xs
xsm
sm
md
lg

หญิงโรฮิงญาเรียกเงินชดเชย $2 ล้านจากรัฐบาลพม่า กรณีสามีถูกทหารสังหารปี 60

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - หญิงชาวโรฮิงญากำลังพยายามที่จะเรียกเงินจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยการเสียชีวิตของสามีที่ถูกทหารของรัฐบาลสังหารระหว่างการปราบปรามในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศเมื่อปี 2560 ทนายความระบุ

องค์กร Legal Action Worldwide (LAW) และบริษัท McDermott Will & Emery ที่เป็นบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ ระบุว่า พวกเขาได้ยื่นร้องเรียนเมื่อวันพฤหัสฯ (10) ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของพม่าในนามของเซทารา เบกุม ที่เป็นสามีของโชเก็ต อุลลาห์ ซึ่งถูกสังหารที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่

คำร้องของอุลลาห์ ถือเป็นการร้องเรียนครั้งแรกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรฮิงญา ที่ถูกยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของพม่า ตามการระบุขององค์กร LAW

สามีของอุลลาห์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชายและเด็กชาย 10 คน ที่ถูกทหารและชาวบ้านสังหารและฝังในหลุมศพตื้นๆ ในเดือน ก.ย.2560 ตามการสอบสวนของรอยเตอร์

กองทัพพม่าระบุว่า กองทัพได้ตัดสินโทษกับทหารที่รับผิดชอบเหตุดังกล่าวด้วยการจำคุกและทำงานหนักเป็นเวลา 10 ปี แต่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระหลังรับโทษได้ไม่ถึง 1 ปี

“สามีของฉันถูกฆ่า และพม่าปล่อยตัวทหารพวกนั้นเป็นอิสระ ฉันกำลังแสวงหาความยุติธรรมให้แก่สามีของฉันและเพื่อชาวโรฮิงญาทุกคนที่เผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน” อุลลาห์ ระบุในคำแถลง

วา โลน และจ่อ โซ อู นักข่าวของรอยเตอร์ที่ออกรายงานสืบสวนเหตุสังหารดังกล่าว ถูกจำคุกนานกว่า 16 เดือน หลังถูกตัดสินว่าครอบครองความลับของรัฐ แต่พวกเขาได้รับการนิรโทษกรรมในเดือน พ.ค.2562

ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ถูกผลักดันให้ต้องอพยพไปบังกลาเทศ ระหว่างการปราบปรามของทหารในปี 2560 ที่สหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการประหัตประหารที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

พม่ากำลังเผชิญกับข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก และศาลอาญาระหว่างประเทศได้อนุมัติการสอบสวนการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

พม่าปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยระบุว่ากองกำลังทหารของรัฐดำเนินปฏิบัติการความมั่นคงที่ถูกต้องตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่โจมตีด่านตำรวจ

ขณะเดียวกัน อองซานซูจี ผู้นำพม่ากล่าวว่า การละเมิดใดๆ ก็ตาม สามารถจัดการโดยระบบยุติธรรมของประเทศ และเมื่อปีก่อน รัฐบาลของเธอได้เชิญให้ชาวโรฮิงญาส่งเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน.


กำลังโหลดความคิดเห็น