สหรัฐฯกำลังเตรียมการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนอย่างน้อยสิบกว่าราย ต่อกรณีที่คนเหล่านี้มีบทบาทในคำสั่งตัดสิทธิสมาชิกฝ่ายค้านจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด 3 คน
แหล่งข่าวเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ความเคลื่อนไหวนี้ซึ่งจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุด คือ วันจันทร์ (7 ธ.ค.) จะเล็งเป้าเล่นงานบรรดาเจ้าหน้าที่จากพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเดินหน้ากดดันปักกิ่ง แม้อยู่ในสัปดาห์ท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง โดยว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีกำหนดเข้ารับหน้าที่ต่อในวันที่ 20 มกราคม
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯและทำเนียบขาวปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว
รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าว 2 คน ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่สูงสุด 14 คน ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ในรรัฐสภาของจีน หรือสภาประชาชนแห่งชาติ และสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่น่าจะตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรรอบล่าสุดนี้ อาทิอายัดทรัพย์และมาตรการลงโทษทางการเงิน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามบอกกับรอยเตอร์ว่า มีบุคคลหลายรายที่จะถูกคว่ำบาตร และบุคคลที่ใกล้ชิดกับประเด็นนี้เสริมว่ากลุ่มที่ถูกลงโทษ ในนั้นน่าจะมีทั้งเจ้าหน้าที่จากฮ่องกงและแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่ได้ระบุชื่อหรือตำแหน่งของบุคคลที่อาจตกเป็นเป้าหมายของมาตรการคว่ำบาตร
กระนั้นก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ว่าการแถลงข่าวคว่ำบาตรนี้อาจถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายสัปดาห์
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลฮ่องกงที่ได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่ง ได้ประกาศให้สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายประชาธิปไตย 4 คนขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง หลังจากรัฐสภาของจีนได้มอบอำนาจใหม่แก่เจ้าหน้าที่ของเมืองสำหรับควบคุมผู้เห็นต่าง ความเคลื่อนไหวที่จุดชนวนการลาออกหมู่ของสมาชิกฝ่ายค้านของสภานิติบัญญัติในอดีตอาณานิคมของอังกฤษ
นอกเหนือจากมันได้สร้างความกังวลแก่ตะวันตกแล้ว ทางกลุ่ม 5 ประเทศพันธมิตรเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง (Five Eyes) อันประกอบด้วย ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และ สหรัฐฯ ระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในอุบายปิดปากพวกวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องปักกิ่งเปลี่ยนเส้นทางเดิน
โรเบิร์ต โอไบรเอน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาวระบุเมื่อเดือนพฤศจิกายน ว่า การตัดสิทธิดังกล่าว พิสูจน์ให้เห็นว่าอำนาจปกครองตนเองของฮ่องกงที่จีนเคยให้สัญญาไว้ภายใต้สูตร 1 ประเทศ 2 ระบบ เมื่อครั้งที่อังกฤษส่งมอบเกาะแห่งนี้คืนแก่จีนในปี 1997 เป็นเพียงคำพูดที่มีไว้ปกปิดความผิด และสัญญาว่าสหรัฐฯจะมีมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม
ในเดือนตุลาคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนบรรดาสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ว่า การทำธุรกรรมใดๆ กับบุคคลที่ถือว่าอยู่เบื้องหลังการปราบปรามของจีนต่อศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียแห่งนี้ สถาบันการเงินนั้นๆ อาจต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรอันเข้มข้นในทันที
ก่อนหน้านี้ วอชิงตัน ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตร แคร์รี ลัม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่อกง เหล่าผู้บัญชาการตำรวจของฮ่องกงทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในเดือนสิงหาคม ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าต่อบทบาทจำกัดสิทธิเสรีภาพและปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวฝักใฝ่ประชาธิปไตย
เมื่อเดือนพฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานเจ้าหน้าที่จีนเพิ่มเติมอีก 4 คน ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการของสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า รองผู้บังคับการตำรวจฮ่องกง และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ในสำนักงานด้านความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นใหม่ในฮ่องกง โดยห้ามพวกเขาเดินทางไปยังอเมริกาและจะอายัดทรัพย์สินของคนเหล่านี้ในสหรัฐฯด้วย
ที่ผ่านมา ปักกิ่งมักออกมาประณามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่อประเด็นฮ่องกง และเรียกมันว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน
(ที่มา: รอยเตอร์)