวันตก สืบเนื่องจากเจอประสบการณ์ที่กำลังถูกพวกผู้ร่วมลงนามรายอื่นๆ ทรยศหักหลังไม่กระทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนั้น
ว่ากันถึงระดับพื้นฐานเลย เยอรมนีดูเหมือนมีความหวั่นเกรงไม่ต้องการเห็นอิหร่านที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งอาจกลายเป็นตัวสกัดขัดขวางลัทธิแผ่ขยายอำนาจ (expansionism) ในอนาคตของเยอรมนีเอง ในภูมิภาคต่าง ๆ รายรอบอิหร่าน ทั้งนี้เยอรมนีทราบดีอยู่เต็มอกว่าอิหร่านไม่ได้กำลังมุ่งหน้าต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครอง ขณะที่ในทางตรงกันข้าม เรื่องที่เยอรมนีมีแผนการอยู่หรือไม่ที่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางของการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ในช่วงใดช่วงหนึ่งข้างหน้านั้น ยังเป็นประเด็นปัญหาที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า เยอรมนีไม่ได้เพียงแต่ไม่พร้อมที่จะเข้ามีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังกับอิหร่านเท่านั้น หากดูเหมือนกับไม่ได้รู้สึกต้องรีบร้อนอะไรในการผลักดันสหรัฐฯให้กลับคืนเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอีกด้วย ทั้งนี้ มันไม่สามารถมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลอย่างอื่นใดได้ เมื่อพิจารณาจากคำแถลงร่วมในวันที่ 7 ธันวาคมของกลุ่ม อี3 (E3 หมายถึง เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสหราชอาณาจักร) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.auswaertiges-amt.de/en/newsroom/news/e3-jcpoa/2424078) ซึ่งไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเอาเลยภายใต้สภาวการณ์ที่มองเห็นกันได้ชัดๆ อยู่แล้วว่า สิ่งที่ต้องทำก่อนอื่นใดเลยได้แก่การที่คณะบริหารไบเดนต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จับต้องได้เพื่อยุติภาวะชะงักงัน และเปิดทางให้เกิดการเจรจาหารือกันขึ้นมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เบอร์ลินยังทำให้สถานการณ์ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นอีก จากการออกมาเรียกร้องให้เตหะรานต้องยินยอมอ่อนข้อเรื่องใหม่ๆ อันเกี่ยวข้องกับพวกประเด็นปัญหา “ที่ไม่ใช่เรื่องนิวเคลียร์” อื่นๆ เป็นต้นว่า โปรแกรมขีปนาวุธทิ้งตัวของอิหร่าน และอิทธิพลในภูมิภาคของอิหร่าน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิบัติการร่วมอย่างรอบด้านปี 2015” (the 2015 Joint Comprehensive Plan of Action ใช้อักษรย่อว่า JCPOA ชื่ออย่างเป็นทางการของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ซึ่งอิหร่านทำกับ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นอันได้แก่ สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส บวกด้วยเยอรมนี -ผู้แปล) ถ้าหากเยอรมนีต้องการที่จะกระทำการด้วยความสุจริตใจแล้ว ข้อความที่พวกเขาส่งออกมาก็ควรมุ่งเน้นโฟกัสไปที่การเร่งเร้าสนับสนุนให้ไบเดนเข้าร่วมใน JCPOA อย่างรวดเร็วและอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ อีก
ในเวลาเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม เยอรมนีได้จัดส่งเรือรบเทคโนโลยีก้าวหน้าที่ผลิตในเยอรมนีลำแรกจากจำนวนทั้งสิ้น 4 ลำ ไปให้แก่อิสราเอล เรือรบนี้ติดตั้งอุปกรณ์อย่างจรวดและขีปนาวุธระบบป้องกัน, ขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานและต่อสู้เรือ, ตอร์ปิโด, และแท่นส่งอากาศยานที่ได้รับการอัปเกรดแล้วสำหรับรองรองเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นล่าสุดของอิสราเอล
ผู้บัญชาการทหารของอิสราเอล พลโท อาวิฟ โคฮาวี (Lieutenant-General Aviv Kohavi) พูดถึงเรือรบติดอาวุธที่ล้ำสมัยได้จากเยอรมนีเหล่านี้ว่าเป็น “หนึ่งในเครื่องจักรสงครามที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างสำคัญ สำหรับความสามารถของกองทัพอิสราเอลที่จะรับประกันความแข็งแกร่งของเราในท้องทะเลและในการปฏิบัติการทางนาวี” (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://abcnews.go.com/International/wireStory/israeli-navy-welcomes-generation-german-made-warships-74508977)
ส่วนสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า เยอรมนีกำลังปฏิเสธไม่ยอมรับแนวโน้มทางภววิสัยของการมุ่งไปสู่การก่อตัวของโลกชนิดที่มีขั้วอำนาจหลายขั้ว
แผนการเล่นของเยอรมนีก็คือ ในด้านหนึ่งตนเองจะกลายเป็นผู้นำของอียูชนิดที่ยึดถือเอาอธิปไตยของยุโรป (European sovereignty) เป็นภาษิตหลักแห่งความประพฤติของตน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสาหลักยุโรปขององค์การนาโต้ ซึ่งจะทำให้เยอรมนีสามารถเดินหน้านโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่เขตซาเฮล (Sahel แถบพื้นที่ตั้งแต่ทะเลทรายสะฮารา ทางตอนเหนือ ลงมาจนถึงทุ่งหญ้าซาวันนาซูดาน ทางตอนใต้ มีลักษณะเป็นแถบพาดขวางแบ่งทวีปแอฟริกา ออกเป็นส่วนเหนือและส่วนใต้ ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนทะเลแดง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Sahel -ผู้แปล) ไปจนถึงทะเลเมดิเตอเรเนียน ตลอดจนตะวันออกใกล้ และตะวันออกกลาง
เยอรมนีจะนิยามผลประโยชน์แห่งนโยบายภูมิภาคของตนร่วมกันกับสหรัฐฯ ทว่าในลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนซึ่งมีความสมดุลยิ่งขึ้น โดยที่ตนเองจะต้องแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในการดำเนินการตัดสินใจทางการเมือง
(ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นมาจาการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างเว็บไซต์อินเดียนพันช์ไลน์
(https://indianpunchline.com/) กับ โกล็บทร็อตเทอร์ (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) และจัดส่งมาให้แก่เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย