ไบเดนยันไม่ยกเลิกนโยบายการค้าแข็งกร้าวกับปักกิ่ง ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายที่อาจบีบให้บริษัทจีนถอยออกจากตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงชี้จีนพยายามหนักขึ้นในการสร้างอิทธิพลในคณะบริหารของชุดใหม่ โดยพุ่งเป้าที่คนใกล้ชิดทีมงานของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพุธ (2 ธ.ค.) โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกา เผยว่า เป้าหมายสำคัญอันดับแรกของคณะบริหารของเขาคือการผลักดันให้รัฐสภารับรองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่ แม้ขณะที่เขายังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งก็ตาม
เกี่ยวกับนโยบายต่อจีน อดีตรองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตผู้นี้เผยว่า จะยังคงพุ่งเป้าเล่นงานแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของปักกิ่ง เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาด การอุดหนุนธุรกิจในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย และการบังคับให้บริษัทอเมริกันถ่ายโอนเทคโนโลยีให้หุ้นส่วนจีน
นอกจากจะไม่ยกเลิกข้อตกลงการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำไว้กับจีน รวมถึงมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าแดนมังกรแล้ว ไบเดนยังย้ำความจำเป็นในการพัฒนาให้เกิดฉันทามติในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัยและการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษาที่จะช่วยให้บริษัทอเมริกันแข่งขันกับบริษัทจีนได้ดียิ่งขึ้น
ไบเดนสำทับว่า ยุทธศาสตร์รับมือจีนที่ดีที่สุดคือ การทำให้บรรดาชาติพันธมิตรเดินไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มอำนาจในการกดดันปักกิ่ง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หัว ชุนอิง โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีน ตอบโต้ว่า การค้าระหว่างอเมริกากับจีนควรอิงกับหลักการแห่งการมีผลประโยชน์ร่วมกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และความเท่าเทียม
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐฯเฟส 1 ที่ลงนามเมื่อต้นปีนี้ จีนตกลงซื้อสินค้าและบริการจากอเมริกาเพิ่มอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์ระหว่างปีนี้และปีหน้า อย่างไรก็ดี วอชิงตันยังคงเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% จากสินค้าอุตสาหกรรมและชิ้นส่วนประกอบของจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ และจีนเรียกเก็บภาษีตอบโต้ระดับเดียวกันจากสินค้าอเมริกันมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์
ในอีกด้านหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนนเอกฉันท์เมื่อวันพุธ (2) ผ่านร่างกฎหมายที่อาจบีบให้บริษัทจีนถอนตัวออกจากการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลายของอเมริกา หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกำกับตรวจสอบของวอชิงตัน เนื่องจากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ดังนั้นขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการส่งให้ทรัมป์ลงนามบังคับใช้
ร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งมีชื่อว่า The Holding Foreign Companies Accountable Act จะห้ามบริษัทต่างชาติที่ไม่ปฏิบัติตามกฎการกำกับตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับดูแลการบัญชีบริษัทมหาชนของสหรัฐฯ เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นในอเมริกาเป็นเวลานาน 3 ปี รวมถึงบังคับให้บริษัทมหาชนต้องเปิดเผยว่า ตนเองเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้การครอบครองหรือการควบคุมของรัฐบาลต่างชาติหรือไม่
แม้ร่างกฎหมายนี้ใช้บังคับกับบริษัทจากทุกประเทศ แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา เช่น อาลีบาบา, พินดัวดัว และปิโตรไชน่า
หัว โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวก่อนที่สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ จะลงมติว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติที่ต้องการกีดกันทางการเมืองต่อบริษัทจีน
ที่ผ่านมา ทางการจีนลังเลที่จะยอมให้ผู้คุมกฎต่างชาติเข้าตรวจสอบบริษัทจีน โดยอ้างข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ
ขณะที่ ฉวน อู่ ผู้เป็นหุ้นส่วนในฮ่องกงของบริษัทกฎหมาย พอล แฮสติงส์ มองว่า มีแนวโน้มที่อเมริกาจะเข้มงวดกับบริษัทจีนมากขึ้น แม้กระทั่งในขณะที่ไบเดนกำลังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีต้นปีหน้าก็ตาม
เขาสำทับว่า หากร่างกฎหมายนี้บังคับใช้ บริษัทจีนทั้งหมดที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในอเมริกาอาจถูกตรวจสอบจากทางการสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ต้องพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มี ซึ่งอาจรวมถึงการย้ายไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงหรือประเทศอื่นๆ แทน
เมื่อวันพุธ ยังมีการประชุมที่จัดโดยสถาบันแอสเพน ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน วิลเลียม อิวานินา แห่งสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า ปักกิ่งกำลังพยายามมากขึ้นในการสร้างอิทธิพลในคณะบริหารชุดใหม่ โดยพุ่งเป้าที่คนใกล้ชิดทีมงานของไบเดน
อิวานินาเสริมว่า จีนยังพยายามแทรกแซงความพยายามของอเมริกาในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสและการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนที่แล้ว
ในงานประชุมเดียวกันนั้น จอห์น เดเมอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนของสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สามารถระบุตัวนักวิจัยจีนที่เชื่อมโยงกับกองทัพปลดแอกประชาชน (พีแอลเอ) ของจีนจำนวนหลายร้อยคนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
เดเมอร์แจงว่า การสอบสวนเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการจับกุมนักวิจัยจีน 6 คนที่ปิดบังความเชื่อมโยงกับพีแอลเอ และหลังจากนั้นมีนักวิจัยจีนที่เกี่ยวข้องกับพีแอลเอกว่า 1,000 คนพากันเดินทางออกนอกอเมริกา
เดเมอร์สำทับว่า มีแต่จีนเท่านั้นที่มีทรัพยากร ศักยภาพ และเจตนารมณ์ในการจารกรรมข้อมูลทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งกิจกรรมประสงค์ร้ายอื่นๆ
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี, บีบีซีนิวส์)