รัฐบาลบังกลาเทศเตรียมส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลุ่มที่ 2 ไปยังเกาะห่างไกลในอ่าวเบงกอลซึ่งถูกน้ำทะเลท่วมเป็นประจำทุกปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นห่วงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของคนไร้รัฐเหล่านี้
เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง 2 คนยืนยันว่า ชาวโรฮิงญาซึ่งหลบหนีข้ามแดนมาจากพม่ากว่า 1,100 คนจะถูกอพยพออกจากค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไปยังเกาะบาซันชาร์ (Bhasan Char) ในวันพรุ่งนี้ (29) หลังจากที่ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรก 1,600 กว่าคนถูกส่งไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
“รถบัสและรถบรรทุกถูกเตรียมเอาไว้เพื่อส่งพวกเขาและทรัพย์สินต่างๆ ของพวกเขาไปยังท่าเรือจิตตะกองในวันนี้ และคืนนี้พวกเขาจะพักกันที่นั่น เพื่อลงเรือต่อไปยังเกาะพรุ่งนี้เช้า” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศระบุ
หน่วยงานบรรเทาทุกข์และนักสิทธิมนุษยชนตำหนิการกระทำของรัฐบาลบังกลาเทศ เนื่องจากเกาะบาซันชาร์ซึ่งต้องใช้เวลานั่งเรือจากฝั่งหลายชั่วโมงเสี่ยงอันตรายจากพายุไซโคลน และมักจะถูกน้ำทะเลหลากเข้าท่วมในเวลาที่ระดับน้ำขึ้นสูง
รัฐบาลบังกลาเทศอ้างว่าพวกเขาส่งเฉพาะผู้ที่เต็มใจไปเท่านั้น และการทำเช่นนี้จะช่วยลดความแออัดในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่รวมกันมากกว่า 1 ล้านคน
โมฮัมหมัด ชัมซุด ดูซา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ ระบุว่าได้มีการสร้างเขื่อนยาว 12 กิโลเมตรเพื่อปกป้องเกาะแห่งนี้ไม่ให้ถูกน้ำทะเลท่วม และมีที่พักเพียงพอสำหรับชาวโรฮิงญาถึง 100,000 คน ส่วนใครจะไปอยู่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“ไม่มีใครถูกบังคับให้ไปที่นั่น” ดูซา กล่าว พร้อมยืนยันว่าชาวโรฮิงญาบนเกาะบาซันชาร์จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาได้มากกว่าพวกที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครบรรเทาทุกข์และผู้ลี้ภัยบางคนระบุว่า ชาวโรฮิงญาบางส่วนถูกข่มขู่ให้ย้ายไปที่เกาะดังกล่าว ซึ่งเพิ่งจะโผล่พ้นน้ำทะเลมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และยังไม่มีพลเมืองชาติใดเข้าไปอาศัยอยู่
ชาวโรฮิงญากว่า 370,000 คนต้องหอบลูกจูงหลานหนีตายออกจากพม่าเมื่อปี 2017 หลังถูกกองทัพพม่ากวาดล้างอย่างหนัก
องค์การสหประชาชาติชี้ว่า ปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาในพม่าแฝงเจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) แต่รัฐบาลพม่ายืนกรานปฏิเสธข้อครหานี้ และอ้างว่าทหารจำเป็นต้องจัดการกับพวกกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่โจมตีตำรวจ
ความพยายามส่งชาวโรฮิงญากลับไปยังถิ่นฐานเดิมในพม่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หวาดกลัวความรุนแรงและไม่ยอมที่จะกลับไปอีก
ที่มา: รอยเตอร์