xs
xsm
sm
md
lg

จลาจล! คนงานอาละวาดก่อจลาจลปล้นสะดมโรงงานไอโฟน แค้นไม่ได้รับค่าจ้าง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่ประกาศปราบปรามพวกคนงานที่พากันออกอาละวาด ก่อความรุนแรงและปล้นสะดมโรงงานไอโฟนแห่งหนึ่งที่บริหารงานโดยชาวไต้หวัน ทางภาคใต้ของอินเดีย กล่าวอ้างว่าไม่ได้รับค่าจ้างและแสวงหาผลประโยชน์ โดยจนถึงตอนนี้สามารถจับผู้ก่อความไม่สงบได้ราวๆ 100 คน

พวกคนงานก่อจลาจลที่โรงงานของบริษัท วิสตรอน อินโฟคอมม์ แมนูแฟกเจอริง ชายเมืองเบงกาลอร์ ศูนย์กลางไอทีของอินเดียเมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) ที่ผ่านมา โดยปรากฏวิดีโอเหตุการณ์ความรุนแรงบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพบานกระจกถูกทุบด้วยท่อนเหล็ก และรถยนต์หลายคันพลิกเอียงข้าง

นอกจากนี้ ในคลิปที่แชร์กันบนสื่อสังคมออไลน์ยังพบเห็นกล้องวงจรปิด, พัดลม และหลอดไฟโดนเล่นงานได้รับความเสียหาย และมีรถยนต์คันหนึ่งถูกจุดไฟเผาด้วย

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า พวกคนงานไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว แถมยังถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา “เวลานี้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว เราตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อสืบสวนเหตุการณ์นี้” เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นเปิดเผยกับเอเอฟพีในวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) พร้อมระบุไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ


รองมุขมนตรีรัฐกรณาฏกะ เรียกสถานการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ว่า “ป่าเถื่อน” และบอกว่ารัฐบาลของเขาจะหาทางรับประกันว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอย่างรวดเร็ว “เราจะรับประกันว่าสิทธิของแรงงานทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม และพวกเขาจะได้รับการเคลียร์ค่าจ้างทั้งหมด” เขาเขียนบนทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.)

ทางสำนักงานบริษัท วิสตรอน ในไต้หวัน กล่าวอ้างกับเอเอฟพีว่า “เหตุการณ์นี้มีต้นตอจากบุคคลนิรนามจากภายนอกที่บุกรุกเข้ามาและก่อความเสียหายแก่โรงงานในเจตนาที่ไม่ชัดเจน” พร้อมระบุในถ้อยแถลงเป็นภาษาจีนว่า “ทางบริษัทสัญญาว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานท้องถิ่นและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อกลับสู่ปฏิบัติการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

แกนนำสหภาพแรงงานท้องถิ่นคนหนึ่ง กล่าวอ้างว่ามีการแสวงหาประโยชน์อย่างทารุณกับพนักงานของโรงงาน ในสภาพแวดล้อมโรงงานนรก ณ โรงงานผลิตไอโฟนของบริษัท วิสตรอน “รัฐบาลรัฐปล่อยให้บริษัทละเมิดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน” แกนนำสหภาพกล่าว

โรงงานแห่งนี้มีพนักงานราวๆ 15,000 คน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นพนักงานสัญญาจ้างผ่านบริษัทจัดหาพนักงานอีกทอดหนึ่ง

ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในภาคแรงงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอินเดีย เนื่องจากแรงงานได้รับค่าแรงระดับต่ำ และแทบไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมใดๆ เลย

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น