xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’จะรีเซตนโยบายจีนของสหรัฐฯเสียใหม่อย่างแน่นอน

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร


ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เคยเดินทางไปเยือนจีนหลายครั้ง และได้พบปะกับ สี จิ้นผิง
Biden will reset US’ China policies
by M. K. BHADRAKUMAR
19/11/2020

ทัศนะมุมมองของ โจ ไบเดน เกี่ยวกับรัสเซียและจีน แทบจะถูกหล่อหลอมขึ้นมาอย่างหมดสิ้นจากหลักการของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ 3 เส้า สหรัฐฯ-รัสเซีย-จีน เขายังได้กล่าวยอมรับเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาถือจีนเป็นแค่คู่แข่งขันรายหนึ่งเท่านั้น ขณะที่รัสเซียคือภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อจุดยืนระดับโลกของสหรัฐฯ โดยอุดมคติแล้ว ไบเดนจะพยายามทำลายความเป็นกึ่ง-พันธมิตรกัน ระหว่างจีนกับรัสเซีย แต่ถ้าหากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เขาก็จะพึงพอใจกับการแค่ทำให้จีนวางตัวเป็นกลางเมื่อเขาโจมตีเล่นงานเครมลิน ด้วยการคิดคำนวณเช่นนี้จะให้แรงกระตุ้นแก่ไบเดนในการเคลื่อนไหวเพื่อรีเซตความสัมพันธ์จีน-อเมริกันเสียใหม่

ในภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อเวลาผ่านไป ความรับรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ ก็มีความโน้มเอียงที่จะกลายเป็นความคิดเห็นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ในระยะ 2-3 ปีมานี้ มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งหยั่งรากจนเหมือนกับมีความเข้าใจตรงกัน นั่นคือเรื่องที่ว่า ในสหรัฐฯนั้น “มีความคิดเห็นอย่างเป็นฉันทามติ” เกี่ยวกับนโยบายที่จะใช้กับจีน

ตามเรื่องเล่าที่ว่านี้ สมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า จะมากจะน้อยก็จะมีการสืบต่อพวกนโยบาย “แข็งกร้าว” ต่อจีนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินมา โดยเฉพาะพวกนักวิเคราะห์ชาวอินเดียนั้นต่างต้อนรับเรื่องเล่านี้ด้วยความยินดีปรีดาว่ามันเป็นฉากทัศน์ที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างมากๆ

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงในเวลานี้มีอยู่ว่า ยังคงกำลังมีการอภิปรายถกเถียงกันในสหรัฐฯในเรื่องนโยบายต่อจีน ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน และกระทั่งภายในพรรคทั้งสองเองด้วย บางส่วนของการถกเถียงนี้เราสามารถชำเลืองดูได้ในระยะไม่กี่วันมานี้ในรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่ระบุว่า คณะบริหารทรัมป์อาจจะ “พยายามโอบล้อมคณะบริหารไบเดน” ให้ต้องยอมกระทำตามในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับจีน

รายงานชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ของซีเอ็นเอ็น ได้อ้างเจ้าหน้าที่บริหารทรัมป์พูดกันว่า “พวกสายเหยี่ยวจีนในคณะบริหารทรัมป์เชื่อว่า มีการปฏิบัติการบางอย่างบางประการที่พวกเขาสามารถลงมือกระทำกันในตอนนี้แล้วจะเป็นการโอบล้อมคณะบริหารไบเดนให้ต้องเดินตาม” นี่ไม่ใช่เป็นการเลือกใช้คำที่น่าสนใจหรอกหรือ— อย่างเช่น “พวกสายเหยี่ยวจีน”? นี่ก็ต้องหมายถึงว่า แม้กระทั่งภายในคณะบริหารทรัมป์ก็ยังมีทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบเลย!

สื่อออนไลน์ “แอคซิออส” (Axios) เป็นเจ้าแรกซึ่งเผยแพร่เรื่องราวที่ว่า ทรัมป์จะ “บัญญัติพวกนโยบายแข็งกร้าวชุดหนึ่งขึ้นมาในระหว่าง 10 สัปดาห์สุดท้ายของเขา เพื่อทำให้มรดกของเขาในเรื่องจีนมีความหนักแน่นมั่นคง ... เขาจะพยายามทำให้มันกลายเป็นเรื่องต้านทานไม่ไหวในทางการเมืองสำหรับคณะบริหารไบเดนที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทาง”

สิ่งที่รายงานข่าวนี้บ่งบอกเป็นนัยเอาไว้ก็คือ คณะบริหารทรัมป์มีความหวั่นเกรงว่าไบเดนนั้นมีนโยบายด้านจีนของเขาเอง

แน่นอนทีเดียว ปักกิ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา เหอ เว่ยเหวิน (He Weiwen) อดีตเจ้าหน้าที่การค้าอาวุโสของจีน และสมาชิกสภาบริหารคนหนึ่งของสมาคมจีนเพื่อองค์การการค้าโลกศึกษา (China
Society for World Trade Organization Studies) พูดเอาไว้อย่างนี้: “ไบเดนจะไม่แคร์หรอกว่าอิฐบล็อกก่อสร้างประเภทไหนที่ทรัมป์เอามาวางเรียงให้แก่เขา เขาสามารถที่จะทลายมันลงมาได้ เหมือนกับที่ทรัมป์ได้เคยทำมาแล้วกับมรดกตกทอดจากโอบามานั่นแหละ”

ในรายงานหลายกระแสที่มาจากจีนมีการยอมรับกันว่ากำลังมีการติดต่อกันทางประตูหลังกับแวดวงของไบเดน การที่จีนตัดสินใจส่งคำอวยพรแสดงความยินดีที่ชนะเลือกตั้งไปถึงไบเดน (เมื่อวันที่ 13 พ.ย.)ย่อมเป็นการบ่งชี้ว่า ปักกิ่งต้องการส่งสัญญาณไปถึงว่าที่ประธานาธิบดีผู้นี้ให้ละลายสายสัมพันธ์ที่ถูกแช่แข็ง
ถึงแม้มีความเสื่อมถอยเกิดขึ้นในปัจจุบันก็ตามที

แท้ที่จริงแล้ว กำลังมีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างหลากหลายเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิธีการในการรับมือกับการท้าทายของจีน, ควรใช้นโยบายการค้าประเภทไหนจึงจะบังเกิดดอกผล, เส้นทางของ
“สงครามเทค” จะสามารถเดินไปได้ไกลเพียงใด, และเรื่องอื่นๆ อีก สมมุติฐานที่ว่าจะต้องมีความตึงเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้นถือว่ามีเหตุมีผลอยู่หรอก แต่ประเทศทั้งสองก็ไม่จำเป็นว่าได้ถูกชะตากรรมขีดเอาไว้แล้วว่าจะต้องเกิดความขัดแย้งเผชิญหน้ากัน

นโยบายจีนที่มีความสร้างสรรค์มากขึ้นกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำขึ้นมา ระยะเวลาของการมองโลกแง่ดีในเรื่องความสัมพันธ์จีน-อเมริกันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของสหรัฐฯในการทำให้จีนเคลื่อนตัวไปในทิศทางซึ่งสหรัฐฯต้องการ—ไม่ว่ามันจะเป็นพวกนโยบายทางเศรษฐกิจหรือประเด็นปัญหาทางการเมืองก็ตาม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เส้นทางโคจรของการถกเถียงกันในสหรัฐฯนั้น คือเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่คณะบริหารไบเดนจะสามารถดำเนินนโยบายของตนต่อจีนในหนทางที่จะบังเกิดดอกผลมากขึ้น ในเวลานี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยภายใต้ทรัมป์ อดีตที่เพิ่งผ่านพ้นล่วงเลยไปมีแต่เรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งกันและการวิพากษ์วิจารณ์กัน

แต่เนื่องจากมันไม่มีมาตรวัดความสำเร็จ ดังนั้นเส้นทางโคจรจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางในตัวมันเอง ในทางกลับกัน พวกที่ปรึกษาของไบเดนกำลังใคร่ครวญว่าวิธีเข้าถึงปัญหาของทรัมป์นั้น จริงๆแล้วสามารถทำให้จีนต้องเปลี่ยนนโยบายไปหรือไม่

ปัญหาท้าทายของพวกเขาก็คือจะต้องวางกรอบแม่พิมพ์อันใหม่ของชุดนโยบายที่มีลักษณะแข่งขันมากขึ้น ทั้งทางด้านการค้า, ภูมิอากาศ ฯลฯ ด้วยทัศนะที่จะทำให้จีนเคลื่อนไหวไปในทิศทางซึ่งสหรัฐฯต้องการอย่างแท้จริง

วลีที่นิยมใช้กันมากคือ “การแข่งขันทางยุทธศาสตร์” แต่ย่อมเป็นที่เข้าอกเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า นโยบายปิดล้อมจำกัดควบคุมของคณะบริหารทรัมป์ ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน นั่นคือใช้ทั้งสงครามการค้า, การปิดล้อมทางเทคโนโลยี, และการโจมตีในทางอุดมการณ์นั้น ประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์สำคัญอะไรขึ้นมา

หัวใจของความล้มเหลวนี้อยู่ตรงที่ว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรอกที่สหรัฐฯจะเปิดฉากทำสงครามเศรษฐกิจเพื่อเล่นงานจีน หรือเริ่มต้นการประจันหน้าทางทหารอย่างรอบด้านใดๆ เพื่อต่อต้านจีน
เมื่อพิจารณาถึงช่องว่างทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่กำลังหดแคบลงอย่างรวดเร็ว

เวลาเดียวกัน โรคระบาดใหญ่ก็ตีกระหน่ำสร้างความสูญหายทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงให้แก่สหรัฐฯ การที่จะใช้นโยบายมุ่งกดขี่เล่นงานจีนขนาดใหญ่ๆ รอบใหม่ในช่วงระยะสั้นนี้ เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถกระทำได้ ไบเดนกำลังก้าวขึ้นสู่เวทีภายใต้การถูกบังคับให้ต้องหาทางปรับโครงสร้างนโยบายจีน
เพื่อที่จะได้สามารถหันไปรวมศูนย์ที่เรื่องการฟื้นตัวของสหรัฐฯภายหลังโรคระบาดใหญ่กันก่อนเป็นอันดับแรก

จีนเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นของโลก ที่จะมีอัตราเติบโตขยายตัวเป็นบวกในระยะเฉพาะหน้านี้ และจีนก็กำลังก้าวขึ้นมาในฐานะเป็นเครื่องจักรของการเจริญเติบโตในทั่วโลก กระนั้น
ความตึงเครียดทางการค้าที่ยังกำลังดำเนินอยู่ระหว่างประเทศทั้งสอง ย่อมหมายความว่าสหรัฐฯจะไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตขยายตัวนี้ อย่างที่สหรัฐฯเคยได้รับจากการที่จีนใช้จ่ายอย่างมโหฬารทั้งทางการคลังและทางการเงินภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ช่วงปี 2007-08

ยังมีความเป็นจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งฟังดูแล้วเหมือนขัดแย้งกัน นั่นก็คือ จากการที่ปักกิ่งกำลังทยอยดำเนินกระบวนการเปิดเสรีตลาดการเงินของตนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้พวกแบงก์สหรัฐฯก็เริ่มต้นที่จะเข้าควบคุมหุ้นในกิจการแบบหุ้นส่วนซึ่งตนมีอยู่แล้วในจีน ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังเป็นแหล่งที่สามารถเสนอรายได้จริงๆ
ให้แก่พวกกองทุนบำนาญของสหรัฐฯและของพวกประเทศในโลกพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ ที่กำลังถูกบีบคั้นหนัก รายได้เช่นนี้จะทำให้กองทุนเหล่านี้สามารถจ่ายเงินบำนาญตามพันธะผูกพันของตนได้ เป็นที่ชัดเจนว่า คณะบริหารไบเดนย่อมจะมองเห็นว่า “การแข่งขันทางยุทธศาสตร์” สหรัฐฯ-จีนนั้น ถ้าหากดำเนินไปอย่างก้าวร้าว ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงลิ่ว

พิจารณากันโดยภาพรวมแล้ว สามารถคาดหมายได้ทีเดียวว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีนจะมีการปรับปรุงดีขึ้นในบางระดับในปี 2021 นโยบายจีนของไบเดนจะมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นและเน้นความสอดคล้องในทางปฏิบัติมากขึ้น ถึงแม้ยังจะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างประเทศทั้งสอง –และกระทั่งมีการแข่งขันอย่างดุเดือดมากยิ่งขึ้นกว่านี้ในแวดวงไฮเทค— บรรยากาศโดยรวมของความสัมพันธ์ก็จะกระเตื้องขึ้น

แน่นอนทีเดียว ไบเดนมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมองหาหนทางต่างๆ ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกับพวกพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับวาระต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง – ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงตลาด, ทรัพย์สินทางปัญญา, นโยบายทางอุตสาหกรรมของจีน ฯลฯ –เนื่องจากในทุกวันนี้มันเกิดการข้ามกันไปข้ามกันมาระหว่างประเด็นเหล่านี้อย่างมากมายเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในเฉพาะหน้านี้ของไบเดน จะเป็นการสร้างเสถียรภาพให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน

เราสามารถคาดหมายได้ว่า ไบเดนจะใช้แนววิธีเข้าสู่ปัญหาแบบมุ่งสร้างความร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสาธารณสุข นี่หมายความว่าขณะที่การชิงความได้เปรียบในการแข่งขันจะยังคงมีอยู่เสมอไม่ขาดสาย แต่แรงผลักดันหลักจะอยู่ที่การทำให้ความสัมพันธ์นี้วางอยู่บนพื้นฐานซึ่งมีเสถียรภาพ

สิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กันในที่นี้ก็คือว่า การขบคิดพิจารณาทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายจีนก็อยู่ในลักษณะที่มาจากมุมมองทิศทางในระยะยาวเช่นกัน สิ่งที่อยู่ตรงแกนกลางของทิศทางมุมมองนี้ก็คือ จีนเชื่อว่าสหรัฐฯในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับโลกรายหนึ่งนั้นกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมทรุดลงอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ และสิ่งที่จะจำเป็นต้องคำนึงถึงมีแต่เพียงฝีก้าวหรือพลวัตของการเสื่อมทรุดนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จีนมองเห็นโอกาสที่จะพยายามและสร้างเสถียรภาพให้แก่สิ่งซึ่งกลายเป็นความสัมพันธ์อันตึงเครียดและยากลำบากในยุคของทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนกับสหรัฐฯจะมีโอกาสในการร่วมมือกันในประเด็นปัญหาระดับโลกต่างๆ อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การไม่แพร่กระจายอาวุธร้ายแรง,
และโรคระบาดใหญ่ระดับทั่วโลก

ถึงแม้พูดเช่นนี้ แต่ต้องเข้าใจเช่นกันว่าจีนเองก็กำลังยืนกรานต้องการแสดงบทบาทความป็นผู้นำบนเวทีระดับโลกด้วยเหมือนกัน ในจีนนั้นมีความตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า สหรัฐฯน่าที่จะยังคงมีการรักษาแนววิธีเข้าสู่ปัญหาแบบมุ่งแข่งขันช่วงชิงกับจีนให้มากขึ้น ในทัศนคติแบบ “การแข่งขันทางยุทธศาสตร์” และไม่ได้กำลังขบคิดพิจารณาที่จะหวนกลับไปสู่การมุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ หรือการถกเถียงอภิปรายกันอย่างยาวยืดไม่จบสิ้นในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมัยแรกแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา

จีนคาดหมายว่าจะต้องมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างโหดๆ รออยู่ข้างหน้า ด้วยเหตุนี้จึงกำลังเดินหน้าพวกนโยบายของตนเองในเรื่องการพึ่งตัวเอง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่จีนเข้าไปมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันและกันกับสหรัฐฯ

ยังมีเรื่องสุดท้ายที่จะขอพูดถึง อันที่จริงแล้วนโยบายจีนของไบเดนยังมีมติทางภูมิรัฐศาสตร์ขนาดใหญ่มหึมาอยู่มิติหนึ่งซึ่งพวกนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะในอินเดีย กำลังมองข้ามด้วยความสะเพร่าขาดสติ จุดที่กล่าวนี้ก็คือ ไบเดนนั้นเป็นนักการทูตผู้มีประสบการณ์สูงซึ่งผ่านการฝึกปรือสัญชาตญาณทางการเมืองของเขาในระหว่างยุคสงครามเย็น ไบเดนนั้นเป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯเมื่อปี 1972 และรักษาเก้าอี้ในสภาสูงอเมริกันได้อย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งเข้ามาเป็นรองประธานาธิบดีของบารัค โอบามา เมื่อปี 2009  โดยในตอนเป็นวุฒิสมาชิกนั้นเขาเป็นกรรมาธิการอยู่ในคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศยาวนานมาก

ทัศนะมุมมองของไบเดนเกี่ยวกับรัสเซียและจีน แทบจะถูกหล่อหลอมขึ้นมาอย่างหมดสิ้นจากหลักการของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ 3 เส้า สหรัฐฯ-รัสเซีย-จีน (US-Russia-China triangle)

ไบเดนกล่าวยอมรับเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาถือจีนเป็นแค่คู่แข่งขันรายหนึ่งเท่านั้น  ขณะที่รัสเซียคือภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อจุดยืนระดับโลกของสหรัฐฯ

เวลานี้ คิสซิงเจอร์ได้ป่าวร้องสนับสนุนว่า ความสัมพันธ์ 3 เส้า สหรัฐฯ-รัสเซีย-จีน แบบมีการเคลื่อนไหว (kinetic US-Russia-China triangle) สามารถใช้ได้ดีสำหรับการรักษาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อแปลให้เป็นภาษาของการเมืองแห่งการช่วงชิงอำนาจขนานแท้แล้ว มันจึงมีความน่าจะเป็นอย่างสูง –เกือบๆ เป็นความแน่นอนทีเดียว – ที่ว่าไบเดนจะมีความโน้มเอียงมุ่งหาทางดำเนิน “การผ่อนคลายความตึงเครียดระดับเล็กๆ” (mini-detente) กับจีน เพื่อที่สหรัฐฯจะสามารถรับมือกับเรื่องที่มีลำดับความสำคัญหมายเลขหนึ่งในความสมดุลทางยุทธศาสตร์ระดับโลก ซึ่งได้แก่การโดดเดี่ยวรัสเซีย

โดยอุดมคติแล้ว ไบเดนจะพยายามทำลายความเป็นกึ่งพันธมิตรกัน (quasi-alliance) ระหว่างจีนกับรัสเซีย  แต่ถ้าหากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เขาก็จะพึงพอใจกับการแค่ทำให้จีนวางตัวเป็นกลางเมื่อเขาโจมตีเล่นงานเครมลิน วาระของไบเดนต่อรัสเซียนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” ระหว่างช่วง 4 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นระยะการเปลี่ยนผ่านที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดของการเมืองรัสเซีย ก่อนจะถึงปี 2024 ที่ปูตินต้องหาทางให้ตนเองได้ต่ออายุอีกหนึ่งเทอม หรือไม่ก็ต้องก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย ทั้งนี้ ห้วงเวลาดังกล่าวของปูตินเป็นกรอบเวลาเดียวกันกับอายุงานของไบเดนในทำเนียบขาว

แน่นอน เมื่อปราศจากจีน รัสเซียก็จะสูญเสีย “ความลึกทางยุทธศาสตร์” นอกจากนั้นในทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีกติกาสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pactสนธิสัญญาร่วมป้องกันของสหภาพโซเวียตและอีก 7 ชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางช่วงสงครามเย็น กลุ่มความร่วมมือทางทหารของฝ่ายโซเวียตนี้ประกาศยุบตัวเองอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 1991 ในช่วงการพังทลายของระบอบปกครองคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตตอนต้นทศวรรษ 1990 ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Warsaw_Pact -หมายเหตุผู้แปล) ให้ใช้งานได้อีกแล้ว คำถามข้อใหญ่จึงมีอยู่ว่าจีนจะเข้าร่วมเล่นในเกมนี้กับไบเดนหรือไม่ ความคิดของผมก็คือนี่เป็นเรื่องซึ่งยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน โดยจะต้องคอยติดตามชมกันต่อไป เนื่องจากไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะเหมาะเจาะกับจีนยิ่งไปกว่า
การมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ก็ตามทีกับสหรัฐฯซึ่งเป็นสิ่งที่ไบเดนอาจเสนอออกมาเพื่อจูงใจ

จีนไม่ได้มีภาระหน้าที่ในการค้ำประกันให้มีการสงวนรักษาระบบการเมืองของรัสเซียเอาไว้ ในอีกด้านหนึ่ง พิจารณาจากมุมมองของปักกิ่งแล้ว ระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไปมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการอุดช่วงห่างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการเร่งรัดก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในลักษณะซึ่งมีความทัดเทียมกับโลกตะวันตก

ในความคิดของผม การคิดคำนวณอย่างที่กล่าวมาข้างต้นจะให้แรงกระตุ้นแก่ไบเดนในการเคลื่อนไหวตามที่คาดหมายกัน เพื่อรีเซตความสัมพันธ์จีน-อเมริกันเสียใหม่  พิจารณาจากทางฝ่ายไบเดน สิ่งที่น่าจะอยู่ในความคิดของเขาก็คือมันเป็นการทำข้อตกลงสงบศึกกับจีน แต่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า จีนนั้นมีความฉลาดหลักแหลมทางปัญญาและมีระบบการเมืองซึ่งสามารถหยิบคว้าดอกผลเข้ามาได้อย่างสูงสุดในสภาวการณ์ทำนองนี้ เพื่อผลักดันวาระแกนหลักของตนให้คืบหน้าไปสู่การก้าวผงาดขึ้นถึงฐานะเป็นมหาอำนาจโลกรายหนึ่ง สีนั้นได้กำหนดให้ปี 2035 เป็นเป้าหมายสำหรับจีนที่จะมีความเข้มแข็งทางการทหารในระดับทัดเทียมกับสหรัฐฯ

เรื่องสุดท้ายจริงๆ –ท่าทีของพวกพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯ ในทุกวันนี้มันกลายเป็นว่าความสัมพันธ์ของรัสเซียกับอียูกำลังย่ำแย่ลงจนถึงจุดต่ำเตี้ย เยอรมนีนั้นเคยเป็นผู้คอยสนับสนุนรัสเซียในบรัสเซลส์เรื่อยมาจวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ โดยที่ตอนนี้ได้หันกลับมาแสดงท่าทีอันไม่เป็นมิตรเสียแล้ว นอกจากนั้น จากการที่ อังเกลา แมร์เคิล มีกำหนดเกษียณอายุจากแวดวงการเมืองในปีหน้า นโยบายต่างๆ ของเยอรมนีจึงยิ่งน่าจะมีลักษณะไปในทางยุโรป-แอตแลนติก (Euro-Atlantic  ยุโรปที่เน้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ทางอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก -ผู้แปล) มากยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อสำคัญคือ อียูไม่ได้มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงใดๆ ที่เกี่ยวพันกับจีน ในขณะที่อียูมองรัสเซียว่าเป็นปรปักษ์รายหนึ่ง หรือกระทั่งเป็นศัตรูต่อการดำรงคงอยู่ซึ่งอยู่ตรงหน้าประตูบ้านของตนทีเดียว ถ้าไบเดนเดินหน้าเพื่อหาทางดำเนินการผ่อนคลายความตึงเครียดกับจีน เหมือนกับที่คิสซิงเจอร์ได้เคยทำในปี 1972 และบ่อนทำลายความเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัสเซีย-จีน เพื่อที่จะได้อยู่ในฐานะซึ่งดียิ่งขึ้นในการเผชิญหน้ารัสเซียแล้ว อียูก็จะไม่มีปัญหาใดๆ ต่อแนววิธีการเข้าถึงปัญหาแบบนี้

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่
https://indianpunchline.com/biden-will-reset-us-china-policies/)


เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า
29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต
ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์”   https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก
กำลังโหลดความคิดเห็น